คำแนะนำการฝึกงาน จากคาบวิชาสัมนาที่ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายในฐานะวิทยากรพิเศษ


นี่เป็นคำแนะนำที่ผมได้ให้ไว้เมื่อได้รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษในคาบวิชาสัมนาวันนี้ครับ เห็นว่ามีประโยชน์ต่อนักศึกษา อันนี้เอาไปแชร์ได้ไม่หวงครับ แต่ถ้าแชร์แล้วรบกวนบอกด้วยว่าต้นทางมาจากผมที่บล็อกนี้ https://www.gotoknow.org/user/decha1975/profile

เริ่มกันเลย

การหาที่ฝึกงานที่เราถูกใจ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ วันนี้อาจารย์จึงมาให้คำแนะนำกับนักศึกษาในเรื่องของขั้นตอนที่สำคัญ ที่จะทำให้นักศึกษามีโอกาสหาที่ฝึกงานที่ถูกใจ ตรงกับความต้องการ ได้มากขึ้น

ขั้นตอนแรกเลยคืออะไร? Google? ไม่ใช่นะครับนักเรียน เรื่อง Google หาข้อมูลของบริษัทสำคัญก็จริง แต่ว่ายังมีสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นอีก มันคือ การเข้าใจแรงจูงใจของตัวเองก่อน เมื่อเราเข้าใจตัวเองแล้ว เราจะสามารถกรองและเลือกเฉพาะบริษัทที่ตรงกันได้

แรงจูงใจของตัวเอง

แรงจูงใจในการฝึกงาน
แรงจูงใจในการฝึกงาน

แรงจูงใจของเราคืออะไรครับ หลายๆคนมักตอบว่ามันคือการหาที่ฝึกงาน ให้เราได้ฝึกงาน ได้ประสบการณ์ และผ่านการฝึกงาน ผ่านวิชานี้ไป ใช่ครับ แรงจูงใจทั่วๆไปมันก็คือสิ่งนี้นี่แหล่ะ

การที่มหาวิทยาลัยบรรจุการฝึกงานและบังคับให้นักศึกษาไปฝึกงาน มันมาจากการที่มหาวิทยาลัยต้องการให้คุณออกไปพบกับโลกภายนอกนั่นเอง

ถ้าคุณอยู่ในระดับชั้นปี1 หรือปี2 สิ่งที่คุณจะได้รับจากการฝึกงานก็คือประสบการณ์ว่าชีวิตจริงในการทำงานมันเป็นอย่างไร ได้เรียนรู้สกิลที่ไม่ได้สอนในมหาวิทยาลัย อย่างเช่นการสื่อสารกับผู้ใหญ่ในวัยทำงาน

จริงๆแล้วนักศึกษาไม่จำเป็นที่จะต้องเลือก เลือก เลือกอยู่นั่นแหล่ะ ไม่เจอที่พอใจสักที จริงๆแล้วนี่เป็นการฝึกงานครั้งแรกของนักศึกษา แต่อย่าลืมนะครับว่า มันไม่ใช่การฝึกงานครั้งสุดท้าย ผมไม่ได้ขู่ว่าคุณจะไม่ผ่านฝึกงานนะครับ แต่ผมจะบอกว่า ในชีวิตของคนเรา สามารถฝึกงานได้หลายครั้ง

และสิ่งที่สำคัญที่สุดจริงๆที่คุณจะได้รับจากการฝึกงานก็คือ ประสบการณ์ในการฝึกงานนี้จะมีประโยชน์ต่ออนาคตของคุณเมื่อไปทำงานจริงๆ ดังนั้นในตอนนี้ผมอยากให้การบ้านกับทุกคน คืนนี้ กลับไปคิดดูดีๆว่า จริงๆแล้วอนาคตเราเมื่อเรียนจบไปแล้ว อยากจะทำงานอะไร

นั่นคือแรงจูงใจของแต่ละคนที่ผมพูดถึงตอนแรกสุด

เมื่อมั่นใจแล้วว่าแรงจูงใจของตัวเองคืออะไร อนาคตของเราจะไปเส้นทางไหน นั่นแหล่ะ คุณก็แค่เลือกฝึกงานกับบริษัทที่อยู่ในเส้นทางนั้น

ไม่ใช่แค่พวกเราที่ต้องสนใจเรื่องแรงจูงใจตรงกันหรือเปล่า บริษัทเองก็สนใจ สนใจมากกว่าเราซะด้วยสิ

มีหลายบริษัท ที่เลือกเด็กฝึกงานเหมือนกัน และสัมภาษณ์คุณลงลึกไปเลยด้วย เช่นบางที่จะถามคุณว่า คิดว่าตัวเองในอีก 5 ปีจะทำอะไรอยู่

ถ้าคำตอบของคุณคือ ทำงานในเส้นทางเดียวกันกับตำแหน่งที่คุณไปสมัคร เขาจะรักคุณทันที ใบสมัครของคุณจะถูกโยนลงในกล่อง "รายชื่อที่รับ" (หรือถ้าเป็น email ก็จะเข้าไปอยู่ในโฟลเดอร์นี้)

ถ้าคำตอบของคุณคือ ไม่รู้ ไม่แน่ใจ หรือรอดูอีกที ใบสมัครของคุณก็จะถูกโยนลงในกล่อง "ตัวสำรอง" ทันที คุณอาจจะโอเค แต่คุณสู้คนกลุ่มแรกไม่ได้

และในกรณีสุดท้าย ถ้าคุณตอบในคำตอบที่ไม่ได้ไปในเส้นทางเดียวกันเลย เช่น หนูอยากกลับบ้านไปช่วยธุรกิจของแม่ นั่นคือกรณีที่แย่ที่สุด ใบสมัครของคุณจะถูกโยนลงในกล่อง "ไม่มีอนาคตกับงานสายนี้" และคุณก็จะถูกปริเสธในเวลาต่อมา

ใจเขาใจเรานะครับ บริษัทมีใบสมัครวันๆนึงเป็นร้อยใบ การกรองขั้นต้นนี้จึงจำเป็นมาก และทำให้พวกเขาทำงานกันได้อย่างเป็นระบบ และรวดเร็วขึ้น

ส่วนมากแล้วใบสมัครที่ถูกโยนลงกล่องแรก มักจะมีมากกว่าจำนวนที่รับ ตรงนี้บริษัทก็จะมาเลือกใบสมัครอีกรอบนึง ซึ่งตรงนี้จะเป็นในเรื่องของคุณภาพล่ะ

ส่วนกล่องที่สองนี่โคตรน่าสงสาร โอกาสที่เขาจะได้ถูกพิจารณามีน้อยมาก กล่องสุดท้ายยิ่งไม่ต้องพูดเลย เขาไม่รับ

เมื่อใบสมัครสองกล่องสุดท้ายเริ่มมีเยอะขึ้นๆ จนรวมๆกันได้ สิบลัง ยี่สิบลัง สามสิบลัง คิดว่าบริษัทจะทำยังไงครับ ไม่มีที่เก็บแหล่ะ งั้นก็ขายสิ ขายเลหลังให้แม่ค้ารับซื้อของเรา วันดี คืนดีเรซูเม่ของเราก็จะกลายไปเป็นถุงกล้วยแขกให้คนอื่นอ่านเล่น

จงเป็นคนกลุ่มแรก อย่าเป็นคนสองกลุ่มสุดท้าย

ค่าตอบแทนจากการฝึกงาน

ค่าตอบแทนจากการฝึกงาน
ค่าตอบแทนจากการฝึกงาน

ถ้านักศึกษาต้องการจะได้รับค่าตอบแทนเพื่อสะสมเอาไว้ซื้อของอะไรก็แล้วแต่ ค่าตอบแทนก็เป็นสิ่งนึงที่ควรจะพิจารณาร่วมด้วย บริษัทส่วนมากไม่จ่ายค่าตอบแทนในรูปตัวเงิน เพราะเขาถือว่าเราไปเรียนรู้งานจากเขา เราได้ประสบการณ์เน้นๆมาก็มีค่ามากแล้ว

แต่บางบริษัทก็ให้ค่าตอบแทนในการฝึกงานด้วย อาจจะอยู่ในรูปแบบของค่าเดือนทาง หรือค่าตอนแทนรายวันก็แล้วแต่ บางที่ให้เป็นรายวัน เริ่มต้นวันละ 100 - 200 บาทบ้าง บางที่ให้เป็นเดือน เดือนละ 5000 - 6000 บาทบ้าง ก็แล้วแต่ ลองค้นหากันดูครับ

แต่ส่วนมากแล้วงานที่มีค่าตอบแทนสูงๆ ก็มักมีการแข่งขันสูงเช่นกัน ถ้าเราไม่มีคุณสมบัติที่เด่นกว่าเพื่อน เช่น GPA สูง หรือเคยมีผลงานทางด้านวิชาการลงตีพิมพ์ ก็จะยากกว่าคนอื่นเขาหน่อย

เราจะหาบริษัทที่ฝึกงานได้จากที่ไหน

เว็บไซท์ของภาคก็มีข้อมูลนี้เช่นกัน หรือจะลองดูบอร์ดฝึกงานที่หน้าคณะก็ได้ หรืออีกทางนึงก็ลองดูเว็บไซท์รับสมัครงานนะครับ นี่เป็นรายชื่อเว็บไซท์ที่มีตำแหน่งฝึกงาน เข้าไปสี่เว็บนี้ก็มีครบๆแล้ว

และที่ลืมไม่ได้เลยคืองาน job fair ในมหาลัยเราที่มีจัดเรื่อยๆ จะมีบริษัทมาออกบูธรับนักศึกษา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานให้เรา และคนที่บริษัทส่งมาออกบูธก็ไม่ใช่ใครอื่น ส่วนใหญ่ก็รุ่นพี่ที่มหาลัยของเรานี่แหล่ะ สอบถามกันได้อย่างเต็มที่เลย ไม่ต้องกลัวว่าเขาเป็นคนแปลกหน้า

คอยติดตามข่าวงาน job fair จากคณะไว้นะครับ ได้วันเมื่อไหร่เราจะโพสต์ประชาสัมพันธ์ลง Facebook

ผมขอย้ำอีกที อย่ามองข้ามเด็ดขาด อย่าคิดว่างาน job fair นี้เป็นงานสำหรับรุ่นพีปีสี่เท่านั้น อย่าคิดว่าไม่ใช่งานที่ตัวเองจะต้องสนใจ ผมจะเล่าให้ฟังนะ มีรุ่นพี่ของคุณคนนึงได้ถูกบริษัทชั้นนำจองตัวไว้ให้ไปฝึกงานในอีกสองปีให้หลัง เพียงเพราะเขายื่นใบสมัครไปตั้งแต่ตอนอยู่ ปี1 เพราะว่าบริษัทที่มาออกบูธจำหน้ารุ่นพี่คนนั้นได้ และประทับใจที่เขาสนใจไปฝึกงานที่บริษัทล่วงหน้าก่อนใครๆ

หมดเวลาแล้ว เจอกันอีกทีคาบหน้า สวัสดีครับ

หมายเลขบันทึก: 657580เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2018 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2019 02:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท