กลุ่มชาติพันธ์ุมุสลิมในกรุงธนบุรี (Muslims in Thon Buri Kingdom) โดย นายต้นสัก สนิทนาม


บทนำ

กลุ่มชาติพันธ์ุมุสลิมในกรุงธนบุรี  (Muslims in Thon Buri Kingdom) โดย นายต้นสัก สนิทนาม


 กลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic) โดยทั่วไปแล้วหมายถึง กลุ่มที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ ในสังคมเดียวกัน ในแง่ของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและทางต้นตอที่มาของบรรพบุรุษ (อารง  สุทธาศาสน์, 2524 : 68) ในที่นี้หมายถึง กลุ่มคนที่ยึดโยงกันอยู่ด้วย

สายสัมพันธ์ทางภาษา สีผิว ศาสนา วรรณะ ตลอดจนภูมิวัฒนธรรมอื่นๆ ในแง่นี้กลุ่มชาติพันธุ์มีความสำคัญต่อปัญหาการเมือง วัฒนธรรม ตลอดจนความมั่นคงของประเทศเป็นอย่างยิ่ง (ชัยวัฒน์  สถาอานันท์, 2539: 37)

ในเบื้องแรกมุสลิมเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างจากพี่น้องชาวไทยส่วนอื่นในเรื่องของศาสนาอันแนบแน่นอยู่กับวัฒนธรรม กล่าวคือ มุสลิมคือผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจะมีวิถีในการดำเนินชีวิต หรือวัฒนธรรมอยู่ในครรลองของวัฒนธรรมอิสลามเป็นหลัก แต่นั่นมิได้หมายความว่า มุสลิมจะปฏิเสธในการปฏิบัติวัฒนธรรมอื่นๆ โดยสิ้นเชิง ในทางตรงกันข้าม อิสลามกลับแสดงให้เห็นและยอมรับในความหล

ากหลายทางวัฒนธรรม ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่เป็นการเน้นให้เห็นและนำไปสู่ความเสมอภาคและภราดรภาพ

            ดังนั้นจากกรอบของภูมิรัฐศาสตร์ มุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในธนบุรีก็ดีและในทุกภูมิภาคของประเทศไทยก็ดี ต่างได้รับสถานภาพเฉกเช่นเดียวกันว่าเป็น “ชาวไทยมุสลิม”

            ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมโกศนั้น ได้มีจีนผู้หนึ่งชื่อ นายไหฮอง แซ่แต้ เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย ตำแหน่งเป็นที่ขุนพัฒน์ ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตบ้านของท่านเจ้าพระยาจักรีศรีสมุหนายก แล้วได้แต่งงานกับกุลสตรีผู้หนึ่งชื่อ นกเอี้ยง ซึ่งปรากฏว่าเมื่อตอนนางตั้งครรภ์นั้นก็เกิดนิมิตฝันว่าได้ดวงแก้วมณีสุกใสจากชีปะขาวในคืนวันเสาร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๐๙๖ ซึ่งถือกันว่าถ้าฝันในคืนนี้จะเป็นนิมิตดี   ** ในที่สุดนางนกเอี้ยงก็คลอดบุตรชาย ในวันอาทิตย์เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จุลศักราช ๑๐๙๖ ปีขาล ฉอศก ตรงกับวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗**

             ขณะเกิดก็มีเหตุอัศจรรย์บันดาลอสุนีบาตฟาดเปรี้ยงลงมาตรงเสาตั้งตรงห้องที่นางนกเอี้ยงใช้เป็นที่คลอดทำให้ท่านขุนพัฒน์ผู้พ่อใจคอไม่ปกติครั้นปรากฏงูเหลือมขนาดใหญ่ขดทักษิณาวัตรอยู่รอบตัวทารกผู้บุตรนั้น ท่านขุนพัฒน์ก็รู้สึกหวาดกลัวว่าเป็นลางร้าย และตัดสินใจจะไม่เลี้ยงบุตรชาย เพราะเป็นคนถือโชคถือลาง

              เมื่อเจ้าพระยาจักรีทราบ ก็ถือว่าสิ่งอัศจรรย์นั้นเป็นศิริมงคลแก่ตัวทารกเอง ทั้งท่านก็เมตตาเด็กเป็นนิสัยอยู่แล้ว จึงออกปากขอเป็นผู้อุปการะทารก ซึ่งทั้งขุนพัฒน์และนางนกเอี้ยงยินดียกให้ทันที ท่านเจ้าคุณได้นำทารกมาเลี้ยงในฐานะบุตรบุญธรรม ให้ชื่อเป็นมงคลว่า “สิน” ซึ่งต่อมาก็คือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั่นเอง

              เจ้าพระยาจักรีศรีสมุหนายกผู้นี้รักใคร่เมตตานายสินมาก และนับว่าได้มีอิทธิพลต่อชีวิตของนายสินไม่น้อย ให้การเลี้ยงดู และการศึกษาอย่างดี เมื่อนายสินอายุได้ ๙ ขวบ ก็นำตัวไปฝากพระอาจารย์ทองดีวัดโกษาวาสสั่งสอนอบรม เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี เจ้าพระยาจักรีให้ทำบุญตัดจุกแล้วนำตัวไปถวายเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ในระหว่างนี้นายสินได้ร่ำเรียนภาษาต่างประเทศหลายภาษาจนพูดได้ทั้งภาษาจีน ญวน และแขก ครั้นนายสินอายุครบ ๒๑ ปี เจ้าพระยาจักรีจึงให้บวชอยู่ที่วัดโกษาวาส

              ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช  ได้ให้ความเห็นในตอนนี้ว่า ท่านเจ้าพระยาจักรีผู้นี้อยู่ในตำแหน่งยืดยาวมาก ตั้งแต่นายสินได้เลื่อนจากยกกระบัตรเมืองตากขึ้นเป็นเจ้าเมืองในราว ๓๐ ปี และเป็นที่สมุหนายกเป็นขุนนางบุญหนักศักดิ์ใหญ่ แต่เหตุใดจึงไม่มีวัดของตระกูลท่าน กลับเอานายสินไปฝากให้ร่ำเรียนที่วัดของตระกูลอื่น

สำหรับปัญหาในข้อนี้ ขอคลี่คลายปัญหาดังกล่าว หลังจากวิจัยแล้วว่า

              ๑. ท่าน เจ้าพระยาจักรีศรีสมุหนายกผู้นี้ เป็น “มุสลิม”  โดยมีข้อสนับสนุนทางประวัติศาสตร์ว่า ตำแหน่งนี้ถือเป็นประเพณีนิยมตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ว่า เป็นของมุสลิมผู้เชี่ยวชาญในด้านการค้า และการติดต่อกับต่างประเทศ (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใน “ความเป็นมาของมุสลิมในประเทศไทย”, อัร-รอบิเฎาฮฺ)

              ๒. การที่ “ นายสิน”  พูดได้ทั้ง ภาษาจีน   ญวน  ไม่น่าสะดุดใจอะไรนักแต่เมื่อสามารถพูด  “แขก”  ได้อีกด้วยทำให้เข้าใจได้ว่า ท่านเจ้าพระยาจักรีศรีสมุหนายกผู้นี้จะต้องเป็น  “แขก”  หรือ  มุสลิม  แน่นอน เพราะเลี้ยงดูกันมาตั้งแต่ยังเป็นทารกอยู่

              ๓. ตามประวัติบอกว่า นายสินได้เข้าเป็นมหาดเล็กรับใช้อยู่เวร หลวงนายศักดิ์  ซึ่งเป็นบุตรคนโตของท่านเจ้าพระยาศรีสมุหนายก ในสมัยสมเด็จพระบรมโกศนั้น ปรากฏว่าหลวงนายศักดิ์ผู้นี้เอง ได้เข้ารับราชการในสมัยที่นายสินได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  หลวงนายศักดิ์ได้เป็นที่โปรดปรานและสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยา

จักรี (แขก) และได้รับพระบรมราชโองการเป็นแม่ทัพยกไปตรีชุมนุมเจ้านครอีกด้วย สำหรับหลวงนายศักดิ์ผู้นี้ เป็นผู้ที่รู้จักกันดีในประวัติศาสตร์ว่าเป็นเชื้อแขก ตอนพม่าตีกรุงศรีอยุธยาก็ยังได้เป้ฯพระยายมราช (แขก) ทำการรบมากับพระยาตากด้วย

              สำหรับเจ้าพระยาจักรีศรีสมุหนายกผู้เป็นบิดาบุญธรรมของ “นายสิน” นั้น ปรากฏว่ามีบทบาทอยู่มากในการเลี้ยงดู ให้การอบรมและการศึกษาตลอดจนเป้นผู้นำ “นายสิน” เข้าไปรับราชการเป็นมหาดเล็ก ควบคู่กับหลวงนายศักดิ์ บุตรชายคนโตของท่าน ตามประวัติของการอบรม “นายสิน” ก่อนพาเข้าถวายตัวนั้นน่าสนใจมาก ท่านได้ให้โอวาทให้รู้จักการมีความรู้จักเจียมเนื้อเจียมตัว ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ห้าไม่ให้เกี่ยวข้องกับนางในอันจะทำให้เกิดโทษทัณฑ์ เป็นการบั่นทอนอนาคตความก้าวหน้าของชีวิต และได้ยกสุภาษิตราชาสติในวิทูรชาดกที่เรียกว่า ราชวัตร ๑๐ ประการ มาวันที่เด็กชายสิน จะต้องจากเคหสถานรโหฐาน เพื่อถวายตัวต่อสมเด็นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็มาถึง วันนั้นเป็นวันดีเป็นศิริมงคล ท่านได้พาตัวเด็กชายสินเข้าไปเป็นมหาดเล็กรับใช้ อยู่เวรหลวงนายศักดิ์ ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของท่าน เป็นความพอใจเขาอย่างยิ่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นหน้าเขาเป็นครั้งแรกก็รู้สึกพอใจในเด็กคนนี้ ไม่ปรากฏว่า “นายสิน” มีความประพฤติเป็นที่ครหาประการใด แม้ในหมู่เพื่อนๆ นั้น “นายสิน” ก็เป็นคนดี ทำตัวเป็นที่ไว้วางใจและเคารพนับถือของเพื่อนๆ ตลอดมา

                ตลอดเวลาที่ “นายสิน” กู้ชาตินั้น ก็ได้เพื่อนน้ำมิตรที่ซื่อสัตย์เพราะนิยม ยกย่อง เลื่อมใสในคุณธรรมของ “นายสิน” จนช่วยกันกู้ชาติได้ในที่สุด เช่นนายบุญมาก (กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๑) รับราชการอยู่ด้วยความจงรักภักดี ถึงกับไปชักชวนพี่ชาย คือ นายทองด้วง (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) มาอ่อนน้อมต่อพระยาตากหรือ “นายสิน” ช่วยกันกู้เมืองต่อไปจนสำเร็จ

                เมื่อพระยาตากได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว ทั้งสองก็ยังคงถวายตัวรับราชการ ออกศึกสงครามป้องกันบ้านเมืองแบบมอบกายถวายชีวิต ดังนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าเจ้าพระยาจักรีศรีสมุหนายกผู้เป็นมุสลิมผู้นี้ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง โดยปลุกปั้นวีรบุรุษของชาติไทยขึ้นมามีบทบาทที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วยผู้หนึ่ง

เจ้าพระยาจักรี (แขก)

              ตำแหน่งเดิมก็คือ  หลวงนายศักดิ์  เป็นเชื้อแขกและเป็นบุตรชายคนโตของเจ้าพระยาจักรีศรีสมุหนายกผู้เป็นบิดาบุญธรรมของ “นายสิน” เข้ารับราชการแต่ครั้งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศในตำแหน่งมหาดเล็ก คงจะเป็นรุ่นพี่และเป็นพี่เลี้ยงให้ “นายสิน” น้องบุญธรรมของตนจึงปรากฏว่าเมื่อครั้ง “นายสิน” กู้ชาตินั้น ก็ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เป็นที่ใกล้ชิดสนิทสนมและไว้วางใจของ “นายสิน” ที่

สุดผู้หนึ่ง ปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ หลวงนายศักดิ์ผู้นี้ได้ออกไปราชการ ณ เมืองจันทบูร (จันทบุรี) ก่อนที่พม่าจะมาล้อมกรุง และยังคงค้างอยู่ที่นั่น จนเมื่อพระยาตากคุมพลตีฝ่าทัพพม่าไปตั้งตัวที่จันทรบูรนั้น หลวงนายศักดิ์ก็ฝักใฝ่ทำงานกู้ชาติอยู่ด้วย พระยาตากได้มอบความไว้วางใจเพราะเห็นเป็นเพื่อนเก่า และรับราชการมาด้วยกันช้านาน ทั้งหลวงนายศักดิ์ผู้นี้ก็รู้ขนบธรรมเนียมกิจการงานทั้งปวงเป็นอย่างดี พอที่จะเป็นที่ปรึกษาหารือได้ 

เมื่อพระยาตากได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้วนั้น ก็ทรงพระกรุณาให้สถาปนาเป็นหลวงนายศักดิ์ (หมุดหรือแขก) ผู้นี้ให้เป็นเจ้าพระยาจักรี

           ราชการงานที่สำคัญของหลวงนายศักดิ์ ในตำแหน่งเจ้าพระยาจักรีในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็คือ ได้มีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพยกออกไปเจรจากับอาณาจักรนครศรีธรรมราช ทั้งนี้อาจมีพระราชดำริว่าท่านเจ้าพระยาจักรีผู้นี้เป็นเชื้อแขก พูดภาษาแขกได้ และเป็นมุสลิมก็คงจะรู้ขนบประเพณีอุปนิสัยใจคอของชาวมุสลิมในอาณาจักรนครศรีธรรมราชได้ดี เจ้าพระยาจักรี ในตำแหน่งแม่ทัพ จึงคุมทัพบกกำลังทหารห้าพันคนยกลงไปยังเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อไปถึงเมืองชุมพร ไชยา พวกกรมการก็เข้ามาอ่อนน้อมโดยมิได้เสียเลือดเนื้อ แต่เมื่อยกทัพไปถึงนครศรีธรรมราช นายทัพนายกองเกิดแตกความสามัคคีกัน ไม่สามารถตีให้แตกได้ทั้งต้องทียับเยิน จนต้องถอยทัพมาอยู่ที่เมืองไชยา (พระยายมราชกล่าวโทษเจ้าพระยาจักรีเข้ามาในกรุงว่าเป็นกบฏ ไม่ใส่ใจในการทำราชการสงคราม) รออยู่จนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพไปสมทบแล้วแยกกันเข้าตีนครศรีธรรมราช กองทัพเจ้าพระยาจักรีนั้นยกไปทางบกทางค่ายหัวช้างของนครศรีธรรมราช แต่เมื่อค่ายหัวช้างทราบข่าวเมืองแตก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเข้าประทับในนครศรีธรรมราชได้แล้วก็พากันขวัญเสีย เจ้าพระยาจักรีก็รีบนำทัพเข้าไปในเมืองเพื่อจะสมทบกองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีให้ได้ทัน แต่ก็ช้าไปแปดวัน จึงเข้ากราบทูลขอรับความผิดและขอรับพระราชทา

นอาชญาอย่างชายชาติทหาร แต่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงภาคทัณฑ์ไว้โดยให้ไปตามจับเจ้านครมาเป็นการแก้ตัว

             เจ้าพระยาจักรีแม่ทัพเรือ และพระยาพิชัยราชาแม่ทัพบกก็ยกติดตามเข้านครไปจนถึงเมืองปัตตานี เจ้าเมืองปัตตานีเกรงกลัวก็ส่งตัวเจ้านครและพระยาพัทลุง หลวงสงขวา เจ้าพัด เจ้ากลาง กับบุตรภรรยาให้แก่เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาจักรีก็นำคนทั้งหลายนั้นมาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อครั้งอะแซหวุ่นกี้ปราบมอญได้ ก็ยกทัพมาที่เมาะตะมะ ครั้นรู้ว่ามอญหนีมาพึ่งไทยก็ให้งุยอคงหวุ่นคุมพลห้าพันยกติดตามมาต้อนไปทางด่านเจดีย์ ๓ องค์ เจ้าพระยาจักรี (แขก) ก็ได้ตั้งสกัดไว้ จนพม่าต้องถอยทัพแล้วเจ้าพระยาจักรีก็ยังคงตั้งรับต่อสู้พม่าที่ติดตามมอญอยู่ต่อไป

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตีหัวเมืองเหนือได้แล้วนั้น แต่งตั้งให้ พระยาอภัยรณฤทธิ์  (ทองด้วง) เป็น พระยายมราช  ครั้นเมื่อเจ้าพระยาจักรี (แขก) ผู้ได้ชื่อว่าอ่อนแอในการสงครามถึงแก่กรรม ก็โ ปรดตั้งให้พระยายมราชเป็นเจ้าพระยาจักรี แทนแล้วโ

ปรดตั้งพระยาราชวังสันผู้บุตรของเจ้าพระยาจักรี (แขก) นั้นเป็นพระยายมราช

ผู้เขียนอยากให้มองถึงความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนาเเละวัฒนธรรม ของกรุงธนบุรี เนื่องจากหลังจากกรุงศรีอยุธยาล่มสลายก็เป็นเมืองท่า ค้าขายสำคัญ จนชาวต่างชาติเข้ามามากมายโดยเฉพาะ เเขก มีเชื้อสายดังนี้ 


บรรพบุรุษมุสลิมในธนบุรีมาจากเชื้อชาติต่าง ๆ ดังส่วนหนึ่งของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือ

             สายอาหรับ-เปอร์เซีย  ชาวเปอร์เซียได้นำเครื่องกระเบื้องของตนเข้ามาค้าขายด้วยตั้งแต่ 1,200 ปีมาแล้ว ส่วนชาวอาหรับนั้น เรามีหลักฐานแน่นอนจากจดหมายเหตุของพวกอาหรับซึ่งแสดงให้เราทราบว่า เขาได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับดินแดนส่วนนี้ ตั้งแต่สมัย 1,100 ปีมาแล้วเหมือนกัน (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ, 2539:4)

            มีหลักฐานแน่นอนว่า ได้มีมุสลิมเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ปรากฏตามจดหมายเหตุโบราณว่า มีคนที่คนโบราณเรียกว่า “แขกเทศ” _ตั้งบ้านเรือนอยู่ตั้งแต่สะพานประตูจีนด้านตะวันตกของกรุงศรีอยุธยาไปจนถึงหลังวัดนางมุกแล้วก็เลี้ยวลงไปที่ท่า “กายี” เป็นบริเวณที่มุสลิมตั้งบ้านเรือนอยู่ในกำแพงเมือง มีถาวรวัตถุร้างไปแล้วยังปรากฏอยู่ ชาวบ้านเรียกมาจนทุกวันนี้ว่า “กุฎีทอง” ที่นี่คำว่า “แขกเทศ”_ มีปรากฏในจดหมายเหตุนี้ นักโบราณคดีสันนิษฐานกันว่าจะเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามที่มีรกรากบ้านเดิมอยู่ในประเทศอาหรับบ้าง และในประเทศอิหร่านหรือเปอร์เซียบ้าง แล้วก็มาตั้งรกรากเพื่อดำเนินการค้าขาย ในที่สุดก็กลายเป็นคนไทย (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ, 2539 : 3)

            ในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากเฉกอะหมัดซึ่งเป็นชาวเปอร์เซียที่มาตั้งถิ่นฐานและสร้างมัสยิดที่เรียกว่า กุฎีทอง_แล้ว ยังมีชาวเปอร์เซียที่สำคัญอีกท่านหนึ่งเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่หัวเขาแดง (สงขลา) หลังจากตั้งถิ่นฐานที่อินโดนีเซียมาแล้วระยะหนึ่ง ชาวเปอร์เซียท่านนี้เป็นชาวมุสลิมสายซุนนะห์ชื่อ ท่านโมกอล (เข้ามาในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ.2145) บิดาของท่านสุลัยมาน ผู้ที่ประกาศแยกสงขลาออกเป็นอิสระจากกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองและสถาปนาตนเองเป็น “สุลต่านสุลัยมานซาห์”_ เมื่อ พ.ศ. 2173 โดยท่านถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ พ.ศ. 2211 ใน  รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ศพของท่านฝังอยู่ที่หัวเขาแดงจังหวัดสงขลา

            เชื้อสายของสุลต่านสุลัยมานซาห์อยู่ในตระกูลต่าง ๆ ในปัจจุบันเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นราชสกุลและสกุลต่าง ๆ ที่ยังคงเป็นมุสลิมและเปลี่ยนเป็นพุทธศาสนิกชน อาทิ สุทัศน์ ณ อยุธยา    สุคนธาภิรมย์  วัลลิโภดม  จันทโรจนวงศ์  ณ สงขลา  ณ พัทลุง  สุวรรณคีรี  ขัมพานนท์  ศรุตานนท์  วงศ์วานิช ยงใจยุทธ ฯลฯ ที่ยังเป็นมุสลิม เช่น ตระกูสุวรรณกิจบริหาร โยธาสมุทร บางอ้อ สิทธิวนิช          แสงวนิชย์ ปรียากร ชลายนเดชะ บัวหลวง ทองคำวงศ์ ศรเดช ฯลฯ

             สายชวา-มลายู  ส่วนชาวมุสลิมเชื้อสายปัตตานีซึ่งเป็นชาวบ้านเรียกว่า “แขกปัตตานี” มักจะประกอบอา

ชีพทางเกษตรกรรมและค้าขาย (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ, 2539 : 21)

            คนที่นับถือศาสนาอิสลามในสมัยศรีอยุธยานั้นมีตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นตำบลใหญ่ หลายร้อยหลายพันหลังคาเรือนเหมือนกัน ตำบลนั้นจะอยู่คลองตะเคียนทางทิศใต้ ส่วนอิสลามิกชนซึ่งมาจากอินโดนีเซียจากเกาะที่เรียกว่า “เกาะมากาซา” หรือ “มักสัน” ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านฝั่งตะวันตกลงไป (ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ, 2539 : 3)

            ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ช่วงสงครามไทย-พม่าจนมาถึงช่วงการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา มุสลิมกลุ่มนี้ได้อพยพหลบหนีมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในธนบุรี นอกจากนั้นตลอดสมัยธนบุรีถึง               กรุงรัตนโกสินทร์ก็คงมีมุสลิมเชื้อสายชวา-มลายูย้ายถิ่นฐานจากอาณาจักรปัตตานีมาอยู่ในธนบุรี เพราะถูกกวาดต้อนเป็นเชลยและเชิญชวนมาช่วยปฏิบัติงานรับใช้ชาติ ส่วนมุสลิมจากชวาก็อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเช่นกัน

             สายจาม-เขมร  จามและเขมรเป็นคนละเชื้อชาติ เพราะจามเป็นชนที่ผสมระหว่างขอมเดิม อินเดีย มลายูและจีน เป็นต้น จามเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเข้ารับราชการเป็นทหารอาสา ดังความใน กฎหมายไทย  (2439 : 192) ปรากฏว่า ยังมีแขกอีกพวกหนึ่งซึ่งปรากฏในมณเฑียรบาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เรียกว่า “อาสาจาม”

            มุสลิมที่อพยพจากกัมพูชานี้ ภายหลังเข้ามารวมเป็นพวกอาสาจาม ส่วนสาเหตุที่อพยพ    เข้ามาในไทยเพราะถูกรุกรานจากเวียดนาม (รัชนี สาดเปรม, 2521 : 18)

            เมื่อเกิดสงครามไทย-พม่า กองอาสาจามจึงเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้ศัตรูของไทย และเสียชีวิตลงจากการต่อสู้กับศัตรูเป็นจำ

นวนมาก ที่รอดชีวิตส่วนหนึ่งได้อพยพลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา และตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบางอ้อและที่อื่น ๆ

             สายอินเดีย-ปากีสถาน-บังคลาเทศ  อินเดียที่ต่อมาแยกประเทศเพิ่มเป็นปากีสถานและ       บังคลาเทศ เป็นชนอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาติดต่อค้าขายและตั้งถิ่นฐานในไทย

            มุสลิมเชื้อสายอินเดียมีทั้งที่เป็นสายชีอะห์และสายซุนนะห์ และมีทั้งรวมตัวตั้งเป็นชุมชนเฉพาะกลุ่มและเข้าไปตั้งถิ่นฐานรวม หรือโดยการแต่งงานกับคนในชุมชนมุสลิมเชื้อสายอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว

            มุสลิมอินเดียสายชีอะห์ คือที่มัสยิดตึกขาว (เซฟี) มีสุสานอยู่ใกล้กับกุฎีเจริญพาศน์ ส่วนกลุ่มที่เป็นซุนนะห์คือที่ชุมชนมัสยิดฮารูณ ซึ่งเป็นชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยาด้านตะวันออกหรือฝั่งพระนคร นอกจากนั้นกล่าวได้ว่า ทุกชุมชนเก่าแก่ในธนบุรี มุสลิมเชื้อสายอินเดียจะกระจายตัวตั้งถิ่นฐานอยู่ในชุมชนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ชุมชนมัสยิดตึกแดงซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของ     พระคลังสินค้า

            สกุลต่าง ๆ ของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายนี้ เช่น วงศ์อารยะ นานา นานากุล นานาวิชิต สยามวาลา ชาลวาล ดุลยรัตน์ สถาอานันท์ สมุทรโคจร วานิชอังกูร วานิชยากร อับดุลราฮิม อมันตกุล อมรทัต  สิมารักษ์  กุลสิริสวัสดิ์ ฯลฯ

             สายจีน  มุสลิมเชื้อชาติจีนที่ตั้งถิ่นฐานในธนบุรีอาจมีอยู่บ้าง แต่จำนวนไม่มากเหมือนทางภาคเหนือของไทยและส่วนที่มีอยู่จะเป็นลักษณะการผสมระหว่างเชื้อชาติเสียมากกว่า กล่าวคือ   ชาวจีนซึ่งอาจจะมีทั้งจีนมุสลิมแต่เดิมและจีนที่นับถือศาสนาอื่นแต่เดิม แต่งงานกั

บมุสลิมเชื้อชาติต่าง ๆ เช่นจามมุสลิมก็เป็นกลุ่มเชื้อชาติผสมจีน มุสลิมจากอาณาจักรปัตตานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบบริเวณอ่าวปัตตานีจำนวนไม่น้อยก็เป็นมลายูผสมจีน ทั้งนี้จากการเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย ซึ่งอ่าวปัตตานีจะเป็นบริเวณที่พักหลบลมมรสุมอย่างดี

            ส่วนในปัจจุบันมุสลิมจากเชื้อชาติต่าง ๆ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในธนบุรีส่วนหนึ่งก็ได้แต่งงานกับลูกหลานชาวจีนที่นับถือศาสนาต่าง ๆ โดยมาเข้ารับอิสลาม และมักจะกลายเป็นมุสลิมผู้เคร่งครัดเป็นจำนวนไม่น้อย

การตั้งถิ่นฐานและชุมชนมุสลิมในธนบุรี

            ชุมชนมุสลิม (Muslim Community) มุสลิมไม่ว่าจะมีบรรพบุรุษสืบเนื่องจากเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ใด ก็จะมีการตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน มีผู้นำ ทั้งนี้และทั้งนั้นเป็นไปตามรูปแบบและคำสอนในอิสลาม

            เมื่อเกิดการรวมตัวตั้งเป็นกลุ่มหรือชุมชน หรือที่เรียกในภาษามลายูซึ่งมาจากภาษาเขมรว่า “กำปง” แล้ว มุสลิมในแต่ละชุมชนจะเสียสละทั้งกำลังทรัพย์ กำลังแรง เพื่อสร้างศูนย์กลางของชุมชนขึ้น นั่นคือ มัสยิดหรือสุเหร่า และหากพื้นที่ไม่จำกัดจนเกินไป บริเวณศาสนสถานจะครบ        รูปแบบ โดยประกอบด้วย อาคารมัสยิด อาคารเรียน และกุโบร์สำหรับฝังศพ แต่บางชุม

ชนอาจต้องใช้ส่วนหนึ่งของมัสยิดเป็นที่ศึกษา และไปใช้กุโบร์ร่วมกันชุมชนอื่น เช่น มัสยิดกูวติลอิสลาม หรือตึกแดงริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้สุสานหรือกุโบร์เดียวกับมัสยิดนูรุ้ลมูบีน บ้านสมเด็จ

            อนึ่งชุมชนมุสลิมในธนบุรีที่เป็นชุมชนเก่าจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือริมคลองต่างๆ ที่มีอยู่จำนวนมาก ทั้งนี้เพราะเส้นทางคมนาคมในอดีตใช้เส้นทางน้ำเป็นสำคัญ

            สำหรับงานศึกษานี้จะนำเสนอเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมในธนบุรี จากชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 100 ปีที่มีประวัตินับเนื่องมาแต่อดีต ซึ่งมักจะเป็นชุมชนมัสยิดที่อยู่ส่วนในใกล้เขตพระราชฐาน

            เนื่องจากมุสลิมในประเทศไทยมีการปฏิบัติศาสนกิจบางประการแตกต่างกัน อันเป็นผลสืบเนื่องจากแนวความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน หลังจากที่ท่านศาสดาหรือนบีมูฮำหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมสิ้นชีวิต จึงเกิดเป็

นมุสลิมสายซุนนะห์กับสายชีอะห์ ดังนั้นในการนำเสนอจึงขอแบ่งชุมชนออกเป็น 2 กลุ่ม ตามสายดังกล่าวคือ

             1. ชุมชนมุสลิมในธนบุรี สายชีอะห์  ในสมัยกรุงธนบุรี ชุมชนมุสลิมสายชีอะห์ยังไม่มีมัสยิดเป็นของตนเอง แต่เนื่องด้วยมุสลิมชีอะห์ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากท่านเฉกอะหมัดกลุ่มนี้ตั้งชุมชนอยู่ติดกับมุสลิมสายซุนนะห์ที่คลองบางหลวงคือ กุฎีหรือมัสยิดต้นสน ฉะนั้นในการประกอบศาสนกิจโดยทั่วไปก็ดี ศาสนกิจในเดือนมุฮัรรอมสำหรับชีอะห์ก็ดี มุสลิมชีอะห์ จะใช้มัสยิดต้นสนทำพิธี ทั้งนี้รวมถึงกุโบร์ซึ่งเป็นที่ฝังศพก็ใช้ร่วมกัน ซึ่งพระยาจุฬาราชมนตรีซึ่งเป็นสายชีอะห์มาแต่อยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ จำนวน 13 ท่าน ก็เป็นมุสลิมชีอะห์ และศพของพระยาจุฬาฯ นับแต่คนที่ 5 ต่างก็ฝังอยู่ในกุโบร์ของมัสยิดต้นสน

            ในบริเวณริมคลองบางหลวงริมถนนอิสรภาพทั้งสองฝั่ง ตั้งแต่เชิงสะพานเจริญพาศน์      คือ ชุมชนใหญ่ของมุสลิมชีอะห์ ประกอบด้วยมัสยิด 3 แห่ง คือ มัสยิดดินฟัลลาห์หรือกุฎีปลายนา มัสยิดผดุงธรรมอยู่หลังกุฎีเจริญพาศน์  และกุฎีเจริญพาศน์อยู่ฝั่งตรงข้ามกับสุสานปลายนา  เป็น  ศาสนสถานที่รู้จักโดยทั่วไปแต่อดีต  สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมในเดือนมุฮัรรอมหรือที่ปรากฏในงานนิพนธ์ว่า “มหะหร่ำ”สืบเนื่องต่อมาจนปัจจุบัน ดังที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศเหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ความว่า

                                    “ดลเดือนเรียกมหะหร่ำ       ขึ้นสองค่ำแขกตั้งการ

                                      เจ้าเซ็นสิบวันวาร             ประหารอกฟกฟูมนัยน์”

อนึ่ง ข้างกุฎีเจริญพาศน์ยังมีกุโบร์หรือสุสาน ดาวูดีโบราห์  ซึ่งเป็นที่ฝังศพของมุสลิมชีอะห์เชื้อสายอินเดีย  ซึ่งเป็นชีอะห์ที่มีความต่างไปจากชีอะห์ของมัสยิดต่างๆ ในบริเวณนี้  มัสยิดของมุสลิมโบราห์นี้คือ มัสยิดเซฟีหรือตึกขาว

            สำหรับศาสนสถานแห่งแรกของมุสลิมชีอะห์ในบริเวณนี้คือ กุฎีหลวง สร้างในรัชกาลที่ 1 เช่นกัน โดยได้ทรงพระราชทานที่ดิน 60 ไร่ ใกล้กับพระราชวังเดิมให้กับหลวงศรีเนาวรัตน์ ซึ่งเป็นเชื้อสายของท่านเฉกอะหมัด (ต่อมาเป็นพระยาจุฬาราชมนตรี คนที่ 5) ตั้งชุมชนในบริเวณพื้นที่นี้ แต่ปัจจุบันกุฎีหลวงถูกย้ายไปอยู่ในซอยกุฎีหลวง ถ.พรานนก แขวงบ้านช่างหล่อ  ทั้งนี้เพราะกองบัญชาการกองทัพเรือต้องการขยายพื้นที่ จึงขอแลกเปลี่ยนพื้นที่กันเมื่อ พ.ศ. 2490

            บรรพบุรุษของมุสลิมชีอะห์ส่วนใหญ่ในบริเวณนี้เป็นชาวเปอร์เซียจากเมืองกุม คือ ท่านเฉกอะหมัดและเฉกมะหะหมัดสะอี๊ดซึ่งเดินทางเข้ามาค้าขาย ที่กรุงศรีอยุธยาในปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133-2148)

เฉกอะหมัดเข้ามาตั้งถิ่นฐานและแต่งงานกับชาวไทยในกรุงศรีอยุธยา ด้วยความสามารถในด้านการค้าและเศรษฐ

กิจทำให้ท่านได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2163-2171) ให้เป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา ว่าที่จุฬาราชมนตรี และกรมท่ากลาง หลังจากช่วยปราบจราจลจากการก่อการของญี่ปุ่นได้สำเร็จ ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนาธิบดี สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ เทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2173-2198) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก ที่ปรึกษาในการปกครองแผ่นดิน

            เฉกอะหมัดเป็นบรรพบุรุษของหลายตระกูลในปัจจุบัน โดยส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนไปนับถือพุทธศาสนา เช่น ตระกูลบุนนาค ปราโมช บุรานนท์ ศรีเพ็ญ จาติกรัตน์ เป็นต้น ซึ่งเชื้อสายท่านในส่วนนี้ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนเชื้อสายที่เป็นมุสลิม ได้แก่ ตระกูลต่างๆ เช่น อหะหมัดจุฬา อากายี จุฬารัตน์ ยวงมณี ฯลฯ ซึ่งได้สืบสายในการดำรงตำแหน่งพระยาจุฬาราชมนตรีสืบต่อกันมานับแต่อยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์        ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 13 ท่าน ท่านสุดท้ายคือ พระยาจุฬาราชมนตรี (สอน อหะหมัดจุฬา)

            ฉะนั้น พระยาจุฬาราชมนตรีทั้ง 13 ท่านดังกล่าวจึงเป็นสายชีอะห์จากสายเปอร์เซีย มุสลิมสายชีอะห์ซึ่งเป็นสายของท่านเฉกอะหมัดที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณมัสยิดต่างๆ ดังกล่าวนี้ยังคงสืบสานประเพณีที่เรียกกันในสังคมไทยว่า “เจ้าเซ็น” ซึ่งกระทำใน 10 วันแรกของเดือนมุฮัรรอม เพื่อรำลึกถึงการจากไปของท่านฮูเซ็น หลานของท่านนบีมูฮำหมัดที่ถูกฆ่าตายที่กัรบะลา ซึ่งอยู่ในประเทศอิรัก

            พิธีเต้นเจ้าเซ็น ประกอบด้วยการแห่สัญลักษณ์ของผู้บริสุทธิ์ทั้ง 5 การแห่ศพ (สิ่งสมมติซึ่งประดิษฐ์และตกแต่งอย่างสวยงาม) การเดินเวียนรอบปะรำ มือทุบอกพร้อมกับเปล่งเสียง”ญาฮูเซ็น” การเดินลุยไฟและการก

รีดศรีษะ ในช่วงเวลาดังกล่าวมุสลิมชีอะห์ แต่งกายด้วยชุดสีดำ

            อนึ่ง เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2496 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ได้เสด็จไปในงานเจ้าเซ็นที่กุฎีเจริญพาศน์

ชุมชนชีอะห์นอกจากจะอยู่ในบริเวณที่กล่าวมาแล้วยังมีที่เขตคลองสานบริเวณริมฝั่งเจ้าพระยา มัสยิดที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ตึกขาว ส่วนชื่อที่เป็นทางการคือ มัสยิดเซฟี มุสลิมที่เป็นสัปปุรุษของมัสยิดนี้เป็นกลุ่มโบราห์จากเมืองสุหรัด ประเทศอินเดียซึ่งเป็นมุสลิมสายชีอะห์ที่มี แนวปฏิบัติแตกต่างไปจากมุสลิมชีอะห์เจริญพาศน์ กล่าวคือในสายชีอะห์เองก็ยังแบ่งย่อยเป็นกลุ่มต่างๆ ตามความเชื่อความศรัทธา มุสลิมผู้อาวุโสทั้งชายหญิงของชุมชนนี้ ยังคงแต่งกายตามรูปแบบอินเดียที่อยู่ในกรอบของอิสลาม  ส่วน    กุโบร์ของสัปปุรุษนี้อยู่ห่างจากมัสยิดกล่าวคือ อยู่ใกล้กับกุฎีเจริฐพาศน์เรียกว่าสุสานดาวูดีโบราห์ ความเป็นมาในการตั้งถิ่นฐานของมุสลิมกลุ่มนี้ คือการเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย  บริเวณหน้ามัสยิดเซฟีเป็นคลังสินค้าเป็นตึกขาวอยู่ริมแม่น้ำ ในขณะที่คลังสินค้าถัดขึ้นไปบริเวณบ้านของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นตึกแดง ดังนั้นมัสยิดของสองชุมชนซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกันนี้จึงเรียกติดปากตามชื่อสีตึกว่า ตึกขาวและตึกแดง

สกุลต่างๆ ของมุสลิมโบราณห์ เช่น อับดุลราฮิม  มัสกาตี  ฮะกิมยี  กุฎีเจริญภาส ฯลฯ

         มัสยิดชีอะห์ กุฎีเจริญภาส

                2. ชุมชนมุสลิมในธนบุรี สายซุนนะห์  แม้ว่าพระยาจุฬาราชมนตรี นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์จะเป็นมุสลิมสายชีอะห์อันมีบรรพบุรุษจากเปอร์เซีย แต่ชาวไทยมุสลิมจากอดีตจนปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นสายซุนนะห์ซึ่งมีบรรพบุรุษมาจากมุสลิมเชื้อชาติต่างๆ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้ทราบว่าชนต่างชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยามีมากกว่า 40 เชื้อชาติ ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นมุสลิม ดังนั้นหากจะจำแนกมุสลิมซุนนะห์ในธนบุรีซึ่งเป็นรอยต่อของกรุงศรีอยุธยาที่ต้องล่มสลายและมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ที่รุ่งโรจน์ กล่าวโดยสรุปได้ว่า มุสลิมในธนุบรีจะมีบรรพบุรุษจากเชื้อชาติต่างๆ คือ อาหรับ เปอร์เซีย ชวา มลายู จาม เขมร อินเดีย  ปากีสถาน บังคลาเทศ อัฟกานิสถาน และจีน

            มุสลิมจากเชื้อชาติต่างๆ ตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนมุสลิมในธนบุรี โดยบางชุมชนมีอยู่ก่อนที่ ธนบุรีจะเป็นราชธานี บางชุมชนเกิดขึ้นในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ กล่าวอีกนัยหนึ่งในการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในธนบุรี ไม่ว่าจะเดินทางโดยตรงมาจากประเทศใดๆ ก็ดี หรือจะอพยพมาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยาแล้วอพยพต่อไปยังธนบุรีก็ดี หรือจะเดินทางจากถิ่นต่างๆ ในประเทศมายังธนบุรีก็ดี มุสลิมจะมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน และสร้างมัสยิดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ซึ่งหากพิจารณาในด้านนิเวศวิทยา มัสยิดที่ประกอบด้วยกุโบร์ก็จะทำหน้าที่เป็นปอดของชุมชน ทั้งนี้เพราะในพื้นที่ดังกล่าวจะเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่

            มัสยิดเก่าแก่อันเป็นศูนย์กลางชุมชนในธนบุรีในสายซุนนะห์ ได้แก่ มัสยิดต้นสน มัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์ (บางกอกน้อย) มัสยิดกูวาติลอิสลาม (ตึกแดง) มัสยิดเซฟี (ตึกขาว) มัสยิดนูรุ้ลมูบีน (บ้านสมเด็จ) มัสยิดสวนพลู มัสยิดสุวรรณภูมิ มัสยิดวัดเกาะ มัสยิดฮารูณ

หมายเลขบันทึก: 663508เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2019 17:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2020 01:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท