สร้างความเป็นเจ้าของ..ด้วย“การบริหารแบบมีส่วนร่วม”


ความรู้สึกเป็นเจ้าของโรงเรียนตัวจริงเสียงจริงด้วยคนหนึ่ง จึงเป็นหัวใจของการสร้างโรงเรียนคุณภาพ ในทางกลับกันถ้าผู้ปฏิบัติ ครูหรือผู้บริหารไม่รู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของเสียแล้ว ผลที่เกิดจะตรงข้าม

กับใครก็พูดอย่างนี้ ว่างานโรงเรียนสั่งเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ได้ ต้องอาศัยการพูดคุย ปรึกษาหารือ จนตกลงปลงใจร่วมกันเท่านั้น จึงจะไปต่อหรือดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผล เป็นบทสรุปของตัวเองจากที่ได้สังเกตวิถีการทำงานที่โรงเรียนมาอย่างยาวนาน

ระยะหลังๆแล้วจึงได้ยินคำว่า“การบริหารแบบมีส่วนร่วม” ซึ่งตรงใจ แต่เอาเข้าจริงก็มีแต่คำพูดสวยหรูแล้วก็เลือนหายไปเหมือนกับเรื่องอื่น ไม่มีผลใดๆ การปฏิบัติจริงตลอดเวลาที่ผ่านมายังเหมือนเดิม 

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้บริหารไม่ควรเหมือนนายกับลูกน้องของตำรวจทหาร งานดูแลรักษากฎหมายหรือปกป้องชาติบ้านเมืองอาศัยความเฉียบขาด รวดเร็ว เป็นหนึ่งเดียว แต่งานพัฒนาคนของครูตรงกันข้าม วิธีการเพียงหนึ่งเดียวไม่ได้ ต้องแตกต่างเหมาะสมกับเด็กแต่ละคนซึ่งมีความหลากหลาย 

งานออกแบบจัดการเรียนรู้จึงอาศัยความคิดหรือสติปัญญาครูอย่างเอกอุ การเลือกใช้แต่อำนาจเอาแต่สั่งการของผู้บริหาร นอกจากจะบั่นทอนขวัญและกำลังใจ ยังหยุดยั้งความคิดความอ่านหรือความริเริ่มสร้างสรรค์ของครู ซึ่งผลกระทบสุดท้ายจะไปตกอยู่กับเด็ก ถ้าการบริหารนั้นขาดการมีส่วนร่วม

การบริหารจัดการศึกษาจึงไม่ควรคิดตัดสินใจด้วยคนเพียงคนเดียว แค่หนึ่งสมองหรือหนึ่งประสบการณ์ไม่เพียงพอจะต่อกรกับความแตกต่างอย่างหลากหลาย ยิ่งบ้านเราจำนวนนักเรียนต่อห้องสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ การร่วมคิดร่วมทำจึงจำเป็นอย่างยิ่ง พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 เป็นผลให้โรงเรียนมีการบริหารจัดการในรูปคณะกรรมการ แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถแสดงบทบาทตนเองได้อย่างแท้จริง

การบริหารแบบมีส่วนร่วมจะทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของโรงเรียน เพราะผลที่เกิดไม่ว่าจะดีหรือร้ายล้วนมาจากความคิดตัวเอง ความรัก ความหวังดี และความทุ่มเทเพื่อองค์กรจะสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ ทั้งงานสอนและงานสนับสนุนจะทรงอานุภาพขึ้น เรื่อยไปจนถึงความพยายามที่จะตรวจสอบความฉ้อฉลต่างๆ อาทิ ไม่ได้เห็นว่านักเรียนสำคัญก็แค่ข้ออ้างเพื่อหาประโยชน์ การจัดสรรงบรายหัวนำไปทำเรื่องอื่นเสียมากกว่าการจัดการเรียนรู้ คอร์รัปชั่นอันอาจเกิดขึ้นจะลดน้อยถอยลง

การร่วมคิดร่วมทำเพื่อสร้างบ้านของเรา จะทำให้วิธีการแก้ไขพัฒนาหลากหลายขึ้นด้วยประสบการณ์ความรู้ของหลายคน จะแม่นยำขึ้น สอดคล้องกับปัญหาหรือข้อมูลจริงมากขึ้น โอกาสผิดพลาดจะน้อยลง หมายถึงสามารถพัฒนาผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างนี้การจัดการศึกษาโดยรวมของบ้านเราซึ่งถูกวิพากษ์มาตลอด อาการจะไม่ดีกว่าที่เป็นอยู่หรือ?

ความรู้สึกเป็นเจ้าของโรงเรียนตัวจริงเสียงจริงด้วยคนหนึ่ง จึงเป็นหัวใจของการสร้างโรงเรียนคุณภาพ ในทางกลับกันถ้าผู้ปฏิบัติ ครูหรือผู้บริหารไม่รู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของเสียแล้ว ผลที่เกิดจะตรงข้าม การทำงานจะเป็นแบบเรื่อยๆมาเรียงๆ การตรวจสอบกลายเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน เพื่อเด็กๆจะเป็นแค่ข้ออ้างเท่านั้น การจัดสรรงบจะผิดเพี้ยนบิดเบี้ยว การจัดการที่มีค่าใช้จ่ายอาจนำไปสู่การคอร์รัปชั่น.. 

 โรงเรียนที่มีคุณภาพ จะไร้คุณภาพ!

หมายเลขบันทึก: 655145เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2018 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2018 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เปลี่ยนจากโรงเรียนเป็นโรงพยาบาล … สถานการณ์คล้ายกันค่ะอาจารย์

คนในองค์กรชอบคิดและทำด้วย … รู้สึกเป็นเจ้าของ

ชาวบ้าน ผู้ป่วย ญาติ ที่ยังไม่ค่อยมีโอกาสเสนอแนะข้อพัฒนา ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมทุน … ไม่ค่อยรู้สึกเป็นเจ้าของ

ปัจจัยสำคัญในการพัฒนา ระบบบริหารงานต้องมีเทคนิค กฏ กติกา กิจกรรม หรือ……………… ฯลฯ อะไรก็ได้นะครับ ที่จะสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กรด้วยคนหนึ่งของทุกๆคน โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้อง..

ขอบคุณหมอธิมากครับ!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท