วิถีชีวิตของขยะ


หากขยะ สามารถพิสูจน์ความเป็นเจ้าของได้ คงคร่ำครวญถึงเจ้าของให้กลับมาดูแล

จากประสบการณ์ทำงานของผู้เขียน ในสายงานด้านสิ่งแวดล้อมและการแลกเปลี่ยนกับผู้มีประสบการณ์ในศาสตร์ด้านต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนการทำงานในบริบทจริง ต้องผสมผสานทุกศาสตร์อย่างมีศิลปะ และมักใช้คำว่า "บูรณาการระหว่างศาสตร์หรือข้ามศาสตร์" ก็แล้วแต่จะใช้คำเรียกไป

ในขณะที่ภาคทฏษฎีด้านสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ พยายามพัฒนาองค์ความรู้ใหม่และกลไกในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เริ่มความพยายามสร้างจิตสำนึกให้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการจะเกิดจิตสำนักได้นั้น ต้องอาศัยกลไกอื่น ๆ มาเสริม ไม่ว่าจะเป็น กฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือการจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ ดังเช่นกรณีของขยะ บางประเทศ ถึงกับหักดิบ ยกเลิกการใช้พลาสติกอย่างเด็ดขาดก็มี

ส่วนตัว จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เรา พยายามผลักดันและส่งเสริมกิจกรรม ที่เป็นจุดประกาย ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการลดขยะ ซึ่งก็ไม่ลืมที่จะต้องมาปรับที่พฤติกรรมของตัวเอง ทั้งแนวคิดในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงการลดของขยะ อย่างไรก็ตาม ขยะนั้น ไม่ได้เกิดจากเราคนเดียว เพราะทุกคน เป็นผู้ก่อกำเนิด จากการศึกษาที่ผ่าน คนไทย ใช้ถุงพลาสติก 8 ใบ ต่อวัน ในขณะที่ต่างประเทศใช้น้อยกว่านี้มาก

แนวคิดในการลดขยะ เชื่อว่าทุกคน สามารถท่องจำได้ หลักการ 3R แต่จะมีสักกี่คน ที่อินกับหลักการนี้ ประหนึ่งดูละครบุพเพสันนิวาส และนำไปใช้ในชีวิตจริง วันนี้ ต้องถามตัวเอง ย้ำว่า แค่ตัวเราเอง ทิ้งขยะถูกตามประเภทไหม มีระบบการสนับสนุนการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพไหม จนท้ายที่สุด เราแก้ไขปัญหาต้นทางไมไ่ด้ เราก็เลือกที่จะหันมาดูวิธีการจัดการปลายทาง เช่น โรงไฟฟ้าขยะ ที่จะเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน แต่ก็ไม่ได้เรื่องง่าย สำหรับภาคการมีส่วนร่วม หากการบ่งชี้ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ชัดเจน รวมถึงวิธีการควบคุมมลพิษอื่น ๆ จากการดำเนินการนี้

ความพยายามที่ได้ทำมา เป็นเพียงการสะกิดต่อมจิตสำนึกเท่านั้นเอง สร้างกระแส แต่ก็อย่างที่รู้กัน กระแสมาไวไปไว ดุจความคิด คิดนั้น คิดนี้  วกวนไป จิตสำนึก เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่อยู่ลึกมาก จนยากหยั่งถึง แม้แต่คนที่เรียนในสายสิ่งแวดล้อมเองก็ตาม

สิ่งเหล่านี้ เป็นบทเรียน ที่ทำให้เราได้ว่า พวกเราเอง มิสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการละขยะได้เลย หากปราศจากศาสตร์ด้านนโยบายและการเมืองท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดข้อตกลงร่วมกัน การยินยอมและเห็นประโยชน์ร่วมกันของชุมชน ในการลดขยะและจัดการอย่างถูกวิธี ซึ่งจะทำมาซึ่งผลดีมากกว่าผลเสีย หลักการ Polluters Pays Principle ที่ได้ถูกสอนมา ต้องถึงเวลา นำมาสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่อยู่ในตำรา

มันเป็นจุดอ่อนของการทำงานในสายงานด้านสิ่งแวดล้อม ในภาคชุมชน ซึ่งต้องเกิดการ บูรณาการระหว่างศาสตร์ เพื่อผลักดันให้การจัดการขยะเป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่เพียงทฤษฎีที่รับรู้ แต่เป็นทฤษฎีที่กินได้ และจับต้องได้ กิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ลงมือปฏิบัติ เป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาระดับปัญหา แต่ก็เป็นเพียงชั่วคราว หากขาดการต่อเนื่อง ก็เหมือนกับไฟสิ้นเชื้อ รอวันดับมอดไป

ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อเราทุกคน และเพื่อโลกของเราครับ

คิดจะลดขยะ คิดที่ตัวเรา เปลี่ยนที่ตัวเรา เริ่มที่ตัวเรา แต่ทำเพื่ออีกหลายชีวิต

หมายเลขบันทึก: 648483เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2018 19:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2018 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท