เปลี่ยน “เด็กอ้วน” ให้ดูดีมีพลานามัย สร้างนิสัยรักสุขภาพทั้งบ้าน-โรงเรียน


“การที่เด็กอ้วน จะนำไปสู่การเกิดโรคไขมันในเลือดสูง ความดันโรหิตสูง อนาคตพวกเขาก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งขณะนี้ก็พบผู้ป่วยโรคเหล่านี้ในช่วงอายุที่น้อยลง จากที่เคยเจอผู้ป่วยอายุ 50 ปี ขณะนี้ คนอายุ 30 ปี ก็เป็นได้ จึงเป็นสิ่งที่เรากังวล และพยายามหาวิธีการลดปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ต้นทางในเด็กเพื่อแก้ไขไม่ให้นำไปสู่ปัญหาในอนาคต”

ทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียน ภาพที่ชินตาภายในโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย คือนักเรียนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือ เด็กอ้วน จะต้องมารวมตัวกันเพื่อออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นฟุตบอล บาสเก็ตบอล หรือ การออกวิ่ง เหล่านี้ถือเป็นกระบวนการสำคัญที่ทางโรงเรียนส่งเสริม เพื่อหวังแก้ปัญหาด้านสุขภาพให้กับนักเรียนกลุ่มนี้

            การออกกำลังกายของเด็กๆ จะอยู่ภายใต้การควบคุม ดูแลของครูพละ เพื่อให้การออกกำลังกายของนักเรียนอ้วนทุกเช้าเป็นไปตามรูปแบบที่เหมาะสมในแต่ละวัน กิจกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักเรียนหลายๆ คน สัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และสุขภาพ 

                “ผมรู้สึกว่าตัวเองวิ่งได้เร็วขึ้น ทำอะไรก็เร็วขึ้นไม่เหนื่อยง่ายเหมือนแต่ก่อน”

                “เมื่อก่อนแค่เดินนานๆ ยังเหนื่อย แต่ตอนนี้วิ่งได้สบายมาก”

                “หลังจากออกกำลังกาย ทำให้สามารถควบคุมอาหารได้มากขึ้น ตอนนี้น้ำหนักลดลง จาก 50 กิโลกรัม เหลือประมาณ 40 กิโลกรัมกว่าๆ แล้วก็รู้สึกว่ากล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นกว่าเก่า”

                เหล่านี้คือเสียงสะท้อน จากความรู้สึกของเด็กๆ หลังจากได้ออกกำลังกาย ถือเป็นรูปธรรมของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใส่ใจในสุขภาพ และการออกกำลังกายมากขึ้น นี่จึงเป็นสิ่งที่โครงการ“เด็กไทยดูดี สู่ชุมชน”  ที่โรงเรียนคริสเตียนวิทยาลัย นำมาใช้เป็นกลไกเพื่อลดความเสี่ยงโรคอ้วนให้กับนักเรียน มาตั้งแต่ปี 2551 นำไปสู่การร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนในโรงเรียนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง

                ร้านค้าต่างๆ ถูกควบคุมให้งดจำหน่ายขนมกรุบกรอบ และ น้ำอัดลม โรงเรียนยังรณรงค์ “ลดหวาน มัน เค็ม” เติมเต็มด้วยผัก ผลไม้ ในอาหารกลางวัน

                ที่ขาดไม่ได้คือบทบาทของผู้ปกครอง ได้ร่วมออกแบบเมนูอาหารว่าง ที่มีประโยชน์ให้กับนักเรียน และพยายามนำสิ่งที่โรงเรียนรณรงค์ไปปรับใช้ที่บ้าน

                “ลูกอยู่ที่โรงเรียนมากกว่าอยู่บ้าน เมื่อโรงเรียนให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกิน ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี ผู้ปกครองและคนที่บ้านเองก็ควรส่งเสริมให้เกิดความต่อเนื่อง แน่นอนว่าการห้ามให้เด็กไม่กินขนมขบเคี้ยว หรือ น้ำอัดลม นั้นห้ามยาก แต่เราต้องพยายามลด และจำกัดจำนวนการกิน พร้อมทั้งพยายามปลูกฝังเรื่องนี้ เพื่อทำให้เขามีสุขภาพที่ดีในอนาคต” ตัวแทนผู้ปกครองสะท้อนมุมมอง

                วิธีการเดียวกันนี้ยังถูกนำไปปรับใช้กับโรงเรียนพญาไท อีกโรงเรียนนำร่องโครงการเด็กไทยดูดี ซึ่งที่นี่ใช้ชื่อโครงการว่า “เด็กพญาไท ดูดีมีพลานามัย”

                ทุกเช้านักเรียนจะได้ออกกำลังกายกันหน้าเสาธง ก่อนขึ้นเรียน รวมทั้งมีตัวแทนนักเรียนแกนนำออกมารณรงค์ทำความเข้าใจข้อมูลโภชนาการที่เป็นประโยชน์

                การลดปัจจัยเสี่ยงโรคอ้วนในเด็ก ยังถูกบูรณาการเข้ากับหลายกลุ่มสาระวิชา ครูผู้สอนยอมรับว่า มีส่วนสำคัญช่วยให้นักเรียนได้คิดให้มากขึ้นก่อนบริโภค 

                “ในการเรียนแต่ละวิชา เราสามารถสอดแทรกความรู้ให้เด็กได้คิดตาม ในเรื่องการบริโภคที่ดีมีประโยชน์ได้ตลอดเวลา เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี อย่างการคำนวน ก็สมมุติเหตุการณ์ว่า หากแม่ให้เงินไว้ 100 บาท เด็กๆ จะเลือกกินอะไรที่มีประโยชน์ สอนให้เด็กวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ แล้วให้เขาลองเปรียบเทียบดู เขาก็จะสามารถคิดตามได้ทันทีว่า อะไรควรกิน อะไรไม่ควรกิน เพื่อให้คุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสียไป” ครู โรงเรียนพญาไท แนะนำมาถึงตรงนี้ จะพบว่า ความพยายามของโรงเรียทั้ง 2 แห่ง เป็นไปเพื่อรับมือ และขจัดปัจจัยเสี่ยงโรคอ้วนในเด็ก โดยเฉพาะปัญหาโภชนาการ

                ขณะที่ ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ ในฐานะประธานโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า เป็นสาเหตุของเด็กอ้วนทั่วโลก และจากการติดตามโครงการที่ผ่านมา พบว่า นักเรียน โรงเรียนเอกชน มีนำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน มากกว่าโรงเรียนรัฐ ไม่เพียงแค่อาหารการกิน แต่ยังรวมถึงการอยู่กับเทคโนโลยี โดยขาดกิจกรรมทางกาย  

                ขณะที่ทัศนคติของผู้ปกครอง ที่มองว่า เด็กอ้วนน่ารัก จึงส่งผลให้ไม่ได้ใส่ใจปัญหาที่จะตามมาจากโรคอ้วน โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ที่เริ่มส่งสัญญาณเตือนจากบริเวณต้นคอเด็กอ้วนที่มีปื้นดำ ว่าในอนาคตพวกเขากำลัง เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

                “การที่เด็กอ้วน จะนำไปสู่การเกิดโรคไขมันในเลือดสูง ความดันโรหิตสูง อนาคตพวกเขาก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งขณะนี้ก็พบผู้ป่วยโรคเหล่านี้ในช่วงอายุที่น้อยลง จากที่เคยเจอผู้ป่วยอายุ 50 ปี ขณะนี้ คนอายุ 30 ปี ก็เป็นได้ จึงเป็นสิ่งที่เรากังวล และพยายามหาวิธีการลดปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ต้นทางในเด็กเพื่อแก้ไขไม่ให้นำไปสู่ปัญหาในอนาคต”  ประธานโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัย ทิ้งท้าย

                แน่นอนว่า จุดมุ่งหวัง ลดปัจจัยเสี่ยงโรคอ้วนในเด็ก และทำให้สัดส่วนน้ำหนัก ส่วนสูง ที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของนักเรียนทั้ง ในโรงเรียนภาครัฐ และเอกชน ให้เหลือเพียงร้อยละ 10 จะอาศัยแค่บทบาทของโรงเรียนอาจไม่เพียงพอ ทางโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัย จึงคาดหวัง ทิศทางโครงการในอนาคต ต้องพยายามเชื่อมร้อยเครือข่ายภายในชุมชน โดยเฉพาะบทบาทของผู้ปกครองที่ต้องเข้ามาร่วมบริหารจัดการให้เกิดการขยายผลออกนอกโรงเรียนจนเกิดรูปธรรมความสำเร็จ

หมายเลขบันทึก: 660745เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2019 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2019 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท