คำเป็น คำตาย


คำเป็นคำตาย ชั้น ป.๔

   อาจจะมีคำถามว่า คำเป็น คำตาย คืออะไร เป็นการยากหากจะตอบว่า คำเป็นคืออะไร คำตายคืออะไร หรือจะตอบว่า เป็นคือมีชีวิต ตายคือไม่มีชีวิต อย่างนี้ก็คงไม่ถูกต้องเท่าไร ตอบง่ายเกินไป คำเป็นคือคำที่มีชีวิต คำว่ามีชีวิตของคำ ดูจากอะไร ก็เป็นปัญหาถามต่อไปอีก แต่หากเราเอาหมวดอักษรกลางและวรรณยุกต์มาเป็นตัวจับ ตัววัดความเป็นความตายของคำ จะเห็นได้ว่า

อักษรกลาง คำเป็น ผันด้วยวรรณยุกต์ครบ ๕ เสียง คือเริ่ม จาก สามัญ เอก โท ตรี จัตวา

อักษรกลาง คำตาย ผันด้วยวรรณยุกต์ไม่ครบ ๕ เสียง เพราะอักษรกลางคำตาย เป็นเสียงเอก 

ไม่สามารถบอกได้ว่าคำเป็น คำตาย แปลว่าอะไร แต่ลักษณะของคำเป็นคำตาย สามารถสังเกตได้ คือ สังเกตที่

๑.สระ 

๒.ตัวสะกด

คำเป็น สระต้องเป็น สระเสียงยาว และเป็นแม่ ก กา

คำตาย สระต้องเป็นสระเสียงสั้น  และเป็นแม่ ก กา

หากมีตัวสะกด ไม่ว่าสระเสียงสั้นหรือเสียงยาวก็ตาม  คำเป็น จะต้องมีตัวสะกดในแม่ กง กน กม เกย เกอว เท่านั้น

หากสะกดด้วยแม่ กก กด กบ ถือว่าเป็นคำตาย

คำเป็น มีที่สังเกต คือ

๑. เป็นคำที่ประสมด้วยสระเสียงยาว และประสมด้วยสระเกิน คือ อำ ไอ ใอ เอา  พูดง่าย ๆ คือเป็นแม่ ก กา  เช่น แม่ ไก่ อยู่ ใน ตะกร้า ไข่ ๆ มา สี่ห้าใบ เหล่านี้เป็นแม่ ก กา เพลงแม่ ก กา บอกชัดเจน และเป็นคำเป็น

๒. เมื่อมีตัวสะกด ก็ต้องเป็นตัวสะกดใน แม่ กง กน กม เกย เกอว  รวม ๕ แม่ จำง่าย ๆ ว่า นมยวง

คำตาย มีที่สังเกต คือ

๑.เป็นคำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้น  เป็นแม่ ก กา (คือยังไม่มีตัวสะกด)

๒. เมื่อมีตัวสะกด ไม่ว่าจะเป็นสระเสียงสั้น หรือสระเสียงยาวก็ตาม จะต้องสะกดด้วยมาตราตัวสะกดในแม่ กก กด กบ ที่จำกันมาว่า แม่ กบด นั่นเอง จริง ๆ มาตราตัวสะกด ไม่มีแม่กบด แม่กบด เป็นเพียงคำเรียก แม่ กก กด กบ ให้ง่ายต่อการจำสำหรับนำเทียบเคียง

     คำเป็น คำตาย มีอิทธิพลในการแต่งคำประพันธ์ประเภทโคลง และบทร้อยกรองชนิดอื่นด้วย รวมทั้งมีอิทธิพลต่อเสียงวรรณยุกต์  ที่ว่ามีอิทธิพลต่อโคลง เพราะโคลงท่านบังคับรูปวรรณยุกต์เอก-โท เมื่อไม่สามารถหาคำที่มีรูปวรรณยุกต์เอกได้ ก็ใช้คำตายแทนได้ ในการแต่งโคลง การกำหนดเอกโท ท่านกำหนดตามที่ตาเห็น คือเอาตามรูปที่ปรากฏ ว่าแต่เป็นรูปเอกโท ตามตำแหน่งคือเป็นใช้ได้ ส่วนเสียงจะเป็นเสียงอะไร ไม่ว่ากัน การตรวจโคลงสี่สุภาพ ตรวจด้วยสายตา แต่โคลงจะไพเราะหรือไม่ไพเราะ กลับใช้หูและใจฟัง คือให้คมทั้งคำและความ ถือว่าเป็นดี

     คำเป็นคำตาย ได้กล่าวถึงเรื่องสระเสียงสั้น และสระเสียงยาว  สระนั้นโบราณท่านทำไว้เป็นคู่ ๆ ไม่มีสระตัวใดที่ไม่มีคู่ ยกเว้นสระเกิน อำ ไอ ใอ เอา สระตัวแรกที่อยู่ด้านซ้ายมือเป็นสระเสียงสั้น ด้านขวาเป็นสระเสียงยาว สระเสียงสั้นเป็นคำตาย สระเสียงยาวเป็นคำเป็น เวลาให้นักเรียนท่อง หากให้ท่องเป็นคู่ได้เป็นดี เช่น

อะ อา

อิ อี

อึ อื

อุ อู

โดยไม่ต้องบอกว่า สระอะ สระอา ให้ว่า อะ อา, อิ อี, อึ อื, อย่างนี้จะเป็นประโยชน์ในการเรียนชั้นสูงขึ้นไป

      คำเป็นคำตาย ได้กล่าวถึงแม่ กา กา หรือเรียกให้ถูกต้องตามหลักว่า มาตรา ก กา ในเบื้องต้นนั้น อันที่จริงมาตราตัวสะกดนั้นมี ๘ แม่ หรือ ๘ มาตรา การจัดเรียงมาตรา เพื่อให้ง่ายต่อการเรียน ควรจัดตามลำดับอักษร คือเริ่มจาก

แม่กก

แม่กง

แม่กด

แม่กน

แม่กบ

แม่กม

แม่เกย

แม่เกอว

อย่างนี้จะพลอยให้นึกได้ง่าย ถ้าเพิ่มแม่ ก กา เข้าไป ก็เป็น ๙ แม่ หรือ ๙ มาตรา

๒๑.๓๑ น.  วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๑

หมายเลขบันทึก: 648462เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2018 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2018 13:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท