วัฒนธรรรมหินทรายเมืองพะเยา ตอน ๑ วัฒนธรรม หินทรายเมืองพะเยา


.......พะเยาเป็นเมืองที่เก่าแก่เมืองหนึ่งในแผ่นดินล้านนา ซึ่งปัจจุบันได้แก่ อาณาเขตของ ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย เชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน ลำพูน แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ ประวัติศาสตร์ของเมือง พะเยาเริ่มต้นจากปฐมกษัตริย์ที่ทรงพระนามว่า ขุนจอมธรรม แห่งราชวงศ์ ลวจังคราชซึ่งปกครองเมืองหิรัญนครเงินยาง (อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน ) ได้อพยพไพร่ฟ้าอาณาประชาราราษฎร์มาสร้างบ้านแปลงเมือง ณ หัวเมืองฝ่ายใต้ซึ่งตั้งอยู่ที่ภูเขาชมพู หรือดอยด้วน อันลาดลงสู่ฝั่งแม่น้ำ สายตาหรือแม่น้ำอิง จากนั้นจึงทรงกำหนดเขตแดนและแบ่งพื้นที่เพื่อให้ง่าย ต่อการปกครองออกเป็น ๓๖ พันนา 

.... เมื่อสิ้นยุคสมัยของขุนจอมธรรม ขุนเจืองผู้เป็นราชโอรส ก็ได้ครองราชย์สืบต่อมา ในรัชสมัยของขุนเจืองนี่เอง ที่ได้การขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล และด้วยพระปรีชาสามารถในการสงคราม อาณาเขตของเมืองพะเยาหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าอาณาจักรภูกามยาวได้แผ่ขยายไปจนถึงเมืองแมนตาตอกขอบฟ้าตายืน (เวียดนามปัจจุบัน) เพราะพระบารมีและเดชานุภาพดังกล่าว ชนทั้งหลายจึงได้ขนานนามพระองค์ท่านว่า “ขุนเจืองธรรมิกราช” 

 .... อาณาจักรภูกามยาวได้สืบทอดราชสมบัติด้วยความสงบสุขร่มเย็นเรื่อยมาความเจริญทางด้านศิลปวิทยาการปรากฏชัดเจนในยุคสมัยของ พญางำเมืองผู้เป็นกษัตริย์ลำดับที่ ๙ นับจากขุนจอมธรรม และเป็นพระสหายร่วมน้ำสาบานของ พญามังรายแห่งเมือง เชียงรายและพระร่วงเจ้า แห่งกรุงสุโขทัย มีการกล่าวถึงอิทธิฤทธิ์หาริย์ของพญางำเมืองว่า “เสด็จไปทางไหน แดดก็บ่ฮ้อน ฝนกะบ่าฮำ จักใคร่หื้อบดก็บด จักใคร่หื้อแดดกะแดด”....ความรุ่งเรื่องของเมืองพะเยาในอดีตกาลที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันจะเห็นได้จากมรดกทางวัฒนธรรมอันหลากหลายที่บรรพบุรุษแต่โบราณได้ สั่งสมไว้อย่างมากมาย เป็นต้นว่า โบราณสถาน โบราณวัตถุ วัดอารามขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่..... 

.......ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่ของมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านั้น จะถูกทำลายด้วย ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนหรือผุพังไปตามสภาพธรรมชาติและกาลเวลาก็ตามมาจนถึงปัจจุบัน ยังคงปรากฏร่องรอยและสิ่งที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองหลงเหลืออยู่ และเป็นเอกลักษณ์ของเมืองพะเยาและกำลังรอคอยการศึกษาค้นคว้าอยู่ก็คือ ประติมากรรมหินทราย อันมีพระพุทธรูปหินทราย จารึกหินทราย และจำหลักหินทราย เป็นต้น

๑.ลักษณะทางธรณีวิทยากับแหล่งหินทรายจากการสำรวจทางธรณีวิทยาของจังหวัดพะเยาว่าลักษณะพื้นที่จังหวัดพะเยาพบว่าลักษณะพื้นที่จังหวัดพะเยาประกอบด้วยหินในยุคต่าง ซึ่งพบว่าเป็นยุคของการเกิดหินชั้นหินทราย และหินดินดานมากที่สุด คือ หินในยุคต่างๆ ดังนี้  

....๑.๑มหายุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic) ซึ่งมีการก่อตัวของตะกอน ประเภทกรวด ทราย ดินเหนียว ซึ่งก่อตัวเป็นหินกรวดมน หินทราย หินดินดาน หินปูน 

....๑.๒ มหายุคมีโซโซอิก (Mesozoic) ซึ่งหินที่เกิดขึ้นในยุคนี้ได้แก่ หินทราย หินดินดาน หินกรวดมน 

....๑.๓ มหายุคซีโนโซอิก (Cenozoic) หินที่พบในยุคนี้ได้แก่ หินทราย หินดินดาน หินน้ำมัน ถ่านลิกไนต์ซึ่งปัจจัยทางด้านธรณีวิทยาเหล่านี้ น่าจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการเกิดศิลปะหินทรายสกุลช่างพะเยา เพราะเมืองพะเยาเป็นแหล่งที่มีหินทรายมาก จึงมีการนำหินทรายเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยการสร้างงานประติมากรรม และเครื่องมือใช้ต่างๆ เป็นต้น

ข้อมูลจาก บรรจง วงศ์ราฎร์ นที เมืองมา

คำสำคัญ (Tags): #khonmuang
หมายเลขบันทึก: 652825เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2018 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2018 12:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท