การเช่า ในอิสลาม ( الاجارة)


                                                        การเช่า ในอิสลาม (  الاجارة)

      การเช่า ในทางภาษา หมายถึง  การขายประโยชน์นั้นเอง

 หลักฐานต่างๆ ของการเช่าในอิสลาม

     - จากอัลกุรอาน ซูเราะห์ อัตตอล๊าก อายะห์ที่ 6

ความว่า  “ ต่อมาเมื่อพวกนางได้ให้นมบุตรแก่พวกเจ้า พวกเจ้าจงมอบค่าจ้างของพวกให้แก่พวกนางเถิด”

     - จากอัลฮาดิส รายงานโดย ท่านอาบูฮูรอยเราะห์ ท่านศาสดา(ซ.ล.) ได้กล่าวว่า “ ท่านทั้งหลาย (ผู้เป็นนายจ้าง) จงมอบค่าแรงงานให้แก่ลูกจ้าง ก่อนที่เหงื่อไคลของเขาจะแห้ง ”

    และท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้กล่าวไว้อีกว่า  “ ผู้ใดได้ว่าจ้างลูกจ้าง ก็จงบอกค่าแรงงานของเขาให้เขาทราบด้วย ”

     - จากมติปวงปราชญ์  เหล่าอัครสาวก ของท่านศาสดา(ซ.ล.) ได้มีมติอนุญาต ให้มีการนทำสัญญาเช่าได้ แม้จะเป็นการขายประโยชน์ที่มิอาจส่งมอบได้ในขณะทำสัญญา ( ตามทัศนะของนักนิติศาสตร์บางท่าน) ก็ตาม เนื่องจากมนุษย์มีความจำเป็น ต่อการใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับที่มีความจำเป็นต่อการใช้วัตถุ

  ดังนั้น เมื่อมีการอนุญาตให้ทำสัญญาซื้อขายในสิ่งที่เป็นวัตถุใด ก็ย่อม อนุญาตให้ทำสัญญาเช่า ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ เช่นเดียวกัน   จะต่างกันก็ แค่เพียงกรณีการกำหนดเวลา ซึ่งการเช่านั้นโดยสภาพของสัญญายังคงถือว่าสมบูรณ์ แต่สัญญาการซื้อขาย มีจุดมุ่งหมาย เพื่อโอนกรรมสิทธิ์ ใสสิ่งที่ตนรับโอบไปตลอดกาล โดยไม่กำหนด เวลา

        การเช่า  ในทางหลักนิติศาสตร์อิสลาม หมายถึง สัญญา อันก่อให้เกิดสิทธิในการใช้หรือรับประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งชอบด้วยหลักชารีอะห์ ภายใต้กำหนดเวลาที่แน่นอนโดยมีค่าตอบแทน

 ข้อสังเกต  ความหมายในหางหลักนิติศาสตร์อิสลาม ก็คือ ความหมายตามรากศัพท์ในทางภาษานั้นเอง

องค์ประกอบของสัญญาเช่า มี 4 ประการ ดังนี้

 1. คู่สัญญา หมายถึง - ผู้ให้เช่า     และ    ผู้เช่า      หรือ

                                 -  ผู้จ้าง         และ  ลูกจ้าง 

2. คำเสนอ และ คำสนอง  ในการทำสัญญาเช่า หรือ สัญญาจ้าง

3. ผลประโยชน์ ( จากการเช่า หรือ การจ้าง )

4. ค่าตอบแทน

ประเภทต่างๆ ของสัญญาเช่า

1. สัญญาเช่าทรัพย์สินเพื่อใช้ประโยชน์ เช่น เช่าบ้าน, เช่าที่ดิน, เช่ารถ ...ฯลฯ  

     ประเภทนี้ วัตถุที่ประสงแห่งสัญญา คือ ประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่า และมีความหมายใกล้เคียงกับการเช่าทรัพย์    

 *(1) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป. พ. พ.) 

2. สัญญาเช่า ( จ้าง ) บุคคลเพื่อทำงาน เช่น จ้างแม่นมเลี้ยงลูก, จ้างคนงานแบกของ, จ้างผู้รู้อ่านกุรอานให้คนตาย...เป็นต้น

    ประเภทนี้ วัตถุประสงค์แห่งสัญญา คือ การงานที่จ้าง และมีความหมายใกล้เคียงกับ การจ้างแรงงาน ** (2)จ้างทำของ*** (3) และรับขนของ **** (4) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป. พ. พ.)

* (1) มาตรา 537 อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่า ผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้เช่า ได้ใช้ หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง ชั่วระยะเวลาอันจำกัด และผู้เช่าจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น

**(2) มาตรา 575 อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ลูกจ้าง ตกลง จะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดระยะเวลาที่ทำงานให้

***(3) มาตรา 587 อันว่าจ้างทำของนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้าง เพื่อผลสำเร็จแห่งการทำงานนั้น

****(4) มาตรา 603 อันว่าผู้ขนส่ง ภายในความหมายแห่งกฎหมายลักษณะนี้ คือ บุคคลผู้รับจ้างขนส่งของ หรือคนโดยสาร เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตน

                                                           ความสมบูรณ์ของสัญญา เช่า

      สัญญา เช่า เป็นอันสมบูรณ์ เมื่อองค์ประกอบทั้ง 4 ประการ ข้างต้นเป็นไปตามข้อบังคับ และเงื่อนไขดังกล่าวต่อไปนี้

1. คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงเช่ากันโดยสมัคใจ โดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด มิได้ถูกบังคับ

2. คำเสนอและคำสนอง สัญญาเช่าอาจสมบูรณ์ได้ด้วย คำเสนอและคำสนอง ถูกต้องตรงกัน ไม่ว่าทรัพย์สินที่เช่านั้น จะเป็นสังหาริมทรัพย์ หรือ อสังหาริมทรัพย์ ก็ตาม

    ในกรณีนี้ จึงต่างกับการเช่าทรัพย์ตาม ป. พ. พ. ที่กำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ หากทรัพย์สินที่เช่า เป็นอสังหาริมทรัพย์

3. ประโยชน์ซึ่งเป็นวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญา เช่า

     นักนิติศาสตร์ส่วนใหญ่มีทัศนะตรงกันว่า หมายถึง ประโยชน์แท้ๆ ที่เป็นนามธรรมไม่มีตัวตน ดังนั้น เช่า ต้นไม้เพื่อเอาผล, เช่าแกะเพื่อเอาขน, เช่าแพะเพื่อเอานม ....ฯลฯ จึงไม่อาจกระทำได้ ทั้งนี้ เพราะผลก็ดี ขนก็ดี นมก็ดี  เป็นวัตถุ ไม่ใช่ประโยชน์  การเช่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่วัตถุ  เช่าต้นไม้หรือเช่าสัตว์ เพื่อการดังกล่าว จึงไม่อนุญาตด้วยประการฉะนี้...แล

     ท่าน อิบนุ กอยยิม ได้กล่าแย้งไว้อย่างน่าคิด...? ว่า

 ทัศนะของนักนิติศาสตร์ส่วนใหญ่ ที่จำกัดความหมายของประโยชน์ไว้แค่เพียงสิ่งที่เป็นนามธรรม ไม่รวมถึงสิ่งที่เป็นวัตถุด้วยนั้น ขาดเหตุผล และไร้หลักฐาน

     โดยหลักแล้ว ดอกผลใดๆ ก็ตามที่ตกได้จากแม่ทรัพย์ เมื่อแม่ทรัพย์นั้นยังคงอยู่ โดยไม่บุบลาย ดอกผลที่ได้แม้จะเป็นวัตถุ ก็ยังคงถือว่าเป็นประโยชน์ จากแม่ทรัพย์นั้น เช่น ผลได้จากต้นไม้ นมได้จากสัตว์

          ด้วยเหตุนี้ การเช่าแม่ทรัพย์เพื่อเอาดอกผล โดยแม่ทรัพย์นั้นยังคงอยู่ในสภาพดีดังเดิม  จึงเป็นที่อนุมัติ ตามทัศนะของ อิบนุ กอยยิม

       นอกจากนั้น เมื่อวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญา เป็นประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์สิน เพื่อความสมบูรณ์ของสัญญาเช่าประโยชน์ดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

 ก. เป็นประโยชน์ที่แน่นอนตายตัว ไม่เลื่อนลอย หรือเคลือบคลุม อาจนำไปสู่การขัดแย้งในภายหลัง โดยการแถลงให้แจ้งชัด ถึงตัวทรัพย์ที่ให้เช่า, เวลาแห่งการเช่า, และ หรือการงานที่จ้าง

 ข. ต้องเป็นประโยชน์ที่อาจแสวงหาเอาได้ โดยสภาพและโดยชอบด้วยหลักชารีอะห์ ดังนั้น การจ้างคนใบ้ ให้ประชาสัมพันธ์, จ้างหญิงที่มีประจำเดือนให้กวาดมัสยิด หรือ จ้างนักมายากลให้สอนเวทมนตร์ คาถา ล้วนเป็นโมฆะทั้งสิ้น  เพราะประโยชน์ซึ่งเป็นวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญา ไม่อาจแสวงหาเอาได้ โดยสภาพและโดยชอบด้วยหลักชารีอะห์ แล้วแต่กรณี

     อนึ่ง การเช่าสัตว์พันธุ์ดีเพื่อผสมพันธุ์, เช่าสุนัขฝึกหัดเพื่อล่าสัตว์ ถือเป็นโมฆะตาม มัซฮับ ฮานาฟี, ชาฟีอี และฮัมบาลี เพราะผู้เช่าไม่สามารถ บังคับให้สัตว์ ออกล่า หรือผสมพันธุ์ และหลั่งน้ำเชื่อได้

 แต่ การเช่าดังกล่าว ถือเป็นอันสมบูรณ์ ตาม มัซฮับ มาลีกี ถ้าหากได้กำหนด ระยะเวลาแห่งการเช่าไว้ เป็นการแน่นอน

 ค. ต้องเป็นประโยชน์ชอบด้วยหลักชารีอะห์ เช่น เช่าหนังสือเพื่ออ่าน  เช้าบ้านเพื่ออยู่อาศัย

     ดังนั้น หากสัญญาเช่าได้กระทำขึ้นเพี่อแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ เช่น เช่าบ้านเพื่อเปิดซ่องโสเภณี หรือเพื่อตั้งบ่อนการพนัน เช่าร้านค้าเพี่อขายสุราเมรัย จ้างนักร้องเพื่อแสดงดนตรี ฯลฯ เหล่านี้ถือเป็นประโยชน์อันมิชอบด้วยหลักชารีอะห์ สัญญาเช่าเพื่อการดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะโดยไม่ต้องสงสัย

     แต่หากจะมองกันในแง่ของกฎหมายแท่ง ฯ สัญญาเช่าดังกล่าวข้างต้นจะเป็นโมฆะด้วยหรือไม่.....ขอให้ลองพิจารณามาตรานี้ดู.....

       มาตรา  113  การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายก็ดี เป็นการพ้นวิสัยก็ดี เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อย หรือหลักศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ดี การนั้นท่านว่าเป็นโมฆะกรรม

 ง. กรณี หากวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญาเช่าเป็นการงานที่จ้าง เพื่อความสมบูรณ์ของสัญญาจ้าง  การงานนั้นจะต้องไม่เป็นฟัรดู หรือวายิบเหนือลูกจ้างก่อนการจ้าง เช่น ละหมาด ถือศีลอด ฮัจญ์ และอื่นๆ ดังนั้น สัญญาจ้างให้ละหมาดก็ดี  จ้างภรรยาให้ทำงานบ้านก็ดี  จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากผู้รับจ้างมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติการนั้น ในฐานะของตนเองอยู่แล้ว จึงไม่มีสิทธิในค่าจ้างแต่ประการใด

       มัซฮับฮานาฟี ได้ขยายการงานในประเด็นนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง  กล่าวคือ รวมถึงการงานทุกอย่างที่ถือเป็นการภักดี ต่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ซึ่งได้กำหนดไว้เป็นทฤษฏีเลยว่า....... “ บุคคลผู้ถูกจ้างให้ทำการภักดี  จะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง ”

       ด้วยเหตุนี้เอง .... การจ้างให้ทำการอีกอมะฮ์, จ้างให้อาซ่าน, จ้างสอนกุรอาน หรือสอนวิชาการอื่นๆ  ที่ถือเป็นการภักดี ล้วนอยู่ในขอบข่ายที่ต้องห้าม ตามมัซฮับฮานาฟีทั้งสิ้น และในมัซฮับมาลีกี ก็มีความเห็นเช่นเดียวกันนี้

         สำหรับท่านอีหม่าม ชาฟีอีย์และ มาลีกี มีทัศนะตรงกันในกรณี การจ้างสอนอัล-กุรอาน  ว่าเป็นการอนุมัติ โดยอาศัยหลักฐาน จากอัล-ฮาดิสของท่านศาสดา (ซ.ล.) ซึ่งมีความว่า “ สิ่งที่พวกเจ้าทั้งหลาย สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับค่าจ้างนั้น คือ คัมภีร์อัล-กุรอาน ”

       นอกจากนั้น มัซฮับชาฟีอีย์ และ มัซฮับมาลีกี ยังได้ยินยอมให้มีการจ้าง  การประกอบพิธีฮัจญ์ ได้อีกด้วย เนื่องจากท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้ยอมรับการประกอบพิธีฮัจญ์ ของซอฮาบะห์ แทนบุคคลอื่น

 4. ค่าตอบแทน  หมายถึง ค่าเช่า หรือ ค่าจ้างแล้วแต่กรณี    เพื่อความสมบูรณ์ ของสัญญาเช่า ค่าตอบแทนต้องเป็นไป ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

 ก. ค่าตอบแทน ต้องเป็นทรัพย์สิน ที่มีราคา และรู้จำนวนที่แน่นอน

    ดังนั้น  การที่นายจ้าง ตกลงจ้างลูกจ้างคนหนึ่ง ให้ทำงานด้วยค่าจ้าง จำนวน 30 บาท  พร้อมด้วยอาหารก็ดี , เช่าอูฐขี่ 1 วัน ค่าเช่า 20 ปอนด์พร้อมอาหาอูฐด้วยก็ดี , เป็นการจ้างที่ไม่สมบูรณ์  เนื่องจาก ค่าตอบแทน (ในส่วนที่เป็นอาหาร ) ไม่อาจรู้จำนวนที่แน่นอนได้

       แต่นักนิติศาสตร์อิสลาม สังกัด มัซฮับมาลีกี ยินยอม ให้มีการเช่าสัตว์ หรือจ้างคนใช้ โดยกำหนดค่าตอบแทนเป็นอาหาร และเครื่องนุ่งห่มได้  ทั้งนี้เพราะการดังกล่าวอาจอนุโลมให้ได้ ตามประเพณีนิยม

 ข. ค่าตอบแทน จะต้องไม่ใช่สิ่งที่เกิด จากการงานซึ่งลูกจ้าง หรือ ผู้รับจ้างได้กระทำ  เช่น ยีหมัด ได้จ้างยีมุด ให้คั้นส้ม 500 กิโลกรัมโดยกำหนดค่าจ้างเป็นน้ำส้ม 1 กระป๋อง จากน้ำส้มที่ยีมุดเอง เป็นคนคั้น  การจ้างอย่างนี้ ตาม มัซฮับชาฟีอีย์ และ มัซฮับฮานาฟีย์ ถีอว่า เป็นการจ้างที่ไม่สมบูรณ์ เพราะไม่สามารถที่จะส่งมอบได้ ในขณะทำสัญญา และมีอัล-ฮาดิส ได้ห้ามไว้โดยตรงว่า  ความว่า :  “ ท่าน ศาสดา (ซ.ล.) ได้ห้าม มิให้กำหนดค่าจ้าง แก่ผู้รับจ้างโม่แป้ง ด้วยแป้งถุงหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนที่ได้จากการโม่ของเขา ”

   สำหรับ มัซฮับ ฮัมบาลีย์ และมาลีกี อนุมัติให้กำหนดค่าจ้างจากสิ่งดังกล่าวได้ ถ้าหากกำหนดให้รู้จำนวนที่แน่นอน ด้วยการชั่ง หรือ ตวง และอัล-ฮาดิส ข้างต้นนักวิชาการกลุ่มนี้ ถือว่า เป็นฮาดิสที่ ฎออิฟ จะนำมาเป็นหลักฐานไม่ได้

  หมายเหคุ  ค่าตอบแทนที่ได้จากการสละซึ่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดที่อยู่ในการครอบครองของตน ไม่ถือเป็นการต้องห้าม ตามบทบัญญัติอิสลามแต่ประการใด

    ดังนั้น ผู้ให้เช่ามีสิทธิที่จะเอาเงิน ( มูกอดดัม )จากผู้เช่า เพื่อแลกเปลี่ยนกับการสละสิทธิครอบครองในทรัพย์สินที่เช่านั้นก็ได้ด้วย  กรณีนี้ ตาม มัซฮับชาฟีอีย์ ถือว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับการเปลี่ยนมือ (นักลุลยาดิ ) หมายถึง การสละการครอบครอง ในสิ่งที่เป็นนายิส ให้แก่บุคคลอื่น

    เป็นที่ทราบกันดีว่า นายิสนั้นขายไม่ได้ ให้ก็ไม่ได้ แต่อาจโอนให้แก่กันได้ ด้วยการสละสิทธฺการครอบครอง ซึ่งไม่มีบทบัญญัติห้ามไว้เป็นการเฉพาะ จึงถือเป็นการอนุมัติ ตามหลักทั่วไป

    การเอาค่าตอบแทน จากการสละสิทธิครอบครองนั้น ลึกๆ แล้วก็คือ การขายสิทธิ (บัยอุลฮัก ) นั้นเอง ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้าม ตามมัซฮับฮานาฟี แต่ถึงกระนั้นก็ตาม นักนิติศาสตร์มัซฮับนี้ จำนวนไม่น้อย ยินยอมให้มีการเอาค่าตอบแทน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการสละตำแหน่งของตนจากบุคคลอื่นที่เข้ามาแทนที่ เช่น ตำแหน่งอิหม่าม ผู้ว่าฯ  หรือ รัฐมนตรี เป็นต้น

      ผลของสัญญาเช่า   สัญญาเช่าเป็นสัญญาแลกเปลี่ยน ( อักดุนมูอาวาเฏาะห์ ) และ เป็นสัญญาที่ผูกพัน คู่สัญญา  ทั้ง 2 ฝ่าย ( อักดุนลาเซ็ม ) กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีเหตุผลแห่งการนั้นมิได้

  ดังนั้น เมื่อสัญญาเช่าสมบูรณ์ ผู้เช่าย่อมมีสิทธิได้ใช้ หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่า และผู้ให้เช่าก็มีสิทธิได้รับค่าเช่า  และ หากสัญญาเช่าไม่สมบูรณ์ หรือเป็นโมฆะ การใดๆที่ได้ตกลงกัน ก็จะไม่ผูกพันคู่กรณี แต่ ถ้าหากผู้เช่าได้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าไปแล้ว...ในกรณีนี้...

 ตามทัศนะมัซฮับชาฟีอีย์ :  ผู้เช่าจะต้องจ่ายค่าเช่าในราคาอันสมควร ( อัญรุนมิสลิ)

ตามทัศนะมัซฮับฮานาฟีย์ :  ผู้เช่าต้องจ่ายค่าเช่าในราคาอันสมควร แต่ ต้องไม่เกินกว่าราคาที่ระบุไว้ในสัญญา

                                              ขอบเขตการใช้ประโยชน์ ในทรัพย์สินที่เช่า

 ตัวอย่าง .... ในกรณีที่เช่าบ้าน ร้านค้า หรืออื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน หากมิได้ตกลงกันไว้ เป็นการเฉพาะ ว่าเช่าเพื่อการใด  ผู้เช่าย่อมมีสิทธ์ที่จะแสวงหาประโยชน์ใดๆ ในบ้านหรือร้านค้านั้นได้ โดยปกติประเพณีนิยม เช่น อยู่อาศัยเอง, ให้ผู้อื่นอาศัยอยู่โดยให้ยืม หรือให้เช่าต่อ  ( ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่ง ฯใช้คำว่า ให้เช่าช่วง ) หรือผู้เช่าจะใช้วางสิ่งของ ของตนหรือของผู้อื่นก็ได้  แต่! การใดที่มิได้เป็นไปตามปกติแห่งการใช้ทรัพย์สินนั้น ผู้เช่าอาจทำไม่ได้ เช่น ทำเป็นโรงตีเหล็ก หรือให้ผู้อื่นเช่าช่วงติดตั้งโรงสี  เป็นต้น

           การให้เช่าช่วง 

          นักนิติศาสตร์อิสลาม ยินยอมให้ผู้เช่ากระทำได้ แม้มิได้ตกลงกันไว้ ในการทำสัญญาเช่าก็ตาม  ทั้งนี้โดยยึดหลักที่ว่า...มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นผู้เช่า หรือบุคคลอื่นใดก็ตาม โดยปกติแล้วจะมีความคล้ายคลึงกัน ในการอยู่อาศัย ดังนั้น ใครจะอยู่หรือใครจะไป จึงไม่ใช่สาระสำคัญ ในอันที่จะทำให้สัญญาเช่า เสียความสมบูรณ์

        ในกรณีนี้ ต่างกับประมวลกฎหมายแพ่ง ฯ ซึ่งห้ามมิให้ผู้เช่า ทำการให้เช่าช่วง เว้นแต่ได้ตกลงกันไว้ เป็นการพิเศษในสัญญาเช่าว่า ให้ผู้เช่ามีสิทธิกระทำการดังกล่าวได้ มิฉะนั้นหากผู้เช่าฝ่าฝืน ผู้ให้เช่าก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามมาตรา 544 วรรค 2 * (1)

        ในกรณีเช่าสัตว์  นอกจากผู้เช่าจะมีสิทธิใช้สัตว์ในกิจการต่างๆ ตามสัญญาแล้ว ผู้เช่ายังมีสิทธิทีจะใช้ในกิจการอื่นที่คล้ายคลึงกันได้ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นภัยอันตรายใดๆ ต่อสัตว์นั้นด้วย

       การซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่า  เป็นหน้าที่ของใครเอ่ย.....?

         ในทัศนะ มัซฮับฮานาฟีย์ : ในระหว่างการเช่า หากทรัพย์สินที่เช่านั้น ได้ชำรุดเสียหาย อันเนื่องมาจากการใช้งานตามปกติธรรมดาของผู้เช่า ผู้ให้เช่าเพียงฝ่ายเดียวที่จะต้องจัดการซ่อมแซม หรือต่อเติมทรัพย์สินที่เช่าเท่าที่จำเป็น  เพื่อการเป็นอยู่อย่างปกติของผู้เช่า

    ทางฝ่ายผู้เช่า จะต้องรับผิดชอบ ก็ต่อเมื่อ การชำรุดเสียหายนั้น ได้เกิดขึ้นด้วยการจงใจ หรือ ประมาทเลินเล่อของคน แต่! ถ้าหากผู้เช่า ได้ทำการซ่อมแซมสิ่งใดลงไป โดยการสมัคใจเอง ผู้เช่าก็ไม่มีสิทธิ ที่จะเรียกร้องเอาค่าทดแทนใดๆ จากผู้ให้เช่า

...............................................................................................................

  (1) * มาตรา 544  ทรัพย์สินซึ่งเช่านั้น ผู้เช่าจะให้เช่าช่วง หรือโอนสิทธิของตน อันมีในทรัพย์สินนั้น ไม่ว่าทั้งหมด หรือแค่บางส่วนให้บุคคลภายนอก ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่ เว้นแต่จะได้ตกลงไว้เป็นการอย่างอื่นในสัญญาเช่า

   ถ้าผู้เช่าประพฤติฝ่าฝืนบทบัญญัติอันนี้ ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

ลูกจ้าง  الأ جير  )

                 นักนิติศาสตร์อิสลาม แบ่งลูกจ้างออกเป็น 2 ประเภท ด้วยกัน คือ

 1.  ลูกจ้างส่วนตัว  หมายถึง  ผู้ที่ตกลงทำงานให้แก่บุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ ภายในกำหนด เวลาอันแน่นอน เช่น คนใช้ , คนงานในโรงงานหรือบริษัท

 2.  ลูกจ้างร่วม  หมายถึง  ผู้ที่ตกลงทำงานให้แก่บุคคลทั่วไป เช่น ช่างตัดเสื่อ, ช่างก่อสร้าง, ช่างอีเล็คโทรนิค หรือ ผู้ประกอบอาชีพอื่นๆเช่นเดียวกันนี้

 ก. การจ้างลูกจ้างส่วนตัว ...... จะต้องมีการกำหนดเวลาที่แน่นอน มิฉะนั้นสัญญาจ้างนั้นจะเป็นโมฆะ

  สิทธิในการรับค่าจ้าง...... ลูกจ้างส่วนตัว มีสิทธิได้รับค่าจ้างครบสมบูรณ์ แม้ไม่ได้ทำงานตลอดระยะเวลาที่จ้างก็ตาม  หากการไม่ได้ทำงานนั้น มิได้เกิดจากสาเหตุ ที่ลูกจ้างต้องรับผิดชอบ เช่น ป่วยจนไม่สามารถทำงานได้

 เมื่อลูกจ้างทำงานไม่ครบตามกำหนดเวลา เพราะสาเหตุใดๆ ที่เกิดจากฝ่ายลูกจ้างเอง ลูกจ้างก็ชอบที่จะได้รับค่าจ้างตามสัดส่วน ของการทำงานที่ได้กระทำไป......

 หน้าที่ของลูกจ้างส่วนตัว  ลูกจ้างส่วนตัวจะต้องมอบตัวเอง ทำงานให้แก่นายจ้าง ตลอดระยะเวลาที่ได้ตกลงกัน และห้ามมิให้ทำงานให้แก่บุคคลอื่น ในเวลาเดียวกัน มิฉะนั้นนายจ้างมีสิทธิ ลดค่าจ้างได้ตามส่วน

 ความรับผิดชอบของลูกจ้างส่วนตัว   ลูกจ้างส่วนตัวมีลักษณะคล้ายตัวแทนของนายจ้าง จึงไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำงานของตน เว้นแต่ ความเสียหายนั้น เกิดจากการจงใจ หรือ ประมาทเลินเล่อ ของลูกจ้างเอง

 ข. การจ้างลูกจ้างร่วม  ....... มีสิทธิตกลงทำงาน ให้แก่บุคคลทุกคน โดยไม่จำกัดจำนวน ผู้ว่าจ้างจะห้ามลูกจ้างมิให้ทำงานแก่ผู้อื่นไม่ได้

 ความรับผิดชอบของลูกจ้างร่วม   ลูกจ้างร่วมจะต้องรับผิดชอบ ในความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการทำงานตามปกติวิสัยของคน หรือไม่......?   นักนิติศาสตร์อิสลาม มีทัศนะที่ไม่สอดคล้องกัน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

      กลุ่มที่ 1. ไม่ต้องรับผิดชอบ เช่นเดียวกับ ลูกจ้างส่วนตัว ผู้ที่สังกัดในกลุ่มนี้ ได้แก่ ท่านอีหม่ามฮานาฟีย์ , อิบนุฮัซมุ และเป็นทัศนะที่ซฮเฮียะห์ ของมัซฮับชาฟีอีย์

      กลุ่มที่ 2.  ต้องรับผิดชอบ ชดใช้ค่าเสียหาย  ผู้ที่สังกัดในกลุ่มนี้ ได้แก่  ท่านอาลี, ท่านอุมัร (ร.ด.) ท่านอาบูยูซุฟ,ท่านมูฮำหมัด และมัซฮับมาลีกี

  การสิ้นสุดของสัญญาเช่า  สัญญาเช่ายังคงผูกพันคู่สัญญาสืบไป.... ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะขอยก เลิกเพิกถอนมิได้  เว้นแต่ในกรณี  ดังต่อไปนี้

     1. ทรัพย์สินที่เช่าชำรุด บกพร่องจนไม่อาจอยู่ต่อไป โดยปกติสุขได้

     2. เมื่อทรัพย์สินที่เช่า ได้ตกลงกันไว้เป็นการเฉพาะ เช่น บ้านหลังนั้น หรือ สัตว์ตัวนั้น เท่านั้น หลังอื่นไม่เอา ได้เสียหายหรือบุบสลายไป จนไม่สามารถใช้ประโยชน์ใด ๆ ได้

     3. เมื่อสิ้นกำหนดเวลา ที่ได้ตกลงกันไว้ สัญญาเช่าก็สิ้นสุดลง เว้นแต่ในกรณีที่มี อุปสรรคอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งห้ามไม่ให้เลิกสัญญา เช่น สิ้นกำหนดเวลาการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตร ก่อนการเก็บเกี่ยว ให้ผู้เช่ามีสิทธฺครอบครองที่ดินนั้นต่อไป จนกว่าจะเก็บเกี่ยวเสร็จ โดยจ่ายค่าเช่าในราคาอันสมควร (1) * * (1) มาตรา 571  ถ้าสัญญาเช่าที่นา ได้เลิก หรือ ระงับลง เมื่อผู้เช่าได้เพาะปลูกข้าวลงแล้วไซร้  ท่านว่า ผู้เช่าย่อมมีสิทธิที่จะครอบครอง นานั้นต่อไปได้ จนกว่าจะเสร็จการเกี่ยวเก็บ แต่ต้องเสียค่าเช่า

     4. มัซฮับ ฮานาฟีย์ ยินยอมให้ผู้เช่า บอกเลิกสัญญาเช่าได้ เนื่องจากมีอุปสรรคอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นกับผู้เช่าเอง เช่น เช่าร้านเพื่อขายทอง แต่ทองถูกขโมยไปหมดเกลี้ยงแล้ว

     5. และอื่นๆ....โปรดศึกษา / และค้นคว้ากันต่อไป......

                 ..................................................................................................................................................

                เปรียบเทียบสัญญาเช่า ในนิติศาสตร์อิสลาม กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                                                                 เรียบเรียงโดย

                                                                 กลุ่ม อ. ส. ส.

                                                           ณ  กรุงไคโร  อียิปต์

                                                                4   ส. ค.  2535

                                1. นาย อับดุลรอเชด  หะยีแม

                                2. นาย อับดุลฮาลีม  โต๊ะแอ

                                3. นาย  สมบูรณ์  สืบสุข

                                4. นาย บุญเลิศ  สุขเกษม

                                5. นาย ปริญญา  ประหยัดทรัพย์

                               6. นาย  เจ๊ะเหล๊ะ  แขกพงค์

                                  

หมายเลขบันทึก: 658947เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2018 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ธันวาคม 2018 11:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท