"หลักการให้"


“การให้ตามหลักการ” 

---------------

๑. การให้คืออะไร

๒. ชนิดการให้

๓. กิริยาการให้

๔. จุดหมายการให้

๕. ปรัชญาการให้

๖. บุคคลต้นแบบการให้

 

๑.การให้คืออะไร

             คำว่า “การให้” (Giving)หมายถึง การปล่อยวาง การสละ การสลัดวัตถุสิ่งของออกไปจากการยึดครอง ยึดถือเพื่อให้รู้จักการคลายความยึดมั่นถือมั่นในสรรพสิ่งที่เราสะสมมาจนกลายเป็นความอยากที่ไม่รู้จักแบ่งปันถอนถ่าย เกิดภาวการเห็นประโยชน์แก่ตนจนหลงผิดคิดว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือ ของเราโดยแท้

    การเป็นอยู่บนโลกนี้ สังคมนี้เรามิได้อยู่คนเดียว แต่เราอยู่แบบสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ และการที่เราดำรงอยู่ได้มิใช่เพราะเรามีกาย มีลมหายใจเท่านั้น หากแต่เราถูกห่อหุ้มด้วยเงื่อนไขมากมายเงื่อนไขหนึ่งคือ มนุษย์และสัตว์ ซึ่งเป็นตัวช่วยให้การดำเนินชีวิตสะดวกขึ้นสบายขึ้น ฉลาดขึ้น โดยเฉพาะกฎ กติกา ระเบียบ แบบแผน คำสอน ฯคือทิศทางที่จะชี้นำให้เห็นช่องทางในการแสดงออกที่ดีงาม เหมาะสมและถูกต้องโดยมิได้ยึดเอาตัวเป็นใหญ่   

    การที่พระพุทธศาสนาสอนชาวโลกให้แสดงออกเช่นนี้เป็นการวางอุบายในการมนุษย์รู้จักการเห็นอก เห็นใจคนอื่นเป็นการไม่เอาตนเป็นศูนย์กลางของโลก เป็นการแสดงท่าทีต่อโลกต่อวัตถุของโลกอย่างเป็นกลาง ไม่มัวเมา ลุ่มหลงเครื่องเคียงของชีวิตจนเกินไปพอครั้นจะลาจากโลกนี้ไป อาจทำใจยาก ปล่อยวางยาก จิตใจจึงถูกพันธนาการผูกจิตไว้กลายเป็นอุปสรรคในการข้ามพ้นวัฏสงสารในที่สุด


๒. ชนิดการให้

            การให้มีหลายอย่างตามเจตนาของผู้ให้การให้บางอย่างไม่จัดเข้าในการให้ตามหลักพุทธศาสนา บางอย่างเป็นเพียงการอนุเคราะห์บางอย่างมีเจตนาแอบแฝง ในพระพุทธศาสนาแบ่งชนิดการให้ได้ ๔ ชนิดคือ

๑)อามิสทาน หมายถึง การให้วัตถุสิ่งของ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้รับว่าเป็นบุคคลประเภทใดเช่น สิ่งของที่เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปสิ่งของที่เหมาะสำหรับพระสงฆ์เป็นต้น 

๒)อภัยทาน หมายถึง การยินยอม การไม่ผูกเวร ไม่ผูกแค้น การ  ผลลัพธ์การให้อภัยคือ สร้างภูมิคุ้มกันใจตนเองใช้สติปัญญา เมตตาแก้ปัญหา เป็นการใช้วิธีถ่อมตัว และเป็นการให้กำลังใจตนวิธีนี้บุคคลทั่วไปทำยาก ยกเว้น ผู้มีธรรมอย่างมั่นคง

๓)วิทยาทาน หมายถึง การให้วิชา ความรู้ สอนวิชาการให้ สอนวิชาชีพให้ การให้แบบนี้ยิ่งสอนมาก ยิ่งได้ได้ประสบการณ์ เป็นการแบ่งปันความรู้ ความสามารถให้กับคนอื่น

๔)ธรรมทาน หมายถึง  การเทศนา การสนทนาการสอนธรรม การให้คำแนะนำเรื่องหลักธรรมคำสอนแก่คนอื่นเพื่อให้รู้แนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้อง พระพุทธองค์สรรเสริญการให้แบบนี้เพราะทำให้บุคคลบรรลุธรรมได้

อย่างไรก็ตามการให้ก็มิได้จำกัดในรูปแบบใด รูปแบบหนึ่ง อาจให้ด้วยวิธีผสมผสานก็ได้แต่พึงเข้าใจผลที่จะเกิดขึ้นคือ ตัวเอง “ละ วาง ว่าง รู้” ได้จากการให้หรือไม่


๓. กิริยาการให้

  การให้เป็นกริยาการแสดงออกของมนุษย์หรือสัตว์ เพื่อแบ่งปันหรือแสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันสำหรับมนุษย์การให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทรแก่กันจุดหมายของการให้ ก็เพื่อให้เกิดความสามัคคี การบรรเทาทุกข์และการกำจัดความอยากลงได้ โดยเฉพาะในทางศาสนา การให้คืออุบายในการลดความเข้มข้นความอยากลง ในหลักของพระพุทธศาสนามีหลักการให้เพื่อลดความอยากทางจิต ลดความยึดติดหรืออุปาทานในสรรพสิ่ง แม้แต่ชีวิตเรือนร่างกายของตนเอง

    ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจในกิริยาการให้ตามหลักพุทธทัศน์ มีแนวทางสร้างสรรค์การให้ดังนี้

        ๑) ศรัทธาทาน คือ การให้ด้วยศรัทธา มิใช่ให้เพียงแค่สักว่าให้ โดยไม่มีความเชื่อมั่นในกิริยาการให้ที่แท้จริงอยู่เบื้องหลัง

            ๒) คารวทาน คือ การให้ด้วยความเคารพมิใช่ให้แค่โยน เสือกให้หรือขว้างปาให้ เพียงเพราะไม่รู้วิธีการให้ เรียกว่าการประเคน การมอบให้ หรือการน้อมถวาย

            ๓) กาลทาน คือ การให้ที่ถูกกาลสมัยสิ่งของที่ให้ควรสอดคล้องสมัยหรือเหตุการณ์เช่น ให้ข้าวของแก่ผู้ประสบภัยยามอดหยาก น้ำท่วม แห้งแล้ง หรือถวายสังฆทานเวลาเช้าดีกว่าเวลาเย็นหรือทอดกฐินหลังออกพรรษา เป็นต้น

            ๔) เจตนาทาน คือการให้ที่ตรงกับเจตนาของคนให้ มิใช่เพียงเห็นเขาให้ก็ให้ตามหรือไม่ได้ใส่ใจในการให้จึงไม่เกิดผลที่จิตคือ ชำระความอยากหรือความตระหนี่ได้

            ๕) ทุกขทาน คือการให้แบบกระทบตนหรือคนอื่น ทำให้ตนและคนอื่นเดือดร้อนเพราะอยากได้ชื่อเสียงหรือเกียรติยศ เป็นการทำบุญแบบแข่งขันหรือเกทับถมข่มคนอื่น

            นอกจากนี้แล้วพึงสังวรกิริยาการให้อีก ๓ ขณะคือ ก่อน ขณะ และหลังให้ ตนเองมีความพอใจ เสียดายก่อน ขณะและหลังให้หรือไม่ ถ้าพอใจให้ ก็พึงสำรวจอีกว่าการให้นี้เพื่อกำจัดความหวงแหน ตระหนี่หรือความอยากได้หรือไม่ แต่ถ้าเสียดายพึงตั้งใจหรือวางเจตนาให้ตรงตามหลักพุทธทัศน์นี้เสีย


๔. จุดหมายการให้

                  เมื่อเข้าใจในกิริยาการให้ที่ถูกต้องดีแล้วขั้นต่อไป พึงวางใจในหลักการให้ ให้ตรงจุดหมายของตนตามพุทธประสงค์ของพระพุทธองค์ที่สอนไว้ ซึ่งปัจจุบัน การให้ผิดเพี้ยนไปจาหลักการหรืออุดมการณ์ของพระพุทธองค์ไปมาก กล่าวคือจุดมุ่งหมายการให้ถูกแปรมาเป็นผลเพื่อผลประโยชน์ของชีวิตให้สุข สบาย เด่นรวยขึ้น นี่คือการให้ที่กระตุ้นต่อมความอยากให้โตขึ้น แต่มิใช่ตัดตอนความอยาก ความโลภความปรารถนาให้น้อยลง เพียงเพื่อกำจัดความอยาก ความปรารถนาให้เป็นกลางมิให้ยึดติดในสมบัติโลก แม้แต่ร่างกายของตนยามจะสิ้นลม ดังนั้นหัวใจการให้จึงขอสรุปตามพุทธประสงค์ของพระพุทธองค์ ๓ ประการคือ

๑)การให้ เพื่อการถ่ายเท ถอดถอน ความอยากหรือความโลภ ความตระหนี่และความยึดมั่นในสรรพสิ่งที่มีอยู่ ทำจิตให้หย่อนยาน หละหลวมไว้กับสมบัติของตัวเองอย่าผูกพันมั่นหมาย เป็นพันธนาการหรือล่ามโล่จิตให้ข้องอยู่ในโลกนี้จนแน่นเหนียว

๒)การให้ เป็นอุบายการชำระ ชำแรก กิเลส อาสวะ อุปนิสัย สันดาน ของตนให้ลดลง บางเบาลงให้สะอาด ให้ว่าง ให้เป็นกลาง วางท่าทีต่อสมบัติโลกที่ครอบครองอย่างฉลาด คิดว่าสมบัติทั้งปวงที่มี เราแบกหามไปด้วยไม่ได้ ยามสิ้นลม เราใช้มันเพียงเพื่อบำบัดความไม่สะดวกทางกาย ตอนยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น

๓)การให้ เพื่อปล่อยปละ ละวาง ว่าง รู้ คือการให้เป้าปมายที่แท้จริงอยู่ที่การปล่อยวาง คลายความยึดติดในสมบัติโลกและแม้แต่ร่างกายของตนเอง การวางท่าทีเช่นนี้ เป็นอุบายในการผ่อนคลายจิตมิให้กอดกุมสิ่งที่หามาได้ และกายเราที่ครองชีวิตมา เนื่องจากว่า ใดทั้งหมดมีจุดจบมีจุดหมายคือ การแปรเปลี่ยน ไม่จีรังยั่งยืน

ดังนั้นการให้ จึงเป็นการพัฒนากระบวนรับรู้ เข้าใจในโลก ในวัตถุสิ่งของและหลักความจริงของชีวิต เพราะที่สุดทุกคนต้องทิ้งสมบัติไว้ข้างหลังทั้งสิ้นเพื่อความเข้าใจชีวิตที่ยิ่งขึ้นไป และเพื่อพัฒนาสติ ปัญญาให้ก้าวหน้าขึ้นด้วย


๕. ปรัชญาการให้

          การให้เป็นเรื่องง่าย ๆ พื้น ๆ สำหรับปุถุชนทั่วไป ที่คุ้นเคยประจำแต่หากศึกษารายละเอียดในคำสอนของพระพุทธศาสนา จะพบว่า มีขั้นตอนมีหลักที่ชัดเจนว่า การให้เพื่ออะไรและยังมีการให้ที่ลุ่มลึกไปกว่าที่สาวยตาผู้คนทั่ว ๆ ไปเห็น เรียกว่า ปรัชญาการให้ซึ่งมีทิศทางให้คิดดังนี้

            ๑) การให้ สอนให้เราเข้าใจคำว่า“ยิ่งให้ ยิ่งได้” หมายความว่า ปกติการให้ ผู้ให้ย่อมเสียสิ่งของที่ให้จึงขัดแย้งคำกล่าวนี้ว่า ยิ่งให้ยิ่งได้ ถ้าปุถุชนมองแค่วัตถุสิ่งของที่ให้โดยมิได้มองข้างในหรือเจตนาที่แท้จริง ย่อมไม่เห็นผลที่ได้นั้น เพราะการให้หมายถึง การสลัดความอยากข้างในของตนเองออกไปให้บางเบาลง มิให้ความอยากกำเริบเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นความโลภ อัดแน่นในใจ จนทำให้พลังความอยากกระตุ้นเราให้แสวงหาจนไม่รู้จักพอเพียง พอใจ

            ดังนั้น การให้ (ในทางพุทธศาสนา)จึงเป็นอุบายฝึกฝน การเสียสละ เพื่อให้จิตเป็นกลางมากขึ้น จนรู้สึกอยากสลัดความยึดมั่นถือมั่นให้หย่อนลง ความอยากในใจจึงจะลดลง และมิให้ความอยากให้เพิ่มขึ้น ดุจน้ำในขวด ยิ่งเราเทน้ำออกมากเท่าไหร่ ความว่างในขวด ก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

            ๒) การให้ สอนให้เรารู้ว่า“เสียคือได้ ได้คือเสีย”  (Our loss is our gain) ในวงจรชีวิตของเราเราอาจไม่อยากประสบพบเจอสิ่งร้าย ๆ ความทุกข์ ความเจ็บป่วย อุบัติภัยต่าง ๆแต่กลไกของชีวิต กรรมลิขิตให้เป็นไป เรามิอาจหลีกพ้นผลนั้นได้ มองในแง่ดีสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นกับเรา นั่นคือ ภูมิคุ้นกันในการเตือนหรือสอนเราไม่มีอะไรสูญเสียอย่างสิ้นเชิง เราอาจเห็นคนอื่นบริจาคอวัยวะของตนให้คนแล้วรู้สึกว่าไม่ปกป้องสิทธิในการดูแลร่างกายตน หรืออาจคิดว่า คนนั้นโง่ แต่สักวันหนึ่งเราสูญเสียอวัยวะอย่างใด อย่างหนึ่ง เราจะเข้าใจในการกระทำของเขา เพราะนี่คือปรัชญาการให้ ที่ต้องเสียสละ ยอมให้ มอบให้ ทุ่มเทให้คนอื่น โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนแต่ผลมันคือ ความสุขที่ยิ่งให้ และนี่คือ สิ่งที่เราได้มา จากสิ่งที่เราเสียไป

            ๓) “ความอยาก แก้ด้วยการให้”คำกล่าวที่ว่า เมื่ออยากได้อะไร เราต้องลงทุนแสวงหา แต่เมื่อได้มา เรากลับไม่พอใจยังแสวงหาสิ่งที่ปรารถนาไม่รู้จบ ผลคือมันสร้างแรงบีบคั้นให้คนเราต้องดิ้นรนไขว่คว้าหาใหม่ จนไม่รู้จบในอยากในทางพระพุทธศาสนา มีวิธีแก้คือ การให้ ซึ่งฟังดูขัดแย้งกับพฤติกรรมของผู้คนที่จิตใจอัดแน่นไปด้วยแรงปรารถนาความอยาก ศีลข้อ ๒ คือ อทินนา ฯ แปลว่าเว้นการลักขโมยของคนอื่น เจตนาของศีลข้อนี้ ต้องการจะพัฒนาความอยากของคนให้เป็นการให้คือ จาคะ เรียกว่า เบญจธรรม ข้อที่ ๒ คือ ให้รู้จักเสียสละ จาคะบริจาค แบ่งปัน มิใช่จะเอาอย่างเดียว

            ในกรณีผู้ที่ไม่พร้อมหรือคนที่อยากเต็มหัวจะแก้ด้วยวิธีอย่างไรให้เป็นผล  เบื้องต้นให้คิดลดความอยากปรามตัวเอง หาข้อเสียที่จะเกิดขึ้นถ้าได้มา หลังจากได้มามีผลเสียอะไรบ้างจากนั้นค่อยหักดิบด้วยการให้แทน ที่จริง การหยุดอยาก การสละความอยากเสียไม่ดำเนินต่อไป นั้นได้ชื่อว่า การให้หรือจาคะในตัวเองแล้ว

            ๔)  การให้คือ วิธีกการปล่อยวางการสลัดมิให้ตนเองตีบตันในทรัพย์สิน ไม่ยินดีในสมบัติของตนจนเกินไป จนต้องนั่งกอดกุมรุมรั้ง สมบัติของตัวเองการที่พระพุทธศาสนาสอนชาวพุทธเช่นนี้ ก็เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม หรือตัดทอนก้อนตัณหาความโลภ มิให้ครอบงำจิตใจเรา เพื่อให้สอดคล้องกับหลักแก่นคำสอนของพระพุทธองค์ จากพระสูตรในพระบาลี มัชฌิมนิกายว่า “สพเพธมมา นาลํ อภินิเวสาย” สพเพ ธมมา แปลว่า สิ่งทั้งปวง นาลํ แปลว่า ไม่ควร  อภินิเวสาย เพื่อจะยึดมั่นถือมั่น สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ที่ว่า“ทุกสิ่ง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” เพราะนี่คือ รากเหง้าของอกุศลต่อจิตทั้งชาติภพนี้และชาติภพต่อไป

            ฉะนั้น ปรัชญาการให้ในเบื้องต้นสำหรับปุถุชนเป็นการเรียนรู้การปล่อยวาง การสลัดความโลภ ความยึดติดอุปาทานในทรัพย์สมบัติและในที่สุดเป็นเรียนรู้ชีวิตว่าไม่มีอะไรที่ควรยึดติดตังในโลกนี้เลย   


๖. บุคคลต้นแบบการให้

          ๑)พระพุทธเจ้าคือ ผู้ให้กำเนิด การให้ คำสอน ที่เน้นการเสียสละ ปล่อยวางที่สามารถนำมาเป็นอุดมคติสำหรับสังคมโลกมนุษย์ที่ว่า อยู่ในโลก พึ่งโลกและจากโลกไป มีอะไรตกอยู่ในจิตใจของตนบ้างพระพุทธองค์หลังจากตรัสรู้ได้สอนมนุษย์ทั้งหลายให้เข้าใจเรื่อง สัจธรรมของโลกปฏิบัติต่อโลกให้เป็น แสดงท่าทีต่อมนุษย์ด้วยกันอย่างสมดุล จนพระองค์สั่งสอนมาตลอด๔๕ พรรษา จนปรินิพพานลง ตลอดเวลาที่เทศนามา นั่นคือ การให้ธรรมทานทั้งหมด

ดังนั้นพระองค์คือบุคคลต้นแบบในการให้ธรรมเป็นทาน โดยไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทนนอกจากชี้ทางสว่างให้มนุษย์ได้เข้าถึง

๒)พระสงฆ์ คือ ผู้สืบทอดคำสอน ที่สอนเรื่องให้ การแบ่งบัน เพื่อสังคมและตนเองและสาวกทั้งหลายก็ได้สืบทอดพุทธประพณีนี้เรื่อยมา โดยการสั่งสอนประชาชน เป็นแม่แบบต้นแบบของสังคมอุดมคติ เรียกว่า ภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีหน้าที่ให้ธรรม ชี้ทางดีไม่ดีแก่ประชาชน จึงกลายเป็นแม่แบบที่ดีของสังคมไปเช่นสวากทั้งหลาย พระสงฆ์อย่างกรณ๊หลวงพ่อคุณคือ พระสงฆ์ต้นแบบของการให้ ช่วยเหลือสังคมมาตลอด จนมียอดเงินบริจาคถึงหกพันล้านบาท

๓)พ่อแม่คือ ผู้ให้ เป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับสถาบันครอบครัว ที่เป็นต้นแบบการให้โดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ คือ พ่อแม่ ที่ให้สายเลือด ชีวิต ให้ความรักเมตตาบุตรของตน จนกลายเป็นสัญชาตญาณของท่าน ความยาก ลำบาก เหน็ดเหนื่อยกำลังใจที่ได้มาจากความรักของลูกคือ กำลังของพ่อแม่ ดังนั้น พ่อแม่คือ ผู้ให้ชีวิตให้ร่างกาย

๔)พระโพธิสัตว์ คือ บุคคลแห่งอุดมคติ คือ เป็นพระผู้มีแต่ให้ ให้ความช่วยเหลือช่วยให้พ้นทุกข์ แนวคิดนี้มาจากอุดมคติของพุทธศาสนามหายานที่เน้นการช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ ก่อนที่ตนจะบรรลุธรรม การช่วยเหลือสัตว์โลกให้ได้จำนวนมากคืออุดมการณ์ของพระโพธิสัตว์ เช่น เจ้าแม่กวนอิม พันกรสะท้อนการใช้มือเข้าไปช่วยเหลือ สองมือคงไม่พอจึงต้องมีพันมือจึงจะช่วยเหลือสัตว์โลกได้เพิ่มไวขึ้น

๕)บัณฑิต คือบุคคลที่รู้โลก รู้ธรรมนำพาทั้งวิชาและจรณะ มนุษย์ในโลกนี้บุคคลที่ศึกษาเรียนรู้ในหลักคำสอน ในสิ่งที่ดีงาม เหมาะสม ถูกต้องมามากนั้นได้ชื่อว่า เป็นบัณฑิต บัณฑิตคือผู้ศึกษา โดยมีลักษณะรู้ดี คิดถูก ประพฤติชอบเป็นผู้รู้ทั้งทางโลกและทางธรรม โดยมักแสดงตนในกรอบ ๓ ทางคือ คิดดี พูดดี ทำดีเป็นประจำ บัณฑิตขึงมีคุณธรรมอย่างน้อย ๔ ประการคือ
            ๑) กตัญญู  คือผู้รู้อุปการคุณที่ท่านทำแล้วแก่ตน
            ๒) อัตตสุทธิ  คือผู้ทำตนให้บริสุทธิ์จากบาป
            ๓) ปริสุทธิ  คือผู้ที่ทำผู้อื่นให้บริสุทธิ์จากบาป
            ๔) สังคหะ คือผู้ที่สงเคราะห์แก่ชุมชนทั้งหลาย

            ดังนั้น การให้จึงเป็นพุทธวิธีกำจัดความโลภความอยากได้ ที่จะสอนให้ผู้คนรู้จักแบ่งปัน เมตตา ช่วยเหลือกันจนอาจนำไปสู่การเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาได้ กล่าวคือ สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แม้ร่างกายตนก่อนจะลาโลกไป การให้จึงเปรียบประดุจ

ท้องฟ้าให้สายฝน

ดุจสายชลให้ปลาได้อาศัย

ดุจป่ารกปกคลุมชุ่มด้วยใบ

สัตว์ทั้งหลายได้พึ่งพา สถาพร

      -----------------------

คำสำคัญ (Tags): #หารให้
หมายเลขบันทึก: 659564เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2019 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2019 07:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท