เวชกรรมไทย(๑) ธรรมชาติการเกิดโรค


ธรรมชาติการเกิดโรคและระยะการเกิดโรค
การทำงานในการดูแลรักษาผู้ป่วยในปัจจุบันมีทั้งกฎหมาย มาตรฐาน ระบบคุณภาพมากำกับมากมายและเน้นการทำงานร่วมกันแบบสหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary team) การที่แพทย์เวชกรรมไทยสามารถสื่อสารทำให้วิชาชีพอื่นมีความเข้าใจในองค์ความรู้เวชกรรมไทย ก็จะทำให้การทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น ยอมรับกันและกันมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบให้เห็นวิธีคิดของการแพทย์แผนไทย และการแพทย์แผนปัจจุบัน จะคล้ายๆกัน เริ่มจากปกติ(เกิดขึ้น) เปลี่ยนแปลง(ตั้งอยู่) หายปกติ/ตาย (ดับไป) ถ้าหายปกติก็ “โรคดับสิ้น/โรคดับสูญ” ถ้าตายก็ “คนดับสิ้น/คนดับสูญ” ยามปกติ(สถานัม/Normal) การแพทย์แผนปัจจุบันอธิบายด้วยการทำงานของอวัยวะตามโครงสร้าง(กายวิภาคศาสตร์) ตามหน้าที่ (สรีรวิทยา) ด้วยกลไกการสร้างและสลายพลังงานหรือเมตะบอลิซึม (Metabolism) ที่อาศัยสารพลังงานสูง (ATP)ที่สร้างภายในเซล (ชีวเคมี) เป็นไปอย่างปกติ ขณะที่การแพทย์แผนไทยก็พูดถึงการทำหน้าที่ของอวัยวะหรือธาตุ (เบญจมหาภูตรูป) ทำงานได้สัมพันธ์กันของรูปขันธ์และนามขันธ์ (เบญจขันธ์) และกำกับการทำงานด้วยปัจจัยหลัก ๓ ระบบคือ ปิตตะ วาตะ เสมหะ (ตรีธาตุ) เมื่อร่างกายแปรปรวนไปจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันหย่อนลง เมื่อรับเชื้อโรคหรือสิ่งก่อโรคก็จะเกิดความเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น (ระยะภูมิไวรับ) เชื้อโรคหรือสิ่งก่อโรคก็ค่อยๆคุกคามอวัยวะไปเรื่อยๆ (ระยะไม่มีอาการ) หลังจากนั้นอวัยวะเริ่มเพลี่ยงพล้ำเกิดความผิดปกติหรือรอยโรคให้เจ้าตัวหรือหมอรู้ได้ (ระยะมีอาการ) และถ้าร่างกายสู้ได้ฟื้นได้หรือได้รับการบำบัดก็หาย แต่ถ้าเยียวยาไม่ทันหนือเกินเยียวยาก็ตาย ซึ่งการแพทย์แผนไทยก็เช่นกันเมื่อถูกกระทบจากปัจจัยภายในหรือภายนอก (สมุฏฐาน) ส่งผลให้เกิดความวิปริตของตรีธาตุกระทบจนเกิดความแปรปรวน(วิปลาส)ของธาตุไฟหรือธาตุลม (ป่วยแต่ยังไม่มีอาการ) เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสรีรภาพ เมื่อเป็นมากขึ้นจึงไปกระทบธาตุน้ำและธาตุดิน (ป่วยและมีอาการ) เป็นการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพ หากได้รับการบำบัด(รุ ล้อม รักษา บำรุง) ได้ทันท่วงทีก็จะหาย (สถานัม) หากบำบัดช้าหรือบำบัดไม่ได้ธาตุทั้ง ๔ ก็ทะยอยพิการและแตกดับไป คนก็ตาย ภาพนี้จึงเป็นการอธิบายเพื่อเปรียบเทียบกลไกการเกิดโรคของศาสตร์สองศาสตร์ที่มีความคล้ายในกระบวนการ แต่มีความแตกต่างกันในเนื้อหาความรู้ การเป็นแพทย์เวชกรรมไทย จึงต้องมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับมนุษย์ทั้งในยามปกติ (คน) และในยามป่วย(ไข้) แพทย์ไม่ว่าจะศาสตร์ไหน เมื่อพบคนไข้ จึงต้องรู้จัก “คน” ก่อน “ไข้” เมื่อเห็นคนจะได้เกิดความเมตตา เมื่อเห็นไข้จะได้ช่วยบำบัดรักษา
พิเชฐ บัญญัติ, พ.บ., พท.บ., ส.บ.
เลขาธิการสมาคมเวชกรรมไทย

หมายเลขบันทึก: 659730เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2019 19:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2019 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท