ภาษีเค็ม-หวาน มาตรการสุขภาพเพื่ออนาคตไทย


การรณรงค์เรื่องลดบริโภคหวานที่เครือข่ายทำมานานนับสิบปี กับการจุดประกายให้ผู้บริโรคเห็นแก่พิษภัยของความเค็มจึงไม่สูญเปล่า อย่างน้อยๆ เร็วๆนี้เราก็น่าจะมีความชัดเจนเรื่องมาตรการภาษีอาหารที่มีความเค็มต่อจากภาษีน้ำหวานที่เริ่มส่งผลดีต่อพฤติกรรมการบริโภค ปรับเปลี่ยนมาตรฐานการบริโภคที่เคยผิดทิศ ผิดทาง ให้กลับมาพอดีแบบที่มาตรฐานคนไทยควรจะเป็น

เมื่อกันยายน 2560 กรมสรรพสามิตได้ประกาศอัตราภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ถัดจากนั้นราวๆปีครึ่ง สังคมก็เริ่มพูดถึงแนวทางจัดเก็บภาษีอาหารที่มีความเค็มและความมัน(ภาษีความเค็ม) ซึ่งแปรผันตามปริมาณโซเดียมในส่วนประกอบ

อย่างที่รู้กัน นอกจากความหวานแล้วก็เป็นความเค็มนี่แหละ ที่เป็นรสชาติที่คนไทยติดปาก โดยผลสำรวจระบุว่า ในเมนูอาหารที่คนไทยรับประทานแต่ละวันมีปริมาณโซเดียมสูงเกินกว่าค่ากำหนดขององค์การอนามัยโลกถึง 2 เท่า หรือประมาณ 4,350 มิลลิกรัมต่อวัน ขณะเดียวกันอาหารยอดฮิตที่ขายตามสตรีทฟู้ด, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็ล้วนเต็มไปด้วยโซเดียม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) 

                              ขอบคุณที่มา ภาพประกอบ: https://www.salika.co/2018/12/06/sodium-tax-thai-people-health/


ถึงเวลาเลิกเค็ม

ถ้าที่ผ่านมาเราเคยได้ยินการบริโภคน้ำตาลที่เรียกว่า ‘เพชฌฆาตรสหวาน’ แล้ว ถึงคราวที่เราต้องตระหนักถึงตัวการก่อโรคที่ชื่อ ‘เพชรฆาตรสเค็ม’ กันบ้าง  ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์สาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม บอกว่า โรคเค็มเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอันตรายอย่าง ความดันโลหิต ไต หัวใจ อัมพาตและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนในระยะยาว กลุ่มโรคที่เกิดจากการบริโภคเค็ม นั้นสูงถึง ห้าหมื่นถึงแสนล้านบาทต่อปี เหตุนี้จึงสมควรเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้มาตรการเก็บภาษีเพื่อเป็นตัวเริ่มให้คนไทยหันมาตระหนักถึงการบริโภคซึ่งเป็นต้นทางของการดูแลสุขภาพ

“แนวคิดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอาหารตามปริมาณความเค็ม และปริมาณไขมัน จะยึดแนวทางเดียวกับภาษีความหวานที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน เน้นเก็บจากอาหารที่มีคนบริโภคมาก ๆ มีการผลิตเป็นอุตสาหกรรม สินค้าที่เป็นบรรจุหีบห่อ มีการระบุปริมาณโซเดียมชัดเจน อาทิ อาหาร ขนมขบเคี้ยว ที่มีความเค็มสูง บะหมี่กึ่งสำเร็จที่ปริมาณโซเดียมสูงกว่าความต้องการของร่างกาย 2-3 เท่า โจ๊ก ซุปก้อน ขนมกรุบกรอบที่มีความเค็ม”

จากการศึกษาพบว่าร้อยละ 70ของผู้ป่วยโรคNCDs มาจากผู้ที่มีฐานะยากจน เพราะมีทางเลือกน้อยและส่วนใหญ่หาเช้ากินค่ำจึงไม่มีเวลาศึกษาข้อมูล การสร้างมาตรการภาษีจึงมีเพื่อดปกป้องกลุ่มคนเหล่านี้โดยทำให้อาหารดีต่อสุขภาพราคาถูกกว่าสินค้าที่ทำลายสุขภาพ

“ขณะเดียวกันมาตรการต่างๆ อาจจะไม่ได้รวมถึงร้านอาหารรายย่อย เนื่องจากเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเลือกรับประทานได้และสูตรของแต่ละร้าน เราเพียงแต่สร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจ แนวทางนี้มองว่าเหมาะสมเพราะประชาชน และภาคอุตสาหกรรมจะสามารถปรับตัวได้ และโดยรวมแล้วประเทศจะได้ประโยชน์  “ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในประเทศฮังการี พบว่าหลังจากมีการเก็บภาษีความเค็มในบางผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือสูงมาก พบว่าประชาชนก็หันมากินเค็มน้อยลง เพราะอาหารที่มีความเค็มน้อยก็จะไม่ต้องเสียภาษี

                              ขอบคุณที่มา ภาพประกอบ :https://www.tsood.com/contents/3012868


เลิกหวานแล้วไปไหน

ภาษีความเค็มได้ต้นแบบมาจากการเก็บภาษีความหวาน ถึงเช่นนั้นเมื่อมาตรการภาษีมีผลบังคับใช้แล้ว เรายังก็ต้องมีแนวทางอื่นร่วมขับเคลื่อน เพื่อให้นิสัยการบริโภคสำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน

 ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ในฐานะประธานเครือข่ายคนไทยไม่กินหวาน มองว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงรอบปีที่ผ่านมา คือหนึ่งในความสำเร็จของการเคลื่อนไหว เกิดเป็นกระแสการรักสุขภาพ การออกผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มาแรง ได้แก่ เครื่องดื่มสูตรน้ำตาลน้อยหรือไม่ใส่เลย อาหารไขมันต่ำ ไม่มีคอเลสเตอรอล ผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันหรือช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนับเป็นผลดีต่อตัวผู้บริโภค ที่มีทางเลือกในการบริโภคเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น

 “เราให้ความรู้มานับสิบๆปี ทำให้เกิดกระแสสังคม เกิดการรณรงค์ที่ต้องเปลี่ยนแปลงจากต้นทาง เพราะเมื่อต้นทุนของวัตถุดิบที่ทำลายสุขภาพแพงขึ้น ผลิตภัณฑ์ก็จะแพงขึ้นตาม และผู้บริโภคจะเริ่มออกว่าสิ่งเหล่านี้คือความสิ้นเปลือง ไม่มีความจำเป็นกับชีวิต มันจึงเป็นการสร้างพฤติกรรมทางอ้อมวิธีหนึ่ง”

แน่ว่าการขึ้นภาษีเป็นเพียงส่วนหนึ่ง และสิ่งที่สังคมไทยต้องการคือการสร้างพฤติกรรมถาวร ในการลด ละ เลิก การบริโภคอาหาร  ไม่ว่าจะเป็นความหวานหรือความเค็ม โจทย์ต่อไปจากนี้ คือขยายของเขตจากเครื่องดื่มพร้อมดื่ม เป็นการรณรงค์ในขอบข่ายใหม่ที่เชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ร้านน้ำ ร้านกาแฟ ร้านขนม เช่น ให้มีการปรับสูตรเครื่องดื่มใหม่ คงรสชาติแต่ลดจำนวนน้ำตาลลง การลดขนาดเครื่องดื่มเพื่อสร้างทางเลือก เปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคจากวันละมากๆ ค่อยๆ ลดน้อย และบริโภคเท่าที่จำเป็นในที่สุด

 พร้อมกันนั้นเครือข่ายยังร่วมมือกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่ามีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และเกลือ (โซเดียม) ที่เหมาะสม ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

การรณรงค์เรื่องลดบริโภคหวานที่เครือข่ายทำมานานนับสิบปี กับการจุดประกายให้ผู้บริโรคเห็นแก่พิษภัยของความเค็มจึงไม่สูญเปล่า อย่างน้อยๆ เร็วๆนี้เราก็น่าจะมีความชัดเจนเรื่องมาตรการภาษีอาหารที่มีความเค็มต่อจากภาษีน้ำหวานที่เริ่มส่งผลดีต่อพฤติกรรมการบริโภค

ปรับเปลี่ยนมาตรฐานการบริโภคที่เคยผิดทิศ ผิดทาง ให้กลับมาพอดีแบบที่มาตรฐานคนไทยควรจะเป็น

หมายเลขบันทึก: 660795เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2019 13:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2019 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท