ACT4HEALTH YOUNGSTER CAMP ค่ายละครเยาวชนเพื่อสุขภาวะ


ใช้ละครเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะ

หากศิลปะการละคร คือสิ่งที่สร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมแล้ว ยังสามารถถ่ายทอดเรื่องราว สะท้อนแง่มุม ค่านิยมและสภาพสังคมในยุคนั้นๆ และการเข้าถึงอารมณ์จิตใต้สำนึกของคนดูจนคล้อยตามได้ ขณะเดียวกันยังสามารถเปลี่ยนแปลงภายในตัวผู้แสดงได้เช่นกัน

ค่ายละครสุขภาวะมัธยมอุดมศึกษา ACT4HEALTH YOUNGSTER CAMP เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และเครือข่ายละครหน้ากากเปลือย ด้วยการชวนน้องนักเรียนมัธยมศึกษา นักศึกษามหาวิทยาลัย มาสนุกกับค่ายการเรียนรู้ละคร ตลอดจนสร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเอง ทั้งเขียนบท แสดง และกำกับ เพื่อสร้างสรรค์ละครน้ำดี เสริมสุขภาวะทางปัญญา

นายนินาท  บุญโพธิ์ทอง ผู้อำนวยการเครือข่ายละครหน้ากากเปลือย กล่าวถึงกระบวนการกิจกรรมว่า เป็นการขยายผลจากโครงการละครโรงเรียนและชุมชนสุขภาวะ ACT4HEALTH ในปี 2560 ซึ่งเราพบว่าโจทย์ที่ให้น้องๆ ทำละครเพื่อสื่อสารสุขภาวะใน 4 มิติ ไม่บรรลุเป้าหมายที่ชัดเจน คือ เด็กพยายามทำละครเพื่อให้เข้าโจทย์มากเกินไป จนขาดอิสระและการเรียนรู้บทละครมิติด้านอื่นๆ

ปีนี้เราจึงให้น้องทำในเรื่องที่อยากเล่า ให้ความอิสระในการคิดโจทย์ด้วยตัวเองมากขึ้นแต่ต้องเป็นการสื่อสารเพื่อสุขภาวะ และแบ่งเด็กออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มออกแบบกระบวนการทำงานร่วมกันสามารถต้องออกแบบกระบวนการเพื่อเรียนรู้ประเด็นในพื้นที่ สามารถเป็นแกนนำได้ 2.กลุ่มชอบทำละคร ซึ่งมีเครื่องมือพัฒนาศักยภาพผ่านกระบวนการละคร จับประเด็นมาทำละครสามารถผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลง และ 3.กลุ่มทั่วไป เป็นกลุ่มที่อาจจะชอบหรือไม่ชอบ แต่เข้ามาหนุนเสริม ซึ่งสิ่งที่เราอยากได้คือไอเดียหรือความแปลกใหม่เข้ามา

            ในฐานะผู้จัดการค่ายละครสุขภาวะมัธยมอุดมศึกษา ACT4HEALTH YOUNGSTER CAMPนายนินาท ยังอธิบายถึงผลลัพธ์ที่น้องๆ จะต้องตอบโจทย์กับละครตัวเองให้ได้ว่า ละครต้องสามารถสื่อสารสิ่งที่อยากจะพูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมา คือ เรียนรู้ทักษะความเข้าใจมนุษย์ เข้าใจตนเอง เพื่อน สังคม บริบทที่เราทำงานด้วย และสุดท้าย คือ เพื่อสร้างงานสร้างแรงบันดาลใจ สามารถขับเคลื่อนได้ มีประเด็นทำให้คนตระหนักและรู้สึก เกิดการเปลี่นแปลง

            ถ้าหากละครสามารถสะท้อนและเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ดังนั้นละครก็สามารถเปลี่ยนแปลงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการละครด้วยเช่นกัน

นายภวินท์ แย้มกลีบ นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า สนใจละครมาตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัย ตอนหลังเริ่มเขียนบท ทำเพลงประกอบละคร การละครช่วยสร้างระเบียบวินัยให้เรา การคิดวิเคราะห์ ตรรกะชีวิต การเข้าใจสัจธรรม สามารถเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้ อย่างเช่นละครของเราสะท้อนมุมวัยรุ่น คนที่รู้จักกันทำร้ายกัน ทั้งทางตรงทางอ้อม ตีแผ่ทุกคนทำร้ายกันได้ ทุกคนมีเหตุผลทำร้ายอย่างไร และมีเหตุผลจะรับมือได้อย่างไร


ละครทำให้เราได้บอกออกไป ได้พยายามสื่อสารหรือแก้ปัญหาในสังคม แม้จะแก้ได้มากน้อยเพียงใด แต่เราก็ได้บอกออกไป  ขณะเดียวกันทำให้เรามีภูมิคุ้มกันสังคมยุคใหม่ จากบทบาทสมมติต่างๆ ในละคร ทำให้เรารู้จักแง่มุมของคนมากขึ้น และสอนให้เรารับมือด้วยความฉลาดทางอารมณ์

            ขณะที่นางประไพ กลับไชย ครูที่ปรึกษาชุมนุมการละคร โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย กล่าวว่า ละครเป็นกิจกรรมเสริมให้ทุกคนกระหายมาอยู่รวมกัน เพราะสมาชิกอยู่ต่างห้อง ต่างวัย แต่มีความสนใจเรื่องเดียวกัน ก็มารวมกลุ่มกันคิด ว่าละครจะให้อะไรกับคนดูหรือตัวเองได้บ้าง เขาก็จะต้องช่วยกันคิด ทำงานเป็นทีม เป็นกระบวนการเกิดประโยชน์กับตัวเองและสังคม เด็กบางคนพูดไม่ชัด เสียงเบา พอมาเล่นละครได้ปลดปล่อย ได้แอคติ้ง  ก็มีความกล้าในตัวเองขึ้นมา และยังส่งผลไปต่อห้องเรียน เช่น การประยุกต์ศิลปะการละครเข้าไปการนำเสนองาน เกิดความแปลกใหม่ น่าสนใจ

            การเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนให้ได้ปลดปล่อยพลังที่มีอยู่ กล้าคิด กล้าแสดงออก สู่กิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อตนเองและสังคม อย่างเช่น การละคร เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนได้

โดยนางทิพย์สุดา สุเมธเสนีย์ กรรมการบริหารแผน สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า การแสดงละคร ทำให้เขาได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยใช้ละครเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะของทั้งตนเอง สังคม คนชุมชน หรือภายในโรงเรียน อะไรที่เขาเห็นและอยากเอามาทำละครหรือหนังสั้น เขาจะสื่อมันออกมา

ปกติแล้วเด็กอยู่ในสังคมที่มีข้อบังคับมากพออยู่แล้ว ซึ่งเป็นคนอื่นมากำหนดให้ทั้งสิ้น แต่ถ้าเราเปิดพื้นที่ให้เขา อย่างเช่น กิจกรรมละคร แม้จะมีกฎในการทำงานร่วมกันแต่ก็เป็นข้อบังคับที่เขาช่วยกันกำหนดขึ้นเพื่อให้การทำงานราบรื่นสำเร็จ ซึ่งเขาจะเกิดการเรียนรู้ร่วมกันเยอะมากในหลายๆ มิติ อย่างเด็กแว้น เด็กติดยา เพราะเขาไม่มีที่ไป แต่หากมีพื้นที่ดี มีกิจกรรมสร้างสรรค์แล้วพ่อแม่ ผู้ปกครองก็อุ่นใจไม่ต้องกลัวลูกจะไปที่ไหน

สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม พร้อมเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้มีพื้นที่แสดงออก ซึ่ง แต่ละปีนั้น สสส. ได้สนับสนุนโครงการเด็กและเยาวชนมากกว่า 400 โครงการ และเปิดโอกาสสำหรับโครงการแปลกใหม่ทุกรูปแบบ ซึ่งจะเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ได้ ขอเพียงประเด็นที่จะทำนั้นต้องเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพก็พอ อย่างเช่น ACT4HEALTH YOUNGSTER CAMPในครั้งนี้

ค่ายละครสุขภาวะมัธยมอุดมศึกษา ACT4HEALTH YOUNGSTER CAMP จึงเป็นโครงการดีๆ ที่เปิดโอกาสให้น้องๆ เยาวชนได้มีพื้นที่สร้างสรรค์ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ นำมาซึ่งสุขภาวะทั้งตนเองและสังคม

หมายเลขบันทึก: 659136เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2019 01:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2019 01:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท