A Min
คุณ จำรัส จันทนาวิวัฒน์

ปั้นด้วยความรู้ ดูแลด้วยความรัก มันต้องไปได้ เหตุเกิดขึ้นที่บ้านขุนประเทศ


"...โรงเรียนบ้านขุนประเทศของเราก็คงคล้ายกับโรงเรียนอีกนับร้อยแห่ง..เราเลือกเด็กนักเรียนไม่ได้ เราไม่มีโอกาสเหมือนโรงเรียนดังๆ ที่เขาสอบคัดเด็กได้ นักเรียนของเราจึงไม่ได้มีผลการเรียนที่โดดเด่นมาก ตรงกันข้ามนักเรียนของเราส่วนใหญ่มาจากครอบครัวในชุมชน ซึ่งมีฐานะค่อนข้างยากจน ก็อย่างที่รู้ๆ กันอยู่นะ...คนจนก็จะมีปัญหาเยอะ ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและการกินอาหาร และปัญหานี้ก็ส่งผลกระทบแก่การเรียนของเด็ก ๆ ของเรา บางคนอ้วนเกิน บางคนผอมมาก บางคนอยากสวยจึงไม่กินอาหาร..เรื่องขนมกรุบกรอบ โห..เต็มที่เลย..."

คำพูดเรียบๆ จากปากครู ที่เล่าเรื่องแรงบันดาลใจที่ผลักดันให้เข้ามาทำโครงการ "เด็กไทย.ไม่อ้วน ลดกินหวาน มัน เค็มและของทอด" ในหมู่นักเรียนของโรงเรียน ทำให้มองเห็นได้ว่า การทำโครงการนี้ไม่น่าจะ "ง่าย" นัก

"...ตอนนี้ ส่วนราชการชอบใส่โครงการมาที่โรงเรียน อะไรก็โรงเรียน โรงเรียนปลอดขยะ โรงเรียนสิ่งแวดล้อม โรงเรียนพุทธบุตร โรงเรียนปลอดยาเสพติด โรงเรียนปลอดเหล้า โรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนคุณภาพ โรงเรียนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนช้างเผือก โรงเรียนโอลิมปิค..โอ๊ยยย  จะตาย  .ไม่ทำก็ไม่ได้นะ.เพราะผู้บังบัญชาสั่งมา..เราก็เข้าใจนะ มันเป็นนโยบาย แต่ครูก็มีแค่สองมือนะ..ยังต้องกินและยังมีครอบครัวด้วย...."  

เออ จริงด้วย  ที่จริงครู ก็ยังสาธยายถึงโครงการอีกมากมาย จนอดคิดเองต่อแทนครูไม่ได้ว่า ถ้างั้นทุกวันนี้ ครูในโรงเรียนทั่วประเทศ คงแทบจะไม่มีเวลาสอนวิชาวิชาความรู้ เพราะต้องทำโครงการเหล่านี้ ทำไมใครๆ ก็มักมาโป๊ะลงที่โรงเรียน เอะอะอะไรก็โรงเรียน จนครูเหมือนจะกลายเป็นผู้มีทักษะครบทุกกระทรวง ศึกษา อาชีพ สาธารณสุข วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม คุณธรรม ภาษา และกีฬา เออ.. นับดูโครงการทั้งปี ดูแล้วน่าจะครบ ๒๐ กระทรวงเชียวนะ (เคยคุยกับครูที่เชียงราย ที่นี่กลายเป็นโรงเรียนโครงการเยอะที่สุด เป็นโรงเรียนตัวอย่างประมาณ ๕๐ ตัวอย่าง ซึ่ง ผอ.เปลี่ยนทุกปีสองปี..ผู้เขียน)

"...เหนื่อยมากนะ  แต่อย่างที่บอก ปัญหาของนักเรียนของเรามันก็เยอะจริงๆ มันเยอะ และมันก็คืออีหรอบเดียวกับปัญหาที่กระทรวงต่าง ๆ เขายกขึ้นมานั้นแหละ ถ้าเราไม่ทำ นักเรียนของเราจะเป็นไงก็บอกไม่ได้เลยนะ..เดาไม่ถูก เราก็เลยอยากทำโครงการนี้นะ ถึงโครงการอื่น ๆจะมีเยอะไปหมดอยู่แล้วก็ตาม..."

"..โครงการอย่าปล่อยให้เด็กไทยอ้วน..ลดหวาน มัน เค็มและของทอด" นี้ ผอ. ศรีนวล ท่านตอบรับร่วมโครงการทันทีเลย เพราะเด็กของเรามีปัญหาเรื่องอ้วนและไม่ชอบออกกำลังกาย พอเด็กอ้วนก็มีปัญหาเรื่องเจ็บป่วยตามมา..มันไม่น่าเชื่อนะ เด็กอ้วนทำไมป่วยง่าย คิดไม่ถึงแต่มันจริง... เรื่องกินอาหารไม่ถูกต้อง กินขนมกรุบกรอบเยอะมาก น้ำอัดลมอีก โห. จนไม่รู้จะบอกอย่างไง..ก็บ้านเรามันเป็นอย่างนี้ บ้านไหนๆ ก็เป็นอย่างนี้ ทั้งชุมชน.. เด็กอยู่บ้าน ดูทีวีไป ก็กินขนมไป พ่อแม่ออกไปทำงาน แม้ครูจะสอนแต่สู้ครูตู้ไม่ได้หรอก น้ำอัดลม ซื้อดื่มกินกันเหมือนของแจกฟรี..."

"..แต่การทำโครงการก็ไม่ง่ายนะ.. ตอน ผอ.และคณะทำงานเริ่มต้น เราวางแนวคิดกัน ว่าถ้าทำโครงการนี้ให้สำเร็จมันต้องเริ่มด้วย ๕ ส  ส.ที่หนึ่ง คือ สร้างความตระหนักรู้ คือต้องมีความเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่เราจะช่วยกันทำนี้มันคืออะไร มันสำคัญอย่างไร  จากนั้นก็มาทำ ส.ที่สองคือ สร้างการมีส่วนร่วม คือการลดปัญหาเรื่องอ้วน หรือเรื่องการกินที่ไม่ถูกต้องนี้ ทุกคนต้องช่วยกัน คือช่วยกันคิด ช่วยกันทำ มันจึงจะเห็นผล ไม่ใช่ครูคิด ครูทำและสั่งให้นักเรียนทำแต่ฝ่ายเดียว มันไม่น่าจะได้ผล  ส.ที่สามคือต้องมีสื่อ คืองานนี้จะสำเร็จมันต้องมีเครื่องมือบอกต่อ บอกกันบ่อยๆ บอกให้เข้าใจ สื่อก็จะเป็นเครื่องช่วยทีดีที่สุด แล้วก็มาถึง ส.ที่สี่คือ เราต้องสร้างนิสัย รู้แล้ว ทำแล้ว ก็ต้องหมั่นทำ ทำบ่อยๆ จนกลายเป็นนิสัย  เป็นนิสัยแล้ว คราวนี้เราก็ต้องทำให้มั่นยั่งยืน คือกลายป็นนิสัยถาวรให้ได้ ประมาณนี้ สร้างความยั่งยืน ก็คือ ส.ตัวที่ห้า ตัวสุดท้าย...."

"..ตอนคิดก็ช่วยกันคิด จะสร้างความยั่งยืนได้ยังไง แต่ตอนลงมือทำนี่ มันต้องมีกลวิธีหน่อย มันคงเริ่มพร้อมกันทุกคนไม่ได้ เราก็คัดเลือกตัวหลักๆ ที่จะมาช่วยทำโครงการก่อน เรียกว่าเป็น "แกนนำ" มีเริ่มต้นด้วยแกนนำครูก่อน พอมีครูเป็นตัวหลักแล้วก็ต้องมีฝ่ายนักเรียนด้วยเรียกว่านักเรียนแกนนำ ก็ค่อยขยายผลไปสู่นักเรียนปกติทั่วไป จากนั้นจึงค่อยขยายผลไปสู่ครอบครัวและชุมชน จึงจะเกิดความยั่งยืนได้..."

"...โรงเรียนโชคดี ต้องย้ำว่าโชคดีนะ เพราะมีผู้ใหญ่ที่สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือโรงเรียน เช่น บริษัทไทยรุ่ง (ไทยรุ่งยูเนียนคาร์) ก็ให้งบประมาณมาบางส่วน..งบประมาณโรงเรียนจริง ๆนั้นไม่พอหรอก เรามีเรื่อง มีงานที่ต้องใช้เยอะ..งบที่ได้จากโครงการก็จำกัด เราก็เข้าใจนะ..ถึงบอกว่าโชคดีไง... เจ้าหน้าที่เขต (เขตหนองแขม) ก็ข่วยสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์ เครื่องมือบางส่วน. ที่สำคัญคือครอบครัวของนักเรียนแกนนำ นี่คือตัวละครสำคัญเลยนะ..มันทำให้โครงการเดินหน้าต่อได้..."

"..กิจกรรมเรียกเราทำเป็นขั้นตอนนะ ๕ ขั้นตอน ก็ล้อไปกับ ๕ ส. เรียกว่า สถานี หรือ Station  ส.ที่หนึ่งเราก็เรียกว่า Plearn Station  เป็นเวลาที่เราจัดกิจกรรมความรู้เรื่องโภชนาการ เช่น มีทรรศการ กิจกรรมนักข่าวน้อยสื่อสารเรื่องสุขภาพ กิจกรรมฉายสื่อเกี่ยวกับสุขภาพ Health Theater ผ่านไปช่วงเวลาหนึ่ง เราก็จัดกิจกรรมที่สอง เรียกว่า Diet Station เราเริ่มเปลี่ยนเมนูอาหารเช้าและกลางวันของโรงเรียนให้เป็นเมนูสุขภาพ และค่อยๆ ชักชวนนักเรียนแกนนำ ให้ชวนพ่อแม่ จัดเมนูสุขภาพที่บ้านด้วย อาหารเย็นของครอบครัวนั่นแหละ... ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากครอบครัวนักเรียนแกนนำ..เมนูสุขภาพจึงเกิดขึ้นในชุมชนได้สำเร็จ..."

"..มาถึงตอนนี้ เราก็ส่งเสริมให้ทำสื่อเกี่ยวกับสุขภาพและกิจกรรมเรื่องการออกกำลังกาย เรื่องความรู้อันถูกต้องเกี่ยวกับการกินหรือ การลดอาหารหวาน มัน เค็ม ทอด ตอนนี้ เราอยากให้มันกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนควรใส่ใจ เราจัดช่วงเวลาให้มีการเผยแพร่สื่อเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ให้แพร่หลายในโรงเรียน ให้นักเรียนห้องต่างๆ ได้เรียนรู้ และแผ่ขยายไปถึงครอบครัวของนักรียนในชุมชนด้วย เราเปิดให้ยืมสื่อที่เราผลิตนั้น เอาใปใช้ ไปดูกัน และส่งเสริมให้นักเรียนนำไปเปิดที่บ้านให้ครอบครัวดู ฟรีนะ ส่งเสริมให้ทุกบ้านเปลี่ยนเมนูอาหารเย็นที่บ้าน ลดการกินขนมหวาน มัน เค็ม ทอด.เพิ่มผักและผลไม้ ให้มากขึ้น..."

"...แล้วเราก็จัดกิจกรรมที่ ๔ เรียกว่า Happy Station  ช่วงนี้ เราจัดกิจกรรมการออกกำลังกายที่โรงเรียน จัดเป็นฐานออกกำลังกายแบบต่างๆ  เช่น กิจกรรมลีลาศ (Jam Station) กิจกรรมเต้นขยับ (Stand bell) มีการแข่งขันออกกำลังกายกัน มีการประกวดกันด้วย เรียกว่า Body Battle ว่าใครจะลดพุงได้มากกว่ากัน เด็ก ๆ ออกกำลังกันแล้วก็แข่งกัน ประกวดกัน เป็นเรื่องสนุกสนานมาก เราก็พบว่าความสนุกสนานนี้ทำให้เด็ก ๆ ชอบออกกำลังกาย กลายเป็นนิสัยอย่างอ่อนๆ ขึ้น..."

"...สถานีสุดท้าย หรือกิจกรรมสุดท้าย เราเรียกว่า Health BTS Station เราทำเป็นประตูผ่านเข้า-ออก เราตั้งใจให้ประตูก็จะมีขนาดเท่ากับรูปร่างของเด็กสุขภาพดี ดังนั้นเด็กอ้วนหรือเด็กที่มีพุงก็จะผ่านไม่ได้ และก็จะต้องไปทำกิจกรรม ๑ ถึง ๔ ใหม่ จนกว่าจะผ่านได้จึงจะถือว่า ผ่าน..เรามีอีกหลายเทคนิคนะ..สนุกสนานกันมาก..เพราะทำแล้วเรามาวัดกันไง....สถานีนี้ก็ถือว่าเป็นสถานีวัดประเมินผลก็คงได้..เพราะเราทำกิจกรรมกันมาระยะหนึ่งก็อยากรู้ว่า ได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร. กิจกรรมต่าง ๆเหล่านี้ เด็กๆ สนุกสนานกันมาก ...วันที่เราจัดงานแสดงให้แขกที่มาเยี่ยมชม เราจัดพร้อมกันทีเดียว ๕ สถานี แขกต่างๆ ก็สนุกสนานกันมาก..."    

"..โครงการนี้สำเร็จไหม ..ก็ถือว่าสำเร็จนะ ผอ. และคณะครูก็ภูมิใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเด็กๆ ในโรงเรียนหันมาสนใจเรื่องการกินอาหารอย่างถูกต้อง กินผัก ผลไม้มากขึ้น เรื่องผักนี่ดีใจที่สุดเลย...สนใจเรื่องการออกกำลังกายมากขึ้น ตอนที่เราวัดผล คือดูว่า ร่างกายของเด็กมีสัดส่วนดีขึ้นไหม พุงหรืออ้วนลดลงไหม ส่วนใหญ่นักเรียนทั้งโรงเรียนก็มีรูปร่างดีขึ้น ชอบออกกำลังกายมากขึ้น และเลือกกินเป็น  ที่เราภูมิใจมากกว่านี้ก็คือ ครอบครัวของนักเรียนแกนนำ มาร่วมทำกับเราจริงจัง และครอบครัวอื่นๆ ในชุมชน ก็ยังหันมาสนใจเรื่องสุขภาพและกินอาหารอย่างถูกต้องด้วย ภาพของชุมชนเดิม ที่เด็กๆ มีปัญหาเรื่องสุขภาพ มันดีขึ้นนะ ในครอบครัวก็มีความสัมพันธ์ดีขึ้น ลูกได้คุยกับพ่อแม่นะ..พ่อแม่มีเวลาให้ลูกมากขึ้น มีความสุขขึ้น มันยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า ลูกหลานของเราที่มีปัญหานั้น จริง ๆเรายังช่วยได้ ภาพเด็กอ้วนที่อยากผอม และแก้ปัญหาผิดวิธี อดอาหารบ้าง กินอาหารผิด ๆ บ้าง อยากผอมแต่ไม่ยอมออกกำลังกาย เพราะร่างกายมันเหนื่อยมันล้า มันสะท้อนใจนะ...

"...นึกถึงวันที่ ผอ.ศรีนวล รับโครงการนี้มาทำ ตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าจะรอดไหม โรงเรียนก็ใช่ว่าจะพร้อม  ครอบครัวเด็ก ๆ เอย ชุมชนเอย..ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย...แต่วันนี้เราเห็นภาพชัด รู้บอกเลยว่า มันดีมาก..เหนื่อยไหม เหนื่อยมากกกกกกกนะ (ฟังเสียงดูก็รู้ชัดเลย..) แต่ก็ได้เรียนรู้มาก มันคุ้มค่านะ .เราอาจตั้งต้นอย่างไงก็ตาม จะไม่สำเร็จเลยหากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย..ทั้งครู นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง..และที่สำคัญคือชุมชน .เรื่องทุกอย่างมันเกิดปัญหาได้ทั้งนั้น..ปัญหามาปัญญาเกิดนะ..เราต้องถามต้วเราตลอดเวลานะ..ทำแล้วได้อะไร  ทำเพื่ออะไร.....ยิ่งได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ  บอกได้เลยว่า ชื่นใจ ไม่ใช่เพราะได้รางวัลนะ อันนั้นก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่ชื่นใจที่สุด ก็คือเพื่อลูกหลานนักเรียนของเราไง ..อยากบอกว่า เราต้องช่วยกัน นะ..มันไปได้แน่นอน ถ้าเราช่วยกัน..." 

 ขอบคุณ..

บทความจาก อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน,แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงาน สสส.(มีนาคม 2561)

หมายเลขบันทึก: 647883เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2018 07:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2018 07:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท