รายงานการวิจัยรูปแบบของระบบการบริหารจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการสำหรับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาสำหรับสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ : กรณีศึกษาเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาจังหวัดพิษณุโลก (ต่อ)


การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพควรมีรูปแบบของระบบการบริหารจัดการของตนที่ใช้กระบวนการของ PDCA และ KM

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
     1.  เพื่อพัฒนารูปแบบทั่วไป (General Model) ของระบบบริหารจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ สำหรับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาจังหวัดพิษณุโลก
 2.  เพื่อพัฒนากลไกของการแปลงรูปแบบของระบบการบริหารจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการตามแนวปฏิรูปการเรียนรู้ สู่รูปแบบที่เหมาะสมกับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาของจังหวัดพิษณุโลก

วิธีดำเนินการวิจัย
 ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยเน้นการวิจัยแบบมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง (Participatory Research)

ขอบเขตของการวิจัย
 1.  การวิจัยครั้งนี้ทำการศึกษาระบบการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการ (Integrated Educational Management  System, iEMS) ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก
     1.1  วาดภาพความสำเร็จ (Success) 
     1.2  กำหนดโครงสร้าง (Structure)
     1.3  บริหารจัดการ (Management)  โดยใช้ MSPA เป็นตัวขับเคลื่อน ได้แก่ การระดมทรัพยากร (Mobilization)  กลยุทธ์(Strategy) การมีส่วนร่วม (Participation) และความเป็นอิสระ (Autonomy)
     1.4  ติดตามกำกับ  (Monitoring) 
     รูปแบบทั่วไปของระบบบริหารจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ สำหรับเขตพื้นที่การศึกษา ประกอบด้วยระบบย่อยดังต่อไปนี้
      1) ระบบการบริหารวิชาการ ประกอบด้วย การดำเนินงานและบริหารจัดการด้านหลักสูตรการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล การนิเทศกำกับติดตามและประเมิน การใช้เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ การประกันคุณภาพการศึกษา การระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา
       2) ระบบการบริหารจัดการ ประกอบด้วย การกำหนดวิสัยทัศน์ การวางแผนยุทธศาสตร์ แผนกลยุทธ์ โครงสร้างการบริหาร การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารนโยบาย การแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ การกำกับติดตาม การประเมินผลนโยบาย
       3) ระบบการบริหารบุคคล ประกอบด้วย ระบบข้อมูลสารสนเทศ การกำหนดอัตรากำลัง การพัฒนากำลัง การพัฒนาบุคลากร การประเมินการปฏิบัติงาน
        4) ระบบการประสานความร่วมมือ ประกอบด้วย การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและระดมทุกภาคส่วนในเขตพื้นที่เพื่อจัดการศึกษา การสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงระหว่างชุมชน โรงเรียน วิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาในเขตพื้นที่ สถาบันทางสังคมในท้องถิ่นและจังหวัดเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้และการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน 
       รูปแบบของระบบการบริหารจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการมีทั้งรูปแบบทั่วไป และกลไกในการแปลงรูปแบบทั่วไปให้เป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับเขตพื้นที่ (Customized Model)
 2.  พื้นที่ในการศึกษาระบบการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการ ได้แก่ 
       2.1 เขตพื้นที่การศึกษา เขต 1 ประกอบด้วย สำนักเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลก  เขต 1 และสถานศึกษา 4 แห่ง คือ โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี โรงเรียนวัดเสาหิน โรงเรียนวัดมหาวนาราม และ โรงเรียนบางระกำวิทยศึกษา
                 2.2  เขตพื้นที่การศึกษา เขต 2 ประกอบด้วย สำนักเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลก เขต 2 และสถานศึกษา 4 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านวังสาร โรงเรียนบ้านเนินสะอาด โรงเรียน      วังทองพิทยาคม และ โรงเรียนวังพิกุลวิทยศึกษา
 เพื่อให้ได้รูปแบบที่เป็น Operating Model สำหรับจังหวัดพิษณุโลกที่ปรับให้เหมาะกับบริบทของเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาจังหวัดพิษณุโลก เพื่อสามารถเป็นตัวอย่างในการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะและศักยภาพเหมะสมสำหรับสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้
การดำเนินการวิจัยมีขั้นตอนการดำเนินการต่อไปนี้
 ขั้นที่ 1 ขั้นเตรียมการ
 ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวรประชุมร่วมกับทีมวิจัยจุฬาเพื่อทำความเข้าใจความมุ่งหมายของการดำเนินการวิจัย และทำการคัดเลือกสำนักเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาจังหวัดพิษณุโลก 3 แห่งได้แก่ โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี โรงเรียนบ้านวังสาร และโรงเรียนเสาหิน เป็นกลุ่มเป้าหมายในการวิจัยในช่วงแรก
 ขั้นที่ 2  ขั้นดำเนินการ
  2.1 ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร ทีมวิจัยเขตพื้นที่การศึกษา และทีมวิจัยสถานศึกษา วางแผนจัดทำคู่มือระบบบริหารจัดการการศึกษาแบบบูรณาการสำหรับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา
 2.2 การนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการแบบบูรณาการของเขตพื้นที่การศึกษา เขต 1 เขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลก เขต 2  สถานศึกษา 3 แห่งในช่วงแรก และสถานศึกษาในจังหวัดพิษณุโลก อีก 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนมหาวนาราม โรงเรียนบางระกำวิทยศึกษา โรงเรียนวังทองพิทยาคม โรงเรียนวังพิกุล และโรงเรียนบ้านเนินสะอาด
 2.3 ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร  ทีมวิจัยเขตพื้นที่การศึกษา และทีมวิจัยสถานศึกษา ร่วมประชุมกับทีมวิจัยจุฬาเพื่อนำเสนอคู่มือและรูปแบบการบริหารจัดการการศึกษาแบบบูรณาการที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 2.4 ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร นิเทศและติดตามการจัดทำคู่มือระบบการบริหารจัดการการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลกเขต 1 และเขต 2 และสถานศึกษาในจังหวัดพิษณุโลก 8 แห่ง เกี่ยวกับความก้าวหน้าและปัญหาและอุปสรรคในการจัดทำคู่มือ และให้ข้อเสนอแนะ
 2.5 ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร และทีมวิจัยจุฬานิเทศและติดตามการจัดทำคู่มือระบบการบริหารจัดการการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลกเขต 1 และเขต 2 และสถานศึกษาในจังหวัดพิษณุโลก 8 แห่ง เกี่ยวกับความก้าวหน้าและปัญหาและอุปสรรคในการจัดทำคู่มือ และให้ข้อเสนอแนะ
 2.6 ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวรและทีมวิจัยจุฬามีการประชุมร่วมกันทีมวิจัยเขตพื้นที่การศึกษา และทีมวิจัยสถานศึกษาจังหวัดพิษณุโลกเพื่อรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการตามระบบการบริหารจัดการการศึกษาตามที่ได้กำหนดไว้
 ขั้นที่ 3  การสังเคราะห์ระบบการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการสำหรับเขตการศึกษาและสถานศึกษา จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีวิธีดำเนินการดังต่อไปนี้
   3.1  สังเคราะห์ระบบการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการสำหรับเขตการศึกษาจังหวัดพิษณุโลก ในแต่ละเขตพื้นที่ โดยใช้ MSPA
 3.2  สังเคราะห์ระบบการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการสำหรับสถานศึกษา
จังหวัดพิษณุโลกในแต่ละเขตพื้นที่ โดยใช้ MSPA
 3.3  สังเคราะห์รูปแบบทั่วไป (General Model) ของระบบบริหารจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ สำหรับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาจังหวัดพิษณุโลก
 3.4  วิเคราะห์กระบวนการและกำหนดกลไกของการแปลงรูปแบบของระบบการบริหารจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการตามแนวปฏิรูปการเรียนรู้ สู่รูปแบบที่เหมาะสมกับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาของจังหวัดพิษณุโลก
การวิจัยภาคสนามในจังหวัดพิษณุโลก มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 8 แห่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 2 แห่ง และมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก มีสถานศึกษาเข้าร่วมในฐานะโรงเรียนแกนนำ 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี และโรงเรียนวัดเสาหิน ส่วนโรงเรียนเครือข่าย 1 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านวังสาร ส่วนระยะที่สอง มีสถานศึกษาเข้าร่วมในฐานะโรงเรียนเครือข่ายเพิ่มเติมอีก 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียน วัดมหาวนาราม บางระกำวิทยศึกษา บ้านเนินสะอาด วังทองพิทยาคม และวังพิกุลวิทยา รวมโรงเรียนแกนนำ 2 แห่ง โรงเรียนเครือข่าย 6 แห่งและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 2 แห่ง  ซึ่งผลการติดตามการดำเนินงานในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาที่เป็นโรงเรียนแกนนำ มีสาระสำคัญดังนี้
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลก 
                สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลก เขต1 (ตัวแทนเขตพื้นที่การศึกษา)
สำนักงานเขตพื้นที่พิษณุโลก เขต 1 ก่อนเข้าร่วมโครงการมีคู่มือแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการของเขตตั้งแต่ต้นปี 2548 และมีโครงการหลายโครงการที่มีการพัฒนาผู้เรียนและครูอยู่แล้ว โดยมีจุดเด่นของการบริหารจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน เช่น  นำ ICT มาใช้ในการบริหารจัดการเรียนการสอนมากขึ้น  การนำข้อมูลโรงเรียนมาใช้เป็นฐานในการพัฒนาการเรียนการสอน มีชมรมครูภาษาอังกฤษ ชมรมผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา  ซึ่งส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแก่ครู   เปิดโอกาสให้ครูช่วยสร้างสื่อ นวัตกรรม และช่วยเป็นวิทยากรในการพัฒนาการเรียนการสอน มีศูนย์พัฒนาการเรียนรู้  ศูนย์ ERIC  ศูนย์รวมสื่อของสำนักงานเขตพื้น เขต 1  มี Station Unit จำนวน   3 แห่ง  เพื่อให้โรงเรียนหมุนเวียนนำนักเรียนมาจัดการเรียนการสอนพัฒนาคอมพิวเตอร์  ซึ่งมี 3 สถานี  มี Mobile Unit ให้ครูใช้ ICT เพื่อการเรียนการสอน เป็นต้น
เมื่อเข้าร่วมโครงการ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลกเขต 1 แต่งตั้งคณะทำงานทำหน้าที่ประสานงานในการจัดทำคู่มือของเขตพื้นที่ และได้ดำเนินการยกร่างคู่มือโดยรวบรวมจากสิ่งที่มีอยู่ เนื่องจากทางเขตได้เคยจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการของเขตตั้งแต่ต้นปี 2548 รวมทั้งนำมาบูรณาการกับการปฏิบัติงานจริง  โดยมีกระบวนการหรือขั้นตอนในการพัฒนาคู่มือฯ ดังนี้ เริ่มจากศึกษาแนวทางการบริหารจัดการโดยใช้หลัก MSPA และศึกษาคู่มือการปฏิบัติงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาของ สพฐ. และแผนพัฒนาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จากนั้นจึงจัดประชุมคณะทำงานเพื่อกำหนดโครงร่างของคู่มือ   รวมทั้งการกำกับ ติดตามและประเมินผล แล้วจึงแบ่งกลุ่มคณะทำงาน เขียนรายละเอียดของเอกสารตามโครงร่าง  จัดพิมพ์เอกสารนำเสนอให้แต่ละกลุ่มในเขตพื้นที่ และฝ่ายบริหารของเขตพื้นที่ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ตลอดจนปรับแก้เอกสารตามข้อเสนอแนะ แต่ในช่วงที่นำคู่มือไปใช้  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลกเขต 1 ไม่ได้มีนโยบายนำคู่มือการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการไปใช้ปฏิบัติจริงทุกส่วนงาน จึงขาดการพัฒนาติดตามการปฏิบัติงานอย่างจริงจัง  คู่มือที่ได้เป็นการประชุมของคณะทำงานเพื่อกำหนดโครงร่างของคู่มือการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการฯ ทำให้ลักษณะการปฏิบัติงานของบุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลก เขต 1 ต่างกลุ่มต่างทำงาน  จึงทำให้ผลลัพธ์ที่ได้มีคู่มือการบริหารจัดการศึกษาโดยใช้ MSPA เป็นตัวขับเคลื่อน แต่ผลของการนำคู่มือไปใช้อาจเกิดหรือไม่ได้เกิดขึ้นทุกส่วนงานก็ได้เนื่องจากไม่ได้มีการติดตามผลการนำไปใช้   
ผลที่เกิดขึ้นจากการใช้ระบบการบริหารจัดการการศึกษาแบบบูรณาการ 
1) หน่วยงานราชการในจังหวัดได้มีการบริหารจัดการศึกษา บริหารทางการศึกษาโดยมีการระดมทรัพยากรร่วมกัน ทั้งบุคลากร การจัดการ วัสดุอุปกรณ์ และงบประมาณเพื่อเพิ่มศักยภาพของสถานศึกษาส่งผลให้ผู้เรียนเกิดลักษณะ 4 ร.
  2) บุคลากรในสำนักงานมีส่วนร่วมในการวางกลยุทธ์ในการบริหารร่วมกัน โดยกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ ประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าหมายเพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการ และงาน/โครงการ/กิจกรรม ให้สอดคล้องกับสภาพจริงของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
  3) สถานศึกษาได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเองมากขึ้น มีส่วนร่วมในกิจกรรมของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามากขึ้น
  4) นักเรียนได้รับโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาศักยภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น มีส่วนร่วมในกิจกรรมของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามากขึ้น โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ กระบวนการและโครงการ ทำให้นักเรียนมีคุณลักษณะพึงประสงค์ 4 ร.
รูปแบบของระบบการบริหารจัดการศึกษา จัดเป็นการบริหารด้านปัจจัยกระบวนการ ผลสำเร็จโดยโมเดล MSPA มาบริหารจัดการศึกษา ตามสถานการณ์ของการบริหารด้านปัจจัยและกระบวนการ และผลสำเร็จ ต่อการบริหาร คุณภาพการศึกษา คุณภาพผู้เรียน (4 ร.)และความสามารถแข่งขันระดับสากล ซึ่งเป็นการต่อยอดผู้เรียนให้มีความสามารถสูงขึ้น และมีรูปแบบการบริหารจัดการ (Management)  โดยใช้หลัก MSPA ดังนี้
การระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา (Mobilization)
การระดมทรัพยากร (M) ปัจจัยประกอบด้วย สถานศึกษา บุคลากร งบประมาณ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการระดมทรัพยากรด้านบุคลากร แต่ละกลุ่มงาน ระดมความคิดเห็นในการปฏิบัติงาน มีการประสานงานแต่ละกลุ่มงาน ทำให้งานมีคุณภาพมากขึ้น ด้านระดมทรัพยากรด้านงบประมาณ มีการสนับสนุนจากกลุ่มงานอำนวยการ ฝ่ายนโยบายและแผนงาน รวมทั้งความร่วมมือจากแหล่งต่างๆที่หลากหลายทั้งภายในและภายนอก เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

 

การวางกลยุทธ์และการขับเคลื่อนกลยุทธ์สำคัญ (Strategy)
กลยุทธ์ (S) ประกอบด้วย กลยุทธ์ สพฐ. สพท. จังหวัด CEO การปฏิบัติงานภายใต้กรอบนโยบายและแผนงาน ผลที่เกิดขึ้น การทำงานเป็นระบบ และทุกคนยึดตามนโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา การทำงานภายใต้ขอบเขต เสนอความคิด ทำงานอย่างมีอิสระ บุคลากรทุกคนทำงานภายใต้ขอบเขตและนโยบายของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย (Participation)
การมีส่วนร่วม (P) เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ร่วมนโยบาย ดำเนินงาน บุคลากรร่วมดำเนินงาน ทำงานร่วมกัน ทำให้ผู้มีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เช่น ชมรมภาษาอังกฤษ ชมรมพระพุทธศาสนา ชมรมภาษาไทย ผลงาน CEO จังหวัดมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ผลที่เกิดขึ้นทุกคนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานทำให้งานประสบความสำเร็จและมีคุณภาพมากขึ้น
ความเป็นอิสระและความโดดเด่นทางวิชาการ (Autonomy)
ความเป็นอิสระ (A) มีแนวคิดที่อิสระ อิสระในการทำงานภายใต้ขอบเขตของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา บุคลากรทุกคนมีอิสระในการปฏิบัติงาน ทำงานเต็มศักยภาพ
ปัญหาและอุปสรรค
1) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลกเขต1 มีการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้จัดหมวดหมู่ให้เด่นชัด และบุคลากรบางส่วนยังไม่ตระหนักในการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการโดยใช้หลัก MSPA
2) การดำเนินการตามแผนขาดการกำกับ ติดตามและประเมินผลที่ชัดเจน
3) การนิเทศ ติดตาม ดำเนินงานโครงการมีการประสานงานการนิเทศที่ดีแต่บุคลากรของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีภาระมาก จึงทำให้ไม่ได้ร่วมการนิเทศเป็นบางครั้งส่งผลให้ขาดความชัดเจนในการดำเนินงานตามโครงการ
โรงเรียนวัดเสาหิน (โรงเรียนแกนนำ ตัวแทนสถานศึกษาประเภทประถมศึกษาขนาดเล็ก)
ก่อนเข้าร่วมโครงการโรงเรียนวัดเสาหินมีการบริหารจัดการที่เน้นชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม มีระบบการบริหารที่เน้นการพัฒนาร่วมกัน มีเครือข่ายมหาวิทยาลัยให้การช่วยเหลือ แต่ยังไม่สามารถพัฒนาครูให้มีความสามารถทางเทคโนโลยีอย่างทั่วถึงรวมทั้งขาดความเป็นอิสระในการสรรหาครูและบริหารจัดการงบประมาณ
เมื่อเข้าร่วมโครงการระยะแรกโรงเรียนมีการดำเนินการบริหารจัดการการศึกษาในโรงเรียน ได้แก่  การจัดทำแผนการสอนตามรูปแบบของ CRP การนำหลักสูตร 4F ไปใช้ในช่วงชั้นที่ 1 ในรูปแบบของตลาดวิชาโดยครูฝ่ายวิชาการเป็นผู้ดูแลหลัก ผู้บริหารทำหน้าที่สนับสนุนเรื่องสื่อ-อุปกรณ์ นอกจากนี้โรงเรียนยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก ได้แก่ อบจ.  อบต. และมหาวิทยาลัยนเรศวร  ส่วนเรื่อง NET ยังไม่ได้มีการดำเนินการเนื่องจากโรงเรียนยังไม่สามารถเข้าอินเทอร์เน็ตได้เพราะไม่มีสายสัญญาณโทรศัพท์  เมื่อมีการบริหารจัดการแบบบูรณาการโดยใช้หลัก MSPA มีการจัดทำคู่มือฯเป็นรูปเล่ม โดยเชิญคณะกรรมการสถานศึกษาและผู้แทนครูแต่ละช่วงชั้นมาประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการ  จากนั้นร่วมกันจัดทำคู่มือและเสนอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไข  มีการติดตามผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนทุกสัปดาห์  ครูส่งแผนทุกเดือน และทุกสิ้นภาคเรียนครูทุกคนต้องทำรายงาน SAR ส่ง 
ผลที่เกิดขึ้นจากการใช้ระบบการบริหารจัดการการศึกษาแบบบูรณาการ
1) คณะครูมีทัศนคติที่ดีมากต่อโครงการวิจัย ทุกคนมีความตั้งใจ มุ่งมั่นพัฒนานักเรียนให้มีคุณลักษณะ 4 ร. อย่างแท้จริง  คณะครูได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง มีความสุขกับการพัฒนาโรงเรียนและพัฒนาการเรียนการสอน
 2) นักเรียนได้รับการพัฒนาและได้ค้นพบตัวเอง มีคุณลักษณะ 4 ร. ตามจุดมุ่งหมายของโครงการวิจัย เป็นผลผลิตที่ผู้บริหาร ครู รวมทั้งบุคคลอื่นที่พบเห็นมีความภาคภูมิใจ
3) ชุมชน/ หน่วยงานอื่นๆ รู้สึกศรัทธาและภาคภูมิใจในโรงเรียนมากยิ่งขึ้น และให้การสนับสนุน/ ช่วยเหลือโรงเรียน
4) คณะวิจัยทั้งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลก เขต 1 และโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี ได้ให้การช่วยเหลือ เกื้อกูล นิเทศ   กำกับ ติดตาม และวิพากษ์คู่มือฯ อย่างจริงจัง  จึงเป็นภาพสะท้อนให้ผู้บริหารและคณะครูมีขวัญ กำลังใจที่จะปฏิบัติงานโครงการวิจัยให้สำเร็จ และค้นพบว่า “การนิเทศ กำกับ ติดตาม” เป็นการพัฒนางานที่ดียิ่งวิธีหนึ่งที่ผู้บริหารสถานศึกษาต้องปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
5) โรงเรียนได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต้นสังกัดให้เป็นโรงเรียนต้นแบบในการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก
6) ผู้บริหารมีความมั่นใจและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการบริหารจัดการของโรงเรียนด้วยความภาคภูมิใจและมีความสุข
ปัญหาและอุปสรรค
                    1. ปัญหาด้านหลักสูตรสถานศึกษาและการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ครูยังไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาหลักสูตรและการนำหลักสูตรไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยครูมีอายุมาก และติดกับรูปแบบการสอนแบบเดิม รวมไปถึงการวัดและประเมินผลหลักสูตรของสถานศึกษา ก็ยังใช้การประเมินแบบเดิมๆ
                    2. ปัญหาด้านบุคลากรมีไม่ครบชั้นเรียน สอนไม่ตรงกลุ่มสาระการเรียนรู้ ทำให้เกิดปัญหาในกลุ่มสาระที่ไม่มีครูสอน และ/ หรือวิชาที่ไม่มีความถนัด เช่น พลศึกษา ดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ
                    3. ปัญหาด้านงบประมาณดำเนินการ เนื่องจากเป็นโรงเรียนขนาดเล็กได้รับงบประมาณสนับสนุนน้อยมาก แต่ผู้เรียนยังต้องใช้วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือที่ต้องมีเท่าโรงเรียนขนาดใหญ่ จึงเกิดปัญหาที่คณะครู ผู้บริหารต้องดำเนินการหางบประมาณมาสนับสนุน
                   โรงเรียนวัดเสาหินมีรูปแบบการบริหารจัดการ (Management)  โดยใช้หลัก MSPA ดังนี้
                      การระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา (Mobilization)
 1. การจัดการทรัพยากร
1.1 ประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรภายในสถานศึกษา และผู้เกี่ยวข้องในสถานศึกษาทราบรายการสินทรัพย์ของสถานศึกษาเพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน
1.2 วางระบบการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับบุคลากร และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
1.3 สนับสนุนให้บุคลากร และสถานศึกษาร่วมกันใช้ทรัพยากรในชุมชนให้เกิดประโยชน์ต่อกระบวนการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา
2. การระดมทรัพยากร
2.1 ศึกษาวิเคราะห์กิจกรรมและภารกิจ งาน/โครงการตามกรอบประมาณการระยะกลาง และแผนปฏิบัติการประจำปีที่มีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มเติมจากประมาณการรายได้งบประมาณไว้ เพื่อจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมให้เป็นไปตามความเร่งด่วนและช่วงเวลา
2.2 สำรวจความต้องการของนักเรียนที่มีความต้องการได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาตามเกณฑ์การรับทุนทุกประเภท แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกนักเรียนได้รับทุนการศึกษา โดยตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก พร้อมกับให้มีการจัดทำข้อมูลสารสนเทศให้เป็นปัจจุบัน
2.3 ศึกษา วิเคราะห์แหล่งทรัพยากร บุคคล หน่วยงาน องค์กร และท้องถิ่นที่มีศักยภาพให้การสนับสนุนการจัดการศึกษา ตลอดจนติดต่อประสานความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม
2.4 จัดทำแผนการระดมทรัพยากรทางการศึกษา และทุนการศึกษา โดยกำหนดวิธีการ แหล่งการสนับสนุน เป้าหมาย เวลาดำเนินการ และผู้รับผิดชอบ
2.5 เสนอแผนการระดมทรัพยากรทางการศึกษาและทุนการศึกษาต่อคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อขอความเห็นชอบและดำเนินการในรูปคณะกรรมการ
2.6 เก็บรักษาเงินและเบิกจ่ายไปใช้ตามแผนปฏิบัติการประจำปีที่ต้องใช้วงเงินเพิ่มเติมให้เป็นไปตามระเบียบของทุนการศึกษา และระเบียบว่าด้วยเงินนอกงบประมาณทั้งตามวัตถุประสงค์ และไม่กำหนดวัตถุประสงค์
3. การจัดหารายได้และผลประโยชน์
3.1 วิเคราะห์ศักยภาพของโรงเรียนที่กำหนดการหารายได้ และสินทรัพย์ในส่วนที่นำมาซึ่งรายได้และผลประโยชน์ของสถานศึกษา เพื่อจัดทำทะเบียนข้อมูล
3.2 จัดทำแนวปฏิบัติ หรือระเบียบของสถานศึกษา เพื่อจัดหารายได้ บริหารรายได้ และผลประโยชน์ตามสภาพของสถานศึกษา โดยไม่ขัดต่อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
3.3 จัดหารายได้และผลประโยชน์ และจัดทำทะเบียนคุม เก็บรักษาเงินและเบิกจ่ายให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
4. แหล่งระดมทุนทรัพยากรเพื่อการศึกษาโรงเรียนวัดเสาหิน
4.1 หน่วยงานของทางราชการ ประกอบด้วย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิษณุโลก เขต 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก องค์การบริหารส่วนตำบลวัดพริก และมหาวิทยาลัยนเรศวรพิษณุโลก ฯลฯ
4.2 ภาคเอกชน/รัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย วัดเสาหิน ชุมชนหมู่ 7,8,12
การวางกลยุทธ์และการขับเคลื่อนกลยุทธ์สำคัญ (Strategy)
        1. พัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีสุข เป็นผู้รู้ทันรู้นำโลก เรียนรู้ชำนาญเชี่ยวชาญปฏิบัติ สามารถรวมพลังสร้างสรรค์สังคม และรักษ์ความเป็นไทยใฝ่สันติ
2. พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ เข้าสู่มาตรฐานวิชาชีพ
        3. พัฒนาระบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพตนเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยใช้เทคโนโลยี
4. พัฒนาระบบการบริหารจัดการการศึกษาแบบบูรณาการ
5. ส่งเสริมพัฒนาระบบการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน
การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย (Participation)
 การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเป็นกระบวนการทำงานในรูปคณะกรรมการ หรือการทำงานเป็นกลุ่ม เป้าหมายคณะสามารถสร้างประสิทธิภาพในการทำงานเป็นอย่างดี  เพราะเป็นการระดมปัญญาความคิดและประสบการณ์ของบุคคลหลายๆ คน  เพื่อพิจารณาปัญหา ตัดสินใจ หรือหาข้อยุติอย่างมีเหตุผลด้วยการใช้หลักวิชาการ  การมีคณะกรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้ง หรือเลือกตั้งจะมีลักษณะเป็นการกระจายอำนาจ  ทำให้เกิดการสร้างความร่วมมือ และประสานงานที่ดีในการปฏิบัติงาน  สามารถป้องกันความลำเอียงที่พึงมีขึ้น  แต่บางครั้งการบริหารงานในรูปคณะกรรมการเพื่อพิจารณาในบางเรื่องอาจทำให้การดำเนินงานล่าช้า สิ้นเปลืองเวลาและแรงงานได้  ผู้บริหารสถานศึกษาจึงควรให้ความสำคัญกับองค์ประกอบของการทำงานในรูปของคณะกรรมการด้วย
 องค์ประกอบของการทำงานในรูปคณะกรรมการ ประกอบด้วย
 1. การแต่งตั้งคณะกรรมการ ผู้บริหารควรพิจารณาเลือกบุคคลหรือคณะบุคคลเข้ามาปฏิบัติงาน โดยต้องคำนึงถึงความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของบุคคลเป็นอันดับแรก นอกจากนั้นพิจารณาถึงการอุทิศตน หรืออุทิศเวลาให้กับงานเป็นลำดับถัดมา โดยปกติคณะกรรมการควรมีประมาณ 7-15 คน
 2. การกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ  ผู้บริหารควรมั่นใจว่าคณะกรรมการทั้งคณะจะสามารถร่วมกันปฏิบัติได้จริงและถูกต้อง  สามารถตรวจสอบความสำเร็จได้  ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดจุดมุ่งหมาย ความรับผิดชอบ ตลอดจนวิธีการหรือแนวทางที่ประสงค์จะให้คณะกรรมการดำเนินการไว้อย่างชัดเจน  เพื่อให้กรรมการแต่ละคนได้เข้าใจบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของตน  และกรรมการจะต้องมีการศึกษาบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบที่พึงมีของคณะกรรมการและของตนอย่างละเอียดตามตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย  มีการอุทิศเวลาเพื่อเตรียมข้อมูลในเรื่องที่ประชุมไว้ล่วงหน้า
  3. ผู้บริหารจะต้องปลูกฝังให้กรรมการทุกคนมีอุดมการณ์ และมีความเป็นตัวของตัวเอง  ไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลและการเสียผลประโยชน์ส่วนตัว  โดยเฉพาะประธานกรรมการจะต้องมีหน้าที่รับฟังเหตุผล และประสานความคิดเห็นของทุกฝ่าย  กระตุ้นให้กรรมการเกิดความคิดริเริ่ม  และดำเนินการให้การตัดสินชี้ขาด  โดยไม่ให้เสียหลักการหรือความยุติธรรม  พร้อมทั้งรักษาวินัย  และสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองในที่ประชุม  ตลอดจนให้เวลาในการอภิปรายให้เหมาะสม  นอกจากนี้ กรรมการที่มีบทบาทสำคัญ คือ  เลขานุการจะต้องเป็นผู้มีส่วนส่งเสริมให้การทำงานในรูปคณะกรรมการดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ โรงเรียนวัดเสาหินมุ่งเน้นการบริหารที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน (SBM) ด้วยเป็นโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ในชนบท  ยังต้องพึ่งพาอาศัยชุมชนในการพัฒนาทุกๆ ด้าน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณ  และพลังแรงงาน  สร้างแรงศรัทธาให้ชุมชนเห็นความสำคัญของโรงเรียน  มีความรู้สึกรักและหวงแหน  อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง
  ความเป็นอิสระและความโดดเด่นทางวิชาการ (Autonomy)
  1. ผู้บริหารให้อิสระในการทำงาน ทำให้บุคลากรมีความคิดอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพทั้งด้านความรู้และคุณธรรม ทุกคนทำงานด้านวิชาการแบบบูรณาการ โยงใยการทำงานแบบ Web เพื่อแก้ปัญหาครูไม่ครบชั้น
  2. บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจกระบวนการพัฒนางานทางวิชาการ จึงใช้วิธีการพัฒนางานวิชาการทั้งระบบไปพร้อมกัน คือ ด้านการเรียนการสอน ด้านปัจจัย และด้านบริหารจัดการ
  3. ใช้นโยบายการทำงานวิชาการแบบ “ไม่มีใครเด่น ไม่เห็นใครด้อย” เพราะถือว่าทุกคนช่วยกันทำงานทุกงานพร้อมกันทั้งระบบ ทำให้ทุกคนมีปริมาณงานที่เท่าเทียมกัน มีผลงานที่เหมือนกัน ก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจในการทำงาน ไม่เกี่ยงงานกันทำ ไม่อิจฉาริษยากัน ทุกคนมีความสามัคคี ช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานวิชาการจนสำเร็จ
4. การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ทรงคุณวุฒิ   ภูมิปัญญาท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร และการเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้เรียน รวมทั้งการประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง
5. เมื่อมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น บุคลากรทุกคนจะร่วมด้วยช่วยกันคิด แก้ปัญหาจนสำเร็จลุล่วง โดยไม่รอความช่วยเหลือจากหน่วยงานระดับสูง ทำให้การขับเคลื่อนงานวิชาการของโรงเรียนดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่ติดขัด
6. มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นเด็ก 4 ร. คือ รู้ทันรู้นำโลก เรียนรู้ชำนาญเชี่ยวชาญปฏิบัติ รวมพลังสร้างสรรค์สังคม รักษ์ความเป็นไทยใฝ่สันติ โดยบูรณาการพุทธธรรมสู่การจัดการเรียนรู้ และการปฏิบัติจริง สอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ พร้อมทั้งประสานความร่วมมือชุมชนมาร่วมจัดการเรียนรู้ และจัดโอกาสให้ผู้เรียนทุกสถานการณ์

  โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี (โรงเรียนแกนนำ ตัวแทนสถานศึกษาประเภทมัธยมศึกษาขนาดใหญ่)
                  โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรีเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีระบบและโครงสร้างการบริหารจัดการที่ชัดเจน มีวิสัยทัศน์และนโยบายที่ชัดเจนในการพัฒนาหลักสูตร  มีเทคโนโลยีสารสนเทศและห้องสมุด มีแผนปฏิบัติการประจำปีทุกส่วนงานและนำไปใช้จริงมีระบบการประกันคุณภาพภายในทุกส่วนงาน เมื่อเข้าร่วมโครงการในระยะแรกโรงเรียนมีคู่มือการบริหารจัดการศึกษาอยู่แล้ว แต่ไม่ตรงกับหลักการของระบบบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการของทีมวิจัย และเห็นว่าสามารถนำหลักการไปใช้ได้ ยกเว้นเรื่องความเป็นอิสระที่มองว่ายังทำได้ยากกว่าตัวขับเคลื่อนตัวอื่นที่ได้ทำอยู่แล้ว เช่น โรงเรียนยังขาดความเป็นอิสระในการบริหารจัดการเรื่องงบประมาณและการสรรหาบุคลากร  โรงเรียนได้มีการจัดทำคู่มือฯเป็นรูปเล่มโดยศึกษาคู่มือหลักสัตตศิลาและได้จัดประชุมฝ่ายต่างๆทั้ง 7 ฝ่ายเพื่อแบ่งงาน  ดำเนินการจัดทำคู่มือและนำมารวม นอกเหนือจากการจัดทำคู่มือฯ โรงเรียนได้ดำเนินการตามโครงการ CRP และ NET ด้วย  และมีแผนดำเนินการติดตามผลภาคเรียนละ 1 ครั้ง ทั้งระบบการบริหารงาน การจัดการเรียนการสอนของครู และผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน  โดยฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนจะเป็นผู้ติดตามประเมินผลและจัดทำรายงานในรูปแบบของ SAR  ถึงแม้ว่าครูมีภาระงานเพิ่มมากขึ้นจากการที่ต้องปรับเปลี่ยนแผนการสอนใหม่ทั้งหมด 

หมายเลขบันทึก: 65994เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2006 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 06:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากให้โรงเรียนรักไทยร่มเกล้าอุปถัมป์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลชมภู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก 65190 มีการพัฒนา การเรียนการสอน รวมทั้งคุณครูผู้สอน ให้มี

ประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพราะ ทุกวันนี้พ่อแม่ต้องเสียเงินส่งลูกไปเรียนในตัวอำเภอ ซึ่งต้องนั่งรถโดยสารจากบนเข ลงไปโรงเรียนทุกวัน หรือบางคนก็ให้ลูกไปอยู่โรงเรียนประจำ เนื่องจากเห็นว่า คุณครูไม่ใส่ใจในการสอน ทำให้เด็กๆไม่ค่อยมีความรู้ที่จะพัฒนาตัวเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท