การเขียนบทคัดย่อและบทความทางวิชาการ


การเขียนบทความทางวิชาการ

 

          เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมรับฟังการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ “การเขียนบทคัดย่อและบทความทางวิชาการ”  โดย รศ.ดร.ประยุทธ ไทยธานี และ ดร.แวววลี แววฉิมพลี

          ในช่วงเช้าสัมมนาหัวข้อเรื่อง “เทคนิคการเขียนบทความทางวิชาการเพื่อตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการ” โดยได้รับความรู้จาก รศ.ดร.ประยุทธ ไทยธานี บรรณาธิการวารสารราชพฤกษ์ และวารสารครุสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

 

ประเภทของบทความทางวิชาการ

          บทความทางวิชาการ โดยทั่วไปแบ่งได้ 3 ประเภท ได้แก่

          1. บทความวิชาการ คือ เอกสารที่เรียบเรียงจากผลงานทางวิชาการของตนเองหรือผู้อื่นในลักษณะที่เป็นการวิเคราะห์วิจารณ์หรือเป็นบทความที่เสนอแนวความคิดใหม่ๆ จากพื้นฐานทางวิชาการนั้นๆ

          2. บทความวิจัย คือ บทความที่เขียนขึ้นจากงานวิชัยของตนเอง มีการกำหนดปัญหาและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน มีการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ สรุปและอภิปรายผลการวิจัย อันนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิชาการ

          3. บทความวิจารณ์ คือ บทความที่ศึกษาผลงานหรือแนวคิดอย่างใดอย่างหนึ่งโดยละเอียด รวมทั้งมีการวิเคราะห์และอภิปรายผลของเรื่องที่ศึกษาให้เห็นแนวโน้มว่าควรเป็นไปในทางใด มีข้อดีข้อเสียอย่างใด แสดงการเคลื่อนไหว การเกิดของความรู้ใหม่อย่างชัดเจน

 

เขียนบทความแบบไหนให้ได้ตีพิมพ์

          รศ.ดร.ประยุทธ ไทยธานี ได้แบ่งปันประสบการณ์ในเรื่องของวิธีการเขียนบทความให้ได้ตีพิมพ์ของท่าน ดังนี้

1. เลือกบทความที่เราจะลงตีพิมพ์ แล้วดู template และรูปแบบการพิมพ์

          2. ศึกษา/อ่านงานวิจัยที่ได้ลงตีพิมพ์ เพื่อให้เห็นถึงกระบวนการว่าเขาทำอย่างไรจึงได้ลงตีพิมพ์

          3. ลองเขียนชื่อเรื่อง โดยเอาคำสองสามคำที่มีความสัมพันธ์และสามารถเชื่อมโยงหากันได้มาวางทีละคำ เมื่อได้ชื่อเรื่องแล้วค่อยเริ่มวางโครง

          4. เริ่มวางโครง โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ บทนำ เนื้อหา และสรุป ซึ่งในการเขียนบทความของแต่ละวารสารจะมีข้อจำกัดว่าเขียนได้ไม่เกินกี่หน้า เช่น 10-15 หน้า 15-20 หน้า เราต้องศึกษารูปแบบของแต่ละวารสาร เพื่อนำมาวางโครงในแต่ละส่วนให้ชัดเจน

                    4.1 บทนำ (ความสำคัญและปัญหาการวิจัย รวมถึงแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง วัตถุประสงค์ของการวิจัย คำถามการวิจัย (ถ้ามี) สมมติฐานการวิจัย (ถ้ามี) ขอบเขตการวิจัย (ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง     ตัวแปรที่ศึกษา ระยะเวลาดำเนินการ)

                   4.2 เนื้อหา (วิธีดำเนินการวิจัย เครื่องมือวิจัย การดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลหรือการทดลอง วิธีวิเคราะห์ข้อมูล ผลการวิจัย)

                   4.3 สรุป (สรุปและอภิปรายผล ข้อเสนอแนะ และรายการอ้างอิง)

          5. จากนั้นวางโครงในแต่ละย่อหน้าของแต่ละส่วนว่าจะเขียนแบบไหน และจะนำรายละเอียดอะไรมาใส่ และเลือกรูปแบบการเขียนที่เราคิดว่าจะได้ตีพิมพ์

          6. การอ้างอิง กรณีไม่เกิน 10-15 หน้า ควรอ้างอิง 10-15 คน ถ้า 15-20 หน้า ควรอ้างอิง 20-30 คน โดยควรอ้างอิงแนวคิดของคนที่มีชื่อเสียงในวงการนั้นๆ งานวิจัยก็ควรจะทันสมัย (ไม่เกิน 10 ปี) จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มความหนักแน่นให้บทความ ส่งผลให้งานได้ตีพิมพ์

          7. สิ่งที่ควรมีในการเขียนบทความ ได้แก่ ภาพประกอบเพื่อให้งานหน้าอ่าน ตารางเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเรา เพราะเป็นการนำเสนอที่สรุปมา กราฟเพื่อแสดงความเป็นปัจจุบัน

          8. รูปแบบการอ้างอิงต้องตรงตามกำหนดของวารสารที่เราจะลงตีพิมพ์

          9. ส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษาตรวจ

          10. ปรับแก้จนพอใจ แล้วนำเข้าสู่ระบบของวารสาร

 

ช่วงบ่ายสัมมนาหัวข้อเรื่อง “เทคนิคการเขียนบทคัดย่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษของงานวิจัย”         โดย ดร.แวววลี แววฉิมพลี

ท่าน ดร.แวววลี ได้ให้ความรู้ในการเขียนบทคัดย่อเป็นภาษาอังกฤษ โดยได้นำบทคัดย่อรูปแบบต่างๆ มาให้วิเคราะห์มองหาจุดที่ดี และจุดที่ควรแก้ไข ท่านได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ว่า ผู้วิจัยควรที่จะเป็นผู้เขียน abstract เอง หากไปจ้างผู้อื่นเขียนให้ ภาษาทางการวิจัยจะขาดหายไป เพราะเขาไม่รู้ถึงกระบวนการงานวิจัยของเรา การแปลบทคัดย่อจากภาษาไทยมาเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ควรแปลตรงตัว ควรใช้คำศัพท์ที่เป็นทางการ เพื่อการเข้าใจง่ายและลดการใช้คำศัพท์ที่ฟุ่มเฟือย

หมายเลขบันทึก: 648047เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2018 09:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2018 09:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท