AFS Chaperone Field Trip Survival 2018: วิถีชีวิตอเมริกันชน ในอีกมุมหนึ่ง


ห้องเพ้นท์เฮ้าส์ ตกแต่งอย่างสุดหรู... ดูไม่ออกเลยว่านี่คือสหรัฐอเมริกา ชีวิตครอบครัวคุณ B อยู่แบบสบายๆ อยากไปเที่ยวไหนก็ไปได้ มีรถ Motor Home คันใหญ่พ่วงคันเล็กให้ใช้เดินทาง และมีรถให้ขับเล่นอีก 3 คัน

มิตรภาพแห่งไมตรีกับคำว่า " เพื่อน "

คุณเพื่อนมาเคาะประตูเรียกถามว่า ตื่นหรือยัง  (ความหมายคือปลุก) เมื่อเวลาผ่าน 8 นาฬิกาไปไม่นาน  รีบขานรับว่า เพิ่งตื่นพอดี เมื่อคืนเดินทางมาถึงสนามบินดึกมาก เนื่องจากเครื่องบินล่าช้าไปกว่าชั่วโมง เกรงใจที่เจ้าของบ้าน ต้องไปรอรับและพากลับมาที่บ้าน (นี่ขนาดเกรงใจนะเนี่ย)  คุณเพื่อนพำนักอยู่กับคุณ C ด้วยความเข้าใจ กันมาเนิ่นนาน            

 ผัดกะเพราและไข่ป่าม พร้อมทั้งน้ำพริกกะปิรสชาติดีเยี่ยม  ถูกเสริ์พพร้อมข้าวสวยหุงร้อนๆ ยามตี 1 นี่สุดประทับใจจริงๆ  เป็นอาหารไทยมื้อแรกที่ได้รับประทานหลังจากพำนักอยู่อเมริกามา 5 วันเต็ม 

รู้จักคุณเพื่อนมา 20 ปีกว่าแล้ว  ลักษณะการคบหาดูจะเหมือนพี่และน้อง มากกว่าเพื่อน แต่ผู้เขียนจะเป็นพี่ที่ไม่ค่อยได้เอื้อประโยชน์ให้น้อง แต่มีโอกาสพึ่งพาน้องมากกว่า           

*** การคบหากันของสังคมมนุษย์นี่ หากตัดคำว่าผลประโยชน์ออก  การคบหาก็จะยืนยาว แนบแน่นและมั่นคง  คำว่าผลประโยชน์มีทั้งทางตรงและโดยอ้อม แม้มนุษย์จะเป็นสัตว์สังคม แต่มนุษย์ก็มีสิทธิ์ที่จะกำหนดสังคมส่วนตัวได้   ยกเว้นสังคมส่วนรวมที่บางครั้งก็ไม่อาจหลบหลีกที่จะไปข้องเกี่ยวได้ ***               

สังคมแห่งจิตอาสา        
ช่วงที่คุณเพื่อนพักอาศัยอยู่ แถบมลรัฐ  KANSAS ผู้เขียนเคยไปเยี่ยมเยียนอยู่ 3-4 วัน พอย้ายมาอยู่ที่ Fort Myers ก็มีโอกาสมาเยือนอีกวาระหนึ่ง ด้วยความที่ผู้เขียนมีนิสัยชอบศึกษาหาประสบการณ์จากการท่องเที่ยว จึงส่งผลให้คุณเพื่อนกังวลไม่น้อยว่าจะต้อนรับไม่ดี บอกไปว่าการมาเยือนครั้งนี้คิดแค่มีโอกาสมาพบเจอก็พอ ส่วนเรื่องเที่ยว หรือเรื่องอื่นนั่นเป็นกำไรเสริม            
คุณเพื่อนรับทำงานเป็นอาสาสมัครที่โรงพยาบาล Lee Health คือคอยช่วยเหลือผู้ป่วยตามความเหมาะสม รวมทั้งให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษาและเป็นกำลังใจให้  เพราะยามเจ็บป่วยเรื่องแบบนี้มีความจำเป็นจริงๆ  ต้องนับถือคุณเพื่อนที่เลือกทำสิ่งเหล่านี้ตอบแทนสังคมฯ       
จริงๆคุณเพื่อนก็วางแผนไว้ว่าจะมาไปเที่ยวชม ศึกษาเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากพอสมควร แต่อยู่ๆ คนไข้ท่านหนึ่งที่คุณเพื่อนคอยช่วยเหลือ ต้องรับการผ่าตัดด่วนในช่วงนั้นแบบกะทันหัน ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก แต่นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้เขียนจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในสังคมอเมริกัน    

พรหมลิขิตแห่งรัก                  
คุณ B เป็นทหารอมริกัน เกษียณมาเนิ่นนาน  เพิ่งแต่งงานใหม่กับคุณนีน่า สาวเชื้อชาติจีน เมื่อปีที่แล้ว เธอมุ่งหน้ามาทำงานที่นี่เมื่อ 13 ปีก่อน เพราะเกิดปัญหาเรื่องธุรกิจที่ล้มไป  การแต่งงานครั้งนี้ถือว่าโชคดีทั้งสองฝ่าย คุณ B โชคดีที่มีคนดูแลอย่างดี  ส่วนคุณนีน่าก็โชคดีที่มีคนอุปถัมภ์อย่างใจกว้างเผื่อแผ่ไปถึงลูกหลานที่เมืองจีนด้วยเลย บอกคุณนีน่าไปว่าคุณคือCinderella เลยนะ        

ห้องเพ้นท์เฮ้าส์ ตกแต่งอย่างสุดหรู... ดูไม่ออกเลยว่านี่คือสหรัฐอเมริกา  ชีวิตครอบครัวคุณ B อยู่แบบสบายๆ อยากไปเที่ยวไหนก็ไปได้  มีรถ Motor Home คันใหญ่พ่วงคันเล็กให้ใช้เดินทาง และมีรถให้ขับเล่นอีก 3 คัน  มีเงินใช้จ่ายคล่อง  ชีวิตดี๊ดี ไม่รู้ว่าทำบุญมาด้วยอะไรเนาะ  ที่แน่ๆ ลักษณะโหงวเฮ้งของคุณนีน่า  ดูดีมากเลย มิน่าล่ะถึงสบายในบั้นปลาย

การใส่ใจดูแล-รักษาพยาบาล

ด้เดินทางไปเยี่ยมคุณ  B ที่โรงพยาบาลถึง 2 ครั้ง ต้องมีการสแกนคนเข้า-ออก เพื่อความปลอดภัย โดยยื่นบัตร ID Card / passport และต้องติดสติ๊กเกอร์โชว์อยู่ตลอดเวลา หากเป็นคุณหมอ /พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ก็ต้องติดป้ายคล้องคอ/ หรือติดบัตรไว้ตลอดเวลาเช่นกัน  การแต่งกายใช้ชุดฟอร์มที่สะดวกต่อการทำงาน  

ทุกพื้นที่สะอาด-สะอ้าน ไม่มีกลิ่นยา หรือกลิ่นที่บ่งบอกว่านี่คือโรงพยาบาล        ในห้องคนพักไข้  นอกจากอุปกรณ์-เครื่องมือจำเป็นแล้ว ยังมีบอร์ดเขียนข้อมูลจำเป็นติดอยู่บนผนังให้คนไข้/ผู้เยี่ยมไข้ได้เห็นว่า คุณหมอคือใคร พยาบาลที่ดูแล และเจ้าหน้าที่คือใคร  รับการรักษาอย่างไรบ้าง  ไม่ต้องเสียเวลามาถามอาการคนไข้ให้เหนื่อยเลย  

ก่อนที่คุณพยาบาลจะให้ยาคนไข้ จะมีขั้นตอนการตรวจสอบตัวตนของคนไข้ด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันการให้ยาผิดคน เช่นถามชื่อ-สกุล  วัน-เดือนปี-เกิด ทุกครั้ง

อารมณ์ขันสไตล์คุณ B
พยาบาลถามว่าชื่อไร คุณ B ตอบว่า  Mickey mouse   ผู้เขียนถึงกับหัวเราะออกมาแบบไม่เกรงใจเลย        
อารมณ์ของผู้ป่วยนี่สำคัญ...หากคุณไม่พอใจ คุณหมอ หรือพยาบาลคนไหน ก็สามารถแจ้งกับทาง รพ. ได้เลย  แล้วเขาก็จะเปลี่ยนคนใหม่มาให้        

แต่ถ้าเป็นประเทศไทยนะ  คุณจะเห็นความต่างของการรักษาพยาบาลระหว่างโรงพยาบาลของรัฐฯและโรงพยาบาลเอกชนอย่างชัดเจน   ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชน...คนไข้จะรู้สึกถึงความสบายใจ  ได้รับการปฏิบัติดูแลดีมากทั้งการรักษา กริยา และคำพูด   แต่ต้องทำใจหน่อยที่จะจ่ายเงินในราคาสูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐฯ สูงกว่า 8-10  เท่าตัว          
จริงๆแล้ว  โรงพยาบาลของรัฐบาล นี่ก็เหมาะสมกับคุณสมบัติของคนไทย อย่างยิ่งคือ มีความอดทนสูง  ต้องรับให้ได้กับกริยาและวาจา ที่ดูเหมือนจะเข้มงวด สร้างความกดดัน อย่างมาก ใครไม่อยากจะเผชิญเหตุการณ์แบบนี้ ก็ต้องรีบหายป่วยละ

คุณ  B ต้องการจะเลี้ยงอาหารจีนเพื่อขอบคุณ คุณเพื่อนและเลี้ยงรับผู้เขียน จึงให้คุณนีน่าโทรฯไปจอง  คุณนีน่าขอให้คุณเพื่อนเป็นผู้ที่โทรฯได้ไหม         คุณเพื่อนบอกว่า ให้คุณนีน่าโทรฯเองจะดีกว่า เพราะเป็นคนจีน         
คุณนีน่าเลยบอกเหตุผลว่า ที่เธอไม่อยากโทรศัพท์ไปจองเอง เพราะภาษาอังกฤษเธอไม่เก่ง 
คุณ B เลยพูดว่า ***  อ๋อเหรอ...ฉันเพิ่งรู้นะเนี่ยว่าเธอไม่เก่ง ภาษาอังกฤษ   ***       ฮากันสนั่นห้องเลย .....        

ภาษาอังกฤษของคุณนีน่า ค่อนข้างจะฟังยาก เพราะเสียงตัว T ของเธอจะ Stress  เป็นเสียง ต. หนักไปหน่อย   แต่คุณเพื่อนเขาทำงานอยู่ในสังคมอเมริกัน มานานกว่า 20 ปี ประกอบกับชอบศึกษาเรียนรู้  จึงฟังได้ออกหมด ไม่ว่าจะเป็นสำเนียงแบบไหน     

 อาหารเวียตนามแบบง่ายๆ กับคุณเพื่อนและคุณนีน่า 

     คุณเพื่อนเล่าว่า ปกติอเมริกันชนระดับคุณ B จะไม่ให้คนเข้าใกล้ง่ายๆ แต่คุณ B ไว้วางใจคุณเพื่อน บอกรหัสและให้กุญแจ-เข้าออกได้อย่างสนิทใจ  ผู้เขียนจึงมีโอกาสได้เห็นได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของคนอีกระดับหนึ่งอย่างคาดไม่ถึง แถมเอ่ยปากเชิญให้ไปพักที่ห้องในโอกาสต่อไปได้เลย ...*** โห....ขนาดนั้นเชียว *** 

   ***..ขอขอบคุณผู้เข้ามาเยี่ยมชมทุกท่านนะคะ ...***

หมายเลขบันทึก: 651224เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2018 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2018 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท