โรคความดันโลหิตต่ำ


โรคความดันโลหิตต่ำ

นายอานนท์ ภาคมาลี(คนหาปลา ข้าราชการบำนาญ)

โรคความดันโลหิตต่ำ เป็นภาวะความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ มักทำให้มีอาการป่วย เช่น เวียนศีรษะ มองเห็นไม่ชัด คลื่นไส้ สับสน ใจสั่น ผิวซีด ผิวหนังเย็นหรือชื้นผิดปกติ เสียการทรงตัว ร่างกายอ่อนแอ ชีพจรเต้นเร็ว เป็นลม หรืออาจเกิดอาการช็อกได้หากภาวะความดันต่ำมีความรุนแรงมาก ซึ่งอาการเหล่านี้อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายและชีวิตของผู้ป่วยได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรสังเกตอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเอง เพื่อตรวจรักษาได้ทันท่วงที และหาวิธีดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม

โรคความดันโลหิตต่ำ การวัดค่าความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงมีค่าความดันโลหิตตัวบน (Systolic Pressure) เป็นแรงดันในขณะที่หัวใจกำลังบีบตัวหรือสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกาย และค่าความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic Pressure) เป็นค่าแรงดันในขณะที่หัวใจกำลังคลายตัว โดยระดับความดันโลหิตปกติจะอยู่ที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ส่วนภาวะความดันโลหิตต่ำ แพทย์จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะนี้ต่อเมื่อมีค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท แล้วมีอาการป่วยแสดงออกมา สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ แต่ไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ ในทางการแพทย์ยังจัดว่าสุขภาพเป็นปกติดี  ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา

ความดันโลหิตต่ำเกิดจาก  ระดับความดันโลหิตจะแตกต่างกันไปตามอิริยาบถของร่างกาย จังหวะการหายใจ สภาพร่างกาย ระดับความเครียด อาหารหรือเครื่องดื่มที่บริโภค และช่วงเวลาในแต่ละวัน ซึ่งโดยปกติความดันโลหิตมักลดต่ำลงในเวลากลางคืนและเพิ่มขึ้นเมื่อตื่นนอน ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำ ได้แก่ กรรมพันธุ์ อายุที่เพิ่มมากขึ้น การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาเบต้า-บล็อกเกอร์ ยาแอลฟา-บล็อกเกอร์ ยาลดความดันโลหิต และยาขับปัสสาวะ รวมไปถึงโรคหรือภาวะต่าง ๆ ที่มีผลต่อระดับความดันโลหิต เช่น การตั้งครรภ์ ภาวะขาดน้ำ การป่วยติดเชื้อรุนแรง อาการแพ้รุนแรง โรคโลหิตจาง โรคหัวใจ โรคพาร์กินสัน

ความดันโลหิตต่ำ  ป้องกันและดูแลตนเองอย่างไร  เมื่อพบว่าตนเองมีอาการของภาวะความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยควรหยุดกิจกรรมทุกอย่างที่กำลังทำอยู่ ให้นั่งพักหรือนอนลง ดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่ หากเวียนศีรษะให้นั่งลงแล้วก้มศีรษะไว้ระหว่างหัวเข่า เพื่อช่วยให้ความดันโลหิตกลับเป็นปกติ โดยอาการมักจะดีขึ้นภายในไม่กี่นาที

 

 นอกจากนั้น อาจปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อป้องกันและดูแลตนเองจากอาการป่วยของภาวะความดันโลหิตต่ำ

  1. ค่อย ๆ ลุกขึ้นยืน ควรลุกจากที่นั่งหรือลุกออกจากเตียงช้า ๆ โดยเฉพาะเวลาตื่นนอนตอนเช้า หากกำลังนอนอยู่ผู้ป่วยอาจขยับเท้าขึ้นลงเพื่อช่วยการไหลเวียนโลหิต จากนั้นจึงค่อย ๆ ลุกขึ้นช้า ๆ อาจนั่งที่ขอบเตียงก่อนแล้วจึงค่อยยืนขึ้น และผู้ป่วยอาจเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อเพิ่มจังหวะการเต้นของหัวใจและการไหลเวียนโลหิตของร่างกายได้ เช่น ยืดเหยียดร่างกายบนเตียงก่อนลุกขึ้นยืน หรือหากกำลังนั่งอยู่และจะลุกขึ้นยืน ให้ไขว่ห้างสลับขาไปมาก่อนแล้วค่อยลุกขึ้น
  2. หลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน จะช่วยป้องกันความดันต่ำประเภทที่เกิดจากการยืนเป็นเวลานาน (Neurally Mediated Hypotension) หรือความดันต่ำจากการสื่อสารที่ผิดพลาดระหว่างสมองและหัวใจ
  3. รับประทานอาหารปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง แทนการรับประทานอาหารปริมาณมากในครั้งเดียว เพื่อป้องกันความดันโลหิตต่ำชนิดที่เกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหาร (Postprandial Hypotension) หรือเอนตัวนอนหรือนั่งลงสักพักหลังรับประทานอาหารอาจช่วยบรรเทาอาการลงได้
  4. ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณเลือด และป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ
  5. หลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา ช็อกโกแลต โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
  6. งดหรือจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความดันโลหิตต่ำ
  7. สวมถุงน่องที่กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต เป็นถุงน่องชนิดที่บีบรัดให้เกิดแรงดันบริเวณเท้า ขา และท้อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตและเพิ่มระดับความดันโลหิต แต่ถุงน่องชนิดนี้อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยทุกราย จึงควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนใช้งานเสมอ

หากดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ โดยแพทย์มักรักษาตามสาเหตุที่ทำให้ความดันต่ำ เช่น

  1. ให้ยารักษาความดันโลหิตต่ำ เช่น ยาฟลูโดรคอร์ติโซน ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณเลือดในร่างกาย มักใช้รักษาความดันต่ำที่เกิดจากการยืนหรือการเปลี่ยนท่าทาง และยามิโดดรีน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความดันโลหิต ในกรณีที่ผู้ป่วยความดันต่ำเรื้อรังจากการยืนหรือการเปลี่ยนท่าทาง
  2. รักษาโรคที่เป็นสาเหตุของความดันโลหิตต่ำ เช่น หากความดันโลหิตต่ำจากความผิดปกติของฮอร์โมน แพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยให้ผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิทยาต่อมไร้ท่อ ซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาด้วยยาทดแทนฮอร์โมน ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อ หรือใช้ยารักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น
  3. หากแพทย์วินิจฉัยว่าความดันโลหิตต่ำจากการใช้ยาบางชนิด แพทย์อาจปรับปริมาณยา หรือให้เปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่น ๆ แทน และหากผู้ป่วยกำลังใช้ยาที่มีผลข้างเคียงทำให้ความดันโลหิตต่ำ ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นระยะ หรือไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ยา

 

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเพิ่มระดับความดันโลหิตด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  1. ควบคุมอาหาร โดยรับประทานอาหารน้อยลงกว่าปกติ และแบ่งเป็นหลายมื้อ จำกัดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ควรนั่งพักหลังรับประทานอาหาร และหลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดความดันก่อนมื้ออาหาร
  2. รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือ เพราะโซเดียมจะทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น แต่ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เสมอ เนื่องจากอาหารที่มีเกลือมากเกินไปอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางประเภท
  3. หากอยู่ในสภาพอากาศร้อน หรือป่วยด้วยการติดเชื้อไวรัส เช่น เป็นหวัด หรือไข้หวัด ให้ดื่มน้ำมากขึ้นเพื่อทดแทนน้ำที่เสียไปจากร่างกาย
  4. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
  5. ระมัดระวังเมื่อต้องเปลี่ยนอิริยาบถไปท่าอื่น โดยเฉพาะขณะลุกขึ้นยืนจากท่านั่งหรือนอน
  6. หลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  7. ขณะขับถ่าย ไม่ควรเกร็งท้องหรือตึงเครียดมากเกินไป
  8. ควรยกระดับศีรษะในขณะนอน อาจใช้ก้อนอิฐหรือแท่งไม้วางรองไว้ใต้หมอน เพื่อช่วยให้ศีรษะอยู่สูงกว่าปกติ
  9. ไม่ให้ร่างกายสัมผัสกับน้ำร้อนเป็นเวลานาน เช่น ไม่แช่น้ำร้อนหรือทำสปาเป็นเวลานาน หากรู้สึกเวียนศีรษะให้นั่งลง และอาจเตรียมเก้าอี้แบบกันลื่นไว้ในห้องน้ำด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 648546เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2018 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มิถุนายน 2018 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท