การซื้อขายในอิสลาม


                                                                                        การซื้อขายในอิสลาม

            อารัมภบท

   เราไม่อาจที่จะประเมินได้ว่า  การค้าขายเต็มรูปแบบอย่างที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้   เริ่มต้นมีตั้งแต่เมื่อใด สมัยใด  แต่กว่าจะมาเป็นรูปแบบอย่างที่เห็นอยู่ได้ต้องถ่านขั้นตอนวิวัฒนาการมาเป็นระยะเวลานาน  นับตั้งแต่การแลกเปลี่ยนสิ่งของที่จำเป็นของมนุษย์ ในประวัติศาสตร์ จนถึงยุคบัตรเครดิตพกติดตัวไปยังดินแดนต่างๆ อย่างสะดวกสบาย การวิวัฒนาการรูปแบบของการซื้อขาย เหล่านี้จะยังไม่ยุติอยู่แค่เพียงขั้นตอนนี้  จะต้องเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

          การค้าขายดังกล่าวนั้นนอกจากจะเอื้ออำนวยคุณประโยชน์แก่มนุษยชาติแล้ว  ยังแฝงเร้นไว้ด้วยการเอารัดเอาเปรียบ การฉ้อโกง การหลอกลวง ซึ่งมนุษย์ดำเนินการระหว่างกันโดยจงใจ หรือไม่จงใจก็ตามที สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมมนุษย์ขาดความรัก ความเมตตาปรานี  และไม่มีไมตรีจิตต่อกัน  เมื่อเป็นเช่นนี้การค้าขายอย่างเอารัดเอาเปรียบ จึงมีส่วนทำให้สังคมมนุษย์ต้องทุกข์ทรมาน เกิดความเดือดร้อนระส่ำระสาย ในสังคมหนึ่งจึงมีสวรรค์และนรกอยู่ร่วมกัน  ใครที่อยู่ในสวรรค์ก็เปี่ยมไปด้วยความสุข แต่ใครที่อยู่ในนรกก็ต้องระกำไปด้วยความทุกข์ ทั้งๆที่คนเหล่านั้นต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน

       และมนุษย์ยังไม่หมดหวังในเรื่องของการค้าขายที่ยุติธรรมเสียทีเดียว เพราะพระเจ้าของพวกเขา ได้บัญญัติกฎเกณฑ์ แห่งการค้าขายที่ยุติธรรมเอาไปเป็นบรรทัดฐานให้แก่มนุษยชาติ  คราใดที่พวกเขาต่างหลงลืมกฎเกณฑ์ดังกล่าว สังคมของพวกเขาก็เดือดร้อนไปทั่ว  แต่ถ้าคราใดที่พวกเขาระลึกได้และนำไปใช้ เป็นแนวทางของการปฏิบัติ สังคมที่สงบสุขก็จะกลับมาเยือนพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง

  การค้าขายตามรูปแบบของอิสลามมีผลดีอย่างไร?

         เมื่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ. ) ทรงสร้างชีวิตของมนุษย์ขึ้นมาในโลกนี้ พระองค์มีพระประสงค์ให้มวลมนุษย์ประกอบแต่การงานที่ดีตลอดช่วงชีวิตของพวกเขา พระองค์ต้องการให้สินค้าและสิ่งจำเป็นได้หมุนเวียนไปในสังคม  เพื่อบรรเทาความอดอยาก ความขาดแคลน และทำให้สังคมมนุษย์สมบูรณ์ พูนสุขและมีความพึงพอใจต่อกัน พระองค์จึงทรงบัญญัติกฎเกณฑ์ การซื้อขายขึ้นเพื่อเป็นวิทยปัญญาอันยิ่งใหญ่ และคุณประโยชน์อันสูงส่ง แก่มนุษยชาติ  มนุษย์นั้นมีความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด  แต่ทว่ายังมีอีกหลายสิ่งหลายอยางที่เขาไม่สามารถที่จะสร้างขึ้นโดยตนเอง  เขาต้องพึ่งน้ำมือของคนอื่นๆ ความต้องการดังกล่าวนั้น จะยังไม่สมบูรณ์นอกเสียจากว่าจะต้องใช้วิธีการที่ดำรงอยู่บนความร่วมมือและความพึงพอใจ พระองค์จึงทรงออกกฎหมายการซื้อขายเพื่อเป็นตัวเชื่อมให้มนุษย์กลุ่มหนึ่งได้มีความสมบูรณ์ พูนสุข ในความต้องการต่างๆ จากการช่วยเสริมสร้างของมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งบนความพึงพอใจต่อกัน

การซื้อขายในอิสลาม

       คำนิยาม

         การขาย : คือ “ การแลกเปลี่ยนทรัพย์สินเพื่อการครอบครอง และถือเป็นกรรมสิทธิ์บนหนทางที่ยินยอมกัน ( พึงพอใจ ) ”    การแลกเปลี่ยนดังกล่าวนั้น อาจครอบคลุมไปถึง การแลกเปลี่ยนที่เป็นการซื้อขายทุกประเภท และการแลกเปลี่ยนซากสัตว์ เลือด และสิ่งที่เป็นนายิส ไม่ถือเป็นการแลกเปลี่ยนทรัพย์สิน  ดังนั้นผู้ซื้อ ผู้ขาย มีกรรมสิทธิ์และการครอบครองในสัญญาซื้อขายอันนั้น   ผู้ขายมีกรรมสิทธิ์ในสินค้า และราคาสินค้าที่จะเสนอต่อผู้ซื้อ  และผู้ซื้อก็จะมีกรรมสิทธิ์ในสินค้านั้นภายหลังจากได้ตกลงราคาซื้อขายกันแล้ว

  คำว่า “หนทางที่ยินยอม” หมายถึง หนทางที่ตั้งอยู่บนความพึงพอใจไม่ใช้ถูกบีบบังคับ

       การซื้อ :  คือ “ การยึดเอาสิ่งใด สิ่งหนึ่งมาครอบครอง ด้วยการจ่ายราคาสิ่งนั้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นทรัพย์สิน หรือไม่ใช้ทรัพย์สินก็ตาม ”

   ในสำนวนที่ว่า “ การซื้อสิ่งของ ที่ไม่ใช้ทรัพย์สิน ” หมายถึง  การซื้อความหลงผิดด้วยทางนำ

หลักฐานต่างๆการซื้อ ขาย ในอิสลาม

       การซื้อ ขายนั้นเป็นสิ่งที่ได้รับการอนุมัติ ตามหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในพระมหาคัมภีร์ อัลกุรอ่าน ดังนี้ :

  -    ในซูเราะห์ อัล นีสาอฺ อายะฮฺที่ 29 มีความว่า :“ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอย่ากินทรัพย์ของพวกเจ้า ในระหว่างพวกเจ้าโดยมิชอบ นอกจากมันจะเป็นการค้าขาย  ที่เกิดจากความพอใจ ในหมู่พวกเจ้า...”

    -  และในซูเราะห์อัล บอกอเราะห์ อายะห์ ที่ 275 มีความว่า : “... และอัลลอฮฺนั้น ทรงอนุมัติการค้าขาย และทรงห้ามการเอาดอกเบี้ย...”

    - และบรรดานักวิชาการทั้งหลาย ต่างเห็นฟ้องกันว่า การซื้อการขายถือเป็นสิ่งอนุมัติตามหลักการศาสนาอิสลาม

องค์ประกอบ ( รูก่น )การซื้อการขาย

           องค์ประกอบ การซื้อขายในอิสลามมีอยู่ 3 ประการ  คือ

 1. สำนวนคำกล่าว ในการซื้อขาย  หมายถึง  คำเสนอ และคำตอบรับ

 2. คู่สัญญา หมายถึง ผู้ซื้อ และ ผู้ขาย

 3. สิ่งที่ถูกทำสัญญาขึ้น หมายถึง สิ้นค้า และ ราคา

  สำนวนคำกล่าว คือ คำพูดหรือการกระทำ ที่แสดงถึงการยินยอมของคู่สัญญา เช่น

     ผู้ขายอาจพูดว่า “ ข้าพเจ้าขายปากกาด้ามนี้ ด้วยราคา 50 บาท ”  และ

     ผู้ซื้ออาจพูดว่า  “ ข้าพเจ้าซื้อปากกาด้ามนี้ ด้วยราคา 50 บาท ”

 ส่วนการซื้อขายที่ดำเนินไปด้วยการกระทำ โดยปราศจากคำพูด เช่น ลูกค้าได้ซื้อสินค้าหนึ่งอย่างจากร้านค้า ที่มีราคาของสินค้านั้นเขียนบอกไว้ชัดแจนแล้ว เขาหยิบเอาสินค้านั้นแล้วจ่ายเงินให้กับผู้ขาย โดยปราศจากคำพูดใดๆ การซื้อขายนั้น ถือว่าใช้ได้ตามหลักการ

            เงื่อนไขต่างๆในสำนวนคำกล่าว การซื้อ การขาย มีดังนี้

 1. คำเสนอ และ คำตอบรับ จะต้องสอดคล้องกัน ในด้าน เงินตรา ,อัตรา, ปริมาณ, ลักษณะ และเวลาที่แน่นอน ตามที่ได้ตกลงกัน

 2. การเสนอและการตอบรับ จะต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน และเมื่อผู้ขาย กล่าวคำเสนอ ผู้ซื้อจะต้องกล่าวคำตอบรับทันที โดยไม่ให้เวลาห่างกันเกินควร

            เงื่อนไขต่างๆ ของคู่สัญญา( ผู้ซื้อ ผู้ขาย ) มีดังนี้

1. ผู้ซื้อและผู้ขาย จะต้องเป็นผู้ที่มี สติสัมปชัญญะ และบรรลุนิติภาวะ ฉะนั้นการซื้อการขายของเด็ก, ผู้ที่อยู่ในอาการที่มึนเมา, เป็นบ้า, และผู้ที่ปัญญาอ่อน ถือว่าใช้ไม่ได้

2. คู่สัญญา ( ผู้ซื้อ ผู้ขาย ) จะต้องกระทำการซื้อขายกันโดยเสรี มิได้ถูกบังคับใดๆ

            สินค้าและราคาที่ซื้อขายกันจะต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

 1. สินค้าที่จะนำมาซื้อขายกันได้นั้น จะต้องเป็นสิ่งที่สะอาดไม่เป็นสิ่งที่สกปรก ( นายิส ) และสินค้านั้นจะต้องไม่เปรอะเปื้อนด้วยนายิส หรือ ปราศจาก นายิสนั้นเอง

   - สิ่งที่ตัวสินค้าเป็นนายิส ไม่อนุญาตให้ซื้อขายกันได้ ได้แก่ สุนัข ,สุกร ,ซากสัตว์ ,มูลสัตว์ ,สุรา  และ หนังสัตว์ที่ยังไม่ได้ฟอก ฯลฯ

    - สินค้าที่เปรอะเปื้อนด้วย นายิส ที่ไม่สามารถทำความสะอาดสิ่งนั้นได้ ได้แก่  น้ำ ,น้ำมัน ,น้ำนม ,น้ำส้มสายชู  ฯลฯ

 2. สินค้าที่จะนำมาซื้อขายกันได้นั้น จะต้องเป็นสิ่งที่ มีประโยชน์ ตามหลักการ บทบัญญัติของ ศาสนาอิสลาม

 สินค้านั้นต้องมีประโยชน์ตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม เช่น ไม่อนุญาตให้ขาย แมลงต่างๆ เพราะอิสลามถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ แต่อนุญาตให้ซื้อขาย ตัวผึ่ง ,นกแก้ว, นกและปลาที่เลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม และเช่นเดียวกัน อนุญาตให้ซื้อขาย กบ, งู, หนู เพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าวิจัยในทางการแพทย์ อุตสาหกรรม ฯลฯสิ่งที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่อนุญาตตามบทบัญญัติอิสลาม

ปัญหาและข้อชี้ขาดของอิสลามเกี่ยวกับตัวสินค้าและราคาสิ้นค้าที่ทำการซื้อขาย

        ข้อชี้ขาดเกี่ยวกับการขายเครื่องละเล่นและสิ่งไร้สาระ

     - เครื่องดนตรี เช่น แตร ,กีตาร์ ,ปี่ ,ขลุ่ย ,เปียโน  ฯลฯ   และสิ่งที่ไร้สาระ  เช่น รูปปั้น ,รูปต่างๆ ที่ทำมาจากทองคำ และ เงิน  ตามหลักการของศาสนาอิสลาม ถือว่าไม่เป็นที่อนุมัติให้ซื้อขายกันได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีประโยชน์อันใด

    - ส่วนการซื้อขายเครื่องกีฬา ประเภทลับสมอง ซึ่งทำให้ปัญญาเฉียบแหลม เช่น หมากรุก ,หมากฮอร์ส และเกมส์ลับสมองต่างๆ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิด ความฉลาดหลักแหลม ในด้านสติปัญญาและไหวพริบ หากพิจารณาดูแล้วมีประโยชน์สำหรับมนุษย์ ก็ถือว่าอนุมัติให้ทำการซื้อขายกันได้ ตามบทบัญญัติศาสนา

   - เครื่องเล่นกีฬาหรือ อุปกรณ์เล่นกีฬา ประเภทที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง เช่น ฟุตบอล ,บาสเก็ตบอล ,เหล็กยกน้ำหนัก ฯลฯ และในทำนองเดียวกัน สิ่งที่ให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ ถือว่าอนุมัติให้ทำการซื้อขายกันได้

           ข้อชี้ขาดในการซื้อขาย บุหรี่ และสิ่งที่คล้ายคลึงกับบุหรี่

  บุหรี่และสิ่งที่คล้ายคลึงกับบุหรี่ ไม่เป็นที่อนุมัติให้ซื้อขายกัน เพราะมันไม่มีประโยชน์ แล้วยังทำให้เกิดโทษอันใหญ่หลวง ต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านเศรษฐกิจ

 3. สิ้นค้าที่จะนำมาซื้อขายได้นั้น จะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขาย หรือ ผู้ที่ได้รับมอมหมายจากเจ้าของ ของสินค้านั้นในการจำหน่าย  หากเกิดมีการซื้อขายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ  เรียกการซื้อขายแบบนี้ว่า  ( บัยอุนฟูฏูลีย์  )

          บัยอุนฟูฏูลีย์  หมายถึง : การขายสินค้าไป โดยไม่ได้รับอนุญาต จากเจ้าของสินค้านั้น

 เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตามทัศนะของปวงปราชญ์ มีดังต่อไปนี้

       การซื้อขาย แบบนี้ ถือว่า ใช้ได้  แต่ว่าจำเป็นจะต้องขออนุญาตจากผู้ที่เป็นเจ้าของสิ้นค้านั้น หรือ ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง (วาลี )ของเจ้าของสินค้านั้นก่อน  ถ้าหากว่า เจ้าของอนุญาต ก็ถือว่า การซื้อขายนั้นใช้ได้  แต่! ถ้าหากว่าเจ้าของไม่อนุญาตถือว่า การซื้อขายนั้นก็ ใช้ไม่ได้  ดังเช่น มีหลักฐาน อัล ฮาดีส จากท่าน อุรวะฮฺ อัล บาซีนีย์ ได้กล่าว่า : ท่านรอซูล ( ซ.ล. ) ได้จ่ายเงินแก่ฉันจำนวน 1 ดีนาร์ เพื่อให้ฉันไปซื้อแพะให้แก่ท่าน 1 ตัว  ดังนั้นฉันก็ได้นำเอาเงิน 1 ดีนาร์นั้นไปซื้อแพะมาได้ 2 ตัว และฉันก็ได้ขายแพะนั้นไป 1 ตัว ด้วยราคา 1 ดีนาร์  หลังจากนั้นฉันก็ได้กลับมาหา ท่าน รอซูล ( ซ.ล.)พร้อมกับเงิน 1 ดีนาร์ และแพะอีก 1 ตัว ท่านรอซูล (ซ.ล.)ก็ได้กล่าวแก่ฉันว่า  ขอพระองค์อัลลอฮฺทรงประทาน ความเป็นสิริมงคลในความร่วมมือของท่าน

 4. สินค้าที่จะนำไปซื้อขายได้นั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ สามารถรับมาครอบครองได้ตามหลักศาสนา และสามารถครอบครองได้จริงๆ   สำหรับสิ่งที่ไม่สามารถ รับมาครอบครองได้ตามหลักการศาสนา เช่น สิ่งของที่ถูกอุทิศ ให้เป็นสาธารณะประโยชน์ การซื้อขายสิ่งดังกล่าวนี้ ถือว่าใช้ไม่ได้

 และสำหรับสิ่งที่ ไม่สามารถรับมาครอบครองได้จริงๆ เช่น การซื้อขาย ปลาที่อยู่ในแม่น้ำ ทะเล หรือซื้อขาย นกที่กำลังบินอยู่ท้องฟ้า

 5. ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องรับรู้ถึงจำนวน, ปริมาณและราคา ของสินค้า นั้นๆ ถ้าหากว่า ผู้ซื้อและผู้ขายไม่สามารถรับรู้สิ่งดังกล่าวมานั้น ถือว่า การซื้อขายนั้น ใช้ไม่ได้ 

     ในกรณีที่สั่งซื้อสินค้า จำนวนมากๆ   การดูตัวอย่างสินค้าเพียงชิ้นเดียว ที่มีลักษณะเหมือนกัน   ก็เป็นการเพียงพอแล้ว

 6.  สิ้นค้าที่จะนำมาซื้อขายนั้น จะต้องอยู่ในความครอบครอง ของผู้ขายโดย ชอบธรรม ดังนั้น การขายสิ่งของที่ ขโมยมาได้ หรือ การขายสิ่งของที่ถูกขโมยไปแล้ว ตามหลักศาสนาถือว่า ใช้ไม่ได้

            เงื่อนไขในการซื่อขาย  แบ่งออกเป็น 3  ประเภท

  1.  คือ สิ่งที่สอดคล้อง กับความต้องการของสัญญา  แบ่งออกเป็น 3 ประการ

       ก. เงื่อนไขทั้งหมดจะต้องถูกปฏิบัติ ไปตามสัญญา เช่น เงื่อนไขของการรับสินค้า หรือ ราคา หรือ การชดใช้หนี้สินในขณะนั้น

       ข. เงื่อนไขทั้งหมดจะต้องเหมาะสมกับสัญญา และมันจะทำให้เกิดประโยชน์ แก่ทั้งสองฝ่าย เป็นต้นว่า เงื่อนไขของสินค้า ที่มีลักษณะที่แน่นอน ชัดเจน เช่น สัตว์ที่ขายกำลังให้นม หรือ กำลังตั้งท้องอยู่

       ค. ทั้งผู้ซื้อ และผู้ขายจะต้องทราบ ข้อกำหนดของสินค้า อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ในการทำสัญญาต่อกัน เช่น การขายบ้านหลังหนึ่ง และมีเงื่อนไขในการ เอาประโยชน์ จากบ้านหลังนั้น ในเวลา ที่ถูกกำหนด เช่นระยะเวลา 1 เดือน หรือ 2 เดือน  ตามทัศนะของอีหม่าม อะห์มัด ( ฟิกฮฺ ซุนนะห์ )

  2. คือ เงื่อนไขที่ใช้ไม่ได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างสมบูรณ์  แต่ทว่า การซื้อขายนั้นถือว่า ใช้ได้  เสมือนกับเงื่อนไขของสิ่งที่ถูกปฏิเสธตามที่สัญญาระบุไว้ เช่น ผู้ที่ขายได้วางเงื่อนไขกับผู้ที่ซื้อ ว่า:  ท่านจะต้องไม่ขายสินค้าอันนั้น ให้แก่ผู้อื่นอีกต่อไป  เป็นต้น หรือ ผู้ขายได้วางเงื่อนไข ว่า :  ท่านจะต้องนำสินค้านั้น ไปอุทิศให้กับ สาธารณประโยชน์ต่อไป

  3. คือ เงื่อนไขที่ใช้ไม่ได้  จะทำให้สัญญานั้นเป็นโมฆะ เช่น การวางเงื่อนไขไว้ในเงื่อนไข เช่น การขายสวนแปลงหนึ่งไปโดยมีเงื่อนไขว่า  จะต้องขายบ้านเป็นการตอบแทนกลับมา  

  ดังนั้น เงื่อนไขในการซื้อการขายดังที่กล่าวมานี้ ถือว่า เป็นการซื้อขายที่ใช้ไม่ได้  ไม่ว่าเงื่อนไขที่วางไว้นั้นจะ มาจากผู้ซื้อ หรือ ผู้ขาย ก็ตาม

ประเภทต่างๆ ของการขาย

        การขายมี  3 ประเภท  ดังนี้

   1. การขายสินค้าไป ตามราคาเดิมที่ซื้อมา พร้อมกับเพิ่มกำไรที่แน่นอน  เช่น ฉันซื้อสินค้าชิ้นนี้มาในราคา 100  ปอนด์ และฉันจะขายให้กับท่านเพื่อเอากำไรเพียง 10 ปอนด์   ผู้ซื้อเขาก็ยอมรับในการขายดังกล่าวนั้น  ดังนั้นการสัญญาซื้อขายดังกล่าวนั้น จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ ผู้ที่ซื้อจ่ายเงินในราคา 110  ปอนด์

   2. การขายสินค้าไปในราคาเดิมที่ซื้อมา โดยไม่เอากำไรนั้นเอง เช่น ผู้ขายได้ลงทุนซื้อสินค้ามา 100 ปอนด์ และได้ขายสินค้านั้นไป ในราคา  100 ปอนด์  พร้อมกับได้บอกราคาดังกล่าวแก่ผู้ที่ซื้อ และการขายประเภทนี้ ได้เกิดขึ้นมากมายในชีวิตประจำวันของเรา  สาเหตุก็เนื่องจาก ผู้ขายต้องการที่จะระบายสินค้า ที่ค้างสต๊อกอยู่ หรือ เป็นการให้เกียติแก่ผู้ซื้อ เนื่องจากเป็นญาตสนิทมิตรสหาย ,คนใกล้ชิดกันกัน

   3. การขายสิ้นค้าไป ในราคาที่ต่ำกว่าราคาต้นทุนซื้อมา เนื่องจากผู้ขายนั้น รีบร้อนต้องการเงิน หรือ หมดฤดูกาลของสินค้านั้น เช่น การลดราคาเครื่องนุ่งห่มสำหรับฤดูร้อน ในช่วงต้นฤดูหนาว หรือ สินค้าที่ตกรุ่นโดยมีสินค้าใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่าเข้ามาแข่งขันในตลาด

         

   การขายสินค้าทั้ง 3 ประเภทนี้  ถือว่าใช้ได้ โดยมีเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

 1. ราคาเดิมของสินค้านั้นจะต้องเป็นที่รู้กัน ( ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ) ในขณะที่ทำสัญญาซื้อขาย

 2. กำไรนั้นจะต้องเป็นที่รู้กันในการขายประเภทแรก และ การลดราคาที่เป็นที่รู้กันในการขายประเภทที่ 3

 3. มูลค่า (สิ่งของ) ซึ่งผู้ขายเสนอในราคาสินค้าต่อผู้ซื้อนั้น จะต้องมีค่าเท่ากัน เช่น น้ำหนัก  มาตรา จำนวน หรือ เงินตรา( หลังจากได้กำหนดราคาสิ่งนั้นแล้ว ) ซึ่งไม่มีการขาด-เกินในเรื่องดังกล่าว เพื่อว่าผู้ที่ซื้อนั้นจะเสมอต้นทุน เมื่อเขานำสินค้านั้นไปขายแบบ เท่าทุน ดังนั้นถ้าหากว่าสินค้า และราคา ( สิ่งแลกเปลี่ยนนั้น )มีค่าที่ไม่เท่ากัน ก็ถือว่าการขายนั้นใช้ไม่ได้

 4. ราคาการขายในครั้งแรกนั้น ( สิ่งของในการแลกเปลี่ยนนั้น ) จะต้องไม่เป็นชนิดเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เป็นประเภทของดอกเบี้ย ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นไม่ยินยอมให้ขายแบบหวังผลกำไร เพราะการเพิ่มราคาในสิ่งที่ซื้อขาย หรือ สิ่งแลกเปลี่ยน ที่เป็นชนิดเดียวกันนั้น ถือว่าเป็นดอกเบี้ย ไม่ใช้เป็นผลกำไร และดังกล่าวนั้นไม่ยินยอมให้ทำการขายแบบต่ำกว่าต้นทุน เพราะจะมีการเพิ่มในสินค้าซึ่งชนิดและราคาเดียวกัน ดังนั้น จึงยินยอมให้เขาทำการขาย แบบเท่าต้นทุนอย่างเดียว เพื่อจะเอาประโยชน์ในการเพิ่ม ( ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่เรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เช่น การแลกไข่เป็ดกับไข่ไก่ ซึ่งอาจจะมีความความใหญ่ต่างกันเพียงเล็กน้อย ) แต่ถ้าหากว่าสิ่งที่แลกเปลี่ยนนั้นเป็นชนิดที่ต่างกัน ท่านก็สามารถที่จะทำการขายได้ ตามความต้องการ

 5. การทำสัญญาซื้อขายครั้งแรกจะต้องระบุราคาไว้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ ถ้าหากว่าไม่ได้ระบุราคาไว้ในสัญญาครั้งแรก จะต้องตีราคาขึ้นใหม่ ดังนั้น การซื้อขายทั้งสามประเภทที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ถ้าหากว่าไม่รู้ราคาเดิม (ดังที่ระบุไว้ในสัญญาขายครั้งแรก ) ถือว่าการขายประเภทดังกล่าวนั้นใช้ไม่ได้  อนึ่ง อนุญาตให้ผู้เช่ารวมค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายต่างๆ(โสหุ้ย)กับราคาสินค้านั้นได้ตามธรรมเนียมปฏิบัติของการขายทั่วๆไป

                     เมื่อมีการหลอกลวงในการตั้งราคาสินค้า

    เมื่อผู้ขายสินค้านั้น ตั้งราคาขายสูงเกินกว่าราคาเดิมที่ได้ซื้อมามาก แล้วผู้ที่ซื้อก็มารู้ภายหลัง ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะยกเลิก หรือไม่ยกเลิกสัญญานั้นก็ได้ และ ถ้าหากว่า ผู้ขายลดราคาสิ้นค้านั้นลงเหลือเท่ากับราคาที่ได้ซื้อมา ผู้ซื้อจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามสัญญานั้น

                การเลือกในการซื้อขาย ( อัล คีญาร )

       การเลือก ( อัลคีญาร ) หมายถึง  ความต้องการที่จะเลือกสิ่งสองสิ่ง ( กระทำหรือไม่กระทำ )ที่จะตกลงตามสัญญา หรือไม่ตกลงตามสัญญาในการซื้อขาย

        การเลือกนั้น ( อัล คีญญาร ) มีอยู่ 4 ประเภท ดังนี้

  1. คีญาร อัลมัญลิส  คือ เมื่อการทำการซื้อขายได้เสร็จสมบูรณ์ จากผู้ซื้อและผู้ขายแล้ว  ดังนั้นทั้งสองฝ่าย ( ผู้ซื้อและผู้ขาย ) มีสิทฺที่จะเลือกปฏิบัติตามสัญญานั้น หรือ ยกเลิกสัญญานั้น ตราบใดที่ทั้งสองฝ่าย ยังอยู่ในสถานที่ ที่ได้ทำสัญญานั้นอยู่  แต่ เมื่อทั้งสองฝ่ายได้แยกย้ายออกไปจากสถานที่นั้น การเลือกนั้นก็ถูกยกเลิกไป

 หลักฐานการเลือกดังกล่าว  ท่านรอซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า : ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย มีสิทธิเลือก ตราบใดที่ทั้งสองฝ่าย ไม่แยกออกจากกัน

 2. คีญาร อัล ซัรฏฺ  คือ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จากผู้ซื้อและผู้ขาย ได้ทำการซื้อขาย สินค้าชิ้นหนึ่ง โดยมีวางเงื่อนไขให้มีการเลือกในช่วงเวลาที่กำหนด   (ในทัศนะ ท่านอีหม่าม ชาฟีอี ,  อาบูฮานีฟะฮฺ  และ อะฮฺหมัด กำหนดระยะเวลาการเลือกดังกล่าว อยู่ในระยะ 3 วัน  ส่วนท่านอีหม่าม มาลิก ได้มีทัศนะว่า ระยะเวลาการเลือกนั้น ยาวนานตามความต้องการ )

  หลักฐานการเลือกดังกล่าวนี้ จาก อัลฮาดิส ที่บอกว่า : ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย จะไม่ถือว่าเป็นการซื้อขายในขณะที่ทั้งคู่แยกจากกัน เว้นแต่การซื้อขายแบบการเลือก

 3. คีญาร อัล อัยบฺ  คือ เมื่อผู้ที่ซื้อพบว่า สินค้าที่เขาได้ซื้อมานั้น มีตำหนิ โดยที่เขาไม่ทราบในขณะที่ทำสัญญาซื้อขายกัน และขณะที่รับสินค้านั้นไป  ดังนั้น ผู้ซื้อมีสิทธิเลือก ที่จะรับเอาสินค้านั้น ในราคาเดิมที่ได้ตกลงกัน หรือ ต้องการที่จะส่งสินค้านั้นคืนแก่ผู้ขาย 

 มีหลักฐานจาก อัล ฮาดิส  ท่านศาสดาได้กล่าวว่า: มุสลิมนั้นเป็นพี่น้องกัน  ไม่อนุญาตให้มุสลิมนั้นขายสินค้าที่มีตำหนิ ให้แก่พี่น้องของเขา เว้นแต่จะต้องบอกถึงตำหนิ นั้นๆก่อน

 4. คีญาร อัร รออียะฮ์ คือ การซื้อสิ่งของที่ไม่สามารถจะมองเห็นได้ในขณะที่ซื้อ การซื้อขายดังกล่าวนั้นถือว่าใช้ได้  และเมื่อผู้ซื้อเห็นสินค้านั้น เขาก็มีสิทธิที่จะเลือกรับเอามาในราคาเดิมที่ตกลงกัน หรือ ส่งสินค้านั้นคืน

  มีหลักฐาน อัล ฮาดิส ท่าน นบีได้กล่าวว่า : ผู้ใดที่ซื้อสิ่งของโดยที่เขาไม่ได้เห็นสิ่งนั้น เขาผู้นั้นมีสิทธิที่จะเลือก เมื่อเขาได้เห็นสิ่งนั้น

          สรุป

       การซื้อขายตามรูปแบบของอิสลามนั้นมุ้งที่จะขจัด ขัดขวางการฉ้อฉล การหลอกลวง และการเอารัดเอาเปรียบกันในสังคมมนุษย์  เพื่อให้สังคมมนุษย์เป็นสังคมที่สงบ มีความอบอุ่น มีความเห็นอกเห็นใจกัน เป็นเพื่อนที่ดีมีการร่วมมือร่วมใจกันที่จะขจัดปัญหาต่างๆ อย่างยุติธรรมอันเป็นความประสงค์ของ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) การฉ้อฉล คดโกงกันต่างๆ เช่น การฉ้อโกงตาชั่งน้ำหนัก และการฉ้อโกงราคา ตลอดจนการค้าขายแบบผูกขาด และการกักตุนสินค้า สิ่งเหล่านี้จะต้องถูกทำลายให้หมดสิ้นลงไป เพื่อความสงบสุขของคนในสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมาย ที่แท้จริงของอัล อิสลาม

                                .......................................................................................................

 

                                                              เรียบเรียงโดย

                                                               กลุ่ม อ. ส. ส.

                                                           ณ  กรุงไคโร  อียิปต์

                                                            4   ส. ค.  2535

    

                                                           1. นายจรวด  นิมา

                                                           2. นายอนุชา  หวันโส๊ะ

                                                          3.  นายยะโกบ  เสมอภพ

                                                          4. นายอิ่มร่อน  โต๊ะตาเหยะ

                                                          5. นายปริญญา โต๊ะยีอิด

                                                          6. นายเศรษฐา  หนงอาลี

                                                            …………………………...

หมายเลขบันทึก: 658661เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2018 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2018 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท