เศรษฐศาสตร์อิสลาม


                                                                   อิสลามกับวงจรเศรษฐกิจ

   คำนำ

     ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สังคมโลก (ประเทศต่างๆ) ทุกภูมิภาค ต่างได้รับการกระทบ กระเทือน และแรงบีบอย่างมหาศาล จากอุบัติการณ์การเปลี่ยนแปลง ความไม่มั่นคง และไร้เสถียรภาพ ทางด้านการเมือง  การทหาร และเศรษฐกิจ  การระเบิดกำแพงเบอร์ลินทิ้ง  (เพื่อการรวมตัวและสร้าง เอกภาพระหว่างประเทศเยอรมัน ทั้งสอง)ในยุโรปตะวันออก การพังทลายขององค์กรทางการเมือง  การทหารและเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต  การล้มครืนลงของระบบสังคมนิยม ไปพร้อมกับการอวสานของสงครามเย็น เป็นเหตุการณ์ที่ยังความหวาดผวาแก่ชนชาวโลก จนหัวใจเกือบจะหยุดเต้น

         ความจริงมูลเหตุแห่งกลียุคเหล่านี้  ไม่ใช้เป็นฝันร้ายครั้งแรกสำหรับนักประวัติศาสตร์  และผู้ค้นคว้าสังเกตการณ์ทั้งหลาย  ในหลายศตวรรษ  เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้  มักเป็นส่วนใหญ่ที่ปรากฏอยู่ในบันทึก ทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ  การแข่งขันกันสร้างความมั่งคั่ง  และอำนาจบารมี จึงดำรงอยู่อย่างมิหยุดยั้ง  แนวร่วมเพื่อขจัด ขั้วอำนาจตรงกันข้าม  จึงได้รับการดำริก่อตั้งขึ้น  ขณะเดียวกันก็พยายามเสริมสร้างกฎหมาย และระบบต่างๆ  ที่สามารถเกื้อหนุนหรือค้ำจุนสถานภาพแห่งอำนาจอิทธิพล  และความมั่งคั่งของฝ่ายตนไว้  ในสภาพความขัดแย้งยุ้งเหยิง  การครอบงำของความละโมบโลภหลง  การขาดจิตสังวร  และขาดครรลองที่ประเสริฐสมบูรณ์  มาชี้แนะแนวดำเนินการ  กฎหมายและระบบต่างๆ  ที่มนุษย์เสกสรรขึ้น  ล้วนแล้วมีลักษณะแก่งแย่ง แข่งขัน และเอารัดเอาเปรียบ  มันเป็นได้แค่ระบบ         “  ซาตานขูดเดือด ” ที่รับใช้กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ  ด้วยเหตุนี้เอง  กฎหมายและระบบดังกล่าว  จึง ปราศ จากความเป็นธรรม  หลักศีลธรรม ที่จะควบคุมพฤติกรรมต่างๆ  และจิตสำนึกของมนุษย์ได้  จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า  ทำไมมันจึงผลักดันมนุษย์ไปสู่ความหายนะในที่สุด

         ประเด็นใหญ่ของบทความนี้  จะเป็นการเสนอหรือทำความรู้จักกับหลักเศรษฐศาสตร์อิสลาม  ทั้งทางทฤษฎีและภาคปฏิบัติ  เพื่อเป็นทางเลือกสุดท้ายที่สมบูรณ์แบบในการแก้ไขวิกฤตการณ์สังคมมนุษย์ทางด้านเศรษฐกิจ  ด้วยการนำเอาคัมภีร์ อัล-กุรอ่าน  แบบฉบับของท่านศาสดา มูฮัมหมัด ( ซ. ล. ) และแนวความคิดของนักปราชญ์มุสลิมบางท่าน  มาเป็นเข็มทิศทางนำ  เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการกระจายความมั่งคั่ง  อันจะนำไปสู่การขจัดความหิวโหย  ความอดยาก และการปฏิปักษ์ต่อกัน  ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของสังคมโลกยุคปัจจุบัน  และคงไม่ผิดพลาดมากนัก ที่จะกล่าวว่า  มูลเหตุของปัญหาโลกที่ร้ายแรงเป็นอันดับหนึ่งคือ  เรื่องปากท้องนั้นเอง

       อนึ่งการค้นคว้าบทความทางวิชาการลักษณะนี้  ในเวลาอันจำกัดเป็นการยากที่จะให้บรรลุผลสมบูรณ์ในทุกประเด็น  เพราะระบบเศรษฐกิจอิสลาม มีความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นกับกฎหมายอิสลาม  ธุรกิจแลกเปลี่ยน ที่มีอยู่ในนิติศาสตร์อิสลามอย่างมหาศาล  ยังไม่รวมคำวินิจฉัย ของนักปราชญ์มุสลิม จำนวนไม่น้อยในแต่ละยุค

        บทความนี้จึงเป็นลักษณะ “ไม่ครบวงจร ”  หลายๆประเด็นสำคัญ ของหลักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้รับการกล่าวถึงอย่างละเอียด เช่น  การธนาคาร  การผลิต  อุปสงค์อุปทานเป็นต้น  แต่จะเน้นหนักในด้านความหมาย  ประวัติ  และโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจอิสลามเท่านั้น

        ดังนั้นหากผู้ค้นคว้าในด้านนี้ ท่านใดเห็นจุดบกพร่อง คำแนะนำเพิ่มเติมจากท่านทั้งหลายเป็นสิ่งที่ ปรารถนาอย่างแรงกล้า  ที่จะทำให้บทความนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เศรษฐศาสตร์คืออะไร?

        ก่อนที่จะวิเคราะห์เจาะลึกถึงเศรษฐศาสตร์ ตามทัศนะอิสลาม ว่ามีความหมายอย่างไรนั้น  เราสมควรอย่างยิ่ง ที่จะต้องทราบถึง  คำจำกัดความ  “ เศรษฐ์ ศาสตร์ ” ตามความคิดที่ไม่ใช้อิสลามไว้ในเบื้องแรก ทั้งนี้เพื่อปูทางไปสู่การศึกษาเปรียบเทียบ  ลักษณะคล้ายคลึงและความแตกต่าง ในหลายๆ ประเด็น  ระหว่างเศรษฐศาสตร์อิสลาม และเศรษฐศาสตร์อื่นๆ  ที่มีอยู่ในระบอบการปกครองต่างๆ เช่น ประชาธิปไตย  สังคมนิยม  คอมมิวนิสต์  และ ฟาสซิสต์ ฯลฯ

       ดังนั้นเพื่อวางขอบเขตนิยาม เศรษฐศาสตร์ ให้เด่นชัด จึงขอยิบยกนิยาม  ของนักวิชาการตะวันตก สองสามท่านมา นำเสนอดังนี้

      ในหนังสือ หลักเศรษฐศาสตร์ ( Principle  of  Economics )  อัลเฟรค  มาร์แซล  ได้นิยามเศรษฐศาสตร์ไว้ว่า  เศรษฐศาสตร์ ก็คือ  ศาสตร์ (วิชา ) ที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ ในการดำเนินธุรกิจ  เพื่อดำรงชีพ  โดยศึกษาเป็นหน่วยย่อย หรือเป็นส่วนรวมของสังคม เพื่อได้มา ซึ่งวัตถุสิ่งของใช้ เพื่อยังชีพให้ได้รับความสมบูรณ์พูลสุข

       ทอมสัน  จำกัดความ  “เศรษฐศาสตร์  พยายามที่จะอธิบายถึง  กิจกรรมของมนุษย์เพื่อให้ได้มา ซึ่งสิ่งที่ใช้ในการดำรงชีวิต  ศึกษาถึงว่า  ทำไมมนุษย์จึงต้องแสวงหาทรัพย์สิน ความมั่งคั่งแล้วใช้มันไป ”

      โรเบิรต์  เห็นว่า “ เศรษฐศาสตร์ ”  เป็นวิชาการ หรือความรู้เรื่องธุรกิจ ”

จากคำนิยามของนักวิชาการ 3 ท่าน ที่กล่าวมา  พอที่จะหาข้อสรุปได้ว่า “ เศรษฐศาสตร์ ” เป็นสาขาวิชาหนึ่งที่รวมอยู่ใน  “ สังคมศาสตร์ ”  และกล่าวถึง เรื่องใหญ่ๆ 4 เรื่องด้วยกัน คือ

        1 .  ความต้องการของมนุษย์

       2 .  การทำงานสนองความต้องการ

        3 . สร้างความมั่งคั่ง

        4 . สร้างสวัสดิการ  และการอยู่ดีกินดี

“เศรษฐศาสตร์”  ตาม ทัศนะของอิสลาม

            กล่าวได้โดยทั่วไป “ เศรษฐศาสตร์ ” ตามทัศนะของนักวิชาการอิสลาม ในยุคต่างๆ หากพิจารณาในแง่ ความหมาย  และขอบข่ายอย่างกว้างๆแล้ว มีลักษณะที่ใกล้เคียง กับทัศนะของนักวิชาการเศรษฐศาสตร์อื่นๆทั่วไป  แต่ หากมองถึงแหล่งที่มาของศาสตร์แขนงนี้แล้ว ทัศนะของนักวิชาการทั้งสองฝ่าย  มีลักษณะเป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันจะมาบรรจบกันได้  เนื่องจาก เศรษฐศาสตร์อิสลาม ได้รับการวินิจฉัยบัญญัติ มาจากแหล่งที่มาที่สมบูรณ์ ไม่ใช่ได้มาจากการคิดค้น วิเคราะห์ของมนุษย์  ที่อาจจะถูกต้อง และนำมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาได้  ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะว่า สติปัญญา ของมนุษย์นั้น มีขอบเขตจำกัด  มิอาจทะลวงเคล็ดลับ ต่างๆได้ทั้งหมด

      ณ.ที่นี้พอจะแบ่งคำจำกัดความ “เศรษฐศาสตร์” ตามทัศนะของนักวิชาการอิสลาม ออกเป็น 2 นิยามโดยถือยุคแห่งการวินิจฉัย

1. )นิยามตามทัศนะของนักวิชาการอิสลามยุคแรก(  สาลัฟ ) ซึ่งพวกเขาเห็นว่า “เศรษฐศาสตร์  คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วย ธุรกิจแลกเปลี่ยนทรัพย์สิน”

     จากนิยามนี้ พอสังเกตได้ว่า ในยุคแรก ความหมาย “เศรษฐศาสตร์” มีลักษณะแคบกว่านิยาม ในยุคปัจจุบัน  อันเนื่องมาจาก  รูปแบบของกิจกรรมต่างๆในยุคแรกจำกัด ดังจะเห็น ได้อธิบายเพิ่มเติมดังต่อไป

2. )นิยามตามทัศนะของนักวิชาการอิสลามยุคปัจจุบัน ดร. มูฮำหมัด  เชากีย์ อัลฟันบารีย์ ได้จำกัดความไว้ว่า “ เศรษฐศาสตร์ เป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ที่ศึกษาถึงกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ เพื่อการดำรงชีพ และชี้แนะกิจกรรมเท่านั้น ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติอิสลาม ”

                                  การวิวัฒนาการ การศึกษาเศรษฐศาสตร์อิสลาม

        เศรษฐศาสตร์ หากมองในแง่ของชื่อของวิชากันแล้ว มันเป็นสิ่งใหม่ สำหรับสังคมมุสลิม   ทั่วโลกที่ยังล้าหลังทางด้านการศึกษา  แต่หากพิจารณากันในแง่มุมทฤษฎี และประยุกต์ใช้  เราจะพบว่าศาสตร์แขนงนี้ มีอายุยืนยาวเทียบเท่ากับศาสนาอิสลามเลยทีเดียว และจากการที่มันมีอายุยืนยาวกว่า1400 ปี ศาสตร์แขนงนี้จึง ได้ผ่านยุคต่างๆที่มีทั้งระยะรุ้งเรือง และเสื่อมโทรม ดังนั้นจึงมีนักวิชาการมุสลิม หลายท่านได้แบ่งการศึกษาเศรษฐศาสตร์อิสลามออกเป็น  3  ยุค

 (๑) ยุคกำเนิดการศึกษาเศรษฐศาสตร์อิสลาม

         ยุคนี้เป็นยุคต้นของอิสลาม กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ มีลักษณะจำกัด โดยพื้นฐานแล้ว จะเน้นหนักในเรื่องการเลี้ยงสัตว์ และการค้าขาย นักวิชาการมุสลิมในยุคนี้ ไม่มีความสนใจที่จะค้นคว้าถึง บทบัญญัติอิสลาม ทางด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งยังไม่ได้รับแรงกระตุ่น จากภายนอกด้วย ส่วนใหญ่การวินิจฉัยของพวกเขา ได้ทุ่มเทไปในอรรถาธิบาย หลักการอิสลามในด้านที่เกี่ยวกับ การศรัทธา และธุรกิจแลกเปลี่ยน ที่ดำเนินอยู่ในขณะนั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เพื่อทำข้อยุติต่อคู่กรณีพิพาทในยุคนั้นเป็นการเฉพาะ

         หลังจากนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ขยายกว้างออกไป รูปแบบกิจกรรมต่างๆ ก็คลอดตามกันมากขึ้น ในศตวรรษที่สอง หลังจากฮิจเราะห์ตำรับตำราทางนิติศาสตร์อิสลามมากมาย  ได้เปิดตัวปรากฏโฉมหน้าขึ้นแต่ละเล่ม  อัดเต็มไปด้วยหลักการ อย่างละเอียดเกี่ยวกับการจัดระเบียบลักษณะต่าง ๆ  ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  ความคิดทางด้านเศรษฐกิจอิสลามที่เกี่ยวข้องกับการห้าม  การกินดอกเบี้ย  การกักตุนสินค้า  การกำหนดราคาสินค้าต่างๆ    และการวินิจฉัยกฎหมาย  ต่าง ๆ  ที่ว่าด้วยบริษัทกองทุนหลักทรัพย์หลายรูปแบบ  ไปจนกระทั่งหลักการที่เกี่ยวกับการจัดระบบการตลาด  และคำชี้ขาด  ปัญหาทางเศรษฐกิจที่สังคมประสบอยู่ในขณะนั้น  โดยการกำหนด ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ  สอดคล้องกับบทบัญญัติอิสลาม  ที่ปรากฏอยู่ใน คัมภีร์อัลกุร อ่าน  และแบบฉบับของท่านศาสดา ( ซ.ล.)

(๒) ยุคการศึกษาเศรษฐศาสตร์เสื่อมโทรม

 มูลเหตุการศึกษาเศรษฐศาสตร์อิสลามเสื่อมโทรมที่สำคัญๆ มีอยู่ ๖ ประการ

   ก - ประตูแห่งการวินิจฉัยได้ปิดลง

      นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ ๔ หลังจากฮิจเราะห์ รัฐเอกภาพอิสลาม ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ นครมาดีนะห์ เริ่มอ่อนกำลังลง และในที่สุดก็แตกแยกออกเป็นรัฐใหญ่น้อยมากมาย  บรรดาผู้นำและกลุ่ม อิทธิพลต่างๆ ประหัตประหารกันเพื่อแก่งแย่งอำนาจ ในสภาพการณ์ดังกล่าว ความโกลาหล การเป็นปฏิปักษ์ และการมุ่งร้ายต่อกัน ย่อมก่อตัวขึ้น และปีกอันน่าขยะแขยง ของมันก็แผ่คลุมไปทั่วแคว้นต่างๆ

      ท่านปรมาจารย์ผู้ล่วงลับ ท่าน อับดลวาฮับ คอลลาฟ อดีตคณะบดี คณะนิติศาสตร์อิสลาม มหาวิทยาลัย อัล-อัซฮัร ได้วิเคราะห์ไว้ว่า: ในบรรยากาศดังกล่าว กลุ่มผลประโยชน์(นักการเมือง)และผู้โงเขลาต่อหลักการอิสลามทั้งหลาย  จะละเลยบทบัญญัติ อัลกุรอ่านและแบบฉบับอันดีงามของท่านศาสดาฮัมหมัด(ซ.ล.) ในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ปวงประชาประสบอยู่ สิทธิมนุษยชนไม่ได้รับการเคารพ ความเลวร้ายได้ก่อตัวขึ้นในแวดวงของนักวิชาการทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนั้น นักวิชาการแต่ละท่าน ยามใดที่ทำการวินิจฉัยก็จะเปิดประเด็นต่างๆเพื่อเสาะแสวงหาชื่อเสียง ขณะเดียวกันก็ จะทำลายภาพพจน์ของฝ่ายตรงกันข้าม อย่างสุดความสามารถ  แน่นอนที่สุดในสภาพพินาศบรรลัยเช่นนี้ หลักการศาสนาจะต้องถูกละเลย การวินิจฉัยด้านเศรษฐศาสตร์ก็พลอยเสื่อมโทรมลงไปด้วย  ในที่สุดผลลัพธ์ที่ติดตามมาก็คือ นักวิชาการทั้งหลายหันเหไปสู่การเลียนแบบชนรุ่นก่อน (สาวาลิฟ) เพราะประตูแห่งการวินิจฉัย ได้ปิดกลอนลงแล้ว และนี้คือที่มาของการเลียนแบบ (ตักลีด)

   - การศึกษาเศรษฐศาสตร์อิสลามเสื่อมโทรม

       จากการที่ประตูแห่งการวินิจฉัย ได้ปิดลงดังที่กล่าวมาแล้ว หลักการอิสลามก็เป็นหมันลงฉับพลัน ทำให้หลักเศรษฐศาสตร์ ต้องพลอยสิ้นสมรรถภาพ ในการเผชิญหน้ากับการแก้ปัญหา สนองตอบความต้องการของสังคม ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอไปด้วย ในเมื่อนักวิชาการไม่ประสพกับปัญหาใหม่ๆ ที่อาจผลักดันให้พวกเขากลับไปยังแหล่งที่มาของบทบัญญัติอิสลาม เพื่อวินิจฉัยข้อชี้ขาดต่างๆ จากแหล่งดังกล่าว และโดยที่นักวิชาการเหล่านั้นต้องกลับไปรับเอาการวินิจฉัย(  (ข้อชี้ขาดต่างๆ ) ของปวงนักวิชาการรุ่นก่อนๆมาแก้ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้น  ดังนั้นพวกเขาจึงผลักดันให้ประชาชนยอมรับ คือปฏิบัติตามข้อชี้ขาดต่างๆ ดังกล่าว โดยไม่คำนึงว่า ข้อชี้ขาดเหล่านั้นได้ถูกวินิจฉัยขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในยุคก่อน และไม่เหมาะสมกับยุคต่อมา  จนเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อแนวคิด หรือทฤษฏีที่เหล่านักวิชาการมักจะกล่าวกันว่า “จงอย่ารับเอาแบบอย่าง(ข้อชี้ขาด)ใดๆ ไปจากเรา   จงรับเอาแบบอย่างไปจากผู้ซึ่งเราได้รับเอา(แบบอย่างดังกล่าว)มาจากพวกเขา”

  และคำพูดประโยคนี้ มองอีกนัยหนึ่ง ย่อมชี้ชัดความไม่พร้อม ทางด้านเงื่อนไขที่จะทำการวินิจฉัยนั้นเอง

      ต่อมา เมื่อความล้าหลังได้เข้าครอบงำประชาชาติอิสลาม ด้วยความไม่เข้าใจอย่างท่องแท้ ศัตรู ผู้มุ่งร้ายอิสลาม ได้เริ่มกล่าวว่า แท้จริงศาสนาอิสลามนั้น เป็นศาสนาที่ต่อต้านการวิวัฒนาการและความเจริญรุ่งเรืองของมนุษยชาติ ยิ่งกว่านั้นในหมู่ปัญญาชนมุสลิมเอง ความคลางแคลงดังกล่าว ยังได้ก่อตัวขึ้นในจิตใจของพวกเขา สืบเนื่องมาจากการปฏิเสธ ที่จะวินิจฉัยของนักวิชาการมุสลิมในยุคนั้นโดยสิ้นเชิง ปัญญาชนเหล่านั้น จึงอ้างว่า คำวินิจฉัยข้อชี้ขาด ของนักวิชาการุ่นก่อน มีไม่พอเพียงที่จะสนองตอบความต้องการ ของยุคที่ได้รับการวิวัฒนาการเช่นนี้แล้วได้  ด้วยเหตุผลดังกล่าว  ศาสตร์แขนงต่างๆของอิสลามในขณะนั้นจึงกลายเป็นศาสตร์ที่มีลักษณะ ซ้ำซาก น่าเบื่อหน่าย ไม่มีการสร้างสรรค์ ศาสตร์สาขาใหม่เพิ่มเติมขึ้น  วิชาการทั้งหมด จึงมีลักษณะ แบบ  รายงาน “รีวายะฮ์”มากกว่า แบบเรียนรู้ “ดีรอยะฮ์”ในยุคต้นนั้น

       อนึ่ง การเรียนแบบผู้อื่นโดยไม่ใช้สติปัญญา ย่อมเป็นความหายนะอันยิ่งใหญ่ ต่อสมองของมนุษย์ เพราะสมองได้ถูกเนรมิต เพื่อการพิจารณา ใคร่ครวญจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผู้ได้รับแสงสว่างแล้ว (มีปัญญา)หากยังเสาะแสวงหา ความมืดมนอยู่อีก (ไม่ยอมใช้สติปัญญานั้น) เขาย่อมเป็นผู้งมงายที่สุด  สำหรับการวินิจฉัยในศาสนาอิสลาม ถือเป็นแหล่งที่มาของบทบัญญัติที่สองรองจาก คัมภีร์ อัล กุรอ่าน และซุนนะฮฺ จึงย่อมไม่ผิดที่เราจะพูดว่า อิสลามได้รับการกระหน่ำโจมตีอย่างรุนแรงที่สุด นับจากสิ้นสุด หรือการชะงักลงของการวินิจฉัย ซึ่งเป็นปัจจัย ที่นำไปสู่สภาพคงที่ และเสื่อมถอยลงในที่สุด

  

  (๓) ยุคแห่งการศึกษาเศรษฐศาสตร์อิสลามด้วยความบริสุทธิ์ใจ

        นับตั้งแต่ ศตวรรษที่ ๕ หลังฮิจเราะห์ ซึ่งการวินิจฉัยได้ถูกปิดประตูลง  เป็นต้นเหตุ ปฏิสัมพันธ์ ระหว่างสังคมอิสลามทั้งหลาย และการประยุกต์ให้หลักการอิสลามที่ถูกต้อง ก็ได้ขาดสะบั้นลง  ยังผลให้การศึกษาเศรษฐศาสตร์อิสลาม พลอยชะงักไปด้วย  กระทั้งชาวมุสลิมทั้งหลาย และส่วนหนึ่งจากปัญญาชน ในขณะนั้นลืมเลือนไปเลยว่า ในอิสลามมีสิ่งที่ เราเรียกกันว่า ระบบ “ เศรษฐกิจอิสลาม ” สาเหตุสำคัญก็เพราะว่า การประยุกต์ใช้ระบบเศรษฐกิจ ที่เป็นธรรม  ในช่วงนั้นได้หดตัวอยู่ในแวดวงที่จำกัดที่สุดแล้ว  นั่นคือแวดวงของการ อิบาดะห์ และสถานภาพบุคคล  แต่ความจริงแล้ว  ขออภัย  หลักทั้งสองประการนี้ยังห่างไกลจาก  สารัตถะแห่งระบอบอิสลามมากนัก

          อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าเมฆหมอกอันมืดครึ้ม ยังคงครอบคลุมโลกอิสลามและสังคมมุสลิม ทุกหนแห่ง ได้ดำรงอยู่เป็นเวลาอันยาวนาน  แน่นอนที่สุดว่า  รุ่งอรุณอันจรัสแสง จะต้องอุบัติขึ้นมาในไม่ช้า  บรรดาผู้หลับทั้งหลาย  จะต้องลืมตาตื่นจากภวังค์ในที่สุด  และครรลองแห่งอัลลอฮฺ  จะต้องคงอยู่ นิรันดร์กาล 

ระบบเศรษฐกิจอิสลาม

         ศาสนาอิสลามได้เสนอระบบเศรษฐกิจ ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง มีความงดงาม สมบูรณ์ทุกด้าน อิสลามถือว่ากิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง ในกระบวนการดำรงชีพของมนุษย์ ในรูปแบบสังคม อิสลามจึงได้วางกฎระเบียบ ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองฯลฯ ไว้อย่างละเอียด และโดยเหตุที่อิสลาม ตั้งอยู่บนหลักการศรัทธา ความยำเกรง ครรลองศาสนานี้จึงมีลักษณะวิเศษ เหนือศาสนาและระบบอื่น ในการสังเกตการณ์ ควบคุมความประพฤติและกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรมด้านเศรษฐกิจ

         ในยุคปัจจุบัน นักวิชาการอิสลามหลายท่าน พยายามค้นคว้าวิเคราะห์ คัมภีร์อัน-กุรอ่าน แบบฉบับของท่านศาสดา (ซ.ล.) และคำวินิจฉัย ของปวงปราชญ์ยุคก่อน เพื่อตีแผ่ระบบเศรษฐกิจอิสลาม ซึ่งพอสรุปได้ดังต่อไปนี้

 ๑) อิสลามถือว่าทรัพย์ที่หามาได้ ด้วยวิธีสุจริตเท่านั้น เป็นปัจจัยอันชอบธรรม ในการดำรงชีพ และเป็นหน้าที่ของมุสลิม ที่จะต้องรักษาทรัพย์สินนั้น ใช้จ่ายไป หรือลงทุน (ทางธุรกิจใดๆ) ไปในลักษณะ อันชอบธรรม

        อิสลามถือว่าทรัพย์สินที่แสวงหามา ได้โดยวิธีสุจริต ไม่เป็นมูลเหตุแห่งความเดือดร้อนของผู้อื่นเท่านั้น ที่เป็นสิทธิอันชอบธรรม ของศรัทธาชน ในลักษณะเช่น นี้ย่อมเป็นที่ชี้ชัดว่า ทรัพย์สินที่ดีนั้น เป็นเครื่องวัดผู้ถือสิทธิในทรัพย์นั้นได้  ท่านรอซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า: “ ทรัพย์สินที่ประเสริฐ ย่อมเป็นสิทธิของผู้ประเสริฐ ”

       นอกจากนี้  ระบบเศรษฐกิจอิสลาม ยังเน้นความเป็นธรรม ในการแสวงหาเครื่องยังชีพ ไม่อนุญาตการใช้เล่ห์เทอุบาย การฉกฉวยโอกาส อันเป็นลักษณะหนึ่ง ของการได้มาที่ง่ายเกินไปพระองค์อัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า : “ และเจ้าทั้งหลาย จงอย่ากินทรัพย์สินของกันและกัน โดยหนทางอันมิชอบ (ตามบทบัญญัติ) และจงอย่าหยิบยื่นทรัพย์สินนั้น แก่บรรดาผู้พิพากษา (เพื่อติดสินบนพวกเขา)เพื่อพวกเจ้าจะได้กิน (คดโกง)ทรัพย์สินบางส่วนของมนุษย์อื่น โดยบาป ทั้งๆที่พวกเจ้าทั้งหลายก็รู้ดี ”

       สำหรับประเด็น รายรับรายจ่าย (ไม่ว่าจะเป็นรายบุคคล หรือร่วมกับผู้อื่น ) อิสลามเสนอหลักแห่งความสมดุลไว้ว่า : “และจงอย่านำมือของเจ้า คล้องไว้ที่ต้นคอ (ด้วยความตระหนี่) และอย่าแบมือ จนสุดเหยียด (ด้วยความฟุ้งเฟ้อ สุรุยสุร่าย) อันเป็นเหตุให้เจ้า ต้องถูกตำนิ  อีกทั้งสิ้นเนื้อประดาตัว”

 ๒)  การทำงานเพื่อหาปัจจัยยังชีพ เป็นหน้าที่ของผู้ที่มีความสามารถ

          อิสลามระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การทำงานเป็นพื้นฐาน ของระบบเศรษฐกิจ จากจุดนี้เองอิสลามจึงเป็นตัวแปรสำคัญ ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ  เพราะอิสลามได้นำมาซึ่งอุดมการณ์ ใหม่ๆ ยิ่งกว่านั้น ยังได้ก่อให้เกิดการปฏิวัติครั้งสำคัญยิ่ง ต่อมโนภาพ ของมนุษย์ในด้านที่เกี่ยวกับ คุณค่าต่างๆ และหลักการแห่งมนุษยธรรม

        การทำงาน ก็เป็นอุดมการณ์หนึ่งของอิสลาม ในกรณีนี้ไม่มีการแบ่งแยก ระหว่างบุรุษ และสตรี มันเป็นหน้าที่ของสมองสังคม ในการพิจารณาความเหมาะสม เพื่อการแบ่งปันภารกิจระหว่างปัจเจกบุคคล ให้เหมาะสมกับเพศ และความสามารถ ของแต่ละบุคคล  ดังนั้นการทำงานจึงเป็นภาระหน้าที่ ซึ่งมุสลิมทุกคน ที่มีความสามารถ จะต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง 

      -  ท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า: “ ทุกคน (เป็นผู้) มีภาระหน้าที่ และทุกคนจะต้องรับผิดชอบในภาระหน้าที่ ของตน ”  แน่นอน การทำงานเป็นหน้าที่ อันประเสริฐของมนุษย์ มันเป็นปัจจัยที่ทำให้สังคม ดำรงอยู่ได้ โดยเหตุนี้เอง อิสลามจึงถือว่า ผลผลิตที่ประเสริฐ ต้องมาจากการแสวงหาของตนเอง (จากความหมายของฮาดิส บทหนึ่ง) ยิ่งกว่านั้น อิสลามยังเทิดทูน มือที่ตรากตรำทำงาน ดังครั้งหนึ่ง ท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้คว้ามือ (ที่ทำงานหนัก) ของชายคนหนึ่ง ชูขึ้นแล้วท่านกล่าวดังๆว่า : “ นี้คือมือที่อัลลอฮฺ และรอซูลของพระองค์ ทรงรักมัน ”

       ระบบเศรษฐกิจ อิสลามกำหนดให้ผู้ที่มีความสามารถ ทุกคน ทำงานเพื่อการดำรงชีพ ขณะเดียวกัน ก็ไม่ปล่อยให้ทุกคนทำงาน และเลือกงานทำด้วยอิสรภาพเกินไป  เพราะสภาพเช่นนั้น อาจก่อความเดือดร้อน และการละเมิดสิทธิของผู้อื่นได้ คัมภีร์อัลกุรอ่านจึงได้เสนอทฤษฏีการทำงาน  เลือกงาน ไว้ว่า: “ สูเจ้าทั้งหลาย พึงยำเกรง ต่ออัลลอฮฺ เถิด และพึงทราบ เถิดว่า แท้จริงอัลลอฮฺ รู้เห็นใน(ต่อ)สิ่งที่สูเจ้าทั้งหลาย กระทำอยู่ ”  

 ๓)  จำเป็น(วายิบ)จะต้องค้นหาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรนั้น

        ระบบเศรษฐกิจอิสลาม กระตุ้นให้มนุษย์ แสวงหาทรัพยากรหลากชนิด ที่มีอยู่ในจักรวาล อันไพศาลนี้ เพื่อนำมาเป็นปัจจัย ในการดำรงชีพ แบ่งสันปันส่วนไปตามสภาพ ลักษณะ ขนาด และจำนวนสมาชิกของสังคม อัตราของส่วนแบ่ง จะเพิ่มขึ้น หรือลดน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับ ความพยายาม และความสามารถ ของแต่ละบุคคล หรือสังคมนั้นๆ

        คัมภีร์ อัล-กุรอ่านได้ยืนยันว่า ทรัพยากรของชาติทั้งหมด ที่มีอยู่ ณ แผ่นดินนี้ ( เช่น พืชผัก ผล ไม้  แร่ธาตุต่างๆ  ปศุสัตว์ และสิ่งมีชีวิตในน้ำ ) และในเวหา ( เช่น อากาศ แสง และเมฆ (ในการทำฝนเทียม ) เป็นปัจจัยยังชีพ ที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้บันดาลกำนัล แก่มนุษย์ เพื่อมนุษย์จะได้ประจักษ์ และขอบคุณในความโปรดปรานของพระองค์ มันเป็นฮิกมะฮ์หนึ่ง ในการที่พระองค์ได้สร้างมนุษย์ ให้เป็นผู้แทนพระองค์ ที่มีความสามารถจำกัด ณ แผ่นดินนีพระองค์                                                   

     -  อัลลอฮฺได้ตรัสว่า : “ และพระองค์ (อัลลอฮฺ) ได้ทรงอำนวย สิ่งที่อยู่บนฟากฟ้า และสิ่งที่อยู่ในแผ่นดินทั้งหมด ให้ยังประโยชน์ แก่พวกเจ้าจากพระองค์  แท้จริงในนั้นย่อมมี สัญลักษณ์                ( เตือนสติ ) สำหรับกลุ่มชนที่ตริตรอง ”

     - อัลลอฮฺ ยังได้ตรัสไว้อีกว่า : “และพระองค์ได้ทรงบันดาล คู่สรรพสิ่งต่างๆ ทุกชนิด และทรงบันดาลเรือ และปศุสัตว์ไว้ สำหรับพวกเจ้า ซึ่งพวกเจ้าใช้ขี่โดยสาร”

     - พระองค์ ยังได้ตรัสอีกว่า : “และพระองค์ทรงให้เรือ อำนวยประโยชน์แก่พวกเจ้า เพื่อให้มันเล่นไปในทะเล ตามพระบัญชาของพระองค์ อัลลอฮฺ”

     - พระองค์ได้ตรัส อีกว่า: “และพระองค์ทรงให้ลำทานทั้งหลาย อำนวย ประโยชน์ แก่พวกเจ้าอีกด้วย. . .”

     - พระองค์ ตรัสว่า : “ และพระองค์ทรงบันดาล ให้กลางวัน และกลางคืน และดวงดาวต่างๆ อำนวยประโยชน์ แก่พวกเจ้า โดยพระบัญชาของพระองค์ ”

    -  พระองค์ ตรัสว่า : “ พระองค์ทรงให้พืชพันธุ์ต่างๆ งอกงามขึ้นมา เพื่อพวกเจ้า รวมทั้ง ต้นมะกอก ต้นองุ่น ต้นอินทผลัม และต้นไม้อื่นๆ ทุกชนิด ”

         และยังมีอีกหลายโองการ ที่อาจนำมายืนยัน ในทำนองนี้ได้ มนุษย์เพียงแค่ เป็นผู้ขุดดิน ผลิต และแปรรูป ทรัพยากรดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ในรูปแบบต่างๆ และเพื่อให้มนุษย์ได้รับผลประโยชน์เต็มที่ ไม่นำทรัพยากรเหล่านั้น ไปใช้ประโยชน์ในทางที่มิชอบ พระองค์ทรงกำหนดขอบเขต กระบวนการผลิต ทางอุตสาหกรรมของมนุษย์ ไว้ว่า : “ และพระองค์ อัลลอฮฺได้ทรงบันดาล ฟากฟ้า และแผ่นดินโดยสัจธรรม และเพื่อทุกชีวิต จะถูกตอบสนอง ตามที่เขาได้พากเพียรไว้ ”

       ๔)  ไม่อนุมัติการแสวงหา เครื่องปัจจัยยังชีพ จากแหล่งที่ชั่วร้าย

            ระบบเศรษฐกิจอิสลามได้ห้ามไว้อย่างเด็ดขาด มิให้ผู้ประกอบกิจการ หรือการทำงานขวนขวายผลผลิต และปัจจัยยังชีพ จากแหล่งที่ชั่วร้าย ซึ่งดูเหมือนว่าได้รับการยอมรับ และปฏิบัติกันแพร่หลายแล้ว ในปัจจุบัน อาทิ การพนัน การค้าประเวณี การกินดอกเบี้ย การกักตุนสินค้า และการทุจริตฉ้อฉล ในรูปแบบต่างๆ นี้คือ ธุรกิจบัดซบ กักขฬะ โสมมต่างๆ ที่ได้รับการผ่อนปรน และการอุ้มชูอยู่ ในระบบเศรษฐกิจต่างๆ ที่กำลังแพร่หลายอยู่ในโลกปัจจุบัน จะมีการต่อต้านอยู่บ้าง ในบางครั้ง แต่ก็ ไม่อาจหยุดยั้ง การแพร่หลายของธุรกิจดังกล่าวแล้วได้

      อิสลาม จัดระบบเศรษฐกิจตนเอง ให้มีรูปแบบกิจกรรมทางธุรกิจ ในลักษณะที่ตรงกันข้าม กับสิ่งดังกล่าวมาแล้ว โดยสิ้นเชิง เพราะอิสลามเป็นครรลอง ที่ยึดถือความยุติธรรมในการจรรโลงความสมบูรณ์พูนสุข แก่มนุษย์ชาติทั้งมวล  สังคมมุสลิม จะต้องไร้ผู้กดขี่ ทำลายโอกาสผู้ทุจริตทั้งหลาย  ไม่ยอมรับผู้ตระหนี่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การขจัดแหล่งโสมม ทางธุรกิจ ต่างเป็นภาระหน้าที่ ของระบบเศรษฐกิจอิสลาม นั้นเอง

      ๕) ทลายช่องว่างระหว่างชนชั้นต่างๆ  ด้วยการประกาศสงคราม กับความมั่งคั่ง ที่ไม่ถูกต้อง และยังขจัดความขัดสน ยากไร้ในสังคม

      ๖) สวัสดิการสังคม

        รายละเอียดเกี่ยวกับ “ สวัสดิการ สังคมมุสลิม ” ยืดยาวและซับซ้อนมาก เหมาะสมสำหรับการค้นคว้าเป็นการเฉพาะ ในบทความที่อยู่ในมือของท่านนี้ ขอสรุปพอสังเขป ว่า “ สวัสดิการสังคม ”ในระบบเศรษฐกิจอิสลามนั้น มีสองรูปแบบดังนี้

       ก.  ทานบังคับ

       ข.  ทานอาสา

 ทานทั้งสองประเภทนี้ คืออะไร ?  มาจากไหน ?  เพื่อใคร ? และทำไมอิสลามจึงบัญญัติขึ้น เป็นโครงสร้างแห่งระบบเศรษฐกิจ ? จะไม่ขอกล่าวไว้ ณ ที่นี้

      ๗) ส่งเสริมการใช้จ่ายไป ในด้านต่างๆ ที่ถูกต้อง และผลักดัน ให้มีการร่วมมือกัน ในการรับผลและลงทุนไปในกิจการต่างๆที่ดี

       ๘) ยอมรับความสำคัญ ในทรัพย์สิน และเคารพต่อสิทธิการเป็นเจ้าของทรัพย์ส่วนตัว ตราบใดที่การได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้น ไม่ได้ขัดต่อประโยชน์ส่วนรวม

       ๙) จัดระบบธุรกิจแลกเปลี่ยนทรัพย์สิน (มูอามาลาต มาลียะฮฺ) อย่างยุติธรรม และละเอียดอ่อน ในธุรกิจการเงิน เป็นการเฉพาะ

      ๑๐) รับรองความรับผิดชอบของรัฐ ในการพิทักษ์ดูแล ควบคุมให้ระบบเศรษฐกิจอิสลามดำเนินไปด้วยดี

เป้าหมายของระบบเศรษฐกิจ

          เป้าหมาย ของระบบเศรษฐกิจอิสลาม สรุปได้ ดังต่อไปนี้

  1)  ผดุงไว้ซึ่งการเป็นตัวแทนของพระเจ้าบนพิภพนี้

       พระองค์ อัลลอฮฺ( ซ.บ.)ได้ตรัสไว้ ว่า: “ และเมื่อครั้งที่องค์อภิบาล ของเจ้า ได้ตรัสแก่มวลมาลาอีกะฮฺว่า ข้าปรารถนา ที่จะสร้างผู้สืบทอดขึ้นในพื้นพิภพ ”

 ๒) มอบหมายหน้าที่ การสร้างความเจริญ ( อารยะธรรม ) บนพิภพ

      พระองค์ ทรงตรัส ว่า : และพระองค์ ทรงบังเกิดพวกเจ้า มาจากดิน และทรงให้พวกเจ้า สร้างความเจริญ (ด้วยการประกอบ และประดิษฐ์ ในด้านวิทยาการต่างๆ)ในมัน (แผ่นดินนี้)

      จากเป้าหมายทั้งสองประการ พอยืนยันได้ว่า การเป็นตัวแทนพระเจ้า ของมนุษย์บนพิภพนี้ เป็นผลมาจากเงื่อนไข ( แห้งการสร้าง การแต่งตั้งจากอัลลอฮฺ ) และการมอบหมาย ที่ให้สร้างความเจริญ ดังนั้น การบันดาลสรรพสิ่งทั้งหลาย เพื่อเป็นปัจจัยยังชีพ มิใช่เป็นผลงานของมนุษย์ มนุษย์ไม่ทราบถึงการเพิ่มขึ้น และลดน้อยลงของสรรพสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงต้องไตร่ตรองให้รอบคอบ ในการใช้ประโยชน์ ปัจจัยยังชีพ ที่อัลลอฮฺ ประทานให้แก่เขา ให้อยู่ในระดับพอดี ไม่ตระหนี่และฟุ่มเฟือยเกินไป อันจะเป็นเหตุให้ปัจจัยยังชีพ ส่วนใหญ่ไปตก และหมุนเวียนอยู่ ในมือของมนุษย์ไม่กี่คน ส่งผลทำลายความยุติธรรม ในการกระจาย ความมั่งคั่งอันเป็นเป้าหมายสูงสุด ในระบบเศรษฐกิจอิสลาม ของเรา

     สรุป

          เศรษฐศาสตร์อิสลาม ในยุคปัจจุบัน หากเรานำไปเปรียบเทียบกับ เศรษฐศาสตร์ตามทัศนะทุนนิยม สังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ ทั้งทางทฤษฏี และภาคปฏิบัติแล้ว นับได้ว่ายังได้รับการรู้จักแพร่หลายน้อยกว่า ประการหลังทั้งสองมาก อันเนื่องมาจากว่า เศรษฐศาสตร์อิสลาม เพิ่งคลอดตัวเอง ออกมาในฐานะศาสตร์อิสระ แขนงหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ มหาวิทยาลัย อัล-อัซฮัร มีบทบาทสำคัญ ในการพลักดัน ให้มีการสอนสาขาวิชานี้ขึ้น ในประเทศอียิปต์ และโลกอิสลาม ได้มีการประชุมสัมมนาทางวิชาการหลายครั้ง เพื่อประยุกต์ศาสตร์แขนงนี้ ในโลกอิสลาม แต่ความพยายามดังกล่าว ได้รับการสนองตอบน้อย และช้ามาก เพราะสังคมมุสลิม ทั่วโลกขาดแคลนความเข้าใจที่ถูกต้อง ในหลักเศรษฐศาสตร์ อิสลาม

         ดังนั้น อุปสรรคอันยิ่งใหญ่ สำหรับชนชาติอิสลาม ก็คือ ความล้าหลัง ทางด้านการศึกษา การสื่อสาร อันเป็นสูตรลับประการหนึ่ง ในการสร้าง อารยธรรมของมนุษย์  ข้าพเจ้าในฐานะหัวหน้ากลุ่ม หวังว่า สาระต่างๆ ที่พึงมีในบทความนี้ จะยังคุณประโยชน์ ต่อเพื่อนนิสิต นักศึกษา ปัญญาชน และผู้สนใจ ทั้งหลาย ตามระดับจิตสำนึกของตน

                                    แด่นักศึกษา            ผู้หลับใหล

                                   แด่ปัญญาชน            ผู้ถูกครอบงำ

                                   แด่นักวิชาการ          ผู้ขายตัวเองเป็นทาส

                                   แด่นักปกครอง         ผู้บ้าคลั่งอำนาจ

                                   และนักธุรกิจ            ผู้ละโมบ (ทั่วโลก )

                 ก่อนที่ ทรัพยากรธรรมชาติ ในแผ่นดินนี้ จะถูกล้างผลาญ หมดสิ้นไป..............

                                                                    เรียบเรียงโดย

                                                            กลุ่ม อ. ส. ส.

                                                        ณ  กรุงไคโร  อียิปต์

                                                            4   ส. ค.  2535

      1   นายชาฟีอี    อาดำ                                  

      2   นายสุนทร   วงค์หมัดทอง

      3    นายมูฮำหมัดสะรี  สิดิ

      4    นายอดุลย์  หวันนุรักษ์

       5   นายยะโกบ  หะยีหมัด

       6   นายวิรัตน์  อุเส็นยาง

       7   นายอนุชา  จงรักษ์

หมายเลขบันทึก: 658855เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2018 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2018 09:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท