บรรพที่ 9 ค่านิยมร่วม (Shared Values)...สิ่งสำคัญที่มักถูกมองข้าม


        ผมเชื่อว่า หลายท่านอาจมีคำถามในใจว่า...ทำไมองค์กรถึงต้องมี “ค่านิยม” ด้วย เรามีแค่ “ วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ (เป้าหมาย) และกลยุทธ์ ” ก็น่าจะพอแล้ว มันก็แค่ชุดคำที่สวยหรูดูดีที่เราเอาไว้อวดชาวบ้านเท่านั้นเอง ไม่เห็นจะต้องมีเลย

        ก่อนที่ผมจะตอบคำถามของท่าน เราน่าจะมาทำความรู้จักค่านิยมกันซักหน่อยนะครับ

ค่านิยมร่วม (Shared Values) คืออะไร?

        ผมขอเปรียบเทียบแบบนี้นะครับ ยังจำเรื่องการเดินทางจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ในบรรพที่ 2 ได้ไหมครับ ? เรื่องมันยังไม่จบครับ...

        สมมุติว่า เราตัดสินใจจะเดินทางจากกรุงเทพไปเชียงใหม่โดยรถยนต์ส่วนตัว หนึ่งคันนั่งได้สี่คน ถ้ามีคนซัก 50 คน เราก็คงต้องใช้รถ 13 คัน ถูกต้องไหมครับ? ทีนี้การเดินทางบนท้องถนนหลวง นอกจากรถของพวกเรา 13 คันแล้ว มันก็ยังมีรถชาวบ้านอีกเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมี่น เป็นใครก็ไม่รู้ มาจากไหนก็ไม่ทราบ แล้วต้องมาเดินทางร่วมถนนเดียวกัน ท่านคิดว่ากว่าเราจะเดินทางไปถึงที่นัดหมาย ( สมมุติว่าเรานัดกันที่ “ตีนบันไดทางขึ้นดอยสุเทพ” ) ได้เนี่ย มันน่าจะมีโอกาสเกิดความวุ่นวายระหว่างการเดินทางได้ไหมครับ ? ก็น่าจะเป็นไปได้! จริงไหมครับ? 

       แต่เราจะสังเกตได้ว่า แม้เจ้าของรถแต่ละคนจะไม่รู้จักกัน แทบจะไม่มีโอกาสได้คุยกัน แต่ทำไมการเดินทางบนท้องถนนถึงเป็นไปโดยสงบ เรียบร้อย และราบรื่น? ทำไมถึงเป็นแบบนั้นครับ?

    อาจจะมีคนตะโกนตอบผมว่า “ก็เพราะมันมีกฎจราจรไง”

    “ถูกต้องแล้วครับ” เพราะมันมีกฎจราจรที่เป็นกฎกติกาให้ทุกคนยึดถือและปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มันจึงไม่มีปัญหาการกระทบกระทั่งกัน นอกเสียจากว่าจะมีใครฝ่าฝืนกฎเท่านั้น

    “ค่านิยมขององค์กร” ก็มีลักษณะคล้ายๆ “กฎจราจร” นั่นแหละครับ คือ เป็นกฎกติกาให้ทุกคนยึดถือในการปฏิบัติร่วมกัน ที่บอกว่าคล้ายๆ ก็เพราะมันไม่เหมือนซะทีเดียวครับ

    “กฎจราจร” เป็นกฎหมาย ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ถือว่ามีความผิด ส่วนจะได้รับโทษหรือไม่ หนักเบาเท่าไหร่ อันก็ขึ้นอยู่กับการ...“ต่อรอง” เอ้ย! ไม่ใช่! ขึ้นอยู่กับฐานความผิดของคนนั้นๆ

        ส่วน “ค่านิยมขององค์กร” ก็เป็นกฎกติกาขององค์กรที่ให้ทุกคนยึดถือในการปฏิบัติร่วมกัน หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ก็คงไม่ต้องถึงกับต้องตั้งกรรมการมาสอบความผิดทางวินัยกันหรอกครับ

        แต่ไม่ว่าจะเป็น “กฎจราจร” หรือ “ค่านิยมขององค์กร” ก็ตาม สิ่งที่เหมือนกันก็คือ หากมีใครฝ่าฝืน มันจะสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นได้ เช่น...

        “สัญญาณไฟจราจร” เป็นกฎกติกาที่ทุกคนที่ใช้รถใช้ถนนจะต้องยึดถือในการปฏิบัติร่วมกัน อยากรู้จังเลยครับ ว่าสัญญาณไฟจราจรแต่ละสี แถวบ้านท่านมันแปลว่าอะไรกันบ้าง? ช่วยบอกผมหน่อยนะครับ...

        “ไฟเขียว!” เชื่อว่าทุกคนจะตอบเหมือนๆกันว่า “ไปได้”

        “ไฟเหลือง” บางคนอาจจะตอบว่า “เตรียมตัวหยุด” บางคนก็อาจจะตอบว่า “ไปให้เร็วที่สุด” รู้สึกว่าสัญญาณไฟสีนี้ น่าจะทำให้เกิดความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝัก 2 ฝ่ายนะครับ

        “ไฟแดง” ผมเชื่อว่า ส่วนใหญ่จะตอบว่า “หยุด!”

        “จริงหรือครับ...ผมว่าไม่น่าจะจริงนะครับ!”

        สมมุติว่า ถ้าท่านขับรถไปตามถนนสายหนึ่ง กำลังจะถึงสี่แยกไฟแดงข้างหน้า สัญญาณไฟเป็น “ สีเขียว ” โอเคไม่มีปัญหา ท่านก็คงจะขับต่อไปเรื่อยๆ แต่พอรถวิ่งใกล้เข้าไปๆ ปรากฏว่า...

        “ไฟเขียว” เปลี่ยนเป็น “ไฟเหลือง”

        ระหว่างถอนคันเร่งแล้วมาแตะเบรกกับการเหยียบคันเร่งให้จมกว่าเดิม ท่านจะเลือกทำสิ่งไหนครับ?         คำตอบที่ผมได้รับเป็นส่วนใหญ่จากการสัมมนาจะเป็นสิ่งหลังครับ

        และถ้ารถของท่านวิ่งใกล้เข้าไปๆ จู่ๆ ...

        “ไฟเหลือง” มันดันเปลี่ยนมาเป็น “ไฟแดง” แล้วอันคันข้างหน้าเราก็เพิ่งจะวิ่งผ่านแม้บๆ!

        ระหว่างถอนคันเร่งมาเหยียบเบรกกับการเหยียบคันเร่งส่งไปเลย ท่านจะเลือกทำแบบไหนครับ?

        คำตอบที่ผมได้ก็มักจะเป็น “เหยียบคันเร่งส่งไปเลยครับจารย์”

        แสดงว่า “สัญญาณไฟจราจร” แถวบ้านท่าน ไม่น่าจะแปลแบบที่ท่านบอกผมนะครับ แต่มันน่าจะแปลแบบนี้มากกว่า...

        “ไฟเขียว” แปลว่า “ไปได้”

        “ไฟเหลือง” แปลว่า “ให้รีบๆไป”

        “ไฟแดง” แปลว่า “ไปได้กูก็ไป (ถ้าไปไม่ได้กูถึงจะหยุด)!”

        เขาเรียกว่าอะไรน้า? อ้อ...“ลูกตามน้ำ” ไงครับ! ปรากฏว่า พอตามน้ำไปเจอประตูกั้นน้ำ ตำรวจจราจรยืนดักอยู่โน้น!...โสน้าหน้า! (ต้องออกเสียงแบบไทยใหญ่ด้วยนะครับ 555)

        ตอนที่ผมเรียนแพทย์อยู่ชั้นปีที่ 2 ผมจำได้ว่ามันเครียดมาก วันแรกที่ไปเรียนก็เครียดแล้ว จำได้ว่าวิชาแรกที่เรียนก็คือ วิชากายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) จะไม่ให้เครียดได้ไง วันแรกต้องเรียกเกี่ยวกับกระดูก ซึ่งผมจะต้องจำชื่อของส่วนต่างๆที่สำคัญของกระดูกแต่ละชิ้นให้ได้ทั้งหมด ปุ่มนิดนึงก็มีชื่อ รูน้อยนึงก็ตั้งชื่อ ขนาดรอยถลอกยังอุตส่าห์มีชื่อกับเขาอีก

        เรียนไปก็นั่งแช่งชักหักกระดูกไอ้คนตั้งชื่อไป...

        “นี่พวกแกว่างกันนักใช่ไม๊ วันๆไม่มีอะไรทำกันรึไง ถึงได้มีเวลามาชื่ออะไรซะมากมายขนาดนี้ เคยนึกถึงหัวอกลูกหลานเหลนโหลนในอนาคตบ้างไม๊ ว่าเค้าจะต้องมาเป็นภาระท่องจำชื่อที่พวกแกตั้งไว้เนี่ย!”

        พอหมดวันล่ะเหนื้อยเหนื่อย...ไอ้ที่เหนื่อยเนี่ย ไม่ใช่เพราะเรียนหนักหรอกครับ แต่เพราะผมเอาแต่นั่งแช่งชักหักกระดูกไอ้คนตั้งชื่อไงครับ พอหมดคาบสุดท้ายของการเรียน ผมก็หันไปหารูมเมท (เพื่อนร่วมห้องพัก) ที่นั่งอยู่ข้างๆ ไอ้เจ้านี่เขาก็เป็นเด็กต่างจังหวัดเหมือนผมนี่ล่ะครับ พ่อเป็นกำนัน เป็นผู้มีอิทธิพล ลูกสอบติดหมอพ่อซื้อรถให้คันนึง บ้านมีฐานะ! (ที่บ้านผมก็มีฐานะเหมือนกัน แต่...“ยากจน!” ก็เลยต้องอาศัยเกาะรถเพื่อนไปทุกที่)

        พอหันไปหามัน สภาพมันก็ไม่ต่างจากผมซักเท่าไหร่...

        “เฮ้ย...กูไม่ไหวแล้วอ่ะ ถ้าเป็นแบบนี้ทุกวันกูตายแน่เลยว่ะ!” ผมบ่นกระปอดกระแปดกับเพื่อน

        “เออๆ...กูก็ไม่ไหวเหมือนกัน ถ้ารู้ว่าเรียนหมอแล้วต้องท่องอะไรเยอะขนาดนี้ กูเรียนวิดวะไปแล้ว” มันก็หันมาปรับทุกข์กับผมเหมือนกัน

        “กูว่าวันนี้เราน่าจะต้องไปหาอะไรทำคลายเครียดกันซักหน่อย...ดีปะ?” ผมเสนอความคิด

        “นั่นน่ะสิ...กูก็คิดเหมือนกัน แล้วเราจะไปที่ไหนกันดีวะ?” เพื่อนคล้อยตามพร้อมกับขอความเห็น

        “กูว่าเอางี้ดีมะ...วันนี้เราเครียดเยอะ เราก็ต้องไปให้ไกลซักหน่อย กูว่าวันนี้เราข้ามไปเที่ยวแถวฝั่งธนฯกันดีกว่า?” ผมเสนอทางเลือก

        “อืม...ก็ดีเหมือนกันนะ อยู่กรุงเทพมา 2 ปี กูยังไม่เคยไปเที่ยวฝั่งธนฯเลย งั้นตกลงตามนี้ 5 โมงเย็นเจอกันใต้ถุนหอ...โอเค้?” เพื่อนผมสรุป

        “โอเค...ตามนั้นเพื่อน” ผมรับการนัดหมายของเพื่อน

        จากโรงพยาบาลจุฬาฯ ถ้าจะเดินทางไปฝั่งธนฯ ดูแล้วเส้นทางที่น่าจะเวิร์คที่สุดก็น่าจะเป็น “ถนนสาธร” ครับ ถนนสาธรก็คือถนนเส้นที่เชื่อมระหว่างถนนพระราม 4 ซึ่งก็คือ ถนนที่วิ่งผ่านหน้าโรงพยาบาลจุฬาฯนั่นแหละครับ กับสะพานสาธร พอข้ามสะพานสาธรไปปุ๊บ นั่นล่ะครับคือ “ฝั่นธนฯ” ข้อดีของถนนสาธรคือ “กว้างและตรง” ตรงขนาดไม้บรรทัดยังเรียกพี่เลยครับ ส่วนข้อเสียของถนนสาธรก็คือ “สี่แยกไฟแดงเยอะมากกกกกก”สมัยนั้นปี พ.ศ.2526 ทางด่วนก็ยังไม่มี สะพานข้ามแยกก็นับที่ได้ สรุปก็คือ ถ้าจะใช้ถนนสาธร แปลว่าเราก็จะต้องฝ่ามันทุกสี่แยกไป ดังนั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการจราจรที่คับคั่ง ขากลับเราก็เลยตกลงกันว่า เรากลับซักตี 2 ก็แล้วกัน ที่กลับตี 2 ไม่ใช่เพราะอยากกลับดึก! แค่ต้องการหลีกเลี่ยงการจราจรที่คับคั่งเท่านั้น! (เหตุผลฟังขึ้นไม๊เนี่ย)

        พอตี 2 เพื่อนผมขับรถขึ้นสะพานสาธรกลับมาฝั่งพระนครฯ ผมก็นั่งมาข้างๆมันนั่นแหละครับ ตอนลงสะพานมันเหยียบลงมา 120 ตีนสะพานมีไฟแดงแรกดักรออยู่เลยครับ แต่ไม่เห็นเพื่อนผมมันชะลอ มันคงนึกในใจ “ไฟแดงน่ะกูเห็นและ แต่กูยังไม่เห็นอีกอย่างนึง” ท่านคิดว่า ไอ้ “อีกอย่างนึง” ของมันคืออะไรครับ? ใช่แล้วครับตำรวจจราจร ซึ่งตอนตี 2 ท่านคิดว่าจะมีไม๊ล่ะครับ? มันเหลือบซ้ายแลขวา เห็นว่าทางสะดวก ก็เลย “ปิ๊วววว!” เหยียบ 120 ฝ่าไฟแดงไป ไอ้เรานั่งสะลึมสะลืออยู่ข้างๆ ตาสว่างเลยครับ...

        “เฮ้ย...ไฟแดงๆ” ผมตะโกนด้วยความตกใจ

        มันหันมาพูดกับผมหน้าตาเฉย “เออ...คนแถวบ้านกูขับกันเงี้ย!”

        พอวิ่งมาอีกซักเดี๋ยวก็เจอไฟแดงอีก มันเหลือบซ้ายแลขวา แล้วก็ “ปิ๊วววว...120!”

        “เฮ้ย...ไฟแดงๆ” ผมชักจะนั่งไม่ติด  

        “เออ...คนแถวบ้านกูขับกันเงี้ย!” มันพูดย้ำคำเดิมด้วยความรำคาญ

        ท่านคิดว่าระหว่างมันกับผม ใครจะเหยียบเบรคมากกว่ากัน ไอ้เราไม่มีเบรคให้เหยียบ แต่ขาเข๋อเกร็งไปหมด ได้แต่คิดในใจ “บ้านมึงอยู่แถวไหนวะ ไฟแดงแปลว่า 120 แถวบ้านกูไฟแดงแปลว่าหยุดนะมึง”

        สุดท้ายถึงได้เข้าใจสัจธรรมชีวิตว่า ระหว่างเปลี่ยนมันกับเปลี่ยนเรา ท่านคิดว่าเปลี่ยนใครง่ายกว่ากันครับ? แน่นอนครับ ก็ต้องเปลี่ยนเราซิครับ ผมก็เลยต้องปรับตามมัน...

        “ไฟแดง 120, ไฟแดง 120, ไฟแดง 120” เพราะเปลี่ยนมันไม่ได้ไงครับ ผมก็เลยต้องเปลี่ยนตัวเอง

        กว่าจะทำใจก็เกือบถึงไฟแดงสุดท้ายแล้วครับ เห็นไฟแดงแต่ไกลทำใจแต่เนิ่นๆ...

        “ไฟแดง 120, ไฟแดง 120, ไฟแดง 120” ผมนั่งท่องเป็นบทสวดไปเลยครับ

        พอรถวิ่งใกล้เข้าไปๆๆ ปรากฏว่าไฟแดงดันเปลี่ยนเป็นไฟเขียว เพื่อนผมเสือกเบรค...เอี๊ยดดดดดด!

        “เฮ้ย...ไฟเขียว มึงจะเบรคทำไม?” ผมตะโกนใส่มันด้วยความงุนงง

        แทนที่มันจะสำนึกผิด มันดันหันมาดุผมอีก “เอ๊ะ...กูก็ต้องดูให้แน่ใจก่อนสิ! ว่าไอ้ถนนเส้นที่ไขว่กันเนี่ย...ไม่มีคนแถวบ้านกูมา!”

        "............" 

        เอ้อ...จริงของมัน! เพราะถ้าถนนเส้นที่เราวิ่งอยู่เป็นไฟเขียว เส้นที่ไขว่กันก็จะเป็นไฟแดง แล้วถ้าบังเอิญคนแถวบ้านมันขับรถผ่านมาตอนตี 2 พอดี ไฟแดงตอนตี 2 แถวบ้านมันแปลว่า “120” สรุปว่า ที่มันเบรคตอนไฟเขียวถือว่ามีเหตุผลใช่ไหมครับ? ผมก็เลยกลายเป็นคนไร้เหตุผลซะงั้น!

        หลายท่านอาจจะกำลังนั่งขำกับโลจิกเพี้ยนๆของเพื่อนผมอยู่ ที่นั่งขำๆกันเนี่ย! ที่หน่วยงานของท่านมีคนพรรค์นี้ไหมครับ พอผู้บริหารบอกว่า “เอ้า...ไอ้นี่ทำเลย” เขาก็จะตอบว่า “ฮึ...ไม่ทำ” แต่พอผู้บริหารบอกว่า “อย่าทำ” คนกลุ่มนี้ก็สวนขึ้นมาทันที “กูจะทำ!” ที่หน่วยงานของท่านพอหาได้ไม๊ครับคนพรรค์นี้ ผมเชื่อว่าคนแบบนี้จะมีในทุกหน่วยงานนั่นแหละครับ เป็นไงครับ...วุ่นวายไม๊ล่ะครับ!

        เรามาดูคำนิยามอย่างเป็นทางการของ “ค่านิยม” กันซักหน่อยนะครับ...

       ค่านิยม (Value) คือ แนวทางหรือกรอบในการปฏิบัติขององค์กร ที่สมาชิกทุกคนรับรู้รับทราบและยึดถือปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นเครื่องช่วยในการกำหนดความเหมาะสมต่อการปฏิบัติภารกิจใดๆ ว่าสมควรทำหรือไม่ และเมื่อมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) ในที่สุด

       ส่วน “ค่านิยมร่วม”ก็ไม่มีอะไรมากครับ อธิบายง่ายๆ ก็คือ ค่านิยมที่คนมากกว่า 1 คนมาช่วยกันคิดนั่นเอง ซึ่ง “ค่านิยม” ของหน่วยงานส่วนใหญ่ ก็จะเป็นค่านิยมร่วมอยู่แล้วล่ะครับ เพราะเรามักจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ ผู้บริหารสูงสุดคงไม่มานั่งคิดเองเออเองคนเดียวกระมังครับ

        หมายเหตุ บางหน่วยงานอาจใช้คำว่า Core Values”เพราะมันก็คือ “คุณค่าหลัก” ขององค์กรด้วยเช่นกัน ซึ่งสมาชิกทุกคนต้องยึดถือในการปฏิบัติร่วมกัน สรุปก็คือ ถ้าดูที่กระบวนการในการได้มา เราจะเรียกมันว่า Shared Values” แต่ถ้าดูที่การนำไปใช้งาน เราจะเรียกมันว่า Core Values” ส่วนใครจะเลือกใช้อันไหนก็แล้วแต่จริตของคนใช้นั่นแหละครับ

ทำไมจึงต้องกำหนดค่านิยมร่วม (Shared Values) ขององค์กร?

       มาถึงคำถามสำคัญซะที...ทำไมถึงต้องมี “ค่านิยมร่วม” ขององค์กร

        เหตุผลสำคัญก็คือ เพราะ “ค่านิยมร่วม” เป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการแปลงกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติไงครับ ถ้าท่านมีโอกาสได้พิจารณาโมเดล 7S ของ Mckinsey แล้วล่ะก็ ท่านจะพบว่า “Shared Value” ก็คือ เอส 1 ใน 7 เอสนั่นเอง (ดูภาพประกอบที่ 9.1)

ภาพที่ 9.17S ที่เราต้องคำนึงถึงในการแปลงกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ

        จากภาพที่ 9.1 จะเห็นได้ว่า เอสแต่ละตัวจะส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน และหากขาดตัวใดตัวหนึ่งไป ก็ยากที่จะขับเคลื่อนกลยุทธ์ไปสู่ความสำเร็จได้

การนำเสนอ “ค่านิยมร่วม”ขององค์กร

        โดยปกติแล้ว การนำเสนอ “ค่านิยมร่วม” ขององค์กร เรามักจะมีการนำเสนอรวมอยู่ในเอกสาร “แผนกลยุทธ์” ขององค์กรอยู่แล้วในฐานะ “องค์ประกอบ”หนึ่งของแผนกลยุทธ์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะมีการนำเสนอแยกออกมาต่างหากด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจน รวมทั้งเรามักจะมี “ลีลา” ในการนำเสนอที่แปลกแหวกแนว มีสีสัน เพื่อทำให้เกิดความน่าสนใจและจดจำได้ง่าย โดยอาจจะนำเสนอในลักษณะ คำคล้องจอง ตัวย่อที่จะช่วยให้จดจำง่าย หรือใช้ตัวอักษรย่อเดียวกับตัวอักษรย่อที่เป็นชื่อของหน่วยงาน ฯลฯ

        เช่น...

        เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับลีลาการนำเสนอของหน่วยงานต่างๆ หวังว่าจะช่วยให้ท่านพอเกิดไอเดียที่จะนำไปปรับใช้กับหน่วยงานของท่านบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ

ขั้นตอนในการจัดทำ “ค่านิยมร่วม” ขององค์กร

  1. ดูว่าแผนกลยุทธ์ขององค์กรเป็นอย่างไร? เพื่อให้ค่านิยมที่จะถูกกำหนดขึ้น มีส่วนในการขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น ช่วงเวลาที่น่าจะเหมาะกับการกำหนดค่านิยมร่วมขององค์กร ก็คือ หลังจากที่เราได้มีการจัดทำแผนกลยุทธ์เรียบร้อยแล้วนั่นเอง

 2. ให้ผู้บริหารและพนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนดว่า ค่านิยมหรือความเชื่อใด ที่เมื่อทุกคนยึดถือและปฏิบัติแล้ว จะช่วยสนับสนุนให้การแปลงแผนกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด

 3. เมื่อกำหนดค่านิยมร่วมได้แล้ว (ซึ่งไม่ควรจะมีมากเกินไป) ให้กำหนดคำนิยามหรือคำจำกัดความให้ชัดเจน เพื่อว่าทุกคนในองค์กรจะได้มีความเข้าใจตรงกัน

 4. เมื่อกำหนดคำจำกัดความแล้ว ในค่านิยมแต่ละตัว องค์กรต้องกำหนดพฤติกรรมด้วยว่า องค์กรต้องการให้พนักงานมีการประพฤติปฏิบัติตัวหรือมีพฤติกรรมอย่างไรที่จะสื่อได้ว่า พวกเขากำลังปฏิบัติตัวตามค่านิยมขององค์กร เช่น...

ตารางที่ 9.1 การแปลงค่านิยมร่วมขององค์กรสู่พฤติกรรมที่พึงประสงค์

 5. เมื่อกำหนดค่านิยม คำจำกัดความ และพฤติกรรมได้แล้ว ต้องสื่อสารให้พนักงานรับรู้ รับทราบ และปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

 6. มีการติดตามประเมินผลเป็นระยะๆ เพื่อประเมินว่า วิธีการต่างๆที่องค์กรนำมาใช้ในการแปลงค่านิยมร่วมไปสู่การปฏิบัตินั้น ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนและจะต้องปรับเปลี่ยนในส่วนใดบ้าง

 7. มีวิธีการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม เช่น การให้รางวัลกับคนที่ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อจะได้ตอกย้ำพฤติกรรมที่ถูกต้อง และพนักงานจะได้มีขวัญกำลังใจที่จะปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นนิสัย สำหรับคนที่ไม่ปฏิบัติ องค์กรก็ต้องมีการพูดคุยกับเขาด้วยว่า เพราะเหตุใด และอาจนำไปสู่การให้ Feedback ที่ต้องแก้ไขพฤติกรรมของพนักงานที่ไม่ปฏิบัติเหล่านั้นด้วยครับ

        ด้วย 7 ขั้นตอนที่เรียบง่ายนี้ เชื่อว่าองค์กรของท่านก็น่าจะได้ “ค่านิยมร่วม” มาใช้งานได้ในระยะเวลาอันสั้นนะครับ

หมายเลขบันทึก: 659701เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2019 21:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2019 12:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท