Reflexion รายวิชากิจกรรมบำบัดในชุมชน


Reflexion ออกชุมชนครั้งที่ 1 (5 กันยายน 2561)

          ดิฉันได้รับมอบหมายงานในรายวิชากิจกรรมบำบัดในชุมชนด้วยการลงพื้นที่ไปยังบ้านของผู้รับบริการในชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เพื่อทำการตรวจประเมิน และให้การรักษาทางกิจกรรมบำบัด เคสที่ดิฉันและเพื่อนร่วมทีมอีก2คนได้รับมอบหมายนั้น เป็นเคสผู้สูงอายุเพศหญิง นอนติดเตียงมาเป็นเวลา 11 เดือน ใส่สายให้อาหาร (NG tube) มีอาการอ่อนแรงของร่างกายซีกซ้าย แต่ด้วยความที่ติดเตียงเลยไม่ได้ใช้แขนข้างขวาทำให้ข้างขวาก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้สุดช่วง

ในครั้งแรกที่ไปนี้ ดิฉันรู้สึกท้าทายและตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ได้ลงไปยังบ้านคนจริงๆ ไม่ใช่ในบริบทโรงพยาบาลที่คุ้นเคย ฉะนั้นก็จะมีข้อจำกัดหลายๆอย่าง เช่น อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ประเมิน อาจจะต้องประยุกต์ของที่มีอยู่ในบ้านมาใช้ในการประเมินแทน การขาดเครื่องมือในการวัดสัญญาณชีพ ทำให้ไม่สามารถมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนได้ว่าผู้รับบริการปลอดภัยหรือมีความพร้อมที่จะทำกิจกรรมหรือไม่ แต่จะมีข้อดีคือจะได้เห็นบริบทจริงๆที่ผู้รับบริการอาศัยอยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่ได้จากการไปออกชุมชนในครั้งนี้คือ การเข้าหาผู้รับบริการและผู้ดูแล การพูดคุยสื่อสาร การสัมภาษณ์รวมถึงการซักประวัติ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นต่อการประเมินและบำบัดรักษาทางกิจกรรมบำบัด ที่ปกติหากอยู่ในโรงพยาบาลเราก็จะสามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้จากแฟ้มประวัติของผู้รับบริการ นอกจากนี้ยังได้ฝึกฝนการประเมินเพื่อหาปัญหาที่จะนำไปสู่การตั้งเป้าประสงค์ในการรักษาทางกิจกรรมบำบัดร่วมกับผู้ดูแลในอนาคต ได้ในเรื่องของการบริหารจัดการเวลาให้คุ้มค่าว่าในเวลาที่จำกัดนั้นเราจะสามารถบริหารจัดการอย่างไรให้ผู้รับบริการได้สิ่งที่ดีและ   เหมาะสมที่สุด

สิ่งที่อยากจะพัฒนาตนเองจากการไปออกชุมชนในครั้งนี้คือ การบริหารรวมถึงการดำเนินกระบวนการทางกิจกรรมบำบัดที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไหลลื่นไม่มีติดขัด การนำองค์ความรู้ต่างๆที่ได้ศึกษามาประยุกต์ใช้ในบริบทจริง การพัฒนาองค์ความรู้ของตนเองให้พร้อมเพื่อที่จะให้คำแนะนำแก่ผู้ดูแลได้อย่างเต็มที่ รวมถึงเพื่อให้สามารถดำเนินกระบวนการทางกิจกรรมบำบัดได้ดียิ่งขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

Reflexion ออกชุมชนครั้งที่ 2 (12 กันยายน 2561)

           สืบเนื่องจากในครั้งแรกที่ได้ไปออกชุมชนที่บ้านหลังหนึ่ง ทำให้ได้ตรวจประเมินและสอบถามความต้องการของผู้ดูแลเพื่อนำมาหาปัญหาและตั้งเป้าประสงค์ร่วมกันและได้วางแผนมาเพื่อลงการรักษาทางกิจกรรมบำบัดในครั้งนี้พบว่า

ความรู้สึกที่ไปในครั้งนี้รู้สึกมั่นใจมากขึ้น เพราะได้เห็นและประเมินผู้รับบริการมาพอสมควรแล้ว และได้ไปทบทวนองค์ความรู้เดิมเพื่อนำมาปรับใช้กับผู้รับบริการ แต่ก็ยังรู้สึกไม่มั่นใจอยู่บ้างเนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ต้องลงการรักษาที่ไม่ใช่ในบริบทโรงพยาบาล ที่มีอุปกรณ์รวมไปถึงเครื่องมือต่างๆที่ครบครัน แต่ในอีกมุมหนึ่งก็รู้สึกดีที่สามารถนำของที่มีอยู่ในบ้านมาปรับใช้ได้ รู้สึกดีที่เห็นพัฒนาการของผู้รับบริการที่ดีขึ้นกว่าครั้งก่อน (กระตุ้นกลืนและการลุกนั่งและจัดท่านั่งให้เหมาะสมบนเตียง)

สิ่งที่ได้จากการไปออกชุมชนในครั้งที่2นี้คือ การนำการรักษาที่ได้เรียนและฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกในโรงพยาบาลมาปรับใช้กับผู้รับบริการในบริบทที่แตกต่างไปจากเดิม ได้ฝึกการตัดสินใจรวมไปถึงการคิดแก้ไขปัญหา การดำเนินกระบวนการทางกิจกรรมบำบัดต่างๆ

สิ่งที่อยากจะพัฒนาคือการแก้ไขปัญหาหรือการดำเนินกระบวนการการรักษาให้คงความต่อเนื่องไปได้ เนื่องจากเมื่อเราให้การรักษาแล้วอาจเกิดผลที่ตามมาที่นอกเหนือจากที่เราคิดไว้ อาจจะทำให้แก้ปัญหาได้ล่าช้า หรือมีจังหวะที่คิดว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี ทำให้กระบวนการดูไม่ต่อเนื่องเท่าที่ควร รวมไปถึงอยากเสริมสร้างความมั่นใจซึ่งสามารถทำได้โดยการทบทวนองค์ความรู้ให้แม่นยำ และลองฝึกทำซ้ำๆก่อนไปทำกับผู้รับบริการ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Reflexion กิจกรรม School visit ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคลองมหาสวัสดิ์ (19 กันยายน 2561)

รู้สึกตื่นเต้นและกังวลว่าในสถานการณ์จริงจะเป็นอย่างไร สิ่งที่วางแผนไปจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามนั้นเราจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีหรือไม่ แล้วก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่ได้ตั้งไว้ ทำให้มีความเครียดในการคิดแก้ไขปัญหาพอสมควร

สิ่งที่ได้จากการไปในครั้งนี้คือ ประสบการณ์ที่ไม่เคยได้รับจากที่ไหนมาก่อน การที่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนทำให้ต้องคิดกิจกรรมขึ้นมาใหม่ รวมถึงปรับกิจกรรมให้เข้ากับเด็กๆแต่ละคน การจัดการกับพฤติกรรมของเด็ก รวมไปถึงการหัดมองเป็นแบบองค์รวม มองถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆที่ส่งผลต่อตัวเด็กมากกว่าที่จะมาจดจ่ออยู่กับตัวเด็กเพียงอย่างเดียว

สิ่งที่อยากจะพัฒนาตนเองคือ ความกล้าที่จะเข้าหาเด็ก เข้าไปเล่นกับเด็กให้ดีกว่านี้ การคิดแก้ไขปัญหา การสังเกตพฤติกรรมของเด็ก และการออกแบบกิจกรรมขึ้นมาใหม่ให้สามารถทำให้เด็กๆหลายคนพร้อมใจมามีส่วนร่วมได้

 



Reflexion กิจกรรมออกชุมชนกับคณะกายภาพบำบัด ณ วัดไทร อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม (23 กันยายน 2561)

 รู้สึกตื่นเต้นและท้าทายเมื่อได้รับมอบหมายหน้าที่ให้อยู่ในส่วนของการให้คำปรึกษากับผู้รับบริการที่มีปัญหาเกี่ยวกับความเครียด ซึมเศร้า หรือนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนและยังไม่ค่อยมีประสบการณ์เนื่องจากยังไม่มีโอกาสได้ไปฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกในผู้รับบริการฝ่ายจิต  เมื่อไปถึงในสถานการณ์จริงๆก็พบผู้บริการหลากหลายเคส หลายปัญหาที่มารับคำปรึกษาจากเราหลังจากการทำแบบประเมิน

สิ่งที่ได้จากการไปในครั้งนี้คือ ในเกือบทุกเคสที่มาเข้ารับการปรึกษากับเรานั้น ได้ใช้หลักการที่เรียนมาที่มีชื่อว่า cognitive behavior therapy (CBT) ซึ่งยังไม่เคยมีโอกาสได้ลองใช้ในสถานการณ์จริง ทำให้ได้ฝึกฝนทักษะทั้งทางด้านการสื่อสาร การเป็นผู้ฟังที่ดี เป็นต้น รวมไปถึงได้นำองค์ความรู้ต่างๆที่เรียนมานำมาใช้กับผู้รับบริการจริง

สิ่งที่อยากจะพัฒนาคือ ทักษะของการสื่อสารรวมถึงการถามคำถามเพื่อให้ผู้รับบริการเกิดการเรียนรู้เพื่อจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง บางทีคำถามที่เราเลือกใช้อาจจะยังไม่สามารถจุดประกายทางความคิดของผู้รับบริการได้เต็มที่ ทำให้แนวทางในการแก้ไขปัญหาของแต่ละบุคคลอาจจะยังไม่กระจ่างเท่าที่ควร รวมไปถึงการขาดการทบทวนหรือศึกษาองค์ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับโรคและภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุเพิ่มเติมว่ามีอะไรและในบทบาทของนักกิจกรรมบำบัดเราจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้ผู้รับบริการมีสุขภาวะที่ดี

หมายเลขบันทึก: 655017เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2018 02:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2018 02:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท