แนวทางการจัดการขยะมูลฝอยในวัด สู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่วิถีพุทธ


บุญที่มาควบคู่กับสิ่งแวดล้อม มีอยู่จริงหรือ?

การดำเนินชีวิตตามพุทธวิถี ล้วนมีที่จากความศรัทธาและความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และไม่อาจปฏิเสธได้ว่า พวกเราทุกคน พยายามค้นหาที่พึ่งทางจิตใจ เพื่อกำกับชีวิตให้ดำเนินไปอย่างมีความสุข ไร้ทุกข์ และด้วยความหวังในชาติภพหน้า 

ความเชื่อ บนหลักเหตุและผล นำมาซึ่งการขับเคลื่อนชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ ในขณะที่มิติด้านสิ่งแวดล้อม ก็มีความเกี่ยวพันกับการใช้ชีิวิตด้วยเช่นกัน เมื่อกล่าวถึง พระพุทธศาสนาแล้ว เป็นหนึ่งในศาสนาที่อยู่กับสังคมไทยมานาน ส่วนใหญ่ของคนไทย 95% นับถือศาสนาพุทธ และได้นำหลักการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา มาเป็นแนวทางแห่งการดำเนินการชีวิตจนกลายเป็นรากฐานวัฒนธรรม ที่เป็นลักษณะที่สะท้อนถึงความเจริญงอกงามในด้านวิถีชีวิตความคิด และแสดงออกให้เห็นถึงวิธีการดำเนินชีวิตของสังคมไทย ซึ่งได้สืบทอดกันมา 

ในจังหวัดมหาสารคาม มีจำนวนวัดค่อนข้างมาก ซึ่งมีมากถึง 966 วัด (สำนักงานพระพุทธศาสนา จังหวัดมหาสารคาม, 2556) โดยแต่ละช่วงเวลา มีกิจกรรมด้านพระพุทธศาสนา เช่น การทำบุญตักบาตร การถวายอาหาร และถวายสังฆทาน เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สามารถชักนำให้เกิดขยะประเภทต่าง ๆ ทั้งจากการใส่จตุปัจจัยและการประดับและตกแต่งให้สวยงาม ในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง มีผลพลอยได้คือ ขยะจำนวนมาก ทั้งถุงพลาสติก เศษโลหะ เศษอาหาร และขยะอันตราย บางครั้ง เป็นภาระของวัด ในการจัดการขยะเหล่านั้น ซึ่งประสิทธิภาพ ก็ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมของวัดนั้น ๆ และมีแนวคิดที่เป็นไปได้ว่ากิจกรรมเหล่านี้ จะสามารถบูรณาการกับแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมได้ โดยเน้นการลดปริมาณขยะมูลฝอยในวัด ที่ต้นท่อ มากกว่าจะเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ 


ประเด็นดังกล่าว เป็นที่มาของการค้นหาแนวทางที่จัดการขยะมูลฝอยในวัด โดยให้บูรณาการร่วมกับวิถึพุทธที่มีอยู่เดิม จึงได้เกิดเป็นหัวข้อวิจัยของนิสิตระดับปริญญาตรี รุ่นที่ 1 พ.ศ. 2555 ในหัวข้อ “การพัฒนาแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยในวัด เพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่วิถีพุทธ กรณีศึกษา วัดป่ากู่แก้ว จังหวัดมหาสารคาม” และอีก 1 การศึกษา ที่เกี่ยวข้องที่เน้นการศึกษาปัจจัยต่อความสำเร็จและล้มเหลว ในการลดปริมาณขยะมูลฝอยในวัด โดยใช้พื้นที่เดียวกัน 

ในปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ขยะ ได้กลายเป็นวาระแห่งชาติ ที่ยังต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งต้องเริ่มจากตัวเราเอง
สำหรับกรณีวัดกู่แก้วนั้น พบว่า อัตราการเกิดขยะในวันธรรมดาและวันสำคัญทางศาสนา มีค่า 1.09 และ 1.27 กก./คน/วัน โดยส่วนใหญ่ เป็นขยะเปียกและการเกิดขยะมูลฝอยนั้น กิจกรรมที่มีนัยสำคัญ ได้แก่ การถวายสังฆทาน การทำบุญตักบาตร และการตักบาตรโว วัดนี้ มีความแตกต่างจากวัดอื่น ๆ ด้วยเหตุที่เป็นวัดที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงทำให้กลุ่มพุทธศาสนิกชน นอกจากชุมชนแล้ว ก็คือ บุคลากรและนิสิต จากมหาวิทยาลัยเอง การศึกษา ได้ขยายสู่การสำรวจสถานะทางด้านจิตใจ ทัศนคติ และพฤติกรรม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะในวัด จากการทำแบบสอบถาม จำนวน 224 คน ได้บ่งชี้ว่า สำหรับด้านจิตใจที่เกี่ยวกับบุญ พุทธศาสนิกชน รู้สึกว่าการตกแต่งสิ่งของที่นำมาถวายให้สวยงามและการถวายสิ่งของมากเกินความจำเป็นไม่ได้สะท้อนถึงการได้รับบุญที่่มากขึ้น และรู้สึกได้บุญมากขึ้น เมื่อมีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอย ในส่วนของทัศนคตินั้น มีทัศนคติเชิงบวก กล่าวคือ เห็นด้วยกับการมีส่วนร่วมในการลดขยะมูลฝอยในวัด และในด้านพฤติกรรมนั้น ส่วนใหญ่ มีพฤติกรรมในการจัดการขยะมูลฝอยไม่ดีเท่าที่ควร โดยยังเลือกซื้อชุดสังฆทานเอง ตลอดจนละเลยการตรวจสอบวันหมดอายุและถวายสิ่งของไม่สอดคล้องกับความต้องการของวัด 

ในการศึกษา ได้พัฒนาแนวทางรวมกับผู้แทนวัด โดยเน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นไปตามวิถีพุทธ การถวายสังฑทาน

1) สอบถามความต้องการใช้จตุปัจจัย/เครื่องไทยธรรม/ไทยทาน (สิ่งของ) ที่จะนำมาถวายจากพระสงฆ์หรือผู้แทนวัด เพื่อลดการซ้ำซ้อนกับสิ่งที่มีอยู่แล้วและลดขยะมูลฝอย อันเนื่องจากวัสดุห่อและการเสื่อมสภาพก่อนการใช้งาน 2) จัดทำบอร์ดประชาสัมพันธ์ เพื่อแจ้งสถานภาพของจตุปัจจัย/เครื่องไทยธรรม/ไทยทาน (สิ่งของ) หรือวัสดุในการบูรณปฏิสังขรณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่และขาดแคลน ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูล สำหรับประกอบการตัดสินใจของพุทธศาสนิกชนในการเลือกซื้อสิ่งของที่จะนำมาถวายให้สอดคล้องต่อไป 3) จัดทำชุดสังฆทานด้วยตนเอง แทนการซื้อชุดสำเร็จรูปเพื่อให้ได้จตุปัจจัย/เครื่องไทยธรรม/ไทยทาน (สิ่งของ) ที่สอดคล้องกับความจำเป็น ซึ่งจะช่วยลดการเกิดขยะ อันเนื่องจากการความซ้ำซ้อนและเสื่อมสภาพก่อนการใช้งาน การทำบุญใส่บาตร

2) บรรจุอาหารคาวหวานที่จะนำมาถวาย ในภาชนะที่สามารถทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ปิ่นโตและกล่องใส่อาหาร โดยนำมาเปลี่ยนกับภาชนะที่วัดจัดเตรียมไว้ ซึ่งเป็นการลดการใช้ถุงพลาสติก


3) ใช้ถุงผ้าหรือตะกร้า แทนการใช้ถุงพลาสติก สำหรับใส่จตุปัจจัย/เครื่องไทยธรรม/ไทยทาน (สิ่งของ) ที่ได้เตรียมนำมาถวาย


4) เลือกซื้อ/ใช้วัสดุทางธรรมชาติ เช่น ใบตอง ใบบัว/ภาชนะที่สามารถทำความสะอาดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แทนการใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม การตักบาตรเทโว 1) จัดทำบอร์ดประชาสัมพันธ์ เพื่อแจ้งรูปแบบการตักบาตรโดยเน้นการลดการเกิดขยะมูลฝอย เช่น ทำบุญด้วยสิ่งของที่วัดขาดแคลนเป็นอันดับแรก และเลือกใช้ภาชนะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทั้งนี้เพื่อขอความร่วมมือจากพุทธศาสนิกชน ในการเอานำไปปฏิบัติ


5) เลือกที่จะทำบุญเป็นเงินสะสมร่วมกัน แทนการทำบุญด้วยจตุปัจจัย/เครื่องไทยธรรม/ไทยทาน (สิ่งของ) ซึ่งอาจมีปริมาณเกินความจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้วัด สามารถจัดสรรงบประมาณ สำหรับซื้อสิ่งของที่จำเป็นได้


6) ตักบาตรด้วยข้าวสารและอาหารแห้ง โดยไม่ต้องห่อหุ้มหรือทำเป็นชุดสำเร็จรูปด้วยถุงพลาสติกหรือบรรจุในภาชนะที่ใช้แล้วทิ้ง

จากประยุกต์ใช้แนวทางเหล่านี้ จากการเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลัง พบว่า ปริมาณขยะลดลง ในวันธรรมดาและวันพระ มีการเปลี่ยนแปลงคิดเป็นร้อยละ 76 และ 64 ตามลำดับ ตลอดจนประเภทของขยะมีสัดส่วนที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งพบสัดส่วนของถุงพลาสติกที่ลดลงและประเภทของวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้น้อยลง จึงสะท้อนถึงประสิทธิภาพของแนวทางที่นำมาประยุกต์ใช้ สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จนั้น คือ การเข้าถึงข่าวสาร ซึ่งมาจากการรณรงค์ถึงสถานการณ์ขยะ และการให้ข้อมูลจากวัดและพระสงฆ์ ผ่านสื่อต่าง ๆ ในรูปแบบขอความร่วมมือ ระดับการศึกษาของผู้ร่วมกิจกรรม ที่ทำให้สามารถรับรู้ข่าวสารได้รวดเร็ว และปรับเปลี่ยนทัศนคติได้ง่าย จึงนำมาสู่การให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตาม ร่วมกับการให้การสนับสนุนของร้านค้า ในส่วนของความล้มเหลวส่วนใหญ่ มาจากทัศนคติของผู้ร่วมกิจกรรม และขาดการให้การสนับสนุนจากร้านค้าและผู้ขาย ตลอดจนการขาดมาตรการจูงใจและควบคุมที่ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมต้องปฏิบัติ เช่น นโยบายของวัดที่ชัดเจน 


หมายเหตุ: บทความนี้ มาจากข้อมูลการศึกษาในนิสิตระดับปริญญาตรี และมุมมองของผู้เขียน จึงอาจเหมือนหรือแตกต่างจากบุคคลอื่น ๆ

ภาพมาจาก https://www.thairath.co.th/con...

หมายเลขบันทึก: 648491เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2018 21:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2018 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท