59. ความต้องการและความกลัว: สภาวะของความเห็นแก่ตัว


59. ความต้องการและความกลัว: สภาวะของความเห็นแก่ตัว


ถาม  ผมอยากกลับไปที่คำถามเดิม เกี่ยวกับความเพลิดเพลินและความเจ็บปวด ความต้องการและความกลัว

ผมเข้าใจเรื่องความกลัว ซึ่งก็คือความทรงจำและความคาดหวังถึงความเจ็บปวด

มันจำเป็นสำหรับการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตและรูปแบบการดำรงชีวิตของมัน

เมื่อรู้สึกถึงความต้องการ มันจะเต็มไปด้วยความเจ็บปวด และการคาดหวังถึงความต้องการนั้นก็เต็มไปด้วยความกลัว

เรากลัวที่จะไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของเราได้

เราจะรู้สึกถึงความโล่งใจ เมื่อเราสามารถตอบสนองความต้องการได้

หรือความกังวลใจที่บรรเทาเบาบาง เมื่อความเจ็บปวดสิ้นสุดลง

เราอาจตั้งชื่อเชิงบวกให้มันว่า ความเพลิดเพลิน หรือความเบิกบาน หรือความสุข

แต่จริงๆแล้วมันก็คือความผ่อนคลายจากความเจ็บปวด

ความกลัวความเจ็บปวดนี้เองที่ยึดโยงสถาบันสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ไว้ด้วยกัน

สิ่งที่ทำให้ผมงุนงงก็คือ เราสร้างความเพลิดเพลินขึ้นมาจากสิ่งของและสภาวะทางใจ

ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการอยู่รอด

ในทางตรงกันข้าม ความเพลิดเพลินของเรามักจะเป็นไปในทางทำลายล้าง

มันสร้างความเสียหาย หรือทำลายวัตถุสิ่งของ ทำลายอุปกรณ์ และทำลายตัวผู้เพลิดเพลินนั้นด้วย

ถ้าไม่เป็นเช่นที่ว่านี้ ความเพลิดเพลินและการแสวงหาความเพลิดเพลิน ก็น่าจะไม่ก่อปัญหาอะไร

เหล่านี้นำผมมาสู่แก่นของคำถามของผม

ทำไมความเพลิดเพลินจึงตามมาด้วยการทำลายล้าง

และแม้ว่ามันสามารถทำลายล้าง ผู้คนก็ยังต้องการมัน

ผมขอเพิ่มเติมว่า ผมไม่ได้หมายถึงรูปแบบความเพลิดเพลิน-ความเจ็บปวด ที่เป็นไปตามแรงขับดันของธรรมชาติ

ผมหมายถึงความเพลิดเพลินที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งด้านประสาทสัมผัสและอารมณ์ ตั้งแต่ความเพลิดเพลินหยาบๆ เช่นการกินมากเกินต้องการ ไปจนถึงความเพลิดเพลินที่ละเอียดอ่อนที่สุด

การเสพติดความเพลิดเพลิน ไม่ว่าจะต้องจ่ายแพงเท่าไหร่ เป็นสิ่งสากลมากจนกระทั่ง มันน่าจะต้องมีอะไรบางอย่างที่สำคัญและเป็นฐานรากของมัน

แน่ละ ทุกกิจกรรมของมนุษย์ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นไปในทางที่ถือประโยชน์เป็นสำคัญ หรือได้รับการออกแบบให้ตอบสนองความต้องการ เสมอไป

ตัวอย่างเช่น การเล่น เป็นสิ่งธรรมชาติ และมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชื่นชอบการเล่นมากที่สุด

การเล่น เติมเต็มความต้องการค้นพบตัวเอง และพัฒนาตัวเอง

แต่แม้ขณะเล่น มนุษย์ก็ยังทำลายธรรมชาติ ทำลายสิ่งมีชีวิตอื่น และทำลายมนุษย์เอง

ตอบ  สรุปสั้นๆ เธอไม่ได้รังเกียจความเพลิดเพลิน

แต่เธอรังเกียจการจ่ายราคาแห่งความเพลิดเพลินด้วยความเจ็บปวดและความโศกเศร้า

ถาม  ถ้าความจริงแท้คือความสุข ความเพลิดเพลินก็น่าจะสัมพันธ์กับความจริงแท้

ตอบ  เราอย่าคุยกันด้วยตรรกะทางคำพูดเลย

ความสุขของความจริงแท้ ไม่ได้แยกออกจากความทุกข์

นอกจากนั้น เธอรู้จักแต่ความเพลิดเพลิน เธอไม่รู้จักความสุขของการมีอยู่เป็นอยู่ที่บริสุทธิ์

ดังนั้น เรามาศึกษาความเพลิดเพลินในระดับของมันด้วยกัน

ถ้าเธอมองดูตัวเองในขณะที่เธอมีความพลิดเพลิน หรือมีความเจ็บปวด

เธอจะพบว่า ความเพลิดเพลินหรือความเจ็บปวด ไม่ได้มีอยู่ในสิ่งที่ถูกรู้

แต่ความเพลิดเพลินหรือความเจ็บปวด มีอยู่ในสถานการณ์แวดล้อมของสิ่งถูกรู้นั้น

ความเพลิดเพลิน อยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างตัวเธอ และสิ่งที่เธอกำลังมองดูมัน

และแก่นแท้ของมันคือ การยอมรับ

ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร ถ้าหากยอมรับได้ มันจะก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน

ถ้าหากยอมรับไม่ได้ มันก็จะก่อให้เกิดความเจ็บปวด

อะไรที่ทำให้มันเป็นที่ยอมรับได้นั้น ไม่สำคัญ

สาเหตุของการยอมรับได้อาจมาจากแง่มุมทางกายภาพ หรือทางจิตวิทยา หรือหาสาเหตุไม่ได้

แต่การยอมรับนั่นแหละ คือปัจจัยตัดสิน

ในทางกลับกัน ความทุกข์ เกิดจากการไม่สามารถยอมรับได้

ถาม  ความเจ็บปวด เป็นสิ่งยอมรับไม่ได้

ตอบ  ทำไมไม่ได้ เธอได้ลองแล้วหรือยัง

ลองยอมรับมันดูสิ และเธอจะพบว่า ในความเจ็บปวด จะมีความเบิกบานที่แม้ความเพลิดเพลินก็ไม่สามารถให้แก่เธอได้

ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ การยอมรับความเจ็บปวด จะนำพาเธอเข้าสู่ความลึกซึ้งได้มากกว่าความเพลิดเพลิน

ธรรมชาติของอัตตาตัวตน คือการแสวงหาความเพลิดเพลินอย่างไม่หยุดยั้ง และหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดให้ได้มากที่สุด

จุดสิ้นสุดของรูปแบบเช่นนี้ คือจุดสิ้นสุดของอัตตาตัวตน

การสิ้นสุดของอัตตาตัวตน และความต้องการ ความกลัว ของมัน จะทำให้เธอกลับเข้าสู่ธรรมชาติเดิมแท้ของเธอ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของความสุขและความสงบสันติ

ความต้องการความเพลิดเพลิน มีอยู่เสมอ

มันเป็นการสะท้อนของความกลมกลืนภายในที่ไร้กาลเวลา

มันคือข้อเท็จจริงที่สังเกตเห็นได้ ว่าผู้คนจะตระหนักถึงตัวเอง ก็ต่อเมื่อติดกับอยู่ในความขัดแย้งระหว่างความเพลิดเพลินและความเจ็บปวด

ซึ่งบังคับให้ต้องเลือก และต้องตัดสินใจ

การปะทะกันระหว่างความต้องการและความกลัวนี้ เป็นสาเหตุของความโกรธ ซึ่งเป็นผู้ทำลายที่ยิ่งใหญ่ของการมีสุขภาพจิตดีในชีวิต

เมื่อเรายอมรับความเจ็บปวดอย่างที่มันเป็น ว่ามันคือบทเรียนและการเตือน

แล้วมองลึกลงไปในบทเรียนนั้นอย่างเอาใจใส่

ความแบ่งแยกระหว่างความเจ็บปวดและความเพลิดเพลินจะแตกทำลาย

ทั้งสองกลายเป็นแค่ประสบการณ์

เจ็บปวด เมื่อต่อต้าน

เบิกบาน เมื่อยอมรับ

ถาม  ท่านแนะนำให้หลีกหนีความเพลิดเพลิน และแสวงหาความเจ็บปวด อย่างนั้นหรือ

ตอบ  ไม่ใช่อย่างนั้น และฉันก็ไม่แนะนำให้หลีกหนีความเจ็บปวด และแสวงหาความเพลิดเพลินเช่นกัน

ยอมรับทั้งสองอย่างเมื่อมันเกิดขึ้น

มีความสุขกับทั้งสองอย่างเมื่อมันดำรงอยู่

และปล่อยให้มันจากไปเมื่อมันต้องไป

ถาม  ผมจะมีความสุขกับความเจ็บปวดได้อย่างไร ผมต้องทำอะไรบางอย่างเมื่อเกิดความเจ็บปวดทางกาย

ตอบ  แน่นอน และเธอต้องทำอย่างเดียวกันกับความเจ็บปวดทางใจด้วย

ความสุข อยู่ในการตระหนักรู้ความเจ็บปวด

อยู่ในการไม่หลีกหนีความเจ็บปวด

ความสุขทั้งหมดมาจากความตระหนักรู้

ยิ่งเรารู้ตัวมากขึ้น ความเบิกบานจะลึกซึ้งมากขึ้น

การยอมรับความเจ็บปวด การไม่ต่อต้าน ความกล้าหาญ และความอดทน – เหล่านี้จะทำให้แหล่งกำเนิดของความสุขที่แท้อันเป็นนิรันดร์เปิดกว้าง นี่คือความสุขที่แท้จริง

ถาม  ทำไมความเจ็บปวดจึงมีประสิทธิภาพมากกว่าความเพลิดเพลิน

ตอบ  ความเพลิดเพลินป็นสิ่งที่ยอมรับได้โดยง่าย ในขณะที่กำลังทั้งหมดของอัตตาตัวตนจะปฏิเสธความเจ็บปวด

การยอมรับความเจ็บปวด จึงเป็นการปฏิเสธอัตตาตัวตน และอัตตาตัวตน คือสิ่งที่ขัดขวางการเข้าถึงความสุขที่แท้จริง

การยอมรับความเจ็บปวดอย่างเต็มหัวใจ จะช่วยปลดปล่อยน้ำพุแห่งความสุขให้พวยพุ่งออกมา

 

ถาม  การยอมรับความทุกข์ ก็มีผลเช่นเดียวกันหรือเปล่า

ตอบ  ความเจ็บปวด เป็นสิ่งที่ง่ายต่อการถูกนำขึ้นมาสู่โฟกัสของความตระหนักรู้

แต่ความทุกข์ ไม่ง่ายอย่างนั้น

แค่โฟกัสความทุกข์ ยังไม่พอ สำหรับชีวิตในเชิงจิต ตามที่เรารู้จัก คือกระแสธารอันต่อเนื่องของความทุกข์

การจะเข้าถึงความทุกข์ในระดับชั้นที่ลึกลงไป เธอต้องไปให้ถึงรากของมัน

และเปิดระบบเครือข่ายอันกว้างขวางที่อยู่ใต้พื้นดิน

ที่ซึ่งความกลัวและความต้องการถักทอประสานกันอย่างแน่นหนา

และกระแสแห่งพลังงานของชีวิตปะทะกัน ขัดขวางกัน และทำลายกันและกัน

 

ถาม  ผมจะแกะปมยุ่งเหยิงนี้ให้คลายออกได้อย่างไร ในเมื่อมันอยู่ต่ำกว่าระดับความรู้ตัวของผม

ตอบ  ก็แค่อยู่กับตัวตนที่แท้ของเธอ หรือสภาวะ “ฉันเป็น”

โดยการเฝ้ามองตัวเธอในชีวิตประจำวัน ด้วยความตื่นตัวและความสนใจ

ด้วยความตั้งใจที่จะทำความเข้าใจ ไม่ใช่ตำหนิ หรือตัดสิน หรือจับผิด

เฝ้ามองด้วยการยอมรับอย่างเต็มเปี่ยม ไม่ว่าอะไรจะก่อเกิดขึ้น

เพราะมันอยู่ที่นั่น

เธอกระตุ้นให้สิ่งที่อยู่ลึก ผุดโผล่ขึ้นมาที่ผิวหน้า

และเพิ่มพูนความสมบูรณ์ให้กับชีวิตและความรู้ตัวของเธอ ด้วยพลังงานที่มันถูกกักกันไว้

นี่คืองานอันยิ่งใหญ่ของความตระหนักรู้

มันช่วยขจัดอุปสรรคและปลดปล่อยพลังงานโยการเข้าใจธรรมชาติของชีวิตและใจ

ปัญญาญาณคือประตูสู่อิสรภาพ และความสนใจอย่างตื่นตัวคือมารดาของปัญญาญาณ

 

ถาม  อีกคำถามหนึ่งนะครับ ทำไมความเพลิดเพลินจึงมักจบลงด้วยความเจ็บปวด

ตอบ  ทุกสิ่งเกิดขึ้น และดับลง ความเพลิดเพลินก็เช่นกัน

อย่าคาดหวัง และอย่าเสียดาย แล้วความเจ็บปวดจะไม่มี

ความทรงจำและจินตนาการ คือสาเหตุของความทุกข์

แน่นอนว่า ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นหลังความเพลิดเพลิน อาจเกิดจากการใช้ร่างกายและใจในทางที่ผิด

ร่างกายรู้ขีดจำกัดของมัน แต่ใจไม่รู้

ความกระหายอยากของใจ มีจำนวนนับไม่ถ้วน และไม่มีที่สิ้นสุด

จงเฝ้ามองใจของเธอด้วยความขยันหมั่นเพียรอย่างยิ่ง

เพราะใจนั้นแหละ คือที่อยู่ของความยึดติด และเป็นกุญแจสู่อิสรภาพที่เธอแสวงหา

 

ถาม  ท่านยังไม่ได้ตอบคำถามของผมที่ว่า ทำไมความเพลิดเพลินของบุรุษจึงมักเป็นไปในทางทำลายล้าง ทำไมเพศชายจึงพึงพอใจในการทำลายล้างมากนัก

ชีวิตควรจะเกี่ยวเนื่องกับการปกป้อง การต่อเนื่อง และการขยายตัวอย่างไม่สิ้นสุด

กระบวนการนี้ถูกชักนำด้วยความเจ็บปวดและความเพลิดเพลิน

แล้วถึงจุดไหน ที่มันกลายเป็นการทำลายล้าง

ตอบ  เมื่อใจเข้ามาครอบงำ ใจจดจำและคาดหวัง มันเกิดการเลยเถิด มันทำการบิดเบือน และมันมองข้ามสิ่งอื่น

อดีต ถูกฉายไปในอนาคต และอนาคตจะไม่เป็นไปตามความคาดหวัง

อวัยวะรับสัมผัสและการกระทำ ถูกกระตุ้นเหนือขีดความสามารถของมัน และพังพินาศ

สิ่งที่เคยทำให้เกิดความเพลิดเพลิน จะไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังได้อีกต่อไป และเสื่อมสภาพ หรือถูกทำลาย โดยการใช้งานในทางที่ผิด

ผลลัพธ์คือความเจ็บปวดอย่างมากมายแทนที่ความเพลิดเพลินที่คาดหวัง

 

ถาม  เราไม่ได้แค่ทำลายตัวเอง เราทำลายคนอื่นด้วย

ตอบ  เป็นธการทำล่ยล้างร่วมด้วยเสมอ

ความต้องการและความกลัว เป็นสภาวะที่มีอัตตาตัวตนเป็นศูนย์กลาง

ระหว่างความต้องการและความกลัว ความโกรธจะก่อตัวขึ้น

สิ่งที่เกิดร่วมกับความโกรธ คือความเกลียด

สิ่งที่เกิดร่วมกับความเกลียด คือความหลงใหลในการทำลายล้าง

สงคราม คือความเกลียด ที่ได้รับการจัดระเบียบและเสริมอุปกรณ์ด้วยเครื่องมือแห่งความตาย

 

ถาม  มีวิธีใดบ้างที่จะจบความน่าสะพึงกลัวเหล่านี้

ตอบ  เมื่อผู้คนที่ได้รู้จักธรรมชาติที่แท้มีจำนวนมากขึ้น อิทธิพลของพวกเขา ไม่ว่าจะละเอียดอ่อนเพียงใด จะโดดเด่น

และบรรยากาศพายุอารมณ์ของโลกจะสงบลง

ผู้คนเชื่อฟังและทำตามผู้นำของตน

ในท่านกลางกลุ่มผู้นำนี้ จะมีบางคนที่มีหัวใจและมีใจที่เปิดกว้าง และป็นอิสระจากการค้นหาตัวตน

ผลกระทบของมันจะมากพอที่จะทำให้ความหยาบกระด้างและอาชญากรรมของยุคปัจจุบัน เกิดขึ้นไม่ได้

ยุคใหม่อันรุ่งเรืองดุจทองอาจมาถึงและคงอยู่นานชั่วระยะเวลาหนึ่ง และยอมสยบต่อความสมบูรณ์แบบของมัน

เพราะน้ำลงจะเริ่มขึ้นได้เมื่อน้ำขึ้นสูงสุดแล้วเท่านั้น

 

ถาม  เป็นไปไม่ได้หรือ ที่จะมีความสมบูรณ์แบบอันเป็นนิรันดร์

ตอบ  เป็นไปได้สิ แต่มันจะรวมเอาความไม่สมบูรณ์แบบทั้งหมดไว้ภายใน

ความสมบูรณ์แบบของธรรมชาติเดิมของเรานั่นแหละ ที่ทำให้ทุกสิ่งเป็นไปได้ รับรู้ได้ น่าสนใจ

มันไม่รู้จักความทุกข์ เพราะมันไม่มีความชอบหรือไม่ชอบ ไม่รับเอาและไม่ปฏิเสธ

การสรรค์สร้างและการทำลาย เป็นสองขั้วที่สอดประสานถักทอปรากฏเป็นรูปแบบต่างๆที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่ระหว่างขั้วทั้งสองนั้น

จงเป็นอิสระจากความพอใจและการตั้งค่า

แล้วใจที่แบกภาระคือความโศกเศร้าไว้จะไม่มีอยู่อีกต่อไป

 

ถาม  แต่ไม่ใช่ผมคนเดียวที่ทนทุกข์ คนอื่นๆก็เช่นกัน

ตอบ  เมื่อเธอไปหาเขาพร้อมกับความต้องการและความกลัวของเธอ

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เธอได้ทำให้ความโศกเศร้าของเขาเพิ่มมากขึ้น

ขั้นแรก จงทำตนเองให้เป็นอิสระจากความทุกข์เสียก่อน จากนั้นเธอจึงอาจหวังได้ว่าเธอจะสามารถช่วยผู้อื่น

เธอไม่ต้องการแม้แต่ความหวัง – เพียงแค่การดำรงอยู่ของเธอก็เป็นการช่วยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว ที่มนุษย์คนหนึ่งจะสามารถให้แก่เพื่อนร่วมโลกได้

 

ศรี นิสาร์กะทัตตะ มหาราช

“I AM THAT”

หมายเลขบันทึก: 649946เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2018 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2018 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท