ถนนคนเดิน


ในช่วงของยุคกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2449 ได้มีการตัดทางรถไฟผ่านเมืองปราณบุรีพร้อมกับตั้งสถานีรถไฟขึ้นที่ชุมชนบ้านเมืองเก่า (ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น ต.ปราณบุรี) เป็นผลให้ชุมชนแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก กลายเป็นศูนย์กลางของอำเภอ ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การคมนาคมขนส่ง และศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจที่มี “ตลาดเมืองปราณ” (ตลาดเก่าเมืองปราณบุรี) เป็นย่านค้าขายสำคัญในระหว่างพื้นที่ภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน คุณป้าบุญปลูก กลิ่นแพทย์กิจ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอปราณบุรี เล่าว่า ตลาดปราณต่างจากตลาดทั่วๆไป เป็นตลาดที่นัด (ตลาดนัด) ขายของกันทุกวันโกน (ขึ้นและแรม 7,14 ค่ำ )แล้วขายข้ามวันไปจนถึงสิ้นวันพระ (8 ค่ำ,15 ค่ำ) ซึ่งสมัยนั้นถนนหนทางลำบากไม่มีรถราวิ่งรับส่งสินค้า แต่ตลาดที่นี่กลับคึกคักมากมีข้าวของขายยาวเป็นกิโลไปตลอด 2 ข้างทาง-รถไฟ พ่อค้าแม่ค้ามีทั้งคนที่นี่และคนต่างถิ่น มีทั้งล่องเรือมา หรือบรรทุกข้าวของใส่เกวียนมาทางบก บางคนมาไกลจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรีก็มี แต่ต่อมา ในช่วงราวๆก่อนปี พ.ศ. 2500 ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นเมื่อมีการตัดถนนเพชรเกษมผ่านอำเภอปราณบุรี ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งในชุนชนบ้านเมืองเก่าทยอยย้ายไปตั้งบ้าน เรือนอยู่ที่ริมถนนใหญ่บริเวณ 4 แยกปราณ ต.เขาน้อย เกิดเป็นเมืองปราณใหม่ขึ้นมา อำเภอปราณบุรี ในยุคนั้น จึงมีเมืองหลักๆที่เป็นศูนย์ กลางอยู่ 2 เมืองด้วยกันคือเมืองใหม่ที่ 4 แยกปราณ ต.เขาน้อย ที่กำลังโตวันโตคืน กับเมืองเก่าที่ ต.ปราณบุรีที่แม้ไม่โตแต่ก็ไม่ตาย เพราะเมืองเก่าปราณยังคงมีส่วนราชการหลักๆอยู่ เป็นสิ่งดึงดูดให้เกิดการเดินทางเข้า-ออก สร้างความเคลื่อนไหวให้ชุมชน และต่อมาในปี พ.ศ. 2520 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อทางการได้มีนโยบายย้ายส่วนราชการในชุมชนเมืองเก่าปราณบุรีออก ไปอยู่ริมถนนใหญ่เพื่อความสะดวกต่อการติดต่อสัญจร เมื่อส่วนราชการย้ายไป ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ทำธุรกิจการค้าก็ย้ายตามไปอยู่ริมถนนใหญ่ ส่งผลให้เมืองเก่าปราณบุรีที่เคยรุ่งเรืองกลายเป็นเมืองที่เงียบเหงา ซบเซา และทำให้ตลาดเมืองปราณที่เคยรุ่งเรืองหมดความสำคัญลง เหตุการณ์ตามที่กล่าวมา จึงทำให้ อ.วิลาศ แตงเกตุ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาห้วย เห็นว่าต้องทำอะไรสักอย่าง ก่อนที่เมืองปราณบุรีจะถูกทิ้งร้างและถูกลืมเหลือเพียงตำนาน อ.วิลาส จึงได้รวบรวมสมัครพรรคพวกและผู้มีแนวคิดตรงกัน ร่วมรื้อฟื้นบรรยากาศอันรุ่งโรจน์ของเมืองเก่าปราณบุรีในรูปแบบ “ตลาดนัดถนนคนเดิน” ขึ้นมาโดยมีการเปิดกิจกรรม “ถนนคนเดินตลาดเก่าเมืองปราณบุรี” (หรือที่บางคนเรียกว่าตลาดเก่า 200 ปี ปราณบุรี) ครั้งแรกขึ้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2553 และหลังจากนั้นก็จัดต่อเนื่องเรื่อยมาในทุกๆเย็นวันเสาร์ ถนนคนเดิน ตลาดเก่าปราณบุรี ที่คงความเก่าแก่มากว่า 200 ปี และยังรักษาสภาพความเป็นตลาดเก่าไว้ได้อย่างดี ซึ่งบริเวณรอบนอกของตลาดจะมีบ้านไม้ ร้านกาแฟ และร้านอาหารเก่าแก่ที่เคยขึ้นชื่อมาแต่ครั้งอดีต ร้านขายของที่ระลึก ร้านหนังสือเก่า ๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและบรรดาบ้านเรือนที่เรียงรายอยู่นั้น ก็จะพร้อมใจกันปรับปรุงและรักษาให้กลายเป็น “ถนนคนเดินปราณบุรี”ในบรรยากาศย้อนยุค ให้ผู้มาเยือนได้ไปสัมผัสกลิ่นอายของวันวาน เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบความเป็นไทยแบบชมวิถีชาวบ้าน ท่านจะพบกับความอบอุ่นของชุมชนที่ร่วมกันจัดถนนคนเดินขึ้นมา



หมายเลขบันทึก: 659557เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2019 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2019 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท