พัฒนาการการแต่งกายของคนในจังหวัดเลย (ไทเลย)


พัฒนาการการแต่งกายของคนในจังหวัดเลย (ไทเลย)

ผู้คนในท้องถิ่นจังหวัดเลย หรือที่เรียกว่า “ไทเลย” นั้น มีวัฒนธรรมเละประเพณีหลายอย่างในรูปแบบเดียวกันกับวัฒนธรรมของผู้คนในประเทศ สปป.ลาว หรือที่คนในจังหวัดเลยมักเรียกกันว่า “ไทลาว” โดยเฉพาะวัฒนธรรมและประเพณีของชาวเมือง “หลวงพระบาง” จะมีความใกล้เคียงกับวัฒนธรรมและประเพณีของผู้คนในจังหวัดเลยมากที่สุด

ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า คำว่า “ซิ่น” มีมานานแค่ไหน แต่จากหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรของชาวตะวันตกคือ “อองรี มูโอต์”
ที่เข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และราชอาณาจักรสยาม เพื่อทำการสำรวจภูมิประเทศและวัฒนธรรมในพื้นที่ได้กล่าวถึง ผู้หญิงชาวลาว ว่านุ่ง “ผ้าซิ่น (Sinh)” โดยกล่าวว่า นุ่งไว้ต่ำกว่าสะดือ เล็กน้อย

ภาพผู้หญิงลาววาดโดย Janet Lange จากภาพร่างโดยอองรี มูโอต์ ในระหว่างการเดินทางในภาคกลางของอินโดจีน (สยาม) กัมพูชา และลาว โดยนักธรรมชาติวิทยา อองรี มูโอต์ ในช่วง ค.ศ.1858 - 1861 ในภาพจะสังเกตเห็นผ้านุ่งของหญิงชาวลาว หรือที่เรียกว่า “ซิ่น”

ซึ่งในบันทึกนี้เอง ก็มีการกล่าวถึง “เมืองเลย” ด้วยเช่นกัน และคนในเมืองเลยตามบันทึกเองก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของชาว “ลาว” ด้วย

นอกจากนี้ ในเขตจังหวัดเลยเอง ยังปรากฏหลักฐานการแต่งกายของผู้คนในท้องถิ่นจังหวัดเลย โดยปรากฏในลักษณะของ “ภาพจิตรกรรมฝาผนัง” ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านนาพึง ตำบลนาพึง อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ซึ่งในภาพจิตรกรรม จะสังเกตเห็นการแต่งกายของผู้หญิงว่ามีการ “นุ่งผ้าซิ่น” โดยอายุของภาพจิตรกรรม สันนิฐานว่า วาดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2395 ซึ่งก็นับว่าผ่านมาเป็นระยะเวลาประมาณ 160 กว่าปีแล้ว

หลักฐานอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการศึกษาในด้านการแต่งกายของผู้คนในท้องถิ่นจังหวัดเลยก็คือ “ภาพถ่าย” หรือการถ่ายภาพโดยใช้กล้องถ่ายรูปซึ่งมีปรากฏครั้งแรกสุดเท่าที่ค้นพบในขณะนี้ คือช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในภาพถ่ายก็จะสังเกตเห็นการแต่งกายของผู้หญิงว่ามีการ “นุ่งผ้าซิ่น” เช่นกัน

แต่ทั้งนี้เอง จากภาพถ่ายที่ปรากฏทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่า ผู้คนในท้องถิ่นจังหวัดเลย ก็มีการผสมผสานทั้งการใช้งานหัตถกรรมผ้าทอมือ และการค้าขายในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยปรับเปลี่ยนการแต่งกายของตนเองอยู่ตลอดเวลา ไปตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในช่วงระยะเวลานั้น ๆ

จากหลักฐานที่ปรากฏดังกล่าว ก็ทำให้สามารถกล่าวได้ว่า “เอกลักษณ์ผ้าซิ่นไทเลย” คือ ความมีเอกลักษณ์ร่วมกันกับ “ชาวไทลาว” ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างทั้งความคล้ายคลึงกันในด้านภาษา และศิลปะ วัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ รวมไปถึงความสัมพันธ์ทางการค้า และความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันของผู้คนทั้งสองฟากฝั่งลำน้ำโขง

หมายเลขบันทึก: 662301เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2019 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มิถุนายน 2019 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท