DLTV การศึกษาทางไกล


ความหมายของการศึกษาทางไกล

          พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2553) บัญญัติศัพท์ภาษาไทยของคำการเรียนอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีเลิร์นนิง หมายถึง การศึกษาทางไกลรูปแบบหนึ่งซึ่งผู้เรียนไม่จำเป็นต้องไปยังสถานศึกษาด้วยตนเอง สามารถเรียนได้ตามช่วงเวลาที่สะดวก เรียนได้ตามความถนัด และความสนใจ  แต่ต้องอาศัยเรียกเนื้อหาสาระ แบบฝึกหัด ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต สามารถโต้ตอบกับผู้สอน แลกเปลี่ยนความรู้ หรือแนวคิดกับผู้เรียนจากสถานที่อื่นผ่านระบบเครือข่ายเช่นกัน  รวมทั้งมีระบบการวัดและประเมินผลเพื่อให้ได้คุณภาพและมาตรฐานตามที่สถาบันหรือหน่วยจัดการศึกษากำหนด

          ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2531 อ้างถึงใน ภารดี รัตนอุดม, 2538, หน้า 42) การศึกษาทางไกล Distance Education การเรียนทางไกลหรือการสอนทางไกล หมายถึง ผู้เรียนและผู้สอนอยู่ไกลกัน ใช้วิธีการถ่ายทอดเนื้อหาสาระและประสบการณ์โดยผ่านสื่อประสมที่ช่วยให้ผู้เรียนที่อยู่ต่างถิ่นต่างที่กัน สามารถศึกษาหาความรู้ได้ด้วยตนเองในเลาเดียวกันหรือต่างเวลากัน โดยไม่มีชั้นเรียน ผู้เรียนและผู้สอนมีการพบปะกันน้อยครั้ง การศึกษาทางไกลยึดแนวทางการศึกษาตลอดชีวิตมีรูปแบบวิธีการที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เยาว์และผู้ใหญ่ อาศัยเทคโนโลยีการศึกษา และสื่อสารมวลชนสมัยใหม่ เป็นรูปแบบการศึกษาที่ผสมผสานกันทั้งในและนอกระบบโรงเรียน

          ภุชงค์ สิริบวรสวรรค์ (2556) การศึกษาทางไกล (Distance Education) หมายถึง ระบบการศึกษาที่ผู้เรียนและผู้สอนอยู่ ไกลกัน แต่สามารถทำให้เกิดการเรียนรู้ได้โดยอาศัยสื่อการสอนในลักษณะของสื่อประสม กล่าวคือ การใช้สื่อต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น ตำราเรียน เทปเสียง แผนภูมิ คอมพิวเตอร์ หรือโดยการใช้อุปกรณ์ทาง โทรคมนาคม และสื่อมวลชนประเภทวิทยุและโทรทัศน์เข้ามาช่วยในการแพร่กระจาย การศึกษาไปยังผู้ที่ปรารถนาจะเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวางทั่วทุกท้องถิ่น การศึกษานี้มีทั้งในระดับต้นจนถึงระดับสูงขั้นปริญญา

           วิจิตร ศรีสอ้าน (2529) ได้ให้ความหมายของ การเรียนการสอนทางไกล (Distance Learning) ว่าหมายถึง ระบบการเรียนการสอนที่ไม่มีชั้นเรียน แต่อาศัยสื่อประสม อันได้แก่ สื่อทางไปรษณีย์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการสอนเสริม รวมทั้งศูนย์บริการการศึกษาเป็นหลัก โดยมุ่งให้ผู้เรียนเรียนได้ด้วยตนเองอยู่กับบ้าน ไม่ต้องมาเข้าชั้นเรียนตามปกติ นอกจากนี้ยังให้ความหมายของ “การสอนทางไกล” ว่าหมายถึง การสอนที่ผู้เรียนผู้สอนอยู่ไกลกันแต่สามารถมีกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกันได้ โดยอาศัยสื่อประสมเป็นสื่อการเรียนการสอน โดยผู้เรียนผู้สอนมีโอกาสพบกันอยู่บ้าง ณ ศูนย์บริการการศึกษาเท่าที่จำเป็น การเรียนรู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากสื่อประสมที่ผู้เรียนใช้เรียนด้วยตนเองในเวลาและสถานที่ที่สะดวกการศึกษาทางไกล มีคำที่ใช้เรียกอย่างแพร่หลายอยู่ 3 คำคือ การศึกษาทางไกล (Distance Education) การสอนทางไกล (Distance Teaching) และ การเรียนทางไกล (Distance Learning) ซึ่งไม่ว่าจะใช้คำเรียกใดก็จะมีความหมายใกล้เคียงกัน แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกัน ดังนี้คือ

                    1. การศึกษาทางไกล (Distance Education) หมายถึง ระบบของการจัดการศึกษาแบบหนึ่งที่ผู้สอนและผู้เรียนไม่ต้องมานั่งอยู่ในห้องเรียน คืออยู่ห่างไกลจากนักการจัดการเรียน ได้อาศัยสื่อประเภทต่าง ๆ ที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เช่น สิ่งพิมพ์เครื่องมือจักรกล และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ความหมายของการศึกษาทางไกลจึงมองความสำคัญหรือมีจุดเน้นที่ระบบของการให้การศึกษาที่เน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน
                    2. การสอนทางไกล (Distance Teaching) หมายถึง กระบวนการเรียนการสอนที่มีความยืดหยุ่นในเรื่องของสถานที่ เวลา โดยถือเอาความสะดวกและความพร้อมของผู้เรียนเป็นหลัก ลักษณะการสอนที่สำคัญคือ เปิดโอกาสในการเลือกวิธีการเรียนการสอนได้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าผู้เรียนจะอยู่ที่ใด มีการใช้สื่อการเรียนหลาย ๆ อย่าง ผู้เรียนไม่ต้องมานั่งเรียนในห้องเรียนและไม่ต้องมีครูสอนประจำ
                    3. การเรียนทางไกล (Distance Learning) หมายถึง รูปแบบทางการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับความรู้และประสบการณ์จากสื่อการเรียนประเภทต่าง ๆ ผ่านทางระบบการสื่อสารมวลชนโดยมิต้องเข้าไปนั่งเรียนในห้องใดห้องหนึ่งหรือที่ใดที่หนึ่ง การเรียนรู้ทางไกลจึงมีจุดเน้นที่บุคคลแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากสื่อสารมวลชนประเภทต่าง ๆ นั่นเอง



ความเป็นมาของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

          กรมสามัญศึกษาประสบปัญหาการขาดแคลนครูที่สอนระดับมัธยมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนที่อยู่บริเวณชายแดน ต่อมานายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ผู้จัดการโรงเรียนวังไกลกังวลตั้งแต่ปี 2522 และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ได้ให้การสนับสนุนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์จำนวน ๓๕ โรงเรียนทั่วประเทศ หารือประสานงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและอธิบดีกรมสามัญศึกษา ในการถ่ายทอดการเรียนการสอนผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวล หัวหิน อันเป็นโรงเรียนราษฎร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ช่วยพัฒนามาตามลำดับจนเป็นโรงเรียนตัวอย่าง เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกเมื่อปี 2539 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่โรงเรียนวังไกลกังวลโดยทรงแนะนำให้สอนวิชาชีพ เป็นต้นกำเนิดของวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล

          เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2538 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ประกอบพิธีเปิดการเรียนการสอนการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ออกอากาศเป็นปฐมฤกษ์ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการและหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ เป็นกรรมการบริหาร และมีการเลือกตั้งประธานกรรมการบริหารได้แก่นายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ

          เพื่อแก้ไขการขาดแคลนครูในชนบทข้างต้น มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมดำเนินงานมาแล้วเป็นปีที่ ๖ สามารถถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษา ขยายเครือข่ายไปยังโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดทั่วประเทศประมาณ 2,700 โรงเรียน โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนอื่น ๆ ประมาณ 300 แห่ง รวม 3,000 โรงเรียน มีนักเรียนที่ได้รับพระราชทานการศึกษาจากโรงเรียนวังไกลกังวล ประมาณ 2 ล้านคน สมาชิก UBC อีก 350,000 คน และประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ได้แก่กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม นอกจากการถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษาแล้ว สถานีวิทยุโทรทัศน์ฯ วังไกลกังวล ยังทำการถ่ายทอดรายการการศึกษาชุมชน หลักสูตรวิชาชีพของวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล (ระยะสั้นและปกติ จนถึง ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตวังไกลกังวล และรายการของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในเรื่องเกี่ยวกับรายการต่าง ๆ และการดำเนินการของสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานคำแนะนำ และพระราชทานรายการชื่อ “ศึกษาทัศน์” ออกอากาศทุกวัน ยิ่งไปกว่านั้น สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมวังไกลกังวล ยังเป็นที่ฝึกงานของนักศึกษาปีสุดท้าย และนักศึกษาฝึกหัดจากสถาบันต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันราชภัฏต่าง ๆ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาลัยนานาชาติ ชิลเลอร์ สแตมฟอร์ด หัวหิน (ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวง, 2554)



วัตถุประสงค์ของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมชูปถัมภ์ ได้ระบุวัตถุประสงค์ของการศึกษาทางไกลไว้ในแนวทางการดำเนินงานจัดการเรียนการสอน โดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ให้ได้มาตรฐานไว้ดังนี้
      1. เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV)
          2. เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกล ผ่านดาวเทียมให้ได้มาตรฐาน
          3. เพื่อเป็นแนวทางในการนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้ได้มาตรฐาน


แนวทางการดำเนินงาน

1. การดำเนินงานของสถานศึกษา
             1) วางแผนการดำเนินงาน

                 1.1 แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานฝ่ายต่าง ๆ
                 1.2 ศึกษา “มาตรฐานการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV)”
                 1.3 โรงเรียนประเมินตนเองตาม “มาตรฐานการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV)” (ประเมินก่อนการดำเนินงาน)
                 1.4 รายงานผลการประเมินตนเอง ผ่านระบบ ออนไลน์ นำผลการประเมินตนเองเพื่อกาหนดแผนการดาเนินงาน เพื่อการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้เป็นไปตามมาตรฐาน

             2) ขับเคลื่อนการดำเนินงาน
                 
2.1 จัดประชุมชี้แจงแผนการดำเนินงานให้ทุกฝ่ายรับทราบและเข้าใจตรงกัน
                 2.2 กำหนดปฏิทินการดำเนินงาน
                 2.3 ดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

             3) สรุป และรายงานผลการดำเนินงาน
                 3.1 ประเมินตนเองตาม “มาตรฐานการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV)” (ประเมินหลังการดำเนินงาน)
                 3.2 รายงานผลการประเมินตนเอง ผ่านระบบ ออนไลน์
                 3.3 จัดทำข้อมูล สารสนเทศ ผลการประเมินตนเอง

             4) พัฒนางานอย่างต่อเนื่อง
                 นำข้อมูลสารสนเทศ ที่ได้จากการประเมินผลการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ไปใช้ โดยการวิเคราะห์จุดเด่น และจุดที่ควรพัฒนา เพื่อนำไปพัฒนางานในส่วนที่เกี่ยวข้อง



แอพพลิเคชั่น DLTV สำหรับอุปกรณ์มือถือ

          แอพพลิเคชั่น DLTV สำหรับชมช่องของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม สำหรับบุคคลทั่วไปโดยรับชมผ่านสมาร์ทโฟน แท็ปเลต รองรับระบบ IOS เวอร์ชั่น 11.0 ขึ้นไปและ Android เวอร์ชั่น 4.0 ชึ้นไป ซึ่งภายในแอพพลิเคชั่นสามารถใช้งานเมนูได้ดังนี้

          1. สามารถชมรายการสดแบ่งตามชั้นเรียน DLTV 1 – 15
          2. สามมารถรับชมรายการย้อนหลังได้ Video on Demand
          3. สามารถตั้งการแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อรับชมรายการที่ต้องการได้
          4. สามารถสนทนาในระบบ แชท ไลค์ และแชร์ไปยังสังคมหรือโซเซียลมีเดียได้



เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

          จรรยา พลสมัคร (2549, บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเรื่องการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ระดับประถมศึกษา ตามโครงการโรงเรียนวังไกลกังวล: กรณีศึกษากลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอนระดับประถมศึกษาตามกลุ่มสาระวิชา และครูผู้รับผิดชอบงานจัดการศึกษาทางไกล ที่มีต่อการดำเนินงานด้านการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 32 คน ครูผู้สอนระดับประถมศึกษาตามกลุ่มสาระวิชา จำนวน 174 คน ครูผู้รับผิดชอบงานจัดการศึกษาทางไกลจำนวน 34 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 240 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบแบ่งชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .92 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

          ผลการศึกษาพบว่า ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน ครูผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษาทางไกลกลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ มีความคิดเห็นต่อการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ระดับประถมศึกษา มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการจัดการ ด้านทรัพยากรการบริหาร ด้านการจัดการเรียนการสอน และด้านคุณภาพรายการโทรทัศน์การศึกษา มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก

          มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์และศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดทำเอกสาร “แนวการดำเนินงานการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ให้ได้มาตรฐาน” ฉบับนี้ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้ที่เกี่ยวข้องมีแนวทางการดำเนินงาน ได้สร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ วัตถุประสงค์ เป้าหมายการดำเนินงาน มาตรฐานการจัดการเรียนการสอน การจัดการเรียนการสอน DLTV ให้ได้มาตรฐาน การนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการเรียนการสอนโดย DLTV



เอกสารอ้างอิง

          พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (2553) อีเลิร์นนิง, 3 กันยายน 2561. http://www.royin.go.th/

          ชัยยงค์ พรหมวงศ์. (2538). ห้องสมุดกับการศึกษาทางไกล (Library and Distance Education), 16(2), 41-50.

          ภุชงค์ สิริบวรสวรรค์. (2556). การศึกษาทางไกล (Distance Learning) [เว็บบล็อก]. สืบค้นจาก http://kasemee.blogspot.com/2013/02/blog-post_6091.html

          วิจิตร ศรีสอ้าน. (2529). การศึกษาทางไกล Distance Education. กรุงเทพฯ :  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

          ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวง. (2554). โครงการศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม. 3 กันยายน 2561, จากเว็บไซต์: http://www.moe.go.th/5DEC/index.php?option=com_content&view=article&id=23&Itemid=29

          จรรยา พลสมัคร. “การจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ระดับประถมศึกษาตามโครงการโรงเรียนวังไกลกังวล: กรณีศึกษากลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์” รายงานวิจัย หลักสูตรปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารทั่วไป วิทยาลัยการบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยบูรพา, 2549


หมายเลขบันทึก: 658163เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2018 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2018 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท