"จุตรสัจ"




หากศึกษามนุษย์ในแง่ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ กายภาคศาสตร์ วิทยาศาสตร์และชีววิทยา จะพบความจริงเชิงประจักษ์ได้ดีว่า สัตว์และพืช มีลักษณะที่เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และสลายไป จนเกิดวิวัฒนาการ เกิดผ่าเหล่า เกิดการปรับตัวตามสิ่งแวดล้อม ตามธรรมชาติและที่อยู่อาศัย ตลอดจนอวัยวะนั้นๆ ค่อยหมดความสำคัญไปในที่สุด 

ปรากฏการณ์เช่นนี้ สัตว์เดรัจฉานและพืช ไม่มีแผนความคิด ไม่มีแผนพัฒนา ไม่มีการวิเคราะห์ที่จะไปสู่การสิ้นสุดของภพหรือเชื้อพันธุ์ของตัวเอง แต่ตรงกันข้าม พืชและสัตว์ล้วนหาทาง วางแผนในการที่จะสืบทอดเผ่าพันธุ์ของตนให้ยาวนานมากที่สุดเช่น ไม้ผลออกดอก ออกผลจำนวน สัตว์บก สัตว์น้ำ ออกลูก ออกไข่จำนวนมาก ก็เนื่องมาจากต้องการสืบทอดเผ่าพันธุ์ให้ยืนยง


สิ่งที่พืชและสัตว์ไม่มีและไม่คิดคือ การรู้ตนเองแและการวางแผนหรือการกำหนดเผ่าพันธุ์ของตนให้หมดภาระต่อไปในอนาคต นอกเสียจากเกิดอุบัติการณ์อย่างใด อย่างหนึ่ง ที่กำจัดสัตว์และพืชให้หมดไปเช่น เกิดอุกกาบาตชน ภูเขาไฟระเบิด  เกิดน้ำท่วม โรคระบาด เป็นต้น เหล่านี้ อาจทำให้สัตว์และพืชสูญพันธุ์ได้ โดยไม่มีการสืบทอดเจตจำนงของต้นเผ่าพันธุ์อีกต่อไป

ลักษณะดังกล่าวนั้น ต่อมาก็ค่อยๆ พัฒนามาเป็นสัญชาตญาณและเจตจำนงที่ฝังแน่นไว้ในสายเลือดหรือดีเอ็นเอ (DNA) ทำให้สัตว์และพืชถูกทั้งสองนี้นำพาไป ไม่ว่าพืชและสัตว์จะอยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมใด หรือถูกกระทำอย่างไร อิทธิพลทั้งสองนี้ จะมีบทบาทในการกระตุ้นหรือสะท้อนออกมาอย่างเข้มข้นเช่น กรณีเราอยากโค่นมะม่วงทิ้ง โดยการควั่นเปลือกรอบต้นออก มะม่วงนั้นจะออกดอก ออกผลดกผิดปกติ เนื่องจากว่า มันรู้ตัวว่า จะตาย จึงเร่งเร้าออกลูก ออกผล เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ไว้


กรณีเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า สัตว์และพืชไม่ต้องการจะดับสูญพันธุ์จากโลกนี้ อยากอยู่ให้ยืนยาวต่อไป ความต้องการเช่นนี้ เกิดมาจากการเรียนรู้ในขณะยังดำรงอยู่ และด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน (วิวัฒนาการ) ที่เจอประสบการณ์ด้วยตนเอง และด้วยฤดูกาล ทำให้พืชและสัตว์ได้เก็บเอาประสบการณ์ต่างๆ ไว้ในคลังความจำและส่งไปยังคลังเชื้อของลูกต่อไป

ในขณะมนุษย์เพิ่งเกิดมาบนโลกนี้ เมื่อเทียบกับระยะเวลาอุบัติมากับสัตว์และพืช ได้เรียนรู้จากระยะเวลาและบรรพบุรุษของตนเอง ในเบื้องต้น มนุษย์ยังไม่มีคลังเชื้อความรู้ที่ถูกถ่ายทอดมายังสายพันธุ์ จึงไม่ได้พฤิตกรรมแบบพืชหรือสัตว์ แต่ธรรมชาติก็ได้มอบคุณสมบัติพิเศษเอาไว้ให้มนุษย์คือ "สมอง" ที่จะเป็นคลังความทรงจำ การเรียนรู้และความคิด ที่สำคัญที่สุด 


กระนั้นก็ตาม ในระยะแรกๆ มนุษย์ยังไม่มีมรดกทางสมองหรือปัญญาจากบรรพบุรุษที่รู้สิ่งแวดล้อมดี จึงต้องอาศัยประสบการณ์เอง โดยอาศัยการสังเกตุ อาศัยความเชื่อ ความคิดแบบดิบๆ ตื้นๆ เช่น เชื่อในพลังอำนาจของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิญญาณ ป่าไม้ สัตว์ป่า ไฟ ดวงดาว ดวงอาทิตย์ ภูเขา แม่น้ำ ฯ เป็นต้น เป็นแสงนำทางไปสู่การแสดงออกและยึดเป็นที่พึ่ง ที่เชื่อมั่น

ในเบื้องต้น มนุษย์ต้องอาศัยการประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ อุบัติการณ์ต่างๆ จากประสาทการรับรู้ของตนเป็นพื้นฐาน แล้วค่อยๆ เรียนรู้ แล้วสะสมไปสู่การคิด สร้างสรรค์ ปรับตัว พัฒนาตนเอง และเครื่องมือต่างๆ ไปสู่การพัฒนาการเป็นยุคๆ ตั้งแต่ยุคหิน ยุคทองแดง และยุคเหล็ก จนเกิดสังคมยุคอุตสาหกรรมในที่สุด นี่คือ ผลผลึกจากการสั่งสมประสบการณ์มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ


อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามนุษย์จะพัฒนาไปก้าวล้ำขนาดไหน มีสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ไม่อาจข้ามพ้นได้นั่นคือ ความจริงของปรากฏการณ์กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลง การไม่ยั่งยืน และความตาย ความตายคือ จุดจบของสรรพสิ่ง ลักษณาการเหล่านี้คือ "สัจกฎ" (truth law) ที่สรรพสิ่งไม่อาจเลี่ยงได้ เช่น เส้นทางของชีวิตที่เกิดในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง และดับสลายในที่สุด

ปรากฏการณ์เช่นนี้ แม้พืชจะรู้จักปรับตัวเอง เพื่อความอยู่รอดทางสายพันธุ์ให้ยั่งยืน และสัตว์วิวัฒนาการเพื่อการเอาตัวรอดตามที่ดาร์วินเห็นมาก็ตาม ทั้งหมดยังคงไม่พ้นอยู่ในกรอบของกฎนี้คือ "กฎจตุรสัจ" (Four truth laws) กล่าวคือ เกิด แก่ เจ็บ และตาย กฎนี่คือ กฎที่อยู่เหนือสุดของสรรพสิ่งและอาจกินขอบเขตไปถึงจักรวาลได้ 


ใครคือ ผู้มองเห็นกฏนี้มาก่อน ที่จริง มนุษย์เท่านั้นที่รู้เห็นปรากฏการณ์เหล่านี้ได้ดีกว่าพืชและสัตว์ เพราะสามารถสาวหาสาเหตุและผลของมันได้ แล้วหาทางหลีกเลี่ยง มิให้ตกอยู่วังวนนี้อีก ซึ่งต่างจากพืชและสัตว์ที่มุ่งมั่นจะหาทางเอาตัวรอดคือ มิให้ตายจากโลกใบนี้ แต่มนุษย์กลุ่มไหนที่มีทัศนคติต่อกฎเหล่านี้ ในทางสร้างสรรค์ละ

ในที่นี่ขอเสนอว่า มีมนุษย์ ๓ กลุ่ม ที่สร้างสรรค์ทิศทางไปสู่การวิวัฒนาการด้านความคิด ความเชื่อ และกลายเป็นปรัชญาและศาสนาในที่สุดนั่นคือ กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่เชื่อในวิญญาณนิยม (Animism) กลุ่มที่สองคือ กลุ่มนักปรัชญา (Philosopher) กลุ่มที่สามคือ กลุ่มนักบวชต่อมากลายเป็นศาสนา (Ascetism) กลุ่มเหล่านี้ เป็นกลุ่มกรุยทางไปสู่การคิดค้นที่เจริญขึ้น


กลุ่มแรกนั้น เป็นกลุ่มเผ่าพันธุ์มนุษย์กลุ่มแรกๆ ตั้งแต่ยุคปฐมกาล ที่อาศัยอยู่ตามป่า เขา และถ้ำ ออกล่าสัตว์และหาพืช ผมไม้เป็นอาหาร ไม่มีที่อยู่ที่แน่นอน งานหลักคือ หาอาหาร พักผ่อนหลับนอน ในขณะเดียวกันกลุ่มนี้ ได้เผชิญกับอันตรายในป่าใหญ่มากมาย ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้ต้องหาที่พึ่ง เป็นกำลังใจไว้ สิ่งที่พวกเขาเชื่อคือ วิญญาณตามธรรมชาติ 

สาเหตุที่เชื่อพลังงานของธรรมชาติ เพราะว่าในป่า เขา มีพลังอำนาจลึกลับ ซับซ้อน มีปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ และในดงป่า เช่น ฟ้าผ่า ฝนตก ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว น้ำท่วม ไฟไหม้ สัตว์ร้าย และสิ่งลี้ลับ ฯ  พวกเขาจึงเชื่อว่า ต้องมีพลังแอบแฝงอยู่ในปรากฏการณ์เหล่านี้ จึงเชื่อว่า เป็นวิญญาณธรรมชาติ 


วิญญาณธรรมชาติมาจากปราฏการณ์ธรรมชาติ ที่อุบัติขึ้น และไม่รู้สาเหตุ นอกจากนั้น ความเชื่อที่ใกล้เคียงของความเชื่อมั่นคือ วิญญาณของญาติที่เสียชีวิตไป เพราะสมัยก่อน คนที่เสียชีวิตลง เผ่าต่างๆ จะเก็บรักษาศพด้วยวิธีต่างๆ จะไม่เผาเช่น เก็บตามถ้ำ ตามสุสานกลาง ฝังไว้ที่จำเพาะ ฝังต้นไม้ไว้ หรือตามหน้าผา ฯ ถึงเวลาก็จะมาบวงสรวงดวงวิญญาณ เพื่อขอพร ขอให้ปกป้องคุ้มครองญาติๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งต่อมาความเชื่อตามธรรมชาติทั้งหมด ขมวดลงมราวิญญาณนี้ทั้งหมด

การติดต่อสื่อสารกับวิญญาณเหล่านี้จะต้องผ่านคนกลางเรียกว่า "หมอผี" (Shaman) หากใครทำอะไรผิดหรือเจ็บป่วยไม่ปรกติ ก็จะอาศัยหมอผีพามาบวงสรวงเซ่นไหว้ผีวิญญาณญาติ เพื่อความสุข ความปลอดภัย จนกลายเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมา จากป่าก็นำมาสู่เมือง ผู้นำหรือกษัตริย์จะทำอะไรก็ต้องอาศัยหมอผีหรือศาสดาพยากรณ์ให้ก่อน 


คติความเชื่อของกลุ่มคนที่นับถือวิญญาณนิยมนี้ มีเป้าหมายคือ ให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ปลอดภัย จึงเคารพวิญญาณบรรพบุรุษของตนเองอย่างเคร่งครัด ในขณะเดียวกัน วิญญาณทั้งหมด จึงถูกรวมไว้เป็นศูนย์กลาง ที่สุสาน และมีการสักการะ บวงสรวงวิญญาณเหล่านั้นด้วยความเคารพ จึงเป็นที่สรุปได้ว่า คนเป็นกลัวคนตาย และต่อมาจึงนำเอาคติทัศน์ของคนกลุ่มนี้ มาเป็นหลักการทางศาสนาในที่สุด

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่อาจกล่าวได้ว่า มาจากพื้นฐานของกลุ่มวิญญาณนิยมเป็นเค้ามูล แต่อาจอยู่ในกลุ่มชุมชนคนเมืองหรือปัญญาชนคนสมัยนั้น ที่มักจะหาสาเหตุ หาประเด็นที่มาว่า มาอย่างไร วิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น แล้วนำไปสู่การคิดหาสาเหตุเชิงประจักษ์ หลักฐาน ข้อมูล แล้วตั้งคำถามว่า เพราะอะไร สาเหตุใด โดยอาศัยพื้นฐานการคิด การวิเคราะห์ด้วยสมองของมนุษย์เอง

การคิด การตั้งคำถามคือ กระบวนการ กระตุ้นให้คนคิดเอง หาสาเหตุเองในปรากฏการณ์ธรรมชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ที่สอนเรื่องปรัชญาคือ กรีก อินเดีย ถือว่าเป็นต้นฉบับการคิด หาเหตุเป็นกลุ่มแรก ที่กรุยทางมาจากเทพเจ้า มาสู่ศักยภาพของมนุษย์ กระนั้นก็ตาม กลุ่มแรกๆ ยังคงไม่ก้าวออกจากอำนาจเทพเจ้าอยู่ ยังอยู่ใต้ร่มเงาของเทพเจ้าอยู่เช่น พวกกรีก อินเดีย ฯ


ในขณะเดียวกัน มีกลุ่มท้าท้ายต่ออำนาจพระเจ้าเช่นกัน โดยมองว่า อำนาจของพระเจ้าไม่มีอยู่จริง แต่ที่มีอยู่จริงคือ อำนาจของความคิด เหตุผล ปัญยาของมนุษย์ โดยกลุ่มท้าทายพระเจ้าเช่น ธาเลส โซเครตีส พระพุทธเจ้า จารวาก เชน อริสโตเติล  ฯ และทำให้เกิดการโต้แย้ง ข้อถกเถียงกันตามมา จนกลายเป็นธรรมประเพณีของนักปรัชญาทั้งทั้งหลาย

การโต้แย้ง การโต้เถียง คือ วิธีการสาวหาเหตุ หาผล หาตรรก มาหักล้างความเชื่อของกลุ่มแรกหรือคนแรก ว่ามีความเห็นต่าง เห็นแย้งอย่างไร จนกลายเป็นทิศทางในการคิดที่หลากหลาย จนเกิดช่องทางในการคิด การหาทางออกอย่างมีเหตุ มีผลตลอดมา โดยมีลักษณะที่ต่อยอด ขยาย หรือหักล้างความคิดกันเรื่อยๆมา นี่คือ การเกิดเส้นทางความคิดอย่างอิสระ ด้วยสมองของมนุษย์เอง


ดังนั้น กลุ่มนี้คือ กลุ่มที่สะท้อนความคิด เรื่องที่คิดมากมาย จนเกิดสำนักต่างๆ เกิดไอเดีย เกิดแนวคิดทั้งหลักการ และทฤษฎีมากมาย เช่น อินเดียมี ๖ สำนัก ที่ถกเถียงปรัชญากันอยู่ ในกรีกก็มีหลายสำนัก ซึ่งประเด็นต่อยอด โต้แย้ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิต จิตใจ ธรรมชาติ พระเจ้า อัตตา ความตาย ความเป็น ความจริง ญาณวิทยา เป็นต้น

กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มทางศาสนา ที่ขนานมาคู่กับกลุ่มปรัชญา แต่จุดเด่นของศาสนาคือ มีทิศทางที่แน่นอน มีเส้นทาง และเป้าหมายชัดเจน แต่จุดอ่อนคือ มีการอ้างเอาอำนาจเทพเจ้ามาสวมใส่ในคัมภีร์ด้วย แรกๆ อาจอ้างจากเทพเจ้าโดยตรง ต่อมาก็อิงเอาปรัชญาไปใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อรับรองความเชื่อของตนเองให้เด่นขึ้น ยกเว้นศาสนาในทางเอเชียเช่น พระพุทธศาสนา ที่ไม่อิงอำนาจพระเจ้าแต่อิงสติปัญญาของมนุษย์เอง

จุดกำเนิดของศาสนาเอง ก็มีรากเหง้ามาจากศาสนาโบราณเช่น พวกนับถือวิญญาณนิยม มาจากเทพเจ้าดลใจหรือวิวรณ์ และในเวลาต่อมาก็ผสมเข้ากับกลุ่มปรัชญา ทำให้ศาสนาและปรัชญาจึงเดินทางไปด้วยกัน ลักษณะที่แตกต่างกันของปรัชญาและศาสนาคือ ปรัชญามุ่งเน้นหาเหตุผล หาความจริง ความรู้ เท่านั้น โดยอาศัยตรรกะหรือการโต้แย้งเป็นเครื่องมือ ส่วนศาสนามุ่งสอนให้ออกจากทุกข์หรือไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือ การบรรลุความหลุดพ้นโลก 


แล้วศาสนาใดสอนให้รู้ปรากฏการณ์ธรรมชาติ สอนให้รู้และเข้าถึงกฎสัจธรรม ๔ อย่างคือ เกิด แก่เจ็บ ตาย พระพุทธศาสนาคือ ศาสนาที่สอนเรื่องชีวิต ชีวิตมีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ๔ อย่าง ซึ่งพระพุทธศาสนาเองก็กำเนิดในท่ามกลางความเชื่อเรื่องเทพเจ้า โดยไม่ได้มองรากฐานของชีวิตเชิงธรรมชาติ พระพุทธเจ้าคือ ผู้ปฏิเสธคำสอนของพราหมณ์เชิงปฏิรูปสังคมอินเดียสมัยนั้น  

มนุษย์หรือสิ่งมีชีวิต มีปรากฏการณ์ ๔ อย่างทุกอย่างทุกรูป ทุกนาม เนื่องจากอาศัยสสารของโลกกำเนิดร่างกาย ร่างกายคือ ฐานกำเนิดของจิต จิตคือ ผลรวมทั้งหมดของประสาท ที่ตกผลึกตรงที่สมอง โดยอาศัยกาลเวลา สะสมความรู้ จนกลายเป็นวิญญาณ (วิ+ญาณ) เช่น ตาเห็นรูป เกิดวิญญาณทางตา โดยตกผลึกที่สมอง ให้เกิดเป็นมโนภาพขึ้นมา 


ด้วยระยะเวลามาตรฐานของอายุมนุษย์มี ๑๐๐ ปี ยาวนานพอที่จะเห็นปรากฏการณ์ของสิ่งมีชีวิตหรือสสารร่างกายของตนเองเปลี่ยนแปลงไปตามกาล ไม่มั่นคงถาวร (ทุกข์) ประกอบด้วยความรู้พื้นฐานจากศาสนา จากประสบการณ์ และจากการเรียนรู้ในสังคม ย่อมเห็นชัดเจนว่า ชีวิตมีการแปรผันไปตามกาลเวลา มีอุบัติเหตุ มีอุปสรรค มีเผชิญทุกข์ สุข เสียใจ ดีใจ สมหวัง ผิดหวัง สูญเสียมามากมาย ฯ

ในที่สุดก็จะไปรวมยอดตรงที่ความแก่ชรา และสิ้นสุดตรงที่ความตาย สำหรับคนหนุ่มสาว ย่อมมองเส้นทางชีวิตยังไม่ชัดเจน ไม่มั่นคงนัก ต่างจากวัยชรา ที่เข้าใจเส้นทางชีวิตว่า ตนเองกำลังเดินทางไปสู่ความตายดุจนักโทษประหาร หลายคนเข้าใจดี โดยแสวงหาทางไปอย่างเข้าใจมัน แต่อีกหลายคนที่ไม่ซาบซึ้งถึงอนาคตที่จะดับมืดลง จึงใช้ชีวิตให้สนุก ร่าเริงกลบเกลื่อนความกลัว


เรื่องนี้ ท่าน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในขณะป่วยใกล้ตาย ได้เขียนจดหมายถึงคุณมหาประสก (คอลัมนิสต์ ไทยรัฐ ๒๖-๒๘ พ.ค. ๒๕๑๙) กล่าวถึงความตายเอาไว้อย่างน่าคิดดังนี้ 

"... พูดนอกเรื่องนอกราวมาเสียนาน เห็นจะต้องเข้าเรื่องที่ได้รู้ได้เห็น เมื่อใกล้ตายเสียที เอาเรื่อง ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ก่อน ขอบอกเสียก่อนว่า เวลาเจ็บหนักใกล้จะตายนั้น ถ้าใครยังมีสติคอยสังเกตดู จะแลเห็น เกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้ชัดยิ่งกว่าเวลาที่ร่างกายยังเป็นปกติ ไม่ป่วยหนัก

เกิด นั้นไม่ได้หมายความว่า อุบัติขึ้นเท่านั้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันก็เกิดขึ้นเรื่อย ๆไป ซึ่งเรียกกันว่า งอกเงย เติบโต ทั้งนี้เป็นจริงไม่ว่าจะเป็นในทางรูปธรรม หรือทางนามธรรม ร่างกายนั้น เมื่อเกิดแล้วก็เจริญเติบโตขึ้น บางส่วนตายไปก็มี ส่วนที่ใช้การได้อย่างเดียวกันนั้น เกิดขึ้นแทนและงอกเงยต่อไปอีก สังขารที่เป็นนามนั้นก็เช่นเดียวกัน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็งอกเงยต่อไป ที่ตรงไหนดับลง ก็มีอะไรเกิดขึ้นมาแทนที่แล้วงอกเลยต่อไปอีก แต่การเกิดนี้ มิใช่ของที่ไม่มีที่สิ้นสุด


 ที่สุดของเกิดคือ มรณะ หรือความตาย ความตายมาถึงเมื่อใด ความเกิดก็สิ้นสุดลง เมื่อนั้นความตายจึงเป็นไม้ท่อนเดียวกับเกิด ถ้ามีเกิดเป็นหัวไม้ ตายก็เป็นหางไม้ พ้นจากนั้นแล้วก็ไม่มีอะไรอีก ที่ว่าไม่มีอะไรอีกก็คือ นามรูป หรือขันธ์ห้าที่เรามักยึดถือว่าเป็นของเรา ผมเชื่อว่าสิ้นสุดลงแน่เมื่อตายมาถึง ถ้าหากจะมีอะไรเกิดต่อไปอีก ก็เป็นเรื่องของกรรมซึ่งพระท่านสอนไว้ แต่จะเกิดอย่างไรนั้น ผมยังไม่รู้ ยังไม่เป็น พูดไม่ได้ ที่พระนาคเสนถวายพระพรไว้ต่อพระเจ้ามิลินท์นั้น ผมเห็นว่าเล่นลิ้น เหมือนกับปัญญาชนคุยกันเพื่อแสดงปัญญาของตนเอง ไม่ได้แสดงความจริง

สรุปแล้ว มรณะเป็นที่สุดของชาตะ หรือเกิด เป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่ไม่มีใครเลี่ยงได้ เพราะทุกอย่างย่อมมีที่สุด มีขอบเขต จักรวาลยังมีขอบ พระมหาสมุทรยังมีฝั่ง อันที่จริงก็เป็นบ่อขนาดใหญ่เท่านั้นเอง หนังไทยนั้นถึงจะยาวจนหลับแล้วหลับอีก ก็ยังมีจบลงจนได้ ชีวิตก็เป็นอย่างนั้น ใครอยากเกิดก็ต้องยอมรับความตาย จะไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ไม่ได้ แต่ถ้าไม่อยากเกิด และไม่เกิดอีก ตายก็ไม่มี อย่างนี้เรียกว่า อมตธรรม คือ ธรรมที่ไม่ตาย..."  (www.dhamma-gateway.com)


ฉะนั้น พระพุทธศาสนามีท่าทีต่อกฎธรรมชาติ ๔ อย่าง ซึ่งพอประมวลได้ดังนี้ ๑) ชีวิตคือ ทุกข์ ไม่เหมือนมุมมองของพืชและสัตว์ทั่วไป ที่มองว่า ชีวิตคือ ความอยู่รอดตลอดไป ๒) ทุกข์ คือ เส้นทางที่จะเข้าถึงความจริงอย่างลึกล้ำ มิใช่แค่เห็น ประสบ แล้วเลิกละ คลายวางทัศนะไป แต่ต้องนำไปใช้แบบโยนิโสมนสิการ ๓) ให้หมั่นพิจารณาชีวิตว่า เป็นสสารที่ไม่มั่นคงในรูปแบบร่างกาย ต้องมีอันเป็นไปตามกาล กรรม กฎ อย่างแน่นอน ๔) ชีวิตมีความตายเป็นเพียงมายา ยังต้องมีชีวิตอีกหลายภพ หากยังไม่พ้นวัฏฏะในภพนี้ แต่จงปรารถนาอย่าเกิด อย่ามาเป็นทุกข์อีกเลย ๕) จงอย่ายึดมั่น ถือมั่นในโลกนี้อย่างจริงจัง จงคลายใจ ปลงวาง อย่าพันธนาการจิตตนให้ผูกมัดอยู่กับโลกจนมองไม่เห็นความจริงเหนือความจริง

                    จิตวิญญาณ ผ่านมา ศาลาโลก

                            อย่าลื่นตก โชกชุ่ม โลกคลุมหัว

                            ถอนตัวออก บอกใจ ไม่พันพัว

                            ดุจดอกบัว ไม่กลั้วโคลน ปนราคี

หมายเลขบันทึก: 662669เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2019 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2019 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท