เมื่อพระพุทธเจ้าสนทนากับผีฟ้า ในลำผีฟ้าที่ภูพระ จังหวัดชัยภู


เมื่อศาสนาพุทธผสมผสานศาสนาผี

เผยแพร่ครั้งแรกทีเพจ https://www.facebook.com/บทความไทยศึกษา คติชนวิทยา





_________“มื้อนี้ซงของหล่าสิบพระยาให้มาฮอดข่อยได้มาจวดจ้างนำเจ้าพ่อเผ่า โอ๋ยยย เพิ่นได้บนบานให่สิบมาลีข่อยได่จ่ายย่ายปากเว้าองค์ตื้อให้ปันธรรม”
กลอนลำของแม่อำนวย หนูนา หมอลำผีฟ้ากำลังประกอบพิธีกรรมลำผีฟ้า ณ หน้าองค์พระเจ้าองค์ตื้อ พระพุทธรูปหินทรายโบราณอายุหลายร้อยปี แสดงถึงการกล่าวอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผีฟ้าให้ดูแล ปกปักรักษาลูกหลานผู้ศรัทธา"“ ถ้าไม่มีพิธีกรรมก็ปราศจากพระเจ้า ถ้ายังมีพิธีกรรมพระเจ้าก็ยังอยู่” คำกล่าวของ อีมิล เดอร์ไคม์(Durkheim) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส (อ้างถึงใน ศิราพร ฐิตะฐาน, 2554, หน้า 10) กล่าวถึงความสำคัญของการดำรงอยู่ของพิธีกรรม โดยาเฉพาะพิธีกรรมเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติของชาวชัยภูมิ เรื่องความเชื่อเรื่องผีฟ้าจังหวัดชัยภูมิ ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสาน พูดภาษาไทยลาว ไทยกลาง ไทยโคราช ญัฮกุร ชาวจีน ซึ่งกลุ่มไทยลาว พูดภาษาลาวมีจำนวนมากที่สุดในเขตอำเภอเมือง อำเภอภูเขียว อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอภูเขียว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ การพูดแบบสำเนียงเวียงจันทน์เก่า ซึ่งศิลปกรรมและหลักฐานเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมล้านช้างเจริญขึ้นในแถบนี้มาตั้งแต่ พุทธศตวรรษที่ 20เป็นอย่างน้อย

#โลกของผีฟ้าที่ชัยภูมิ

คำว่าผีฟ้า ปรากฏในจารึกวัดศรีชุม ผีฟ้าเจ้าเมืองศรีโสธรปุระ หมายถึงกษัตริย์ผู้ครองนครธมของกัมพูชาชาวชัยภูมิพูดภาษาลาวมีความเชื่อเรื่องผีอย่างเหนียวแน่น ได้แก่ ผีหอโฮง ผีตาแฮก ผีปู่ตา ผีอาฮัก และผีฟ้า ผีฟ้าเป็นคำเรียกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชั้นสูง คือแถน ตรงกับภาษาจีนกลางคำว่า เทียน หมายถึง ฟ้า เทียบได้กับ เทพ เทวดาในภาษาบาลีนั่นเองซึ่งแถนที่ใหญ่ที่สุด เรียกว่า แถนหลวงนั่นเอง
จักรวาลวิทยาของชาวอีสานได้แบ่งแถน ให้มีหน้าที่อื่นๆ เช่น แถนตื้อเฒ่า แถนลือ แถนหล่อ แถนท่อฟ้า แถนแก้ว และแถนองค์อื่นๆ อีกมากมายพิธีกรรมเกี่ยวกับผีฟ้าของชาวชัยภูมิมีลักษณะร่วมเช่นเดียวกันกับผู้คนในภาคอีสานที่นับถือผี เช่น หมอเหยา นางเทียม เลงมะม๊วด แกลมอ เป็นต้นการลำผีฟ้า ได้ถูกอธิบายว่าเป็นการรักษาผู้ป่วยด้วยการลำ คำว่าลำนี้ หมายถึงการร้อง ขับลำ หมอลำ ซึ่งขั้นตอนการรักษาจะต้องเตรียมเครื่องเสียงเซ่นไหว้บวงสรวง หรือเครื่องคาย จากนั้นหมอลำผีฟ้า จะลำส่อง ซึ่งเป็นการติดต่อกับผีฟ้า สอบถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เข้ารักษา
จากนั้น หมอจะลำปัว ปัวหมายถึงการรักษา ซึ่งอาจจะร่ายรำอัญเชิญผีฟ้ามารักษาโดยส่วนใหญ่ผีฟ้าทำนายทักผู้ป่วยไปในแนวทางที่ว่า เรื่องของการผิดฮีต(จารีต) คอง (ครรลอง)ในการดำเนินชีวิตนั่นเอง

สิ่งของที่ใช้ลำผีฟ้าได้แก่ หมากเบ็ง หรือพานบายศรี ดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าไตร จีวร แป้งหอม น้ำอบไทย อาหารคาว-หวาน ซึ่งประกอบด้วยข้าวเหนียว ไข่ต้ม และของกินพื้นเมือง นำไปตั้งบูชา นำดาบที่สะพายติดตัวมา ๓-๔ เล่ม วางรวมกัน
การเริ่มพิธีนั้น ผู้นำจะยกขัน ผู้นำทำพิธีเป็นแม่ใหญ่ซึ่งเรียกว่า หมอทรง หรือนางทรง หรือนางเทียม นำสวดมนต์อาราธนาศีล รับศีลห้า กล่าวขอขมาลาโทษที่รบกวนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่ผู้นำจะอ้อนวอน เรียกหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และขออัญเชิญเจ้าผู้เป็นใหญ่ให้มาเข้ามารับสิ่งของไหว้ บ้างเอาแป้งโรย ดอกไม้ไปบนเครื่องเซ่น แจกแป้งหอม และน้ำอบไทย
รวมไปถึงการนำไตรจีวรถวายแด่องค์พระเจ้าองค์ตื้อ การฟ้อนรำแบบง่าย ๆ ต่างคนต่างรำ บางคนกระทืบเท้าให้จังหวะตามเสียงแคน ซึ่งลำดับขั้นตอนและของไหว้นั้นขึ้นอยู่แต่ละสายผีฟ้าแตกต่างกันเล็กน้อยอย่างไรก็ตามการลำผีฟ้าที่ภูพระไม่ได้เป็นการรักษาผู้ป่วย ในช่วงต้นเดือนสาม เดือนห้าตามปฏิทินจันทรคติ ผู้ที่นับถือผีฟ้าในสายภูพระหรือพระเจ้าองค์ตื้อจะต้องมาบวงสรวงหรือเลี้ยงผีฟ้าประจำปี
ในบางท้องที่การเลี้ยงผีประจำปีจะต้องจัดที่บ้านหรือหอโฮงที่บ้าน เช่น ชาวลาวพวน บ้านเนินใหม่ ตำบลโคกกรวด อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เป็นต้น ซึ่งจะต้องจัดปะรำพิธีและผู้ที่นับถือผีฟ้านำโดยหัวหน้าผีฟ้า เรียกว่า การลงข่วงผีฟ้า โดย ผู้ที่นับถือผีฟ้าในจังหวัดชัยภูมิไม่ใช่ทุกสายจะมาเลี้ยงประจำปีที่ภูพระ
ภาพสะท้อนของสายผีฟ้าที่นับถือพระเจ้าองค์ตื้อนั้นอาจมีความหมายการจัดช่วงชั้นของแต่ละสายตระกูลของผู้ที่นับถือนั่นเอง

#เมื่อพระพุทธเจ้าสนทนากับผีฟ้า
___
ผู้ประกอบพิธีกรรมลำผีฟ้าจึงประกอบเบื้องหน้าพระเจ้าองค์ตื้อและพระพุทธรูปหินโบราณ เพราะอะไร?
ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อธิบายว่า เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับสมาธิเพชร แสดงปางมารวิชัยหรือมุทราด้วยพระหัตถ์ซ้ายซึ่งเป็นฝีมือช่างพื้นถิ่นที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบดั้งเดิมที่ปกติจะต้องแสดงมุทราด้วยประหัตถ์ขวา อีกทั้งการประทับสมาธิเพชรเป็นลักษณะอิทธิพลแบบปาละที่ปรากฏในศิลปะแบบล้านนาที่อาจส่งผลต่อศิลปะแบบอีสาน
___
ลักษณะพระเจ้าองค์ตื้อที่ภูพระ จ.ชัยภูมิคือ พระวรกายใหญ่ พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระขนงต่อกันเกือบเป็นเส้นตรง พระเนตรเปิดและมองตรง พระนาสิกแบน ทั้งหมดเป็นเค้าโครงพระพุทธรูปแบบเขมรศิลปะแบบนครวัด
ข้อสังเกตคือพระเศียรไม่ทำขมวดพระเกศาแบบก้นหอย เฉกเช่นพระพุทธรูปทั่วไป แต่เป็นเส้นๆถักเกล้าขึ้นไปรวบเป็นมวยกลางพระเกศา
คล้ายการเกล้ามวยในประติมากรรมแบบศิลปะปาปวนและบายนเขมร สังฆาติแผ่นใหญ่จรดพระนาภีเป็นแบบเขมรอย่างแท้จริง
ความเป็นลักษณะท้องถิ่นนี้ได้กำหนดอายุว่าน่าจะอยู่ราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 -19 (ศักดิ์ชัย สายสิงห์,2554,หน้า 196-197)
...
พระเจ้าองค์ตื้อถือเป็นตัวแทนขององค์พระพุทธเจ้าที่ถูกสร้างไว้กราบไหว้ของผู้คนแถบนี้ไม่ต่ำกว่า 500 ปีมาแล้ว อธิบายการอาศัยอยู่ของผู้คนแถบนี้มาอย่างยาวนาน ซึ่งผู้เข้าร่วมบริเวณภูพระจะพบต้นดอกลั่นทม ซี่งถือเป็นดอกไม้สำคัญในการใส่ขันหมากเบ็งเพื่อถวายแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต้นลั่นทมเหล่านี้มีจำนวนมากและต้นขนาดใหญ่ อายุหลายร้อยปีผู้เขียนอนุมานได้ว่า ภูพระเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมลำผีฟ้าไม่น้อยกว่า150ปี
อาจจะก่อนการตั้งเมืองชัยภูมิโดยการนำของเจ้าพ่อพญาแล พ.ศ.2365 ซึ่งแถบนี้มีผู้คนอาศัยก่อนหน้านั้นจากการปรากฏสถาปัตยกรรมธาตุแบบล้านช้าง
.....
ภาพสะท้อนของการลำผีฟ้านั้นเป็นเรื่องของการปฏิสังสรรค์หรือประนีประนอมทางวัฒนธรรม ซึ่งศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม (อ้างถึงใน ปฐม หงส์สุวรรณ, 2556, หน้า 193) กล่าวถึงการผสมผสารทางความเชื่อดั้งเดิมกับพุทธศาสนาว่า
...
“ เรื่องของศาสนาเห็นได้ชัดเจนว่า พุทธศาสนาที่นับถือกันในดินแดนประเทศสยามหรือประเทศไทยนี้ หาได้มีต้นกำเนิดเป็นของผู้คนในภูมิภาคนี้ไม่หากเป็นสิ่งที่แพร่หลายจากอินเดียและลังกา แต่การรับพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นศาสนาหลักของบ้านเมืองทุกวันนี้ ก็หาได้รับเข้ามาในลักษณะแทนที่ศาสนาและระบบความเชื่อที่มีอยู่ในภูมิภาคนี้แต่ดั้งเดิมไม่หากมีการผสมผสานกับสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่ก่อน พร้อมๆกับการรับอีกหลายอย่างจากศาสนาอื่น ลัทธิประเพณีในระบบความเชื่ออื่นๆที่ผ่านมาในสมัยหลังด้วย เพราะเมื่อศึกษาวิเคราะห์ระบบความเชื่อของคนในสังคมแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องของการผสมผสานและปรุงแต่งขึ้นมาใหม่ให้เป็นระบบศาสนาของผู้คนภูมิภาคนี้โดยเฉพาะ”
การสนทนาของพนะพุทธเจ้ากับผีฟ้าคือการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมกับพระพุทธนา
______
ความเชื่อทางศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไม่ว่าจะหลั่งไหลไปเส้นทางใดก็จะผสมผสานกับความเชื่อท้องถิ่นเสมอ ดังจะเห็นได้จากการลำผีฟ้าที่ภูพระต่อหน้าพระเจ้าองค์ตื้อภาพการลำผีฟ้ายังถือเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งคลิฟฟอร์ด เกียร์ซ (Clifford Geertz) นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา (อ้างถึงใน อคิน รพีพัฒน์, 2551, หน้า 77) อธิบายว่า สัญลักษณคืออะไรก็ตาม (การกระทำ เหตุการณ์ คุณลักษณะหรือความสัมพันธ์) ที่ใช้เป็นสื่อแทนแนวความคิด (Conception) แนวความคิดนั้นคือความหมายของสัญลักษณ์พฤติกรรมสัญลักษณ์ของการลำผีฟ้าคือการอ้อนวอนขออำนาจแห่งพระเจ้าองค์ตื้นได้เมตตาแก่ผู้กราบไหว้ และถวายจีวร เป็นการประนีประนอมยอมรับศาสนาพุทธโดยมีสถานะพระพุทธเจ้าอยู่สูงที่สุด รองลงมาคือองค์แถน ผีเจ้านาย ผีปู่ตา ผีประจำไร่ นา บ้านการนับถือผีเป็นร่องรอยการนับถือสิ่งเหนือธรรมชาติก่อนการเข้ามาของพระพุทธศาสนา ถึงแม้

อาณาจักรล้านช้างในรัชสมัยของพระเจ้าโพธิสารราช (พ.ศ. 2063 - พ.ศ. 2090) พระโพธิสารราชเจ้าขึ้นครองราชย์และรวบรวมแผ่นดินให้เกิดความเป็นปึกแผ่นประกาศยกเลิกไม่ให้ประชาชนนับถือผีสางให้มายึดมั่นในพระพุทธศาสนาก็ตาม ความเชื่อเรื่องผีของผู้คนแถบนี้ก็ยังเหนียวแน่นเสมอมาจากการศึกษาวรรณกรรมอีสาน ได้อธิบายเรื่องของปรากฏแถน นิทานเรื่องขุนบรม เรียกผีฟ้าพญาแถน โดยเฉพาะนิทานเรื่องพญาคันคาก(คางคก)นั้น ชาวอีสานถือเป็นนิทานชาดกหรืออดีตชาติของพระพุทธเจ้า แต่เป็นชาดกนอกนิบาตไม่ปรากฏในพระสูตร
เป็นสัญลักษณ์แถนได้มีจิตริษยาต่อการสักการะองค์พญาคันคากผู้เป็นพระโพธิสัตว์ทำให้บ้านเมืองแล้ง เจ็ดปี จนพญาคันคากได้เป็นผู้นำในการต่อสู้จนชัยชนะนำมาสู่การจุดบั้งไฟเพื่อแจ้งเตือนพญาแถนว่าถึงฤดูฝนแล้วเป็นเรื่องของการยอมรับศาสนาพุทธ ดังตัวละคร พญาคันคาก พระโพธิสัตว์คือภาพตัวแทนของศาสนาพุทธ พญาแถนคือภาพแทนของความเชื่อดั้งเดิมของชาวอีสาน เป็นปรากฏการณทางศาสนาพุทธแบบชาวบ้านนั่นเอง

#ลำผีฟ้าพื้นที่ทางศาสนาผู้หญิง

จากการเข้าร่วมพิธีกรรมลำผีฟ้าพบว่า ผู้นำและผู้ร่วมพิธีกรรมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ฝ่ายชายจะมีหน้าที่จัดเตรียมของ และเป็นผู้เป่าแคนเท่านั้น ซึ่งเป็นลักษณะของศาสนาผู้หญิงในสังคมแบบ Matrifocal หรือแม่เป็นศูนย์กลาง ซึ่งศาสตราจารย์ปราณี วงษ์เทศ (ปราณี วงษ์เทศ, 2549, หน้าที่ 124-126)
อธิบายเรื่องความสำคัญของการลำผีฟ้าว่า พิธีถือผีฟ้าไม่ได้มีความขัดแย้งกับความเชื่อทางพุทธศาสนา แต่กลับนำหลักธรรมมาปรับใช้ในการรักษาโรคด้วยซ้ำ เช่นการอ้างบุญกรรม บุญบาป ให้รักษาศีล ทำบุญ บทบาทของผีฟ้าเองเน้นความเป็นแม่ที่คอยดูแลช่วยเหลือลูกๆที่เจ็บป่วย สอดคล้องกับความเชื่อของพุทธศาสนาที่ยกย่องความเป็นแม่ซึ่งความเชื่อการถือผีฟ้าเป็นศาสนาทางเลือกให้กลับกลุ่มผู้หญิงที่ไม่มีโอกาสในการศึกษาทางศาสนาและเล่าเรียนเท่าผู้ชาย สิ่งที่น่าสังเกตคือผีฟ้าเป็นผีที่มีอำนาจสูงสุดในโครงสร้างความเชื่อของคนลาว ผีปู่ตาอยู่ในระดับหมู่บ้านเท่านั้นไม่เกี่ยวกันซึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลี้ลับนี้ส่งผ่านเฉพาะผู้หญิงซึ่งอาจเป็นการตอบโต้อำนาจของผีปู่ตาก็ได้ ซึ่งนับว่าเป็นการประนีประนอมทางความเชื่อที่มีการเชื่อมโยงโดยพิธีกรรมลำผีฟ้านั่นเองดังนั้นจะเห็นได้ว่าลักษณะสำคัญของการลำผีฟ้าที่ภูพระ จังหวัดชัยภูมิมีลักษณะแตกต่างจากการลำผีฟ้าในท้องที่ต่างๆจากภาคอีสาน ซึ่งจะมีการเลี้ยงประจำปีต่อหน้าองค์พระเจ้าองค์ตื้อ
ตัวแทนของพระพุทธเจ้าสะท้อนภาพของการประนีประนอมของพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาจากภายนอกกับความเชื่อท้องถิ่นดั้งเดิมที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำ อย่างไรก็ตามการลำผีฟ้าที่ภูพระได้ถูกผลิตซ้ำโดยคณะลำผีฟ้าที่นับถือครรลองสายภูพระล้วนแต่เป็นผู้หญิงวัยกลางคนขึ้นไป นับวันจะหายไปตามกาลตามหลักความไม่เที่ยง ไม่มีอะไรจะคงทน หากสิ่งใดไม่ได้ถูกใช้ ไม่มีคุณค่าสิ่งนั้นก็จะค่อยๆลบเลือนหายไป ซึ่งการลำผีฟ้าที่ภูพระนั้นเป็นสิ่งที่ผู้นับถือรอคอย เพื่อตอบแทน กราบไหว้ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อำนวยผลให้ชีวิตของตนมีความสุขตลอดปีที่ผ่านมา
___
หน้าที่ของความเชื่อและพิธีกรรม การสร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน คือการสร้างความความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติ โดยเฉพาะสรรพนามที่เรียกพระเจ้าองค์ตื้อนั้นได้แก่ พ่อองค์ตื้อ, พ่อ, ปู่ เป็นสรรพนามเกี่ยวข้องทางเครือญาติทางสายพ่อเป็นการเชื่อมโยงระดับบุคคลกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นการสร้างความสัมพันธ์โดยใช้ความเชื่อผ่านสรรพนามเพื่อความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน (Unity) ชาวชัยภูมิทุกคนล้วนเป็นลูกหลาน ปลูกฝังความเป็นพวกเดียวกันของผู้คน สร้างสำนึกเครือญาติที่มีบรรพบุรุษร่วมกัน
พิธีกรรมสร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกันภายใต้สถานการณ์เดียวกัน การประกอบพิธีกรรมเป็นการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้สถานการณ์ ผู้คนที่เข้ามาร่วมพิธีล้วนมีความศรัทธา มีเป้าหมายเพื่อความสิริมงคลแก่ชีวิต โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงของชีวิต ความมุ่งหวังทางด้านจิตใจจึงรวมกลุ่มเพื่ออ้อนวอนขอความมั่นคงทางจิตใจแก่ผู้ร่วมพิธี การอยู่ภายใต้สภาวะของความศักดิ์สิทธิ์ทำให้ผู้เข้าร่วมพิธีกรรมคาดหวังจะได้รับพลังที่จะส่งผลให้ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อผู้คนอยู่ในห้วงเวลาเดียวกัน ความคาดหวังเดียวกัน ส่งผลให้เกิดอารมณ์ไปในทิศทางเดียวกัน พิธีกรรมจึงมีหน้าที่ในการเป็นศูนย์รวมจิตใจสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน
สวัสดีค่ะเอกสารประกอบการเขียน
ปราณี วงษ์เทศ. (2549). เพศสภาวะในสุวรรณภูมิ. มติชน:กรุงเทพฯ. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2554). พระพุทธรูปสำคัญและพุทธศิลป์ในดินแดนไทย. เมืองโบราณ:กรุงเทพฯ.
ศิราพร ฐิตะฐาน. (2533). “แนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อและศาสนาในสังคม” ใน เอกสารการสอนชุดวิชาความเชื่อและศาสนาในสังคมไทย หน่วยที่1 นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
อคิน ระพีพัฒน์. (2551) วัฒนธรรมคือความหมาย:ทฤษฎีและวิธีการของคลิฟฟอร์ด เกียร์ซ. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน).ภาพประกอบผู้เขียน การลำผีฟ้า ณ ภูพระ ปี2562 ,2559
บทความและรูปภาพทั้งหมดไม่อนุญาตให้นำไปโพสต์ต่อยังสถานที่อื่น หากประสงค์จะแบ่งปัน กรุณาแชร์

หมายเลขบันทึก: 660266เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2019 11:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มีนาคม 2019 11:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท