คำติทำให้ฉันฉลาดขึ้น


คำติ ทำให้ฉันฉลาดขึ้น

เมื่อวันที่ 2-3 สิงหาคม 2561 โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะกรรมการพัฒนาวิชาชีพ นำทีมโดยพี่อุบล  จ๋วงพานิช และพี่นิภาพรรณ  ฤทธิรอด จัดประชุมวิชาการเรื่อง "การพยาบาลเฉพาะทางกับการขับเคลื่อนระบบการพยาบาล" ฉันทำหน้าที่ทั้งเป็นกรรมการจัดงาน เป็นวิทยากรและเป็นผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็น "การพัฒนาระบบการพยาบาลสู่การปฏิบัติการพยาบาลที่เป็นเลิศในกลุ่มผู้ป่วยความดันโลหิตสูงวิกฤต ในบทบาทของ APN" ในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤต (ผู้ป่วยที่ BP≥180/110 มิลลิเมตรปรอท) เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ stroke MI  CHF และ RF ผู้ป่วยกลุ่มนี้มาห้องฉุกเฉินเฉลี่ย 5 รายต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ถูกส่งมาจากห้องตรวจต่างๆที่คัดกรองผู้ป่วยก่อนพบแพทย์ พบว่ามีภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤต ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะถูกส่งมาที่ห้องฉุกเฉิน เพื่อให้การรักษาและสังเกตอย่างใกล้ชิดจนปลอดภัย และผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งมาที่ห้องฉุกเฉินด้วยโรคอื่นแต่ตรวจพบความดันโลหิตสูงวิกฤต ฉันเคยสัมภาษณ์ผู้ป่วยกลุ่มนี้พบว่าสาเหตุที่เกิดภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤตมีหลายสาเหตุ เช่น มีความเชื่อว่าเป็นความดันโลหิตสูงต้องมีอาการปวดศีรษะ เมื่อไม่ปวดศีรษะจึงคิดว่าตนเองหายแล้วจึงหยุดยา บางคนมีความเชื่อว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงต้องรับประทานยาตลอดชีวิต การรับประทานยาลดความดันโลหิตเป็นเวลานานกลัวเกิดไตวายจึงหยุดยาเอง มีความเข้าใจว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงต้องรักษาด้วยยาเท่านั้น ไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ บางคนรับทราบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงต้องงดการบริโภคเค็ม แต่มีความเข้าใจว่าอาหารที่ชิมแล้วไม่เค็มแสดงว่าไม่กินเค็ม ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องจะต้องมีการตวงหรือชั่ง ซึ่งสมาคมโรคความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยให้คำแนะนำไว้ว่าผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงต้องบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียมไม่เกิน 2300 มิลลิกรัมต่อวัน จากประสบการการให้คำแนะนำผู้ป่วย ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ารับประทานอาหารที่มีความเค็มได้เยอะมากโซเดียมหลักพัน ดิฉันลองใช้เทคนิคการคำนวณกลับกันคิดเป็นปริมาณเกลือที่รับประทานต่อวันแทน โดยโซเดียม 400 มิลลิกรัม เท่ากับเกลือ 1 กรัม ดังนั้นใน 1 วันสามารถรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือทุกชนิดไม่เกิน 5.75 กรัม (2300/400) เมื่อปรับหลักการคิดใหม่ผู้ป่วยมีความระมัดระวังในการรับประทานอาหารมากขึ้น และฉันก็ได้นำเสนอข้อมูลอต่างๆอีกมากมาย ในการให้การพยาบาลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงฉันนำหลักฐานเชิงประจักษ์มาใช้ร่วมกับทฤษฎี stage of change และกรอบการพัฒนาตามสมรรถนะ APN ทั้ง 9 สมรรถนะ ฉันดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมา 5 ปี จำนวน 600  คนเศษ หยุดยาลดความดันโลหิตอย่างปลอดภัย 22 คนโดยไม่ได้รับประทานยาอีก แต่ผู้ป่วยกลุ่มที่หยุดยาต้องวัดความดันโลหิตเช้า - เย็นทุกวัน หากความดันโลหิตเกิน 140/90 มิิลลิเมตรปรอท ต้องโทรศัพท์มาแจ้งฉัน ฉันจะแจ้งแพทย์ทราบด้วย ทีมผู้ดูแลจึงมีความมั่นใจว่าหยุดยาอย่างปลอดภัย 

       ในการนำเสนอข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ฉันมีการเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี power point ก็คิดว่าพอใช้ได้ การนำเสนอฉันก็พยายามทำให้ดีที่สุด ฉันลงจากเวทีคนในห้องประชุมหลายคนเดินมาจับมือ บางคนโอบกอด และบอกฉันว่าฉันนำเสนอได้ดีมาก มองเห็นภาพการพัฒนาที่ชัดเจน สามารถนำไปเป็นแบบอย่างได้ ฉันได้แต่ยิ้ม และตอบขอบคุณ ฉันคงดีใจมากหากไม่มี "คำติ"  ซึ่งผู้ให้คำติ (ข้อเสนอแนะ) คือ ดร.ยุวดี เกตสัมพันธ์ ได้บอกฉันว่าฉันทำงานในบทบาทขอ APNได้ดีมาก แต่ "นำเสนอผลงานไม่เป็น" คำติคำนี้ไม่ได้ทำให้ฉัน "เจ็บ" แต่ทำให้ฉันมีความอยากรู้ว่าการนำเสนอผลงานที่ดีเป็นอย่างไร หลังเลิกอบรมฉันไปค้นหาข้อมูล วิธีการนำเสนอผลงานที่ดีก็ไม่ให้คำตอบอะไรกับฉันเพราะฉันก็ทำแล้ว วันต่อมาฉันคิดไว้ว่าจะต้องหาคำตอบจากอาจารย์ให้ได้ และแล้วโชคก็เข้าข้างฉัน ฉันได้ร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกลางวันกับอาจารย์  ฉันรีบใช้โอกาสนี้ถามเทคนิคการนำเสนอผลงานที่ดีจากอาจารย์ อาจารย์ก็ให้คำแนะนำอย่างเมตตากับคำถามซื่อๆของฉัน อาจารย์ได้บอกว่าการนำเสนอผลงานที่ดี ต้องวิเคราะห์ผู้ฟังว่าอยากรู้เรื่องอะไร (เดาใจ) ใช้กรณีศึกษาประกอบ และจบด้วย lessons learn อาจารย์เน้นว่า lessons learn สำคัญมาก คำตอบของอาจารย์ทำให้ฉันมีความสุขมาก จนไม่อยากทานข้าวต่อ จากประสบการณ์ในครั้งนี้ทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่า "คำติ ไม่ได้ทำให้ฉันเจ็บ แต่ทำให้ฉันฉลาดขึ้น" และ การทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว ทำให้เราได้สิ่งดีๆเข้ามาในชีวิต
 

หมายเลขบันทึก: 649326เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2018 23:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2018 23:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท