หลักการทรงงาน 23 ข้อ


หลักการทรงงาน 23 ข้อ มีอะไรบ้าง

             พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตร  มีหลักการทรงงานที่ควรค่าแก่การนำไปเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงานในทุกสาขาอาชีพเป็นอย่างยิ่ง  พระราชจริยวัตรที่งดงามที่คนไทยทุกคนได้เห็นจากการทรงงานทั้งการพัฒนา และแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในประเทศ  นับได้ว่ามีความแยบยลเป็นยิ่งนัก  การปฏิบัติกิจการใดพระองค์จะตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของความจริง  กอปรไปด้วยความเพียร การมองทุกสิ่งในมุมกว้าง  แล้วค่อย ๆ แก้ปัญหาไปตามลำดับขั้นตอน  โดยการทำให้เป็นเรื่องง่าย  แต่มีลำดับขั้นตอนในการปฏิบัติ  เช่นใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ  มีการใช้ธรรมชาติแต่ก็ใช้ความทันสมัยตามหลักความรู้ที่มีการพัฒนาทางวิชาการควบคู่กันไป  เป็นการก้าวตามโลกที่มีการพัฒนาไปอย่างสง่างาม  เช่น ด้านเทคโนโลยี  เครื่องยนต์กลไก  ระบบสารสนเทศ และด้านอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน เกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อทำให้เกิดประโยชน์มากมายในสังคมไทย  การนำเทคนิคการเรียนรู้ต่าง ๆ มาใช้ แต่ก็อยู่ในความพอเหมาะพอสมนำมาปรับใช้กับสังคมไทยได้อย่างดี ไม่ตามแบบสุดโต่ง  จนลืมพื้นเพวัฒนธรรมและภูมิสังคมของคนไทย   หลัการทรงงานเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ 23 ข้อ  ซึ่งคนไทยทั้งชาติควรนำหลักการทรงงานของพระองค์มาใช้กับการปฏิบัติตน  เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติ

 

หลักการทรงงาน 23 ข้อ   มีอะไรบ้าง?

        วันนี้ขอน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานกันค่ะ

      1. ศึกษาข้อมูลให้เป็นระบบ

         การศึกษางานจะต้องศึกษาให้เป็นระบบ มีข้อมูลที่เพียงพอ และศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบก่อนลงมือปฏิบัติ  

      2. ระเบิดจากข้างใน

         ต้องสร้างความเข้าใจ และสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นก่อนจากจุดเล็ก ๆ เช่น ในชุมชน ในบ้าน ในครอบครัว ก่อนนำไปสร้างความเข็มแข็งและพัฒนาความเจริญสู่สังคมภายนอก

        3. แก้ปัญหาจากจุดเล็ก

          การทำงานต้องมองภาพรวมให้กว้างก่อน  แล้วแก้ปัญหาที่เห็นจากปัญหาเล็ก ๆ ก่อน จึงจะพัฒนาขยายออกไปเป็นลำดับ

       4. ทำตามลำดับขั้นตอน

          การทำงานจะต้องเริ่มทำจากสิ่งที่จำเป็นเสียก่อน  เช่น  ความเป็นอยู่  ความจำเป็นพื้นฐานในชีวิต  ต้องแก้ไขให้ดีเสียก่อน  ที่จะไปทำอย่างอื่น เพราะหากสิ่งพื้นฐานไม่ดี ก็ไปทำสิ่งอื่นที่ยากกว่าได้ไม่ดี

         5. ภูมิสังคม

         การปฏิบัติงานทุกสิ่ง จะต้องรู้เขารู้เรา  เข้าใจภูมิประเทศ  ความแตกต่างระหว่างสังคม ประเพณี วัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา ความเป็นอยู่ของกลุ่มคน เป็นหลัก

         6.  องค์รวม

          ต้องทำงานแบบองค์รวม  มีการเชื่อมโยงกันได้ทุกระบบทั้งการแก้ไขและการพัฒนา มองให้ครบวงจร

         7. ไม่ติดตำรา

           การทำงานบางเรื่อง ไม่จำเป็นที่จะต้องทำตามหลักวิชาการเสมอไป  อย่าผูกขาดวิชาการ เทคโนโลยี  จนเกินไป  ต้องให้ความสำคัญกับกลุ่ม ต้องให้สอดคล้องเพื่อให้งานเป็นไปอย่างราบรื่น

         8. ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด

          หลักการทรงงานข้อนี้  ให้ดูจากพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรที่ทรงเบิกดินสอ เพื่อใช้ในการเขียน  อย่างประหยัด  เป็นความเรียบง่าย  อย่างเห็นได้ชัดที่สุด

         9. ทำให้ง่าย

          การทำงานทุกอย่าง  ความยากง่ายแตกต่างกัน  แต่ควรดัดแปลงทำให้ง่ายไม่ต้องใช้วิธียุ่งยากซับซ้อน  ให้สามารถแก้ไขได้ง่าย ๆ

       10. การมีส่วนร่วม

         การทำงานให้ประสบความสำเร็จจะต้องใช้หลักการทำงานแบบร่วมคิดร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ  เช่น ใช้หลักประชาวิจารณ์มาใช้   เพื่อให้รู้ว่าความต้องการคืออะไร  แล้วนำไปแก้ไข

       11. ประโยชน์ส่วนรวม

       การทำงานให้ระลึกถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักอยู่เสมอ  ให้คิดว่าเมื่อเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม เราก็ได้ประโยชน์เช่นกัน เพราะเราก็อยู่ในสังคม  สังคมก็คือส่วนรวม

      12. บริการจุดเดียว

       การบริการจุดเดียว คือ เป็นการให้บริการทุกสิ่งจบ ณ จุดเดียวกัน ทำให้เกิดประโยชน์  และไม่เสียเวลา  ไม่ยุ่งยาก ประชาชนได้ประโยชน์

     13. ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ

      เมื่อธรรมชาติมีปัญหา  ให้ใช้ธรรมชาติด้วยกันในการแก้ไข เช่น การแก้ปัญหาเรื่องดิน  เรื่องน้ำ ต้องเข้าใจธรรมชาติ

     14.อธรรมปราบอธรรม

       เป็นหลักการที่ใช้สิ่งไม่ดี  แก้ปัญหาสิ่งไม่ดี  ให้ดีได้    เช่น  การแก้ปัญหาน้ำเสีย  โดยใช้ผักตบชวา  เป็นต้น

     15. ปลูกป่าในใจคน

       เป็นหลักการที่สอนให้รู้ว่าหากจะทำสิ่งใดต้องให้คนนั้นเข้าใจและรู้ว่าสิ่งนั้นดีมีคุณค่า มีประโยชน์เสียก่อนแล้วค่อยทำ  เช่น การปลูกป่าต้องให้คนรู้ว่าปลูกป่าดีมีประโยชน์อย่างไรก่อน  แล้วค่อยไปปลูกป่าจริง ๆ  หากไม่รู้ว่าป่ามีประโยชน์ปลูกแล้วโค่นทิ้งหรือตัดไม้ทำลายป่าก็ไม่เกิดประโยชน์

     16.ขาดทุนคือกำไร

       สังคมจะอยู่ดีมีสุขจะนับเป็นตัวเงินอย่างเดียวไม่ได้  ต้องมีความเสียสละ  ต้องรู้จักการให้เสียบ้าง

     17.การพึ่งตนเอง

      เป็นการสอนให้รู้จักแก้ปัญหา  ต้องเสียสละ  ต้องสอนให้เขารู้จักการเรียนรู้อย่างยั่งยืน  ทำได้ด้วยตนเอง  ไม่ใช่ไปช่วยเมื่อเดือดร้อนหรือมีปัญหาเป็นครั้ง ๆ  ปัญหาก็ไม่จบ  ต้องเรียนรู้และพึ่งพาตนเองให้ได้

    18. พออยู่พอกิน

      คนเราต้องเริ่มต้นด้วยการรู้จักพออยู่พอกินไปก่อน  ไม่ตามคนอื่นเขา  เมื่อพออยู่พอกินแล้วก็ต้องขยันให้มากขึ้น  แล้วขยับไปตามลำดับได้พัฒนาให้ดีขึ้น

    19. เศรษฐกิจพอเพียง

      เศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักนำทางการดำเนินชีวิตที่ถือเป็นศาสตร์พระราชาที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี  ใช้ได้กับทุกสาขาอาชีพ  มีหลักการปฏิบัติ  โดยให้ดำเนินอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง  ความไม่ประมาท  มีความพอประมาณ  มีเหตุผล  มีภูมิคุ้มกัน  ตั้งอยู่บนฐานความรู้คู่คุณธรรม   มีความรอบรู้ รอบคอบ  ในการทำงานด้วยสติปัญญา  ความซื่อสัตย์ สุจริต  มีความขยันอดทน     นำไปสู่การพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม  โดยการทำงานทุกขั้นตอนต้องมีความสมดุล  และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

    20.ทำงานอย่างมีความสุข

      นับเป็นหลักการปฏิบัติงานที่สำคัญยิ่ง  การปฏิบัติงานอย่างมีความสุข  จะไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย  ความสุขเป็นพลัง  งานจะสำเร็จได้อย่างง่าย การทำงานอย่างมีความสุขจะทำให้ชนะและสำเร็จในทุกเรื่อง

   21. ซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน

     สังคมใด ถ้ามีคนที่มีความซื่อสัตย์  สุจริต  และมีความจริงใจต่อกัน  อยู่ร่วมกันมาก  สังคมนั้นก็จะดี มีคุณธรรม คนมีคุณธรรมคือคนดี  ในการปฏิบัติงาน หากขาดคนเหล่านี้  สังคมจะอยู่ร่วมกันได้ก็จริง แต่ประโยชน์น้อยกว่าที่ควรเป็น  สังคมจะอยู่อย่างไม่มีความสุข 

    22. ความเพียร

      การปฏิบัติงานใดก็  หากมีความเพียรพยายามในการปฏิบัติแล้วจะเกิดความสำเร็จได้ไม่ยาก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  ทรงมีความเพียรตลอดพระชนม์ชีพที่พระองค์ทรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

   23. รู้ รัก สามัคคี

      การปฏิบัติงานที่ดี  ต้องนำความรู้ในการปฏิบัติ  รู้จุดอ่อนจุดแข็งของงาน  มีความรักความสนใจที่จะปฏิบัติงาน  นำมารวมกันให้ได้ ก็จะเกิดความสามัคคี สามารถปฏิบัติงานพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาอุปสรรคได้อย่างง่ายดาย บังเกิดผล

 

        จะเห็นว่าหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  มีคุณค่าและยิ่งใหญ่เสมอในใจคนไทยทั้งชาติ  สามารถนำไปเป็นแนวทางดำเนินชีวิตได้ทุกเชื้อชาติ ศาสนา  ทุกชนชั้น ทุกเพศทุกวัยทุกสาขาอาชีพ  แม้พระองค์จะจากเราไปแล้ว  แต่ทรงมอบหลักและแนวทางในการดำเนินชีวิตให้คนไทยที่มีค่ายิ่ง

หมายเลขบันทึก: 652390เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2018 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2018 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะมาอ่านแล้ว น้อมนำไปปฏิบัติเพื่อเป็นการระลึกถึงพระกรุณาธิคุณของในหลวง ร.9 ส่วนตัวมักจะเพิ่มหลักการทรงงานข้อที่ 24 ด้วยคือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” นะคะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท