ความคิด มุมมอง ประสบการณ์ผ่านการสัมผัส


ความคิด  มุมมอง ประสบการณ์ผ่านการสัมผัส

     สวัสดีค่ะ!! ห่างหายไปนาน ขอย้อนไปถึงความเดิมตอนที่แล้วได้พูดถึงสาเหตุ ปัจจัยที่เลือกเดินเข้ามาในเส้นทางสายใหม่และได้ค้างไว้ว่าจะมาแชร์ถึงเนื้องานและสภาพบริบทที่ทำงาน เราได้ปฏิบัติงานในด้านสิทธิสถานะบุคคลโดยกลุ่มเป้าหมาย คือ "ผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ" ในพื้นที่หมู่บ้านกิ่วสะไต  ต.ป่าตึง  อ.แม่จัน  จ.เชียงราย  ซึ่งทางทีมงานเราได้คัดเลือกกลุ่มแม่เฒ่าในหมู่บ้าน จำนวน 13 ราย  เพื่อดำเนินการเรื่องการยื่นคำร้องขอสัญชาติไทย โดยการคัดเลือกเราดูจากอายุของแม่เฒ่าคือ เลือกทำเคสคนที่อายุมากก่อน และดูความถูกต้องสมบูรณ์ของเอกสารประกอบ เช่น ทะเบียนราษฎรชาวเขา (ทร.ชข.)  บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย  บัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง บัตรประจำตัวบุคคลซึ่งไม่มีสถานะทางทะเบียน และทะเบียนบ้านเป็นต้น "บ้านกิ่วสะไต คือพื้นที่เป้าหมายหลักในการทำงาน"

ภาพที่ 1 ลงพื้นที่เก็บข้อมูลผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ หมู่บ้านกิ่วสะไต  ต.ป่าตึง  อ.แม่จัน  จ.เชียงราย

(21-07-2561 : เวลา 10.00น.- 15.00น.)

     สำหรับงานสถานะเราแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ เรื่องการขอสัญชาติ และการแปลงสัญชาติไทย ในกรณีบ้านกิ่วสะไตจะอยู่ในกลุ่มขอสัญชาติ  ในส่วนการแปลงสัญชาติคือชุมชนบ้านหล่อโย ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย และกำลังขยายสู่บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย  นอกจากนี้ยังมีกลุ่มไทลื้อ อ.แม่สาย ที่ขอความช่วยเหลือด้านการจัดทำฐานข้อมูลการเกิด  การย้ายเข้าไทยของแต่ละคนเพื่อยื่นขอแปลงสัญชาติเช่นกัน   

     ครั้งแรกของฉันกับการสัมผัสประเด็นพวกนี้ คือ  การพิมพ์ชื่อและใบปะหน้าของเคส 13 ราย โอ้แม่เจ้า!! แค่ชื่อก็มึนแล้วค่ะ เนื่องจากแม่เฒ่าทุกคนเป็นชาติพันธุ์ "อาข่า" ทั้งชื่อและนามสกุลค่อนข้างออกเสียงยากและแปลกมากเนื่องจากเราไม่เคยพบมาก่อน  แต่...เราสงสัยว่าเอ๊ะทำไม พี่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานมาก่อนเขาจำได้แบบง่ายดายจัง  ยอมรับว่าแรกๆคิดว่าเราคงต้องนั่งท่องจำชื่อเคสให้ได้ทุกคน ประกอบกับช่วงแรกของการทำงานเราต้องศึกษาข้อกฎหมาย พระราชบัญญัติต่างๆที่จะใช้ช่วยเหลือเคสของเรา  เราทั้งนั่งย่อเนื้อหา  อ่าน มีท่องจำบ้างแต่...ก็ยังไม่เข้าใจมากนัก  (อาจเป็นเพราะฉันยังไม่เคยสัมผัสกับของจริง) แต่ ณ ตอนนี้ฉันได้สัมผัสงานแล้วจึงได้คำตอบแล้วว่า

                                             "ทฤษฎีมักคู่กับปฏิบัติบวกเรียนรู้เอาใจใส่กับสิ่งที่ทำจึงจะอยู่ในจุดที่สมดุล"

ภาพเก่าในความคิด สู่ภาพความจริงในปัจจุบัน   

     วันที่ 21 กรกฎาคม 2561 เราได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านกิ่วสะไตเป็นครั้งแรก เราประทับใจกับสภาพบริบทพื้นที่ซึ่งเป็นที่สูง เป็นดอยสูง มีธรรมชาติที่สวยงามต่างจากพื้นราบที่เคยลงพื้นที่มาทั้งหมด (ดูรวมๆแล้วชอบมากๆ) เพราะมีความคิดอยากทำงานหรือฝึกงานพัฒนาบนดอยตั้งแต่สมัยเรียนแต่ด้วยปัจจัยหลายๆอย่างทำให้พลาด  ครั้งแรกที่เห็นพื้นที่รู้สึกว่าเราพลาดตอนนั้นแต่  ณ ตอนนี้เราได้ยืนอยู่บนจุดที่เคยคิดไว้แล้วจงทำมันให้สุดความสามารถ 

     การลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อสำรวจบริบทชุมชน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนและได้ทำการเก็บข้อมูลเอกสารต่างๆที่จะแสดงได้ว่าแม่เฒ่าเหล่านี้เกิดในประเทศไทยหรือ อยู่ในไทยมานานมาก ภาพแรกที่ลงรถแล้วเห็นแม่เฒ่านั่งขายของบอกเลยว่ารู้สึกอยากช่วยซื้อทุกร้าน เราคิดว่าหลายๆคนคิดแบบนี้ ช่วยซื้อเพราะสงสารบ้าง ชอบบ้างแล้วแต่ความคิดแต่ละคน  ในความคิดเราจดจำภาพเดิมๆว่าคนบนดอยคงใช้ชีวิตลำบาก  ขัดสน เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ  แต่...เมื่อลงไปสัมผัสทำให้รู้ว่า  อย่าเสพภาพจำหรือภาพเก่าที่คนอื่นสะท้อนมาสู่เรา  จริงๆแล้วปัจจุบันบนเขตพื้นที่สูงได้ถูกพัฒนาไปมาก ล้ำหน้ากว่าที่ใครหลายๆคนคาดคิด  มันทำให้ฉันรู้ว่าผลแห่งการพัฒนาไม่ว่าจะจากภาครัฐ  ภาคองค์กรเอกชน หรือภาคประชาชนเองมันเกิดผลให้เห็นชัดเจน เช่นด้านสาธารณูปโภค  หรือปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นได้ถูกพัฒนาเรื่อยมา

                                                "ความจริงบางอย่างอาจต้องสัมผัสด้วยตนเอง จึงจะพบคำตอบ"

     เมื่อพอเห็นภาพกว้างๆของชุมชนบนพื้นที่สูงแล้วก็เข้าสู่การพบเคส โดยมีล่ามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามของมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา เราได้ทานมื้อกลางวันกันที่บ้านของชาวบ้านชาติพันธุ์อาข่า เรามีเกร็ดความรู้ด้านวัฒนธรรมการกินมาฝาก!! คือชาวอาข่าจะให้เกียรติแขก ผู้มาเยือนมาก จะจัดหาน้ำชาร้อน มาต้อนรับและเวลาทานข้าวจะให้แขกได้ทานก่อน สิ่งสำคัญคือแขกต้องห้ามทานอาหารจนหมดเนื่องจากเจ้าของบ้านจะมากินหลังจากที่แขกอิ่มแล้ว นี่ก็เป็นอีกสิ่งที่ฉันพึ่งรู้ ผ่านจากเรื่องกินเราก็ถึงเวลาลุยงาน เมื่อได้พูดคุยเราพบว่าชั้นลูกและหลานของแม่เฒ่าได้สัญชาติไทยกันหมดแล้ว ในชุมชนมีเพียงแม่เฒ่าและลูกที่อยู่บ้าน  ส่วนหลานๆมักเดินทางไปทำงานไปเรียนต่างประเทศ เช่น เกาหลี  เยอรมนี ญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ลูกหลานแต่ละบ้านก็เรียนจบระดับปริญญาตรีกันเป็นจำนวนมากจึงเดินทางไปทำงานในกทม.บ้าง ต่างจังหวัดบ้าง

                                             "ความก้าวหน้าทางสังคมส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้อยู่เบื้องหลังดีขึ้นไปด้วย"

ภาพที่ 2 บ้านของหนึ่งใน13 เคสที่ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลหมู่บ้านกิ่วสะไต  ต.ป่าตึง  อ.แม่จัน  จ.เชียงราย

(21-07-2561 : เวลา 10.00น.- 15.00น.)

     ในชุมชนจึงมีรุ่นลูกของแม่เฒ่าที่ประกอบอาชีพค้าขายบ้าง ทำไร่บ้าง สำหรับแม่เฒ่านั้นได้มีการรวมกลุ่มกันสร้างงานฝือมือ เช่น กระเป๋า  หมวก  เครื่องประดับต่างๆ รวมถึงผักพื้นบ้านมาวางจำหน่ายบนเพิงพักริมทาง ถือเป็นกิจกรรมเล็กๆของแม่เฒ่าที่ได้มาพบปะพูดคุยกับเพื่อนๆรุ่นเดียวกัน  สิ่งนี้สะท้อนอีกมุมว่าในชุมชนจะไม่ประสบปัญหาผู้สูงอายุซึมเศร้าหรือด้อยศักยภาพ  โดยเฉพาะที่กล่าวข้างต้นงานที่ทำทุกชิ้นทำด้วยมือล้วนๆนั่งเย็บ ปัก ถัก ร้อย สิ่งเหล่านั้นคือภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของชุมชน  ในงานพัฒนาชุมชนอาจเรียกแม่เฒ่าเหล่านี้ว่า

 "ปราชญ์ชาวบ้าน" ที่ถือเป็นทุนทางสังคมของชุมชน

ภาพที่ 3 ทีมงานสถานะบุคคลมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา กับแม่เฒ่าบ้านกิ่วสะไต  ต.ป่าตึง  อ.แม่จัน  จ.เชียงราย

(21-07-2561 : เวลา 10.00น.- 15.00น.)

ขอจบการแชร์เรื่องราวด้านการปฏิบัติงานในชุมชนไว้เพียงเท่านี้ก่อนนะคะ แต่เราไม่ได้ทำแค่ในชุมชนนะมีด้านอื่นๆอีกค่ะ ครั้งหน้าจะมาแชร์ถึงการทำงานร่วมกับเครือข่ายนะคะ
                                                  "งานพัฒนาชุมชนเป็นงานที่ไม่สามารถทำโดยลำพังได้ "                                          

 แล้วพบกันตอนต่อไปนะคะ สวัสดีค่ะ

บันทึกประสบการณ์การทำงานด้านสถานะบุคคลโดย นางสาววรนุช แซ่จว

อาสาสมัครมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.)และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

หมายเลขบันทึก: 652748เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2018 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2018 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท