Test_พาราควอต ไกลโฟเสท และคลอร์ไพริฟอสสมควรถูกห้ามใช้หรือยัง?


พาราควอต ไกลโฟเสท และคลอร์ไพริฟอสสมควรถูกห้ามใช้หรือยัง?

สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ สารป้องกันกำจัดแมลง สารกำจัดวัชพืช และสารกำจัดโรคพืช เป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตร ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และฉบับแก้ไข 2551 ซึ่งมีประโยชน์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชไม่ให้อยู่ในระดับที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่หากใช้อย่างไม่ถูกต้องอาจเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค สิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ และสิ่งแวดล้อม 
ในช่วง 2 – 3 เดือน ท่านผู้อ่านโดยเฉพาะแวดวงเคมีเกษตร และเกษตรกร คงคอยติดตามกระแสข่าวการเสนอให้ห้ามใช้สาร 3 ชนิด ที่มีปริมาณนำเข้ามาก 3 อันดับแรก ของประเทศไทย ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเสท และคลอร์ไพริฟอส สองชนิดแรกเป็นสารกำจัดวัชพืช อีกชนิดหนึ่งเป็นสารป้องกันกำจัดแมลง ทั้ง 3 ชนิด ในฉบับนี้ผู้เขียนอยากเสนอมุมมองของนักอารักขาพืช และพอมีประสบการณ์ได้ทำงานเกี่ยวกับการควบคุม กำกับ ดูแล การขึ้นทะเบียน รวมทั้งขั้นตอนการที่จะประกาศห้ามใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตร
การนำเข้า ส่งออก ผลิต มีไว้ครอบครอง และจำหน่าย
การที่กรมวิชาการเกษตร จะอนุญาตให้บริษัทมีการนำเข้า ส่งออก มีไว้ครอบครอง และจำหน่าย จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และฉบับแก้ไข 2551 โดยบริษัทจะต้องมีข้อมูลด้านพิษวิทยาต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ที่ได้ผ่านการวิจัยจากห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองจาก Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) เป็นองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศกลุ่มยุโรป โดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วที่ไม่ได้อยู่ในทวีปยุโรปเข้าเป็นสมาชิกด้วย ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ดำเนินกิจกรรมเพื่อความร่วมมือทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ โดยเน้นปัญหาของสารเคมีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หลังจากคณะทำงานของผู้ทรงคุณวุฒิด้านพิษวิทยาของกรมวิชาการเกษตร ประเมินข้อมูลด้านพิษวิทยาผ่านแล้ว บริษัทจึงจะไปดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพเพื่อหาอัตราที่เหมาะสม ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป้าหมาย หลังจากมีข้อมูลครบถ้วนแล้วทั้งพิษเฉียบพลัน พิษเรื้อรัง พิษต่อสภาพแวดล้อม ผลการทดลองประสิทธิภาพ หรือผลการทดสอบระยะเวลาทิ้งช่วงก่อนเก็บเกี่ยวในกรณีพืชผัก ผลไม้ที่ใช้บริโภค จึงจะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอให้คณะอนุกรรมเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายของกรมวิชาการเกษตร ที่มีอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธาน พิจารณาซึ่งอาจจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนก็ได้

คณะทำงานดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง 
หลังจากมีการอนุญาตให้บริษัทมีการนำเข้า ส่งออก มีไว้ครอบครอง และจำหน่าย หากมีประเด็นปัญหาภายหลัง กรมวิชาการเกษตร จะมีคณะทำงานดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง การพิจารณาเฝ้าระวังวัตถุอันตราย เพื่อจำกัดการใช้ หรือเสนอห้ามใช้ มีขั้นตอน ดังนี้
คณะอนุกรรมการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรของกรมวิชาการเกษตร จะแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง ประกอบด้วยอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธาน มีรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรที่ได้รับมอบหมาย ผู้อำนวยการกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุอันตรายทางการเกษตร นักวิชาการเกษตรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นคณะทำงาน และสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เป็นเลขานุการ คณะทำงานมีหน้าที่
1.ศึกษา ติดตามและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นพิษ พิษตกค้างและผลกระทบจากการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว
2. เสนอชื่อวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ควรจัดเข้าอยู่ในรายการวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังการใช้
3. กำหนดระยะเวลาการเฝ้าระวัง กำหนดเรื่องเกี่ยวกับวัตถุอันตรายและผลกระทบที่ต้องเฝ้าระวัง รวมทั้งเสนอผู้รับผิดชอบในการรวบรวมข้อมูลหรือศึกษาวิจัย
4. ประเมินความเป็นอันตรายและผลกระทบภายหลังจากการเฝ้าระวัง เพื่อเสนอห้ามใช้ หรือจำกัดการใช้ต่อคณะอนุกรรมการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร
5. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะอนุกรรมการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรมอบหมาย
ในการพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์ในการจัดวัตถุอันตรายให้อยู่ในรายการสารเฝ้าระวัง เกณฑ์หลักที่นำมาพิจารณาจะใช้เกณฑ์ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ว่าด้วยเรื่อง Guidelines on Highly Hazardous Pesticides และเกณฑ์อื่นๆ ที่คณะทำงานเสนอก็ได้ สำหรับเกณฑ์ที่ใช้ดำเนินการในปัจจุบัน คือ
1) สารที่มีพิษเรื้อรัง เป็นผลร้ายต่อมนุษย์และสัตว์ทดลอง เช่น สารก่อมะเร็ง ก่อการกลายพันธุ์ ทำให้ตัวอ่อนผิดปกติ ฯลฯ
2) สารที่มีพิษเฉียบพลันสูง (ค่า LD50 ต่ำ) เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ได้ง่าย ระดับความเป็นพิษจัดโดย FAO/WHO อยู่ใน Class 1 เอ (สัญลักษณ์แถบสีเป็นแถบแดง และมีข้อความร้ายแรงมาก)และ Class 1 บี (สัญลักษณ์แถบสีเป็นแถบแดง และมีข้อความร้ายแรง)
3) สารที่ถูกห้ามใช้ในต่างประเทศ
4) สารที่มีพิษตกค้างสะสมในสิ่งมีชีวิต และถ่ายทอดในห่วงโซ่อาหาร โดยให้ครอบคลุมทั้งสารเริ่มต้น (parent) สารที่สลายตัวเป็นอนุพันธ์ (metabolite) และสารที่ถูกย่อยสลาย (degradates)
5) สารที่สลายตัวยาก มีความคงทนในสภาพแวดล้อม
6) สารที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญารอตเตอร์ดัม อนุสัญญาสตอกโฮม
7) สารที่เป็นอันตรายอย่างรุนแรงต่อพืชและสัตว์มีประโยชน์
8) สารที่ใช้แล้วก่อให่เกิดการระบาดเพิ่มของศัตรูพืช (Resurgence)
9) สารที่พิษตกค้างในผลิตผลเกษตรสูงเกินค่าปลอดภัย และบ่อยครั้งในพืชชนิดเดียวกัน
10) สารที่มีสิ่งเจือปนที่เป็นพิษ เช่น ดีดีที อนุพันธ์ของดีดีที (ออลดริน ดรีนดริน คลอร์เดน เฮปตาคลอร์ ฯลฯ) ที่เกิดจากกระบวนการผลิตและเก็บรักษา
11) มีการใช้ไม่ตรงคำแนะนำ
ซึ่งข้อมูลที่มาใช้ประกอบการพิจารณานั้น จะต้องเป็นข้อมูลที่มีงานวิจัยที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ หากพิจารณาแล้วว่าสารใด ที่เข้าหลักเกณฑ์จะประกาศเป็นสารเฝ้าระวัง จำกัดการใช้ หรือห้ามใช้ คณะทำงานจะต้องสรุปเสนอคณะอนุกรรมการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายของกรมวิชาการเกษตร ให้ประกาศเป็นสารเฝ้าระวัง หรือจำกัดการใช้ ในกรณีที่เสนอให้ประกาศห้ามใช้ จะต้องเสนอให้กรรมการวัตถุอันตรายระดับชาติที่มีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน
รายชื่อสารเคมีที่เคยประกาศให้เป็นวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังในประเทศไทย จำนวน 11 ชนิด ได้แก่ 1) อัลดิคาร์บ 2) บลาสติซิดิน-เอส 3) คาร์โบฟูแรน 4) ไดโครโตรฟอส 5) เอ็นโดซัลแฟน 6) อี พี เอ็น 7) อีโทรโพรฟอส 8) ฟอร์มีทาเนต 9) เมโทมิล 10) เมทิดาไทออน 11) ออกซามิล และในจำนวนนี้มี 2 ชนิด ที่ถูกประกาศเป็นวัตถุอันตารายชนิดที่ 4 (หรือประกาศห้ามนำเข้า ห้ามใช้ ห้ามมีไว้ครอบครอง ห้ามจำหน่าย) แล้ว คือ ไดโครโตรฟอส และอี พี เอ็น ดังนั้นปัจจุบันคงมีวัตถุอันตรายที่เฝ้าระวังเพียง 9 ชนิด สถานการณ์ล่าสุดที่ผู้เขียนมีข้อมูลคือ มีการรวบรวมข้อมูลเสนอให้คณะทำงานดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง ให้เพิ่มเติมเป็นสารเฝ้าระวัง เป็น 18 ชนิด (รวมกับของเดิม) พาราควอต ไกลโฟเสท และคลอร์ไพริฟอส มีในรายชื่อที่จะมีการพิจารณาให้เป็นสารเฝ้าระวังในอนาคตอันใกล้นี้
จากขั้นตอนดังกล่าว จะเห็นได้ว่ากรมวิชาการเกษตรมีการพิจารณาทบทวนข้อมูลอยู่แล้วว่าสารใดสมควรเฝ้าระวัง สารใดสมควรประกาศห้ามใช้ แต่สารพาราควอต ไกลโฟเสท และคลอร์ไพริฟอส นั้นในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ว่าเข้าเกณฑ์พิจารณาให้เป็นสารเฝ้าระวัง อาจจะมีเฉพาะสารพาราควอต ที่อาจจะมีพิษเฉียบพลันสูง แต่จะเกิดเฉพาะกรณีผู้มีเจตนานำไปฆ่าตัวตายเท่านั้น ยังไม่เคยเกิดขึ้นกับกรณีการใช้อย่างถูกต้อง ดังนั้นการจะประกาศห้ามใช้สารทั้ง 3 ชนิด จึงผิดขั้นตอนการปฏิบัติ เนื่องจากยังไม่ได้ประกาศเป็นสารเฝ้าระวัง และแม้ว่าจะประกาศเป็นสารเฝ้าระวังก็ยังมีกำหนดเวลาที่ต้องเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตามการที่จะประกาศห้ามใช้สารใดๆก็ตาม คงต้องมาพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย ผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างรอบคอบ เนื่องจากเป็นสารเคมีที่มีเกษตรกรใช้มากเป็นลำดับต้นๆ เนื่องจากเป็นสารเคมีที่มีประสิทธิภาพดี กำจัดศัตรูพืชได้หลากหลาย นอกจากนี้ยังราคาถูก หากประกาศห้ามใช้คงกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกรอย่างมาก ซึ่งจะไปสวนทิศทางของการลดต้นทุน 20% ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้เขียนจึงอยากจะฝากผู้เกี่ยวข้องช่วยกันพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ โดยเฉพาะเรื่องสารทดแทนนั้น คงเป็นเรื่องยากที่จะมีสารทดแทนสารทั้ง 3 ชนิด ได้ทุกมิติ ทั้งมิติด้านประสิทธิภาพ มิติด้านราคา และมิติด้านความปลอดภัย

ข้อมูลจาก : Facebook สุเทพ  สหายา  (30 กรกฎาคม 2560)

หมายเลขบันทึก: 660816เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2019 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2019 15:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท