อธิวรรต (disruption) และสภาพการถดถอยโลจิสติก (logistic regression)


[อธิวรรต (disruption) และ เอกปจิยสภาวะ (singularity) ตอนที่ 2]

ในงานเขียนเรื่อง "Disruptive Technologies: Catching the Wave" ของ Joseph L. Bower และ Clayton M. Christensen ที่ตีพิมพ์ใน Harvard Business Review ตั้งแต่ปี 2538 ผู้เขียนทั้งคู่ได้อธิบายสภาวะการแข่งขันในตลาดฮาร์ดดิสก์ (ดูภาพข้างล่าง)


ภาพการเกิดอธิวรรตในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ ที่มา: "Disruptive Technologies: Catching the Wave" ของ Joseph L. Bower และ Clayton M. Christensen


ในแผนภาพข้างบนนี้ แกนตั้งจะแทนความจุของฮาร์ดดิสก์ ในขณะที่แกนนอนแทนการเปลี่ยนแปลงตามเวลาเป็นรายปี จะเห็นว่าทั้งปริมาณความจุอันเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงความต้องการปริมาณความจุของตลาดไม่ได้มีลักษณะสถิตตายตัว แต่ต่างก็มีการเปลี่ยนแปลงทั้งคู่ เมื่อเวลาผ่านไป

ในกราฟเส้นแรกจะแสดงประสิทธิภาพความจุของ ดิสก์ขนาด 14 นิ้ว จะเห็นว่ามีการพัฒนาขนาดความจุของดิสก์เกินความต้องการของผู้ใช้ในตลาดเมนเฟรม ซึ่งถือเป็นตลาดบนที่สร้างกำไรสูงสุดในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไปมาก แต่ในระหว่างนั้นเองก็ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ทดแทนใดมาแข่งขันได้ แม้ดิสก์ขนาด 14 นิ้วจะมีพัฒนาการทางเทคโนโลยีเกินความจำเป็นไปมาก จึงไม่ได้ตอบสนองความพึงพอใจมากไปกว่าความต้องการที่มี แต่ผู้ใช้ในตลาดนี้ไม่มีทางเลือกอื่น ดิสก์ขนาด 14 นิ้วจึงครองเจ้าตลาดเมนเฟรมเพียงรายเดียว

อธิวรรตชุดแรก (ชุด A) เกิดขึ้นเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีในดิสก์ขนาดเล็กลงมาคือ ดิสก์ขนาด 8 นิ้ว ที่เป็นเจ้าตลาดมินิคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นตลาดรองลงมา แต่ต้องรอเกือบ 10 ปี (ตั้งแต่ปี 1978 - 1988) ถึงจะมีการพัฒนาปริมาณความจุให้เพียงพอแก่ตลาดเมนเฟรมได้ เมื่อถึงช่วงนี้ดิสก์ขนาด 14 นิ้ว ที่เคยเป็นเจ้าตลาดเมนเฟรมเดิมจะถูกขับออกไปจากตลาด

อธิวรรตชุดที่สอง (ชุด B) เป็นเทคโนโลยีของดิสก์ขนาดเล็กลงไปอีก คือดิสก์ขนาด 5.25 นิ้ว ดิสก์ขนาดนี้เริ่มถือกำเนิดขึ้นในตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเมื่อปี 1980 ใช้เวลาราว 7 ปี ดิสก์ขนาด 5.25 นิ้วก็เข้าไปแทนที่ในตลาดมินิคอมพิวเตอร์ได้

ในขณะที่ดิสก์ขนาดเล็กที่สุดคือขนาด 3.5 นิ้ว อันเป็นอธิวรรตชุดที่สาม (ชุด C) ซึ่งเป็นชุดสุดท้ายในแผนภาพนี้ ที่ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับโน้ตบุ๊คเมื่อปี 1985 ใช้เวลาเพียง 2 ปีเศษ ก็สามารถเข้าไปแทนที่ดิสก์ขนาด 5.25 นิ้วในตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลได้ด้วย

ในรูปข้างล่างนี้ จะแสดงให้เห็นการหนีเข้าไปกินส่วนแบ่งตลาดที่มีมูลค่าสูงขึ้นของผลิตภัณฑ์เจ้าตลาด (incumbent product) จากการรุกคืบเข้ามาสู่ตลาดกระแสหลัก ที่เคยถูกครองโดยเจ้าตลาดเดิมมาก่อน โดยคู่แข่งผู้มาใหม่แบบอธิวรรต (entrant's disruptive product) ในรูปนี้จะแสดงการเปลี่ยนแปลงในตลาด 3 ชั้น คือตลาดบน (high end) ตลาดหลัก (mainstream market) และตลาดล่าง (low end)


แผนภาพอธิบายการเกิดอธิวรรต ที่มา: What Is Disruptive Innovation? By Clayton M. Christensen, Michael E. Raynor, Rory McDonald



ในรูปต่อมา ตรงรูปส่วนล่างสุด ในกรณีไม่มีตลาดมูลค่าสูงขึ้นให้เจ้าตลาดหนีคู่แข่งผู้มาใหม่แบบอธิวรรต หรือเป็นตลาดชั้นเดียว หรือในกรณีที่อยู่ตลาดชั้นบนสุดอยู่แล้ว ไม่มีตลาดมูลค่าสูงกว่านี้ไปอีก เจ้าตลาดนั้นจะถูกกวาดให้ตกไปจากตลาด


รูปแสดงการที่เจ้าตลาดถูกผู้มาใหม่แบบอธิวรรตเบียดขับออกจากตลาด ที่มา: Disrupting Wonkcomms



ในรูปบน กรณีการเปลี่ยนแปลงแบบอธิวรรตนี้ที่ไม่มีตลาดหลายชั้นนี้ ผมเห็นว่าสามารถแสดงได้ด้วยสมการถดถอยแบบโลจิสติก เมื่อเปลี่ยนมาใ้ห้แกนตั้งแสดงขนาดส่วนแบ่งตลาด ไม่ใช่ประสิทธิภาพเทคโนโลยีเหมือนเปเปอร์ของ Joseph L. Bower และ Clayton M. Christensen แต่แกนนอนยังแสดงการเปลี่ยนแปลงตามเวลาเช่นเดิม (สมการและภาพในรูปนี้ ผมทดลองเขียนขึ้นด้วย latex) สมการถดถอยนี้ เป็นฟังก์ชั่นของตัวแปรที่ผมสมมติขึ้นอย่างน้อยสามตัว คือ (1) ความสามารถในการประกอบการ (2) นวัตกรรมและการวิจัย และ (3) เงินทุน การจะประสบความสำเร็จหรือไม่ [การวัดการประสบความสำเร็จในกรณีวัดได้จากโอกาสในการเกิดอธิวรรต Pr(Disrupt)] เมื่ออ้างอิงจากสมการนี้ อยู่ที่การใส่ส่วนผสมของตัวแปรทั้งสามนี้เป็นอย่างน้อย เพราะในความเป็นจริง วิสาหกิจตั้งต้นศักยภาพและความเสี่ยงสูง (startup) จะเกิดขึ้นมากมาย แต่มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นจะประสบความสำเร็จ ในรูปนี้จะแสดงวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งจากเจ้าตลาดเดิมมาได้ เป็นเส้นกราฟสีน้ำเงิน ในขณะที่อีกสองเจ้าที่เหลือ ไม่ประสบความสำเร็จในการแย่งส่วนแบ่งตลาด และต้องยุติการดำเนินงานไปในที่สุด


ภาพแสดงการขยายตลาดจากผู้มาใหม่แบบอธิวรรต ซึ่งมักจะเป็นวิสาหกิจตั้งต้นศักยภาพและความเสี่ยงสูงในแบบต่าง ๆ โดยใช้สมการถดถอยแบบโลจิสติคผมจัดทำขึ้นเองโดยใช้ Latex


โอกาสที่เกิดอธิวรรต Pr(Disrupt) ในรูปบนนี้ จะแสดงเฉพาะในกลุ่มวิสาหกิจตั้งต้นศักยภาพและความเสี่ยงสูง (startup) เท่านั้น โดยไม่รวมฟังก์ชั่นของเจ้าตลาดเดิม

ในระยะหลังเรามักจะเห็นการใช้กราฟรูปการเติบโตแบบยกกำลัง แสดงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่สามารถชิงส่วนแบ่งตลาดมาได้ และมีการเติบโตสูงในระยะสั้นเมื่อผ่านจุดวิกฤติที่มีลักษณะหักศอก (threshold) โดยมีความชันในการเปลี่ยนแปลงนั้นมีแนวโน้มเข้าใกล้เส้นตั้งฉาก ยิ่งมีความชันใกล้เส้นตั้งฉากมากเท่าใด ก็ยิ่งแสดงแนวโน้มในการเติบโตสูงในระยะสั้นมากเท่านั้น การเติบโตดังกล่าวจะเริ่มชะลอตัวลงจนหยุดนิ่งเมื่อไปถึงจุดอิ่มตัว (saturate) แต่ในความเป็นจริง ถ้ามองให้ดี ภายใต้สภาพการเติบโตในลักษณะนี้ จะเห็นภาพรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับเรื่องอธิวรรตซ่อนตัวอยู่

เวลาเราพูดถึงเรื่องอธิวรรต จึงแฝงความหมายอยู่สองนัยยะ คือ (1) การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ของผู้ท้าชิงที่มาใหม่แบบอธิวรรต ซึ่งแสดงให้เห็นจากการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้นจากการแสดงให้เห็นในสมการถดถอยโลจิสติกนี้ และ (2) การเปลี่ยนแปลงแบบต่อเนื่อง ในแง่พัฒนาการประสิทธิภาพของเทคโนโลยี ทั้งในส่วนของเจ้าตลาด และผู้มาใหม่ รวมไปถึงความต้องการของผู้ใช้ในตลาด อันเป็นมุมมองจากสายตาของผู้สังเกตการณ์ภายใน ดังที่แสดงในกราฟในเปเปอร์ของ Joseph L. Bower และ Clayton M. Christensen กราฟในลักษณะนี้จะแสดงให้เห็นเป็นสมการถดถอยเชิงเส้นตรงตามปกติ ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนเกิดขึ้นโดยฉับพลันในแง่ส่วนแบ่งตลาด ที่มองจากสายตาของผู้สังเกตการณ์ภายนอก จะเกิดขึ้นเมื่อในกรณีที่ประสิทธิภาพเทคโนโลยีของผู้มาใหม่เกิดพัฒนาขึ้น จนถึงจุดที่สามารถเข้าไปแตะความต้องการผู้ใช้ในตลาดที่เจ้าตลาดเดิมเคยครองความเป็นเจ้าอยู่

ด้วยเหตุนี้ ทำให้เราต้องใช้คำว่า "อธิวรรต" เพื่อแสดงความหมายสมบูรณ์แบบของภาษาอังกฤษคำว่า "disruption" เราไม่สามารถแปลมาจากภาษาอังกฤษเพียงแทนความหมายขาเดียวว่า ปั่นป่วน แตกกระจาย แตกหัก อะไรทำนองนั้นเพียงอย่างเดียวได้

สมการถดถอยแบบโลจิสติคเป็นหนึ่งในสมการถดถอยในตระกูลการแจกแจงแบบยกกำลัง, ดูเพิ่มเติมการแจกแจงแบบโลจิสติค


(ยังมีต่อ)

คำสำคัญ (Tags): #disruption#singularity
หมายเลขบันทึก: 651318เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2018 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กันยายน 2018 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท