การจำหน่ายบุหรี่กับความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทขายของสะดวกซื้อชื่อดัง


มาตรการใดก็ตามที่บริษัทบุหรี่ยินดีทำตามโดยดี มาตรการนั้นจะได้ผลในการลดการสูบบุหรี่น้อยมาก แต่หากมาตรการใดส่งผลกระทบในการลดคนสูบบุหรี่ได้มาก บริษัทบุหรี่มักจะไม่ค่อยปฏิบัติตาม

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ผมอยู่ที่ราชบุรีเนื่องจากได้รับเกียรติจากสภามหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึงให้ไปเล่าเรื่องการจัดการความรู้ในโรงพยาบาลบ้านตากให้แก่กรรมการสภาฯฟัง โดยการเสนอของอาจารย์หมออุดมศิลป์ ศรีแสงนาม โดยได้พักที่จอมบึงพาเลซ โรงแรมของมหาวิทยาลัย ในช่วงเช้าเป็นช่วงว่างด้วยความกรุณาของอาจารย์กรุณา รองอธิการบดีและเลขานุการสภามหาวิทยาลัยฯได้จัดรถเก๋งไว้ให้คันหนึ่ง ให้ขับรถไปเที่ยวรอบๆตัวอำเภอกับภรรยา ผมก็เลยไปไหว้พระที่วัดถ้ำสิงโตทองและสำนักแม่ชีหวานใจที่มีรอยพระพุทธบาททองคำ หลังจากได้ไปวัดไหว้พระแล้วก็กลับมาที่พัก ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยก็ได้แวะซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงที่มีสาขาทั่วประเทศ ขณะจ่ายเงินสายตาผมก็สะดุดกับชั้นวางขายบุหรี่ที่มีบุหรี่ตั้งอยู่ประมาณสี่แถวๆละกว่า 20 ซอง ทำให้ผมสะดุดใจอย่างมาก ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ร้านจำหน่ายบุหรี่ห้ามโชว์บุหรี่แต่ให้เขียนว่าที่นี่มีบุหรี่จำหน่ายเท่านั้น  เท่าที่ผมทำงานอยู่ในอำเภอและในจังหวัดที่อยู่ก็พบว่าร้านขายของชำทั่วไปเขาจะปฏิบัติตามอย่างดีแต่กลับมีร้านสะดวกซื้ออยู่บริษัทเดียวที่ไม่ปฏิบัติตาม ทั้งที่ก็เป็นร้านที่สามารถทำกำไรจากการขายสินค้าทั่วไปมากอยู่แล้ว ภาพที่เห็นกับการปฏิบัติเช่นนี้สะท้อนอะไรให้สังคม การทำกำไรจากการขายสินค้าที่ไม่ผิดกฎหมายแต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพนั้นช่างมีค่ามากมายกว่าชีวิตสุขภาพของคนและชุมชนขนาดนั้นเชียวหรือ

เมื่อเห็นซองบุหรี่หรือคนสูบบุหรี่ ใจผมจะนึกไปถึงคนไข้จำนวนมากที่ผมได้ดูแลอยู่ คนไข้นอนโรงพยาบาลติดอันดับ 1 ใน 5 เสมอก็คือผู้ป่วยถุงลมโป่งพอง ที่จะมีการดำรงชีวิตที่ไม่เป็นปกติเนื่องจากต้องทุกข์ทรมานกับอาการเหนื่อยหอบง่าย ไอ หลายๆคนต้องเข้าๆออกๆโรงพยาบาลอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุทั้งชายและหญิงและร้อยทั้งร้อยที่ผมรักษานั้นสูบบุหรี่ทุกคน ทุกคนบอกเลยว่าถ้ารู้ว่าสูบบุหรี่แล้วเป็นอย่างนี้ก็คงไม่สูบ ชีวิตที่มีอยู่คงไม่นานนักก็อยู่อย่างทนทุกข์ทรมาน บางคนเดินไปไหนแค่ใกล้ๆก็ไม่ไหวจะเหนื่อยมาก บางคนแค่เข้าห้องน้ำก็เดินไม่ไหวแล้ว ภาพที่เห็นก็คือครอบครัวต้องจัดไว้สักคนหนึ่งที่มาคอยดูแลคนไข้ ไม่สามารถไปทำมาหากินได้ คนไข้ก็ทุกข์ที่ต้องเป็นภาระลูกหลาน คนเฝ้าก็ทุกข์เพราะไม่ค่อยจะมีกินมีใช้ เนื่องจากไม่ได้ทำงาน ต้องอาศัยอยู่กินกับพี่น้องคนอื่นๆ บางคนหอบเหนื่อยมากจนต้องอยู่เฝ้าโรงพยาบาลเพราะถ้ากลับบ้านก็กลับไปได้แค่ไม่กี่วัน หอบหิ้วกันไปๆมาๆก็ยิ่งจะทรุดไปใหญ่ บางคนต้องจัดให้มีถังออกซิเจนเอาไว้ใช้ที่บ้าน คนที่อยู่บ้านได้ก็ต้องใช้ยาเป็นประจำทั้งยากิน ยาพ่น ค่าใช้จ่ายต่อครั้งไม่ต่ำกว่า 500 บาท แม้คนไข้จะไม่จ่ายเองแต่ประเทศชาติก็ต้องจ่ายให้ บางคนที่เป็นหนักก็ต้องใส่ท่อหายใจอยู่ในห้องผู้ป่วยหนัก จะถอดท่อหายใจก็ยาก ต้องนอนรอเวลาอย่างทุกข์ทรมานกว่าจะได้ตายอย่างสงบได้ สิ่งที่ผมเล่ามานี้ถ้าใครได้เห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์ก็จะรู้มาว่าที่เขียนเล่ามานี้ยังไม่ได้ครึ่งของความทุกข์ทรมานที่ผู้ป่วยได้รับอันเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่

 วันนี้ 5 พฤศจิกายน ได้อ่านหนังสือพิมพ์มติชน นำเสนอผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นโดยสรุปว่าการแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย อาจเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายการโฆษณาที่ต้องห้ามตามมาตรา 8 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆไป ถ้ามีเจตนาจะโฆษณาเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือมุ่งเน้นที่จะใช้จุดขายเป็นที่โฆษณา เช่นวางไว้ในจุดที่เห็นชัดวางซองบุหรี่เรียงจนสะดุดตาหรือการให้ผลตอบแทนผู้ขายในการเจาะจงตำแหน่งที่วางก็เข้าข่ายโฆษณา ซึ่งผมว่าจากการกระทำของร้านสะดวกซื้อดังกล่าว ก็พอมองออกว่าเจตนาอะไรและยิ่งถ้าได้รับค่าตั้งวางสินค้าจากบริษัทบุหรี่เพื่อตั้งวาง 31,500 บาทต่อ พื้นที่ 1 จุดและมีการจัดแต่งพื้นที่ด้วยอย่างงี้ก็ผิดแน่ๆ แต่ก็ยังสามารถตะแบงกันไปได้ในทางกฎหมาย แต่ในเรื่องความรับผิดชอบของสังคมกับชีวิตคนที่ถูกชักจูงให้เสพบุหรี่ ความสูญเสียของประเทศชาติหากมองในภาพรวม กำไรเงินเหล่านั้นยังน่าจะยินดีอยู่หรือ

             ผู้รู้เกี่ยวกับการรณรงค์เรื่องบุหรี่ได้ให้ความเห็นไว้ว่า มาตรการใดก็ตามที่บริษัทบุหรี่ยินดีทำตามโดยดี มาตรการนั้นจะได้ผลในการลดการสูบบุหรี่น้อยมาก แต่หากมาตรการใดส่งผลกระทบในการลดคนสูบบุหรี่ได้มาก บริษัทบุหรี่มักจะไม่ค่อยปฏิบัติตาม เช่นการไม่จำหน่ายบุหรี่ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ไม่มีใครต่อต้านเพราะไม่ค่อยได้ผลนักเนื่องจากสามารถละเมิดได้ง่าย การตรวจสอบทางกฎหมายทำได้ยาก แต่กรณีการห้ามตั้งซองบุหรี่โชว์ ณ จุดขายกลับได้รับการต่อต้านหรือยื้อยุดกันด้วยการพยายามตีความและไม่ยอมปฏิบัติตาม นั่นแสดงว่ามาตรการนี้มีพลังมากพอที่จะหยุดหรือลดคนสูบบุหรี่ลงได้

             ผมว่าอาจจะถึงเวลาแล้วที่ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่เกิดจากการสูบบุหรี่น่าจะรวมตัวกันแล้วฟ้องร้องบริษัทบุหรี่หรือบริษัทจำหน่ายบุหรี่เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เหมือนกับที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ เพราะการจะทำให้พ่อค้าที่มีสัญชาติญาณอยู่แค่กำไรขาดทุน หายใจเข้าออกเป็นกำไรอย่างเดียวกลับมามีจิตสำนึกต่อสังคมอาจจะยาก ยิ่งมีเงินมาก ทรัพย์สินมากยิ่งโลภมากไม่รู้จักพอ แม้จะพยายามนำกำไรเหล่านั้นมาทำโครงการเพื่อชุมชนทีหลังเพื่อแสดงว่าตนเองก็ช่วยสังคมนั้นคงไม่น่าจะเพียงพอต่อความเสียหายต่อชีวิตและสังคมที่ได้เกิดขึ้นแล้ว
หมายเลขบันทึก: 6499เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2005 22:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เรื่องบุหรี่ เป็นปัญหาที่แก้ได้ยากปัญหาหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าจุดหลักของปัญหานี้อยู่ที่การตัดสินใจของผู้บริโภคมากกว่า เพราะเขาสามารถเลือกได้ว่าจะสูบหรือไม่สูบบุหรี่ และมีวัยรุ่นหลายต่อหลายคนที่รู้ถึงผลเสียของบุหรี่ แต่ก็ยังสูบบุหรี่ ดังนั้นผมคิดว่าน่าจะมีการเผยแพร่ผลเสียของบุหรี่ โดยการเชิญผู้ป่วยที่เกิดจากบุหรี่มาเป็นวิทยากร และกลุ่มผู้ฟังควรมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเด็กตั้งแต่ระดับประถมศึกษาตอนปลาย จนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว ส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้น เช่น การเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้นด้วย
ขอบคุณหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจที่ได้นำลงในคอลัมน์ทัศนะวิจารณ์ ของหนังสือพิมพ์ฉบับ 16 พ.ย. 48
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท