“กินจืด ยืดชีวิต” ลดหวาน-มัน-เค็ม ลดเสี่ยง ลดโรคไต


การลดอัตราผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังให้น้อยลง และป้องกันไม่ให้เกิดผู้ป่วยรายใหม่ให้ได้ผล นอกจากมาตรการต่างๆ แล้ว การปรับลดพฤติกรรมการบริโภคส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังกว่า 8 ล้านคน โดยเป็นป่วยเรื้อรังระยะสุดท้ายกว่า 100,000 คนที่ต้องรับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ15-20 ต่อปี และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียนรองจากมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งรัฐต้องใช้ทรัพยากรบุคคลและเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละกว่า 20,000 ล้านบาท

        อย่างที่เราทราบกันดีกว่าสาเหตุของการเกิดโรคไตมาการบริโภคเค็ม แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะการทานหวานและความดันโลหิตสูงก็เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคไตได้เช่นกัน นอกจากนี้พฤติกรรมการรับประทานที่เปลี่ยนไป ทำให้พบโรคไตในเด็กอีกด้วย เพราะมักรับประทานขนมกรุบกรอบ ฟาสต์ฟู้ด เป็นประจำ

                พื้นที่ ต.เจริญราษฎร์ อ.แม่ใจ จ.พะเยา เป็นตำบลที่มีอัตราความชุกตัวของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังสูงที่สุดของอำเภอ และที่บ้านสันดอนแก้ว ก็เป็นหมู่บ้านที่มีความรุนแรงมากที่สุด โดยมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมากถึง 10 ราย

                “จากการเก็บข้อมูลและศึกษาพฤติกรรมของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย พบว่ามีการปรุงอาหารด้วยน้ำปลามากถึง 4,800 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเกิดค่าโซเดียมที่เหมาะสมให้บริโภคได้เพียงวันไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ขณะที่แกงถุงหรือร้านอาหารตามสั่งภายในหมู่บ้านส่วนใหญ่มีรสเค็ม ดังนั้นหมู่บ้านนี้จึงกินเค็มกันจนเป็นเรื่องปกติ” ทพ.ธิติพันธุ์ อวนมินทร์ ทันตแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลแม่ใจ เผยถึงสาเหตุของการเกิดโรคไตวายเรื้อรังในพื้นที่บ้านสันดอนแก้ว

                ขณะเดียวกัน ทพ.ธิติพันธุ์ ยังชี้ถึงปัจจัยของการเกิดโรคอีกว่า ไตวายไม่ได้มาจากการกินเค็มทั้งหมด อาจมาจากนิ่วในไต หรือจากการกินยาต้านการอักเสบบ หรือ NSAIDs ก็ได้ แต่ในทางทฤษฎีสาเหตุของโรคไต คือ ร่างกายได้รับโซเดียมเกินความจำเป็น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเติมระหว่างทำอาหารและการปรุงเพิ่มตอนรับประทาน

                การลดอัตราผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังให้น้อยลง และป้องกันไม่ให้เกิดผู้ป่วยรายใหม่ให้ได้ผล นอกจากมาตรการต่างๆ แล้ว การปรับลดพฤติกรรมการบริโภคส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

                ทพ.ธิติพันธุ์ เปิดเผยถึงแนวทางการลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ว่าเมื่อทราบถึงสาเหตุของการรับโซเดียมเกินความจำเป็นนั้นมาจากอาหารที่รับประทาน ทางโรงพยาบาลแม่ใจจึงต้องเข้าไปปรับส่วนนี้ แต่จะให้ลดรสชาติใดรสชาติหนึ่งไม่ได้ เพราะในวิถีชีวิตคนไทยชอบทานอาหารหลายรสชาติรวมๆ กัน ฉะนั้นจึงชักชวนให้ลดหวาน มัน เค็ม ไปพร้อมๆ กัน โดยนำร่องด้วยการลดเครื่องปรุงอาหารในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจำนวน 4 คนเป็นเวลา 6 เดือน พบว่า ค่าไตทำงานดีขึ้น และขยายผลไปเป็น 25 ราย ก็พบว่าค่าไตดีขึ้นเช่นกัน จึงเป็นที่มาของ “หมู่บ้านกินจืดยืดชีวิต”

                แนวปฏิบัติคือให้แต่ละครัวเรือนลดเครื่องปรุงในอาหาร โดยเฉพาะรสเค็ม ลงครึ่งหนึ่งจากปกติ และให้มีปฏิทินเตือนตัวเอง วันไหนลดได้ก็ให้บันทึกไว้ โดยจะมีอสม.ไปตรวจเยี่ยม ส่วนร้านก๋วยเตี๋ยวและอาหารตามสั่งก็ให้มีจุดบริการเครื่องปรุงเพียงจุดเดียว ไม่ต้องมีครบทุกโต๊ะ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อคนกิน

                ภายหลังมีการคืนข้อมูลด้านสุขภาพให้ชุมชน ทุกคนเริ่มตื่นตัว และพร้อมใจกันที่จะขับเคลื่อนไปทั้งตำบล ผ่านการประชาคมร่วมกัน จนในที่สุดจึงร่วมกันประกาศเป็น “ตำบลต้นแบบ กินจืด ยืดชีวิต พิชิตโรค”

                ทพ.ธิติพันธ์ กล่าวว่า การเป็นตำบลกินจืดมีแนวทางที่เข้มข้นกว่าเดิม โดยมี 4 ข้อกำหนด ได้แก่ 1.ครัวเรือนต้องลดเครื่องปรุงลงครึ่งหนึ่ง รับประทานขนมขบเคี้ยวได้ไม่เกิน 2 ซองต่อวัน 2.ครัวชุมชนในงานบุญ งานประเพณี ต้องมีการลดเครื่องปรุงและมีเครื่องดื่มอ่อนหวาน  3.ร้านขายเครื่องดื่มต้องมีเมนูอ่อนหวาน และ 4. ร้านค้า ร้านขายของชำต้องมีขนมสีเขียวจำหน่าย

                “เราพอจะอนุมานได้ว่าถ้าเขาลดความเค็มลงได้ก็ลดความหวานได้เช่นกัน เพราะเราไม่ได้ไปตรวจวัดว่าแต่ละครัวเรือนใส่ไปปริมาณเท่าไหร่ยังไง แต่เราวัดที่ผลของพฤติกรรม เพราะถ้าเขาไม่ทำ ค่าไตก็คงไม่ดีขึ้นอย่างแน่นอน” ทพ.ธิติพันธ์ กล่าว

                การขับเคลื่อนตำบลกินจืดจะไม่ประสบความสำเร็จหากขาดความร่วมมือจากชุมชน และฟันเฟืองที่สำคัญ คือ อสม. ทุกคนที่ช่วยกันอย่างเข้มแข็ง

                จ.ส.ต.ญ.สุขนภัสสร พรมมา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.เจริญราษฎร์ กล่าวว่า อสม.จะมี ปรอทวัดความเค็ม เพื่อช่วยในการออกตรวจวัดความเค็มในอาหารของครัวเรือนและร้านอาหาร โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ สีแดง คือ เค็มมาก สีส้ม เค็มปานกลาง และสีเหลือง เค็มปกติ ช่วงแรกๆ เป็นเรื่องยากในการไปบอก เพราะชาวบ้านก็เชื่อว่าตัวเองกินเค็มพอดีแล้วหรือคิดว่ารสจืดอยู่แล้ว แต่เมื่ออสม.ใช้ปรอทวัดความเค็มไปวัด ก็พบว่าเค็มเกินระดับ จึงขอให้ลดเค็มลงครึ่งหนึ่ง

                หลังจากดำเนินการได้ระยะหนึ่ง ทางเจ้าหน้าที่ของรพ.สต.เจริญราษฎร์ ก็ตรวจพบว่าค่าไตของผู้ป่วยหลายรายก็ดีขึ้น อย่างกรณีของ ถนอม เครื่องสนุก ซึ่งป่วยโรคไตมากว่า 2 ปี เขาบอกว่า เมื่อก่อนค่าไตอยู่ต่ำมาก พอมีโครงการตำบลกินจืดเกิดขึ้น จึงเข้าร่วม มีการปรับเปลี่ยนการทานอาหารให้เค็มน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขามีหน้าที่ทำอาหารให้คนในครอบครัวรับประทานด้วย จึงทำอาหารรสจืดในระดับปรอทวัดความเค็มอยู่ที่สีเหลือง

                “แรกๆ ก็ปรับตัวการกินอยู่บ้าง แต่ต้องทำ และชินแล้ว ตอนนี้ค่าไตดีขึ้นทุกๆ ปี จนอยู่ในระดับเกือบปกติแล้ว” ถนอม บอก

                ในอนาคตอันใกล้นี้จะจัดตั้งชาวตำบลเจริญราษฎร์ นำโดยเจ้าหน้าที่รพ.สต.เจริญราษฎร์ และอสม.จะจัดตั้ง ชมรมคนรักไต ขึ้น เพื่อมาช่วยกันอีกทางหนึ่ง

                การประกาศตัวของชาวตำบลเจริญราษฎร์ อ.แม่ใจ ในการกินจืดทั้งตำบล ย่อมเป็นแบบอย่างที่ควรจะดำเนินการตาม ซึ่งเชื่อว่าชาวอำเภอแม่ใจหรือทั้งจังหวัดพะเยา ย่อมเห็นดีด้วย และน่าจะยกระดับการกินจืดให้ได้ทั้งจังหวัดในไม่ช้า

หมายเลขบันทึก: 660750เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2019 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2019 15:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มนุษย์เราติดรสชาดอหารเปรี้ยวหวานมันเค็มทั้งๆ ที่ก็รู้ว่ามันไม่ดี แต่ก็ยังกินกันทุกวัน ต้องค่อยๆ ลดกันไปที่ละน้อยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท