เทคนิคการจำคำที่มีอักษรนำ


อักษรนำ

เรามารู้จัก “อักษรนำ” กันเถอะค่ะ อักษรนำในภาษาไทย คือ พยัญชนะ 2 ตัว เมื่อนำมาวางเรียงกันแล้วประสมด้วยสระตัวเดียว แต่เวลาออกเสียงจะต้องออกเสียงพยัญชนะทั้ง 2 พยางค์

อักษรนำสังเกตได้ง่ายๆ คือ พยางค์ตัวแรก หรือเรียกว่าพยัญชนะต้นจะออกเสียงเหมือนมีสระอะประสมอยู่ แต่จะออกเสียง “อะ” เพียงกึ่งเสียง ส่วนพยางค์ตัวที่สอง จะออกเสียงตามสระที่นำมาประสมนั่นเองค่ะ

ตัวอย่างคำที่มีอักษรนำ

ตลาด อ่านว่า ตะ-หลาด (ต นำ ล)

ผนวช อ่านว่า ผะ-หนวด (ผ นำ น)

ถวาย อ่านว่า ทะ-หวาย (ถ นำ ว )

ขนม อ่านว่า ขะ-หนม (ข นำ น)

สนิม อ่านว่า สะ-หนิม (ส นำ น)

เฉลย อ่านว่า ฉะ-เหลย (ฉ นำ ล)

ตอนนี้เราเริ่มรู้จัก อักษรนำ กันแล้วใช่ไหมคะ มาดูกันต่อเลย…

การออกเสียงคำที่มีอักษรนำ

อักษรนำยังแบ่งวิธีออกเสียงออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

1. อ่านออกเสียงเป็นพยางค์เดียว

1.1 เมื่อนำ “ห” นำอักษรต่ำเดี่ยว

คือ ง ญ น ม ย ร ล เมื่อนำอักษรเหล่านี้มาประสมสระ การออกเสียง จะต้องออกเสียงพยัญชนะพยางค์เดียว และต้องออกเสียงสูงตาม “ห”

ตัวอย่าง หมอ หมี ไหม หงาย หนวด หญ้า หยาม หลาน เป็นต้น

1.2 เมื่อนำ “อ” นำ “ย”

เมื่อไหร่ก็ตามที่เห็นคำใดที่มี “อ” นำ “ย” ให้เราออกเสียงเพียง 1 พยางค์ มีด้วยกันทั้งหมด 4 คำ

มีหลักการจำ 4 คำ ง่าย ๆ มาฝากกัน โดยให้จำว่า อย่า อยู่ อย่าง อยาก

2. อ่านออกเสียงเป็นสองพยางค์

อักษรนำที่ออกเสียงเป็นสองพยางค์ จะสังเกตได้จากพยางค์แรกออกเสียง “อะ” เพียงกึ่งเสียง พยางค์หลังออกเสียงตามสระที่นำมาประสม และออกเสียงเหมือนมีอักษร “ห” นำ ดังนี้

2.1 อักษรสูงนำอักษรต่ำเดี่ยว

ตัวอย่าง

ขนม อ่านว่า ขะ-หนม (ข = อักษรสูง , น = อักษรต่ำเดี่ยว)

ฉลาม อ่านว่า ฉะ-หลาม (ฉ = อักษรสูง , ล = อักษรต่ำเดี่ยว)

สมุด อ่านว่า สะ-หมุด (ส= อักษรสูง , ม = อักษรต่ำเดี่ยว)

สนุก อ่านว่า สะ-หนุก (ส = อักษรสูง , น = อักษรต่ำเดี่ยว)

ฉวาก อ่านว่า ฉะ-หวาก (ฉ = อักษรสูง , ว = อักษรต่ำเดี่ยว)

2.2 อักษรกลางนำอักษรต่ำเดี่ยว

ตัวอย่าง

จมูก อ่านว่า จะ-หมูก (จ = อักษรกลาง , ม = อักษรต่ำเดี่ยว)

ตลาด อ่านว่า ตะ-หลาด (ต = อักษรกลาง , ล = อักษรต่ำเดี่ยว)

องุ่น อ่านว่า อะ-หงุ่น (อ = อักษรกลาง , ง = อักษรต่ำเดี่ยว)

กรก อ่านว่า กะ-หรก (ก = อักษรกลาง , ร = อักษรต่ำเดี่ยว)

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับการเรียนรู้เรื่องอักษรนำ ลองฝึกหาพยัญชนะต่าง ๆ มาประสมกับสระ และฝึกออกเสียงเพื่อให้เกิดความชำนาญกันต่อด้วยนะคะ แล้วจะรู้ว่า “ภาษาไทย” ไม่ยากอย่างที่คิดเลยคะ

ลองมาดูแผนผังความคิดสรุปภาพรวมของคำที่มีอักษรนำกันตามนี้ค่ะ ขอบคุณ https://classsstart.org

หมายเลขบันทึก: 648904เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2018 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2018 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท