คำไทยแท้


ทุกวันนี้ เรามักจะได้ยินคนไทยบางกลุ่มพูดด้วยภาษาแปลก ๆ  โดยพูดภาษาไทยคำหนึ่ง ภาษาอังกฤษ คำหนึ่ง  ดูสับสนวุ่นวายไปหมด    ครูสรเองคิดว่า เราเป็นคนไทยก็น่าจะพูดกันด้วยภาษาไทย สื่อสารกันด้วยภาษาไทย ไม่จำเป็นต้องไปพูดภาษาไทยคำ ภาษาอังกฤษสองคำ  เหมือนคนบางคนในสมัยนี้ ยกเว้นคำบางกลุ่มที่เป็นศัพท์ทางวิชาการซึ่งมีความจำเป็นจริง ๆ ที่ไม่สามารถอธิบายเป็นภาษาไทยให้เข้าได้ ก็ยกประโยชน์ให้จำเลยไป   ส่วนคำบางคำที่มีความหมายเป็นภาษาไทยออกจะชัดเจน ก็ให้พูดเป็นภาษาไทยไปเถอะค่ะ ไม่มีใครไปว่าท่านมีความรู้น้อยหรอกค่ะ โดยเฉพาะการพูดชี้แจงให้ความรู้ต่าง ๆ คิดกันบ้างไหมค่ะว่าชาวบ้านธรรมดา ๆ รุ่น  คุณปู่  คุณย่า คุณตา  คุณยาย หรือเด็ก ๆ  เขาจะเข้าใจที่พูดหรือไม่ก็ไม่อาจรู้ได้    แหม่ !  วันนี้ครูสรออกจะมาแนวดุดันสักหน่อย   เหตุผลเพียงนิดเดียว อยากให้คนไทยพูดกันด้วยภาษาไทยให้สื่อสารเข้าใจกันง่าย ๆ เท่านั้นเองค่ะ

ภาษาไทย เป็นภาษาที่อยู่คู่กับคนไทยมานานตั้งแต่สมัยโบราณ  เรามีพระบิดาแห่งอักษรไทยคือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ทรงประดิษฐ์อักษรไทยให้คนไทยได้ใช้กัน และจารึกลงบนหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช    เรียกว่า “หนังสือหิน”   ซึ่งต่อมามีการพัฒนาให้มีการใช้ภาษาที่ง่ายขึ้นตามลำดับ   และทุกคนคงจำกันได้อยู่ใช่ไหมค่ะว่า  แบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกของไทย เรียกว่า “จินดามณี”  ลักษณะของจินดามณีจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ อักขรวิธี กับฉันทลักษณ์    เป็นแบบเรียนที่แต่งโดยพระโหราธิบดี   ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช    

แต่วันนี้  ครูสรไม่ได้มาอธิบายถึงรายละเอียดของหลักศิลาจารึกหรือหนังสือจินดามณี หรอกนะค่ะ  แต่จะมาสอนทุกคนให้รู้จักคำในภาษาไทยชนิดหนึ่งนั่นคือ “คำไทยแท้”  


คำไทยแท้  เป็นคำที่มีลักษณะเป็นคำพยางค์เดียว  เป็นคำโดด ๆ  ฟังเข้าใจง่าย ๆ     มักสะกดตรงตามมาตราตัวสะกด ไม่มีตัวการันต์  ไม่เป็นคำควบกล้ำ  คำไทยแท้จะมีวรรณยุกต์หรือไม่มีวรรณยุกต์ก็ได้  ซึ่งคำและความหมายจะแตกต่างกันไปตามวรรณยุกต์ที่ใช้  เป็นคำที่สามารถนำมาสร้างเป็นคำใหม่ได้โดยการนำคำไทยแท้สองคำมาประสมให้เกิดเป็นคำใหม่มีความหมายใหม่ก็ได้เช่นกัน  คำไทยแท้ที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีตั้งแต่เด็ก ๆ ที่ประสมด้วยสระไอไม้ม้วนทั้ง 20 คำ  ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ให้สะใภ้ไว้คล้องคอฯ  ก็จัดว่าเป็นคำไทยแท้ทั้งหมดค่ะ  นอกจากนั้น คำไทยแท้คำเดียวกันสามารถทำหน้าที่ได้หลายอย่าง เช่น คำนาม คำกริยา คำวิเศษณ์ เป็นต้น      

คำไทยแท้ส่วนมากมีพยางค์เดียว  แต่ก็อาจมีหลายพยางค์ได้เช่นกัน  ซึ่งเกิดจากการกร่อนเสียง การแทรกเสียง  หรือการเติมพยางค์หน้าคำมูล 

 ครูสรขอสรุปเพื่อให้จำลักษณะของคำไทยแท้กันอย่างง่าย ๆ  และนำไปใช้ในการเรียนรู้ได้ดังนี้

หลักการสังเกตคำไทยแท้ 

1. มีพยางค์เดียว  เรียกว่า คำโดด  เช่น  พ่อ แม่  พี่ น้อง  ลุง ป้า น้า อา  สูง ต่ำ ดำ ขาว

2. คำไทยแท้ จะไม่มีตัวการันต์

3.คำไทยแท้ส่วนมากจะมีตัวสะกดตรงตามมาตราในภาษาไทย   ยกเว้นบางคำที่ประสมด้วยสระอำ  จะเป็นภาษาเขมร  เช่น ทราบ  กราบ  เกิด   หรือคำที่อ่านออกเสียงสระอะในตัวอักษรตัวสุดท้ายบางคำจะเป็นภาษาบาลี สันสกฤต   เช่น  เอก  อ่าน เอก-กะ  ,นาม  อ่าน นาม-มะ   คำเหล่านี้จะไม่เป็นคำไทยแท้

4. มีวรรณยุกต์หรือไม่มีวรรณยุกต์ก็ได้  ความหมายจะแตกต่างกันตามวรรณยุกต์ที่ใช้

5. คำไทยแท้นำมาสร้างเป็นคำใหม่ได้  โดยนำคำไทยแท้ 2 คำมาประสมกัน  หรือเป็นซ้อน คำซ้ำ  เช่น คัดเลือก

6. คำที่ประสมด้วยสระไอไม้ม้วน 20 คำ  (20 ม้วน จำจงดี)

7. คำไทยแท้ทำหน้าที่ได้หลายอย่าง  เช่น  คำว่า “ดี” 

                  - เป็นคำกริยา    ตัวอย่างเช่น  พี่ดีต่อน้อง

                - เป็นคำนาม    ตัวอย่าง เช่น ดีมีรสขม

               - เป็นคำวิเศษณ์  ตัวอย่างเช่น  คนดีจะมีความสุข

8. ไม่นิยมเป็นคำควบกล้ำ   แต่ยกเว้นคำที่ควบกล้ำด้วย กร  กล  กว  คร  คล  ปร ปล พร พล

9. มักมีพยางค์เดียว แต่อาจมีหลายพยางค์ได้เช่นกัน   ดังนี้

                  - กรณีเกิดจากการกร่อนเสียง เช่น  หมากพร้าว  เป็น มะพร้าว  ,หมากม่วง  เป็น  มะม่วง    

                - เกิดจากการแทรกเสียง  เช่น  เดี๋ยว  เป็น  ประเดี๋ยว  ,ลูกดุม  เป็น ลูกกระดุม ทำ  เป็น  กระทำ                 10. ไม่ใช้ “รร”   เช่น  คำว่า   อัศจรรย์   มหรรณพ  บรรทัด    

หมายเลขบันทึก: 654877เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2018 19:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2018 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท