การเล่นของเด็กปฐมวัย


บทที่ 2

เอกสารและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง

ในรายงานบทความฉบับนี้ ผู้ศึกษาได้ศึกษาเอกสารและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องและได้นำเสนอตามหัวข้อต่อไปนี้

   1. ความหมายของการเล่น

                   2. ความสำคัญของการเล่น

                   3. องค์ประกอบของการเล่น

                   4. หลักการแนวคิดและทฤษฎีของการเล่น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525  กล่าวว่า การเล่น หมายถึง  ทำเพื่อสนุก หรือผ่อนอารมณ์ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2525)

สุชา – สุรางค์  จันทร์เอม  (2529 : 121)  กล่าวไว้ดังนี้ 1. การเล่นเป็นการระบายพลังงานที่เหลือให้เป็นไปตามธรรมชาติ 2. การเล่นเป็นการหาความสนุกเพลิดเพลิน เพื่อเป็นการพักผ่อนโดยเด็กไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเท่ากับการทำงานถึงแม้จะต้องออกแรงมาก ๆ เหมือนกัน 3. การเล่นเป็นการเลียนแบบบรรพบุรุษ เพราะเด็กเคยเห็นการกระทำของบุคคลที่เด็กใกล้ชิด 4. การเล่นเป็นการชดเชยสิ่งที่ขาด โดยเด็กจะแสดงออกมาโดยการเล่น

เยาวพา  เดชะคุปต์ (2542 : 20)  ก็กล่าวว่า การเล่นเป็นกิจกรรมที่เป็นหัวใจและมีความสำคัญเพราะเป็นการสนองความต้องการทางจิตใจ    คือเกิดความสนุกสนาน     ขณะที่เด็กเล่นจะเกิดการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันด้วย เด็กจะเรียนรู้ได้ดีโดยผ่านประสบการณ์ตรงที่เป็นรูปธรรม  โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 และมีโอกาสพัฒนาทักษะต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กันด้วย

สุวลัย   มหากันธา  (2532 : 1)  กล่าวว่า การเล่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเด็ก ประสบการณ์จากการเล่นของเด็ก จะนำไปสู่การรู้จักรับผิดชอบตนเอง การอยู่ร่วมกันในสังคมของการมีชีวิตอย่างผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า

ดนู  จีระเดชากุล (2541 : 25)  กล่าวว่า  การเล่นเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ที่แสดงออกมาปรากฏให้เห็นโดยชัดเจน ไม่ว่าการแสดงออกนั้นจะเป็นการแสดงออกด้านรางกาย เช่น กิริยาท่าทางต่าง ๆ ตลอดจนความคิดจากการสนทนาพูดจากัน

เชริษา  ใจแผ้ว (2532 : 37)  กล่าวว่า การเล่นคือ การทำงานของเด็ก การเล่นสามารถทำให้เด็กได้รับความเพลิดเพลิน และเกิดความพึงพอใจ สิ่งเหล่านี้มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับเด็ก

หรรษา  นิลวิเชียร (2534 : 87)  ได้กล่าวว่า  การเล่นเป็นกิจกรรมส่วนใหญ่ในชีวิตของเด็ก  การเล่นช่วยให้เด็กเรียนรู้สิ่งแวดล้อม และช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์  สังคมและสติปัญญา

ประโมทย์  เยี่ยมสวัสดิ์ (2539 : 33) กล่าวว่า การเล่นเป็นประสบการณ์ที่เป็นหัวใจและมีความสำคัญยิ่ง ธรรมชาติของเด็กจะชอบการเล่น การเล่นนอกจากจะสนองความต้องการทางจิตใจคือเพื่อความสนุกสนานแล้วยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเด็ก ขณะที่เด็กเล่นจะเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาความคิดไปพร้อมกันด้ว

นอกจากนี้ยังมี สำนักงานการศึกษาท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย   (2532 : 18)  ได้กล่าวว่า การเล่น คือธรรมชาติของเด็กวัยนี้ทุกคน การเล่นมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตทุกด้าน เพราะการเล่นเป็นประสบการณ์ตรง  ทำให้เด็กได้เรียนรู้  รับรู้   ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงความคิดความเข้าใจ และ คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2541 : 7) กล่าวไว้เช่นเดียวกันว่า การเล่นเป็นกิจกรรมที่สำคัญในชีวิตเด็กทุกคน เด็กจะรู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลิน ได้สังเกต ได้มีโอกาสทดลอง สร้างสรรค์คิดแก้ปัญหาและค้นพบด้วยตนเอง การเล่นมีอิทธิพลและมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ช่วยพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา

นักการศึกษาชาวต่างประเทศก็ได้ให้ความหมายของการเล่นไว้เช่นเดียวกันคือ

เฮอร์ลอค  (Hurlock, 1956 : 321) กล่าวว่า  การเล่นเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน  สนุกสนาน  โดยไม่คำนึงถึงผลที่เกิดขึ้น และมักเป็นกิจกรรมที่บุคคลกระทำโดยไม่ถูกบังคับ

แมค (Mack, 1975)  การเล่นเป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้ผู้เล่นสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม การเล่นของเด็กเปรียบได้กับการทำงานของผู้ใหญ่ ต่างกันตรงที่การเล่นของเด็กไม่มุ่งหวังสิ่งใดสิ่งหนึ่งเมื่อสิ้นสุดการเล่น นอกจากเป็นความพึงพอใจตามธรรมชาติ

เพียเจท์ (Piaget, 1962)  ได้กล่าวว่าการเล่นเป็นกิจกรรมในการพักผ่อน เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน ที่ไม่ได้มุ่งเน้นการแข่งขันเพียงอย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงว่าเมื่อเด็กเล่นแล้วได้ประโยชน์ รู้จักคิด รู้จักแก้ปัญหา ให้อภัย และเสียสละ ตลอดจนมีปฏิสัมพันธ์ ได้ทำงานร่วมกันเพื่อการพัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

มาร์กาเร็ต  โลเวนเฟลด์ (Margaret  loventfeld, 1977 : 100,  อ้างถึงใน เยาวพา  เดชะคุปต์, 2542 : 21)  ได้กล่าวถึงความหมายของการเล่นของเด็กปฐมวัยเอาไว้ในหนังสือ ชื่อ “Play in Childhood” ว่า

การเล่น คือ การกระทำกิจกรรมทางร่างกาย  (Play as a Bodily Activity)

การเล่น คือ การได้รับประสบการณ์ซ้ำ  (Play as Repetition of Experience)

การเล่น คือ การแสดงออกซึ่งความเพ้อฝัน  (Play as Demonstration of Fantasy)

การเล่น คือ การเข้าใจถึงสิ่งแวดล้อม  (Play as Realization of Environment)

การเล่น คือ การเตรียมการเพื่อชีวิต  (Play as Preparation for Life)

รูดอล์ฟ  (Rudolph, 1984 : 96)  กล่าวว่า การเล่นเป็นกระบวนการของการพัฒนาทั้ง 4 ด้านของเด็ก คือ ด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา ซึ่งการเล่นนี้มีองค์ประกอบ 3 ประการดังนี้

  1. การเล่นนำไปสู่การค้นพบเหตุผลและความคิด

  2. การเล่นเป็นการเชื่อมโยงระหว่างเด็กกับสังคม

  3. การเล่นเป็นการนำเด็กไปสู่ความสมดุลในสังคม

กอร์ดอน และ โบรว์นี (Gordon and Browne, 1995)  กล่าวว่า การเล่นเป็นหัวใจสำคัญของการ  เรียนรู้ เด็กจะแสดงความหมายต่าง ๆ ผ่านการเล่น ครูจึงสามารถวางแผนใช้การเล่นของเด็กเป็นการเรียนรู้ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงความสนุกสนานที่เกิดขึ้นให้กลายเป็นประสบการณ์การเรียนรู้

ฮาร์ทเลย์  แฟรงค์  และโกลเดนซัน     (Hartlery, Frank and Goldenson,  1952,  อ้างถึงในประภาพรรณ  เอี่ยมสุภาษิต, 2542 : 119)  ได้กล่าวถึงความหมายของการเล่นไว้ดังนี้

การเล่นเป็นการลอกเลียนแบบผู้ใหญ่

การเล่นเป็นการแสดงสภาพชีวิตจริง

การเล่นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงผลปฏิสัมพันธ์ และประสบการณ์ของเด็กในสังคม

การเล่นเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดของเด็กที่สังคมไม่ยอมรับ

การเล่นเป็นการแสดงออกตามความต้องการของเด็ก

การเล่นเป็นการแสดงบทบาทสมมติ

การเล่นเป็นกระจกเงาสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญเติบโตของเด็ก

การเล่นเป็นการแก้ปัญหาและลองใช้วิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้น

จากความหมายของการเล่น ดังกล่าวข้างต้น พอสรุปได้ว่า การเล่นหมายถึง  ประสบการณ์และกิจกรรมทุกชนิดที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของเด็ก ที่นอกจากจะให้ความสนุกสนานแล้วยังเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ ซึ่งเป็นการช่วยให้เด็กได้พัฒนาทักษะและการสร้างความสัมพันธ์ในทางสังคม เรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม เรียนรู้ที่จะใช้วัสดุเครื่องมือต่าง ๆ รู้จักหน้าที่ของตนเอง  นอกจากนี้ยังสามารถช่วยสร้างเสริมกระบวนการพัฒนาการด้านต่าง ๆ ทั้ง 4 ด้าน ให้เด็กได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

ความสำคัญของการเล่น

ความสำคัญของการเล่นนั้นมีผู้ศึกษาค้นคว้าและได้ให้ความหมายไว้มากมาย  ดังเช่น

เพียเจท์ (Piaget,  อ้างถึงใน เยาวพา  เดชะคุปต์, 2542 : 22)  ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเล่นว่า  การเล่น จะมีความสำคัญต่อพัฒนาการทางสติปัญญาจากการเล่น   เด็กจะสามารถแยกแยะสิ่งต่าง   ๆ   จากสิ่งเร้าได้ และขณะที่เด็กตอบสนองสิ่งเร้า     เขาจะสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ เข้ามาในสมอง เพียเจท์ยังได้พูดถึงการเล่นเอาไว้  3  ประการคือ

1.  บทบาทของการเล่น คือ การระบายอารมณ์

2.  การเล่นช่วยให้เข้าใจถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม

3.  การเล่นเป็นการเรียนรู้ทางสังคม

รูบิน และ คณะ (Rubin and Other, 1983)  ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเล่นไว้ดังนี้

1.  การเล่นเป็นความสัมพันธ์ที่เด็กกำหนดขึ้นด้วยตนเอง โดยมีอิสระจากกฏเกณฑ์

2.  การเล่นเป็นสิ่งสำคัญและควบคุมโดยเด็ก

3.  การเล่นเป็นกิจกรรมของชีวิตจริงที่สามารถทำได้ตลอดเวลา

4.  การเล่นมีความสำคัญที่กระบวนการของกิจกรรมมากกว่าผลที่ได้จากการเล่น

5.  การเล่นต้องมีปฏิสัมพันธ์และการร่วมมือกันของเด็ก

หรรษา  นิลวิเชียร (2534 : 114 – 116) ได้กล่าวไว้ว่า การเล่นเป็นส่วนสำคัญของชีวิตเด็กเล็ก และมีคุณค่าต่อการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา และการเล่นของเด็กจะมีผลต่อพัฒนาการมากน้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของผู้ใหญ่ ซึ่งหมายถึง ครู  พ่อ และแม่ ที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือด้วย

สรวงธร  นาวาผล (2542 : 5) และ เกษลดา  มานะจุติ (2529 : 2 – 3) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเล่นไว้คล้ายคลึงกันซึ่งพอสรุปได้ว่า การเล่นช่วยให้เด็กเกิดการพัฒนาด้านต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ด้านร่างกาย จะช่วยให้เด็กมีร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ เพิ่มทักษะการใช้กล้ามเนื้อต่าง ๆ ด้านอารมณ์จะช่วยให้เด็กเป็นผู้มีอารมณ์แจ่มใส เบิกบาน สนุกสนาน ด้านสังคมจะช่วยเสริมสร้างให้เด็กเป็นผู้มีความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าแสดงออก สามารถร่วมเล่นกับเพื่อนได้อย่างสร้างสรรค์ และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทำให้เป็นผู้ที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ง่าย มีทักษะในการสื่อสาร     ด้านสติปัญญาจะช่วยฝึกให้เด็กรู้จักคิดทั้งด้านการคิดอย่างมีเหตุผล การคิดอย่างสร้างสรรค์และจินตนาการ สามารถรู้จักวางแผน รู้จักแก้ปัญหา มีน้ำใจ มีความอดทน เป็นการปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรมให้แก่เด็กด้วย

เชริษา  ใจแผ้ว  (2532 : 49) ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการเล่นว่า การเล่นของเด็กเป็นกิจกรรมที่สนองความต้องการเด็กในวัยนั้น ๆ เด็กได้รับความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ดังนั้นจึงมีความสำคัญเท่า ๆ กับการทำงานของผู้ใหญ่ในแต่ละวัน  ชีวิตของเด็กจะมีความสุขและมีคุณค่าเมื่อเด็กได้เล่นและใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ช่วยให้เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และมีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น เพราะการเล่นกับสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวุฒิภาวะของเด็กแต่ละวัย

นอกจากนี้ หรรษา  นิลวิเชียร (2535 : 85 – 86)  ได้สรุปถึงคุณค่าของการเล่นไว้ดังนี้การเล่นเป็นส่วนสำคัญของชีวิตเด็กเล็กและมีคุณค่าต่อการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์  สังคม และสติปัญญา การเล่นช่วยสร้างบรรยากาศของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในขณะที่เด็กเล่นด้วยกันเด็กจะเรียนรู้การแบ่งปัน การเล่นด้วยกันกับเพื่อน ๆ เรียนรู้การระวังรักษาของเล่นกับเพื่อนและเรียนรู้การเข้าสังคมการเล่นทำให้เด็กเรียนรู้การรู้จักดัดแปลง คิด ยืดหยุ่น เช่น การใช้ก้านกล้วยสมมติเป็นม้า เป็นต้น

การเล่นเป็นการให้เด็กเรียนรู้การรอคอย ฝึกความอดทน   ซึ่งจะเป็นลักษณะนิสัยที่ติดตัวและเป็นประโยชน์ต่อเด็กในอนาคตการเล่นเกี่ยวกับบทบาทต่าง  ๆ   ของบุคคลในชุมชน   ทำให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ รวมถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับสังคม ซึ่งจะมีผลทำให้เด็กคิดถึงอนาคตและบทบาทของบุคคลต่าง ๆ ในสังคม  การเล่นช่วยให้เด็กเรียนรู้และพัฒนาความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เล่นสวมบทบาทผู้อื่น เด็กจะเริ่มเข้าใจว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไรเมื่อมีความทุกข์หรือความสุข  การเล่นสมมติจะช่วยให้เด็กฝึกจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เด็กจะสร้างภาพพจน์เรื่องราวต่าง ๆ แม้แต่เรื่องในใจของตนเอง เด็กจะฝึกเลียนเสียงธรรมชาติ เสียงสัตว์ เสียงพูด ตลอดจนการเคลื่อนไหวของคนและสัตว์ เด็กจะค้นคว้าหาวิธีการใหม่ ๆ เด็กจะเรียนรู้สิ่งแวดล้อมและเรียนรู้ที่จะแยกออกว่าอะไรเป็นความจริงและอะไรเป็นความฝัน

สำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ (2534 : 12 – 14)  ได้กล่าวว่าการเล่นมีความสำคัญต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยดังนี้

  1. เป็นการตอบสนองพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็ก เพราะในขณะที่เล่นเด็กจะแสดงออกได้อย่างเต็มที่ มีความสดชื่น สนุกสนาน เบิกบาน ทำให้เด็กรู้สึกเป็นสุขเพราะได้เล่นตามที่ตนเองต้องการ ได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระ ซึ่งจะช่วยให้เด็กลดความตึงเครียดทางด้านจิตใจและช่วยให้เกิดความแจ่มใส

  2. เป็นการตอบสนองความต้องการของเด็กในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเด็กแสดงออกโดยการ ทดลอง หยิบ จับ สำรวจ เขย่าฟังเสียง หรือขว้างปา ด้านความต้องการทางร่างกาย ความต้องการทางจิตใจ และเป็นการทดแทนความต้องการของเด็กซึ่งเด็กแสดงออกโดยการเล่นสมมติ

  3. เป็นการเรียนรู้ของเด็กที่จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัว เช่น เรียนรู้เรื่อง ขนาด น้ำหนัก สี รูปร่าง ความเหมือน ความแตกต่าง เรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง เช่น รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบทำอะไร ทำสิ่งใดได้หรือไม่ได้ เรียนรู้เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เช่น การผลัดเปลี่ยนกันเล่น การรอคอย การแบ่งบัน การตัดสินปัญหาต่าง ๆ และเรียนรู้ถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของตนที่มีต่อชุมชน เช่นหน้าที่ของพ่อแม่ ลูก ตำรวจ กำนัน หมอ ซึ่งเด็กจะเรียนรู้ได้มากจากการเล่นสมมติและจากการสังเกต

  4. ช่วยพัฒนาคุณสมบัติหลายประการที่จะช่วยให้เด็กได้รับความสำเร็จในการทำงานเมื่อเด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ฉะนั้น ทักษะที่เด็กได้รับจากการเล่นจะเป็นพื้นฐานในการทำงานของเด็กในอนาคต เพราะขณะที่เด็กเล่น เด็กจะมีโอกาสได้เรียนรู้ถึงภารกิจและหน้าที่ของการเป็นผู้ใหญ่ เป็นการฝึกนิสัยในเรื่องรักการทำงาน มีความรับผิดชอบและการรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

  5. เป็นการเตรียมชีวิตของเด็ก เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักหน้าที่ ที่ตนเองต้องทำในอนาคตฝึกการพึ่งตนเอง   การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การแบ่งปัน การเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี

  6. เพื่อให้มีทัศนคติที่ดีต่อการออกกำลังกาย และเพื่อเป็นแนวทางในการที่จะไปเล่นกีฬาประเภทอื่น ๆ ต่อไป

  7. ช่วยพัฒนาเด็กในทุก ๆ ด้าน คือ ด้านร่างกาย การเล่นเป็นการใช้พลังงานส่วนเกินในร่างกายของเด็กเป็นการฝึกกล้ามเนื้อให้ทำงานประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ 

ด้านอารมณ์และจิตใจ การเล่นจะช่วยให้เด็กเกิดพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจให้มั่นคงแข็งแรง รู้จักปรับอารมณ์ให้เข้ากับภาวะแวดล้อม และการเล่นจะช่วยลดความคับข้องใจของเด็ก

 ด้านสังคม การเล่นจะช่วยให้เด็กพัฒนาการด้านความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นเป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่รวมกลุ่ม รู้จักบทบาทของสมาชิกในกลุ่ม ฝึกการสมาคม และฝึกเด็กในเรื่องของการปรับตัว

ด้านสติปัญญา การเล่นถือว่าเป็นการฝึกการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็กเป็นการฝึกในเรื่องการคิด และส่งเสริมจิตนาการของเด็ก

ดังนั้นสรุปได้ว่า  การเล่นมีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเตรียมประสบการณ์เพื่อการอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข  ความสนุกสนานเพลิดเพลิน  นอกจากนี้การสร้างและแสดงออกทางจินตนาการอันเป็นหัวใจสำคัญของกิจกรรมทางความคิดของเด็กที่มีอย่างมากมายให้เด็กได้เลือกเล่นอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ซึ่งกล่าวได้ว่าการเล่นเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

องค์ประกอบของการเล่น

          แลนด์เดร็ธ (1951) ได้เสนอรูปแบบในการเรียนของเด็กปฐมวัยว่า เป็นกระบวนการที่ “ก้าวหน้าจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง” (Form-to-To Process) ซึ่งประกอบไปด้วยกระบวนการในการเรียนรู้ที่มีความสัมพันธ์กัน 17 ประการ ดังนี้

1) เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้การใช้ประสาทสัมผัสเพื่อนําไปสู่การแยกประเภทและการเรียนรู้

สัญลักษณ์

2) เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้สิ่งที่เป็นไปโดยธรรมชาติเพื่อนําไปสู่การควบคุมการสร้างความสัมพันธ์การหาแนวทางของตน และการเลียนแบบในการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ร่างกาย

3) เด็กปฐมวัยจะพัฒนาการการออกเสียงอ้อแอ้เพื่อนําไปสู่การเรียนรู้ภาษา

4) เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้จากการอ่านภาพที่เป็นสัญลักษณ์ เพื่อนําไปสู่การอ่านหนังสือ

5) เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้จากการขีดเขี่ยเพื่อนําไปสู่การเรียนหนังสือ

6) เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้จากการได้รับประสบการณ์เพื่อนําไปสู่การศึกษาข้อมูล

7) เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้สิ่งที่ประหลาดมหัศจรรย์ เพื่อจะเข้าใจสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ

8) เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์และพืช เพื่อนําไปสู่การเรียนรู้ระบบของร่างกายและระบบนิเวศวิทยา

9) เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้จากการลากเส้นการแต้มสีและการละเลงสีเพื่อนําไปสู่การวาดภาพ

10)เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้จากการทําสิ่งต่างๆเพื่อไปสู่การใช้เครื่องมือง่าย ๆ และการพัฒนาทักษะในการสร้างงานฝีมือ

11) เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้จากการเขย่าและโยกตัวไปสู่การเต้นรํา

12) เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้จากการฮัมเพลงไปสู่การร้องเพลง

13) เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้การได้ยินเนื้อเพลง เพื่อนําไปสู่การฟังเพลง

14) เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้ที่จะตระหนักถึงความต้องการของผู้อื่น เพื่อนําไปสู่การอยู่ร่วมกับผู้อื่น

15) เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้จากการได้รับการดูแลเพื่อนําไปสู่การดูแลตนเอง

16) เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้ที่จะเป็นสมาชิกของบ้านหรือศูนย์เด็ก เพื่อนําไปสู่การเป็นสมาชิกของชุมชนและ

17) เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้สิ่งที่เป็น “ของฉัน” เพื่อนําไปสู่การรู้สึกว่า “ฉันเป็นใคร” เด็กจะเรียนรู้จากการใช้ประสารทสัมผัสทั้ง 5 โดยอาศัยประสบการณ์เดิมเพื่อจํานํามาพัฒนาการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และนํามาปรับใช้ในชีวิตประจําวันได้

ฟีนีย์และคนอื่น ๆ (Feeney and others, 1987) กล่าวถึงวิธีการที่เด็กปฐมวัยจะเกิดการเรียนรู้ว่า เด็กปฐมวัยจะเกิดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่หลากหลายซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะหรือความคิดรวบยอดเกินกว่าหนึ่งอย่างการเรียนรู้ของเด็กนั้น เด็กจะเรียนรู้โดยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

1) การเรียนรู้จากการเล่น (Learning Through Play) การเล่นเป็นวิธีการเรียนรู้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งนับได้ว่าเป็นการทํางานของเด็กการเล่นเป็นวิธีที่สําคัญมากที่เด็กจะทําความเข้าใจและรวบรวมประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้รับเข้าด้วยกัน การเล่นเป็นกิจกรรมที่น่าสนุกสนานที่เด็กเล่นเพื่อความพอใจของตนและผลงานที่ได้รับเป็นเป้าหมายรองขณะที่เด็กเล่นเด็กจะได้รับการกระตุ้นและเกิดสมาธิในการเล่น เด็กจะแสวงหาและเรียนรู้โลกที่เขาอยู่ ขณะการเล่นมีกิจกรรมหลากหลายที่เกิดตามมาโดยไม่รู้ตัว เช่น การเล่นสมมุติเด็กจะได้พัฒนาทางด้านร่างกายสังคม ได้แสดงออกซึ่งความคิดเรียนรู้ความคิดรวบยอด และสร้างสรรค์โดยครูไม่ต้องมีส่วนร่วม การเล่นจะเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดและความรู้สึกของเด็กบทบาของครูคือ ควรส่งเสริมการเล่น โดยจัดหาอุปกรณ์นานาชนิดใหม่ เช่น ทราย น้ํา บล็อก การวาดภาพ การเล่นสมมุติและส่งเสริมให้เด็กใช้สิ่งเหล่านี้ในการเล่น ประสบการณ์ตรงเป็นพื้นฐานสําคัญของการเล่น กิจกรรมที่ครูควรจัด ได้แก่ การไปทัศนศึกษา การเชิญวิทยากรมาบรรยาย และการจัดกิจกรรมที่ต้องมีการกระทําจริง เช่น เวลาเป็นองค์ประกอบที่สําคัญของการเล่น เพราะถ้ามีเวลามาก การเล่นและการเรียนรู้จะเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่า ถ้ามีเลาในการเล่นน้อยไป การเล่นก็จะไม่ช่วยให้เด็กเกิดประสบการณ์และไม่ช่วยให้เกิดพัฒนาการใดๆ แต่จะเป็นการเสียเวลา เสียพลังงานไปเปล่าๆถ้าเด็กได้เล่นแค่10-15 นาทีในการเล่น ขณะที่เล่นครูอาจจะตั้งคําถามที่กระตุ้นให้เด็กคิดและสร้างจินตนาการไปด้วย แต่ไม่ควรถามคําถามที่ยากจนเกินไป

2) การเรียนรู้โดยการมีปฏิสัมพันธ์กับครู (Learning Thoroughly traction With Teachers) การเรียนรู้ในลักษณะคือการเรียนรู้จากกิจกรรมที่ครูเตรียมขึ้นสามารถจัดได้ใน 3 ลักษณะคือ

2.1) การจัดประสบการณ์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง ในการมีปฏิสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง ครูจะสังเกตอารมณ์กระบวนการการเรียนรู้ของเด็กและการมีส่วนร่วมของเด็กจากการสนทนา และการตอบสนองของเด็กวิธีการนี้เป็นวิธีการที่เหมาะสมสําหรับการประเมินความรู้และทักษะของเด็ก ถ้าครูจะสอนทักษะหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ครูจะสังเกตอารมณ์กระบวนการเรียนรู้ของเด็กและการมีส่วนร่วมของเด็กจากการสนทนาและการตอบสนองของเด็กวิธีการนี้เป็นวิธีการที่เหมาะสมสําหรับการประเมินความรู้และทักษะของเด็ก ถ้าครูจะสอนทักษะหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ครูอาจจะต้องเตรียมกิจกรรมเสนอให้เด็กเป็นรายบุคคลหรือสําหรับเด็กพิเศษ การสอนเด็กแบบหนึ่งต่อหนึ่งครูควรให้เด็กอื่น ๆ ทํางานอื่น ๆ โดยมีผู้ช่วยหรือครูหรืออาสาสมัครช่วยดูแลเด็กทั้งชั้นขณะที่ครูสอนเด็กเป็นรายบุคคลการจัดประสบการณ์แบบหนึ่งต่อหนึ่งเป็นการสอนที่ดีได้ผลเร็วและมีคุณค่าและยังสร้างความสนใจ และทําให้เด็กเข้าใจได้ดีขึ้น เมื่อครูพูดถึงเด็กกับอุปกรณ์การเล่นการอ่านนิทานและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับสีใดสีหนึ่งซึ่งนั่นเป็นประสบการณ์เรียนรู้ที่มีความหมายมากที่สุด แม้ว่าครูจะไม่สามารถจัดประสบการณ์ดังกล่าวให้แก่เด็กทุกคน ครูก็ควรหาโอกาสเช่นนี้ให้กับเด็กนักเรียนบ้างเป็นครั้งคราว

2.2) การจัดประสบการณ์แบบกลุ่มย่อย การจัดกิจกรรมเป็นกลุ่มย่อยนี้ควรจัดให้เด็ก 8 คนหรือน้อยกว่านั้นซึ่งในการจัดกิจกรรมกลุ่มย่อยนี้ครูอาจใช้สําหรับแนะนํากิจกรรม เนื้อหาหรือแนะแนวทางความสัมพันธ์กับเด็กอื่นๆ การจัดกิจกรรมดังกล่าวควรมีขนาดเล็กพอที่เด็กแต่ละคนจะสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือความคิดกับเด็กคนอื่นๆเพราะเด็กสามารถอดทนรอคอยได้และครูสมารถจะสังเกตการแสดงออกของเด็กหรือสามารถประเมินและอธิบายสิ่งต่างๆได้ทันทีในกลุ่มย่อย เด็กจะมีโอกาสพัฒนาทักษะที่สําคัญบางประการที่เขาไม่สามารถทําได้ในกลุ่มใหญ่ ทักษะดังกล่าวได้แก่ การฟัง การพูด การแก้ปัญหา การตัดสินใจอย่างมีเหตุผล การเป็นผู้นําและผู้ตาม การทําตามกฎเกณฑ์การทําข้อตกลงที่กลุ่มเลือก ในกลุ่มย่อย เด็กจะมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และมีความรับผิดชอบร่วมกัน

2.3) กิจกรรมกลุ่มใหญ่ (Large Group Experiences) กิจกรรมกลุ่มใหญ่จะเป็นกิจกรรมที่รวมเด็กทั้งหมดในชั้นเข้าไว้ด้วยกันเพื่อให้เด็กมีโอกาสทํากิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น แลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือรับฟังเรื่องราวต่างๆ การจัดกิจกรรมกลุ่มใหญ่จะดีในแง่การประหยัดเวลาและแรงงาน แต่ก็ไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดที่จะใช้สอนเด็กได้ทุกอย่าง การจัดกิจกรรมกลุ่มใหญ่จะได้ผลดีต่อเมื่อเด็กได้มีส่วนร่วมกิจกรรมอย่างเต็มที่หรือ ทํากิจกรรมอย่างอื่นอย่างใดร่วมกัน เช่น ร้องเพลง สังเกตหรือชมการแสดงที่เด็กสนใจ เช่น ฟังนิทาน หรือดูการเชิดหุ่น

เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วทั้งทางร่างกายอารมณ์จิตใจ สังคม และสติปัญญา เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้จากการกระทํา และการเล่น (Learning Through Doing and Playing) เด็ก ๆ ชอบเลียนแบบ มักจะทําสิ่งหนึ่งสิ่งใดซ้ำ ๆ ชอบค้นหา ปฏิบัติทดลอง เปรียบเทียบและหาความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ เขาสามารถแยกแยะหาวิธีการและหาวิธีการเพื่อให้ได้ข้อสรุป ดังนั้นการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ในช่วงวัยนี้จะมุ่งเน้นการตอบสนองธรรมชาติและความต้องการตามวัยของเด็กอย่างสมดุลเพราะเด็กจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อเด็กได้รับประสบการณ์ตรง ได้ฝึกการคิด แสดงออกอย่างอิสระและสามารถนําความรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์นั้น เป็นการจัดประสบการณ์เพื่อช่วยให้เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้จะต้องทําให้เด็กเกิดความพร้อมทางภาวะแล้ว ประสบการณ์การเรียนรู้ที่จัดให้เด็กจึงมีส่วนทําให้เด็กเกิดการเรียนรู้เด็กปฐมวัยพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆและพร้อมเรียนรู้ในสิ่งที่ยากขึ้นเด็กปฐมวัยควรได้รับการฝึกฝน ทักษะ ที่เขาได้เรียนรู้แล้ว เราจึงจำเป็นที่จะมุ่งเน้นพัฒนาทักษะให้แก่เด็กมากกว่าการมอบความรู้ประกอบกับการเรียนรู้ในสังคมปัจจุบันที่มีการพัฒนาและก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วครูและผู้ปกครองควรจัดประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปจากทักษะเดิมโดยเพิ่มความยากขึ้นไปเล็กน้อยจากสิ่งที่เด็กปฐมวัยสามารถเรียนรู้ได้ดังนั้นการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้จึงมีลักษณะผสมผสานเชิงบูรณาการมีความท้าทายตามช่วงวัย

หลักการ แนวคิดและทฤษฎี

การเล่น

ความคิดที่ว่าเด็กเรียนโดยการเล่น เป็นความคิดที่เริ่มต้นโดย ฟรอเบล (Froebel) ผู้ซึ่งสร้างระบบโรงเรียนบนพื้นฐานของคุณค่าทางการศึกษาของการเล่น ฟรอเบลถือว่าการเล่นเป็นพัฒนาการขั้นสูงสุดของเด็ก และพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็กจะเกิดขึ้นโดยการเล่นการเล่นเป็นกิจกรรมส่วนใหญ่ในชีวิตของเด็ก การเล่นช่วยให้เด็กเรียนรู้สิ่งแวดล้อมและช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา นักการปฐมวัยศึกษาจึงมักจะจัดโปรแกรมการศึกษาที่ผนวกการเล่นไว้เป็นส่วนสําคัญของหลักสูตร โดยจัดการเล่นเป็นกิจกรรมประจําวันที่ขาดไม่ได้การเล่นเป็นการระบายพลังงานที่เหลือ การเล่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติการเล่นเป็นการเตรียมตัวสําหรับการเป็นผู้ใหญ่ การเล่นเป็นการพักผ่อน หรือ การเล่นเป็นการกระทําซ้ำ ดังรายละเอียดในทฤษฎีการเล่นต่อไปนี้ ทฤษฎีการเล่นแบ่งออกเป็น 4 ทฤษฎี (Mitchell and Mason, 1948) คือ 1) ทฤษฎีคลาสสิก (Classical Theories) 2) ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theories) 3) ทฤษฎีพัฒนาการสติปัญญา ( Cognitive-developmental Theories) และ 4) ทฤษฎีสิ่งแวดล้อม (Ecological Theories)

ทฤษฎีการเล่น

ทฤษฎีการเล่น ได้มีผู้พยายามที่จะอธิบายความหมายของการเล่นหลายประการ ดังนี้

อีริคสัน (Erikson, 1963) เชื่อว่า การเล่นช่วยให้เด็กได้ฝึกหัด ทดลอง และเรียนรู้สถานการณ์ของการเป็นผู้ใหญ่ การเล่นเป็นกระบวนการต่อเนื่องของความสัมพันธ์ของความจริงทางด้านจิตใจและสังคม ความคิดของฟรอยด์และอีริคสัน เด็กจะมีพัฒนาการทางการเล่นไปตามขั้นตอน ดังนี้

1) ระยะร่างกายไปหาของเล่น (Auto cosmic) เป็นระยะที่เด็กมีความสุขจากการได้สัมผัสร่างกายของตนเองหรือมารดา

2) ระยะของเล่นไปสู่การเล่น (Microsphere)เป็นช่วงที่เด็กสร้างโลกของตนเองโดยการเล่นสมมติกับของเล่นขนาดเล็ก เช่น ตุ๊กตา บ้าน ฯลฯ

3) ระยะการเล่นไปสู่การทํางาน (Macrosphere) เด็กจะมีพฤติกรรมการเล่นสมมติตัวเองในบทบาทอาชีพต่าง ๆ เช่น พิมพ์ดีด รับโทรศัพท์ทําครัว เป็นต้น เป็นการเล่นที่เด็กได้สร้างโลกของการทํางานร่วมกับผู้อื่น

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ได้อธิบายว่า การเล่นจะถูกนําไปโยงกับความเป็นผู้ใหญ่ภายในตัวเด็กเมื่อเด็กเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากเกินควบคุม เด็กจะสร้างเรื่องราวสมมติขึ้น โดยการเล่นที่ใช้จินตนาการความคิดฝันและเล่นซ้ํา ๆ หลายครั้ง เพลเลอร์ (Peller, 1959) กล่าวว่า การเล่นเป็นการเก็บรวบรวมกระบวนการที่ต้องเผชิญกับความคับข้องใจ ความกังวล ความผิดหวัง ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจําวัน ซึ่งกระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่เป็นไปอย่าง ช้า ๆ และมั่นคง การเล่นช่วยให้เด็กเรียนวิธีการควบคุมตัวเอง โดยไม่ต้องสูญเสียความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับตนเอง (Freud, 1965) ตามความคิดของฟรอยด์การเล่นเป็นทางออกให้เด็กได้แสดงความรู้สึก

ทฤษฎีพัฒนาการสติปัญญา ขณะที่ทฤษฎีจิตวิเคราะห์เน้นเกี่ยวกับพฤติกรรมการเล่นของ แต่ละบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับพัฒนาการด้านอารมณ์และด้านสังคมเพียเจท์ (Piaget) ผู้นําทางทฤษฎีสติปัญญากล่าวว่า การเล่นเกิดขึ้นภายในจิตใจของเด็กและเป็นผลจากสถานภาพของการพัฒนาด้านสติปัญญา การเล่นของเด็กเริ่มตั้งแต่แรกเกิดในวัยทารกเด็กจะเลียนแบบและกิริยาจากบุคคลหรือสัตว์จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว และจะค่อย ๆ พัฒนาเป็นการเล่นสามรูปแบบด้วยกันคือ การเล่นฝึก (Practice Play) จะเริ่มตั้งแต่เด็กอยู่ในขั้นการใช้ประสาทสัมผัส และเมื่อเด็กอายุประมาณ 2 ขวบจะเริ่มการเล่นโดยใช้สัญลักษณ์ (Symbolic Play) และจะพัฒนาไปเป็นการเล่นที่มีกฎกติกา (Games with Pules) เพียเจท์ยังกล่าวอีกว่า การเล่นเกมที่มีกฎและกติกานั้น จะเกิดขึ้นตลอดช่วงอายุของคน

ทฤษฎีสิ่งแวดล้อม ทฤษฎีสิ่งแวดล้อมกล่าวถึงโครงสร้าง และสถานการณ์ที่ทําให้การเล่นของเด็กแตกต่างกันไป ซึ่งหมายถึงสิ่งเร้าที่ทําให้เด็กเกิดความสนใจ เช่น ชนิดของวัตถุ หรือชนิดของกิจกรรมการเล่น รวมไปถึงเพศของเพื่อนเล่นตลอดจนการควบคุมของผู้ใหญ่ด้วย (Nilwichean, H. 1992).

ทฤษฎีคลาสสิก ทฤษฎีนี้เกี่ยวข้องกับสาเหตุและผลของการเล่นประกอบด้วยทฤษฎีต่าง ๆ ดังนี้

1) ทฤษฎีพลังงานเหลือใช้ (The Surplus Energy Theory) ทฤษฎีนี้เชื่อว่าโดยธรรมชาติและมนุษย์จะเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้น และสะสมพลังงานไว้ในตัว ถ้าหากมีพลังงานที่เหลือจากการใช้ดํารงชีวิตพื้นฐาน มนุษย์ก็จะใช้ไปในทางบันเทิงโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย เมื่อใดที่เราเห็นเด็กๆออกไปวิ่งเล่นเต็มไปทั้งสนามเด็กเล่น ความคิดของทฤษฎีนี้ดูเหมือนจะเป็นจริง

2) ทฤษฎีฝึกหัด (The Pre-Exercise Theory) ทฤษฎีนี้ยืนยันว่าเด็กเล่นเพื่อฝึกหัด และทําให้สัญชาตญาณการอยู่รอดเป็นผลสมบูรณ์เมื่อเด็กเกิดมาใหม่ ๆ ประสาทสัมผัสต่าง ๆ ยังไม่สมบูรณ์เด็กจึงต้องอาศัยการเล่นเพื่อเป็นการทดลองพัฒนาประสาทสัมผัสอันจะส่งผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญาและอารมณ์ต่อไป การฝึกหัดและการทดลองจะช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะที่จําเป็นต่อการอยู่รอดพอ ๆ กับทักษะในการดํารงชีวิต

3) ทฤษฎีการทําซ้ำ (The Recapitulation Theory) ทฤษฎีนี้เชื่อว่า การเล่นของเด็กเป็นการนํากิจกรรมของบรรพบุรุษของตนมาแสดงใหม่อีกครั้งหนึ่ง เช่น การเล่นน้ํา ขุดดิน ปีนต้นไม้พฤติกรรมการเล่นของเด็กพัฒนาไปคล้ายกับขั้นการพัฒนาทางวัฒนธรรมของมนุษย์การเล่นจะช่วยให้เด็กลบล้างพฤติกรรที่ไม่พึงประสงค์ของมนุษย์ออกไป การเล่นเป็นการเตรียมตัวเด็กให้ก้าวไปสู่กิจกรรมที่ทันสมัย ซึ่งทันกับโลกที่เจริญก้าวหน้า

4) ทฤษฎีนันทนาการ (The Recreation Theory) ทฤษฎีนี้จะตรงกันข้ามกับทฤษฎีพลังงานเหลือใช้ขณะที่ทฤษฎีพลังงานเหลือใช้กล่าวว่า คนเรามีพลังงานเหลือใช้และต้องการที่จะกําจัดส่วนเกินทิ้งไป ทฤษฎีนันทนาการแนะนําว่าพลังงานของคนเราสิ้นเปลืองหมดไปจะต้องหาวิธีสะสมไว้การทํางานจะทําให้สูญเสียพลังทางร่างกายและจิตใจ การเล่นจะทําให้สดชื่นและเรียกพลังงานให้กลับคืนมา เพื่อจะได้เริ่มทํางานใหม่ และ

5) ทฤษฎีการพักผ่อน (The Relaxation Theory) ทฤษฎีนี้เป็นส่วนขยายของทฤษฎีนันทนาการ ซึ่งกล่าวถึงภารกิจของประชาชนในปัจจุบันว่าประสบกับความเมื่อยล้า เหน็ดเหนื่อยจากการทํางานทั้งทางสมองและกล้ามเนื้อ จึงควรมีกิจกรรมการเล่นเพื่อผ่อนคลายความเครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นที่ต้องใช้กล้ามเนื้อใหญ่

Weeramanodham, A. (2006: 5) ได้กล่าวถึงความสําคัญในการเล่นของเด็กปฐมวัยว่า การเล่นเป็นความสามารถที่มีมาแต่กําเนิด เป็นปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติโดยจะช่วยให้เด็กปฐมวัยได้พัฒนาสิ่งต่อไปนี้ 1) เรียนรู้ความคิดรวบยอดและสิ่งต่าง ๆ  2) พัฒนาทักษะทางสังคม 3) พัฒนาทักษะทางด้านร่างกาย4) ควบคุมสถานการณ์ของชีวิต 5) ฝึกกระบวนการทางภาษา 6) พัฒนาทักษะในการเรียนรู้หนังสือ

7) พัฒนาทักษะในความภาคภูมิใจในตัวเอง และ 8) เตรียมตัวเพื่อบทบาทชีวิตของการเป็นผู้ใหญ่อาทิเรียนรู้ที่จะมีอิสระทางความคิด การตัดสินใจ การให้ความร่วมมือ และการทํางานร่วมกับผู้อื่น

จากการศึกษาทฤษฎีที่กล่าวมาข้างต้นนี้แต่ละทฤษฎีได้ให้ความหมายและความสําคัญของการเล่นโดยสรุปดังนี้

1) การเล่นคือการเรียนรู้ตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับเด็ก

2) การเล่นทําให้เด็กสนุกสนานเพลิดเพลิน เกิดจินตนาการ

3)การเล่นช่วยให้เด็กได้ฝึกคิด คิดสร้างสรรค์คิดรูปแบบการเล่น คิดแก้ปัญหา เพื่อนําไปสู่จุดหมายของการเล่น

4) การเล่นช่วยให้เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่อย่างขึ้นจากเดิมและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

5) การเล่นเป็นการเตรียมเด็กให้กล้าที่จะเรียนรู้ไปสู่กิจกรรมที่ทันต่อยุคสมัยในโลกที่มีความ

เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

6) การเล่นช่วยส่งเสริมการทํางานอย่างเป็นระบบของร่างกายรวมไปถึงการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5

7) วิธีการเล่นที่เหมาะสมต่อพัฒนาการและมีความท้าท้ายจะทําให้เด็กเกิดความสนใจและอยากจะเล่น

8) การเล่นช่วยให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อครูผู้ปกครอง เพื่อน และสามารถช่วยให้เด็กปรับตัวเพื่ออยู่ใน

สังคมต่อไปในอนาคต

          การเล่นมีความสําคัญอย่างมากต่อพัฒนาการของเด็กเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเตรียมประสบการณ์เพื่อการอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ความสนุกสนานเพลิดเพลิน นอกจากนี้การสร้างและแสดงออกทางจินตนาการอันเป็นหัวใจสําคัญของกิจกรรมทางความคิดของเด็กที่มีอย่างมากมายให้เด็กได้เลือกเล่นอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ซึ่งกล่าวได้ว่าการเล่นเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์สังคม และสติปัญญาการเล่นเปรียบเสมือนการทํางานของเด็ก การเล่นจะช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะของตนเอง เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากผ่านการเล่น ซึ่งความรู้ทั้งหลายจะสั่งสมเป็นพื้นฐานในการดํารงชีวิตในวันข้างหน้า ครูผู้ปกครองต้องช่วยเหลือเพื่อพัฒนาเด็กในศตวรรษที่ 21 โดยให้เด็กได้ทํากิจกรรมเพื่อเพิ่มทักษะ คอยจัดกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านการเล่นเพื่อพัฒนาเด็กทุก ๆ ด้านอย่างสมดุล สําหรับเด็กแล้วกิจกรรมที่จะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ดีนั้นก็คือการเล่น ของเล่นที่เด็กเล่นไม่จําเป็นต้องมีราคาแพง แต่ควรเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน สนุกสนาน สร้างสรรค์สร้างปัญญา สร้างความชํานาญในการในการใช้ร่างกาย และการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าในขณะที่เด็กเล่น การเลือกของเล่นให้เด็กจึงมีความสําคัญอย่างยิ่ง ควรจะต้องคํานึงถึง ประโยชน์ประหยัด ประสิทธิภาพ และปลอดภัยประโยชน์ เป็นของเล่นที่พัฒนาด้านร่างกายและสติปัญญา มีคุณค่าก่อให้เกิดความคิดเชิงสร้างสรรค์กระตุ้นให้อยากเล่น อยากสนุก และได้ความรู้จากการเล่น ประหยัด มีความคงทน แข็งแรง ไม่จําเป็นต้องเป็นของเล่นที่แพง ประสิทธิภาพ มีคุณค่าสร้างสรรค์ทําให้เด็กเกิดจินตนาการ ปลอดภัย ไม่เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายในการเล่น

การส่งเสริมการเล่นเพื่อเด็กปฐมวัยในศตวรรษที่ 21 ครูผู้ปกครองควรปล่อยให้เด็กได้เล่น สําหรับเด็กแล้วการเล่นเป็นส่วนสําคัญของชีวิตมีคุณค่าต่อการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา การเล่นช่วยส่งเสริมการทํางานเป็นทีม เป็นกลุ่ม เพื่อความสําเร็จของเป้าหมายเดียวกัน ทั้งนี้เด็กจะเรียนรู้การแบ่งปันเรียนรู้การระวังรักษาของเล่นร่วมกันกับเพื่อนและเรียนรู้การเข้าสังคม การเล่นทําให้เด็กเรียนรู้การรู้จักดัดแปลง คิดยืดหยุ่น เช่นการเล่นสร้าง จากไม้บล็อกเป็นบ้าน ก้านกล้วยเป็นม้า การเล่นยังช่วยฝึกให้เด็กเรียนรู้การรอคอย ฝึกความอดทน ซึ่งจะเป็นลักษณะนิสัยที่ติดตัวและเป็นประโยชน์ต่อเด็กในอนาคตการเล่นเกี่ยวกับบทบาทและอาชีพต่าง ๆ ของบุคคลในชุมชน ทําให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพ รวมถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับสังคม ซึ่งจะมีผลทําให้เด็กคิดถึงอนาคตและบทบาทของบุคคลต่าง ๆ ในสังคมเพราะการเล่นทําให้เด็กเกิดการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เช่น การเล่นทราย การวาดภาพ การเล่นสีน้ํา จะทําให้เขาได้พัฒนากล้ามเนื้อได้ฝึกการจําแนก การสังเกต และที่สําคัญคือเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กได้ทํากิจกรรมกลางแจ้งที่อาจต้องอยู่กลางแดดลม เช่น เล่นเครื่องเล่นสนาม การขี่จักรยาน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะทําให้เด็กได้ฝึกทักษะทั้งทางการมองเห็น การคิดตัดสินใจ และได้ฝึกการทรงตัว สิ่งสําคัญถัดมา ครูผู้ปกครองควรสื่อสารกับเด็ก สอนให้เด็กมีสติมีสมาธิในการฟัง โดยการเงียบและตั้งใจฟังสิ่งที่ได้ยิน หรือการสอนให้ลูกฟังเพลงเพียงอย่างเดียว โดยไม่ทํากิจกรรมอื่นควบคู่ไปด้วย

นอกจากนี้เมื่อลูกสามารถฟังได้แล้ว ครูผู้ปกครองควรให้โอกาสเด็กได้พูด สื่อความรู้สึกของตนเองออกมาด้วยซึ่งนั่นจะช่วยสอนการสื่อสารของเด็ก ที่จะพยายามบอกให้ถึงความรู้สึกและความต้องการของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นเด็กยังได้เรียนรู้มารยาทและจริยธรรมเบื้องต้น ซึ่งคือเรื่องของการให้เกียรติกันในการรับฟังสิ่งที่ผู้อื่นพูด และผู้อื่นก็ต้องฟังเราพูด ครู ผู้ปกครองควรตั้งคําถามเพิ่มเติมให้แก่เด็กเพื่อฝึกทักษะทางการคิดวิเคราะห์ควรตั้งคําภามแบบปลายเปิด ตั้งคําถามเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กเห็นหรือสิ่งที่เด็กเล่นและทํากิจกรรมหรือตั้งคําถามเกี่ยวกับเพลง เมื่อเด็กเข้าใจในการที่จะสื่อสารแล้วสิ่งสําคัญถัดมาครูและผู้ปกครองควรสอนเด็กเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีและปลูกฝังจิตสํานึกที่ดีงามให้กับเด็ก เพราะเป็นเรื่องที่สําคัญที่เด็กยุคปัจจุบันขาดไปคือ เรื่องของวัฒนธรรม มารยาททางสังคม และจิตสํานึก สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่ งที่จะต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กเพื่อให้ติดตัวของพวกเขาไปเมื่อโตขึ้น ดังนั้นพ่อแม่ไม่ควรเพิก เฉยต่อสิ่งเหล่านี้สอนให้รู้จักขอบคุณ ขอโทษ และสอนให้เห็นใจผู้อื่น ตักเตือนและบอกเหตุผลเมื่อเขาทําผิดเพื่อให้ลูกเข้าใจและไม่ทําอย่างนั้นอีก ทั้งนี้การควรปลูกฝังควรเริ่มสร้างระเบียบ ข้อตกลง เงื่อนไข อย่างง่าย ๆ ในเบื้องต้น เพื่อให้เด็กเรียนรู้ในการปรับตัวที่จําทําตามข้อตกลง หรือเงื่อนไข วัยเด็กไม่ใช่แค่เล่นเพียงอย่างเดียวแต่เด็ก ๆ จะต้องเริ่มหัดที่จะใช้ชีวิตอย่างมีระบบระเบียบบ้าง รวมไปถึงการเริ่มฝึกเรื่องระเบียบวินัย เพื่อเป็นการเรียนรู้ที่จะจัดการชีวิตอย่างเป็นขั้นตอน การเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตามกฎ ซึ่งต่อไปจะทําให้พวกเขาสามารถทําตามกฎหมายและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ผู้ปกครองควรควบคุมการใช้สื่อและเทคโนโลยีรวมไปถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่าย ทั้งโทรศัพท์มือถือ แทบเล็ตและอินเตอร์เน็ต สิ่งเหล่านี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เมื่อหากจําเป็นต้องใช้ควรมีการเลือกเกมที่เหมาะสมกับการพัฒนาสมองและทักษะของเด็กมีการจํากัดการใช้ให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้มีปัญหากับสายตา พ่อแม่เองก็จะควรเป็นตัวอย่างในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ด้วย โดยไม่ใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีเหล่านี้ตลอดเวลา เช่น ไม่เล่นหรือใช้งานในเวลาทานข้าว หรือทําการบ้าน ดังนั้นพวกเขาควรจะต้องได้รับการฝึกให้ช่วยเหลือตัวเอง ได้ลองตัดสินใจอะไรเองบ้างเพราะจะทําให้พวกเขาได้ฝึกทักษะในการคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจ ซึ่งอาจนําไปสู่ทักษะการเป็นผู้นําหรือทักษะอื่นๆ เช่น การเลือกของเล่น การเลือกสีที่ชอบ หรือการอดทนรอ ลองให้เด็กคิดหาวิธีการผ่านอุปสรรคบางอย่างเองบ้าง เพราะการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จะเกิดขึ้นหลังจากที่พวกเขาได้ใช้ความคิดในการตัดสินใจ

ดังนั้นการพัฒนาการเล่นของเด็กปฐมวัยในศตวรรษที่ 21 จึงเป็นสิ่งสําคัญที่มีคุณค่าอย่างมากเป็นการวางรากฐานการเรียนรู้ให้เด็กเพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะให้เต็มศักยภาพสามารถเผชิญและดํารงอยู่ในสังคมโลกที่มีกระแสของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนําไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต อย่างมีความสุข

หมายเลขบันทึก: 658475เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2018 19:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ธันวาคม 2018 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท