ปฏิเวธธรรมของการเรียนวิชชาธรรมกายเบื้องต้น..?


 

ปฏิเวธธรรมของการเรียนวิชชาธรรมกายเบื้องต้น..?

ปฏิเวธ + ธมฺม = ปฏิเวธธมฺม (ปะ-ติ-เว-ทะ-ทำ-มะ) แปลว่า “ธรรมคือการบรรลุผล” หมายถึง การเข้าถึงหรือบรรลุด้วยการปฏิบัติ ได้แก่ มรรค ผล และนิพพาน

แต่สำหรับการปฏิบัติธรรมให้ถึงธรรมกายและถึงกายในกายทั้ง ๑๘ กาย ในเบื้องต้นของผลอันจะพึงเข้าถึงหรือบรรลุด้วยการปฏิบัตินั้นได้แก่...

เป็นผู้มีใจสงบระงับด้วยกาย-วาจา-ใจ หรือมีสติสัมปชัญญะได้แก่ความระลึกได้ และความรู้ตัวโดยเฉพาะเมื่อวางใจจรดศูนย์ได้เนืองๆ

เมื่อสติสัมปชัญญะเกิดด้วยการไม่เผลอเอาใจออกนอกศูนย์ได้แล้ว เครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจไม่ให้กระทำชั่วทางกาย-วาจา-ใจ ก็เกิดตามมาได้แก่ หิริโอตตัปปะ คือความละอายต่อการทำบาป และความเกรงกลัวต่อผลของบาป, เรียกสั้นๆ ว่า ความละอายใจ.ก็เกิดตามมา

เมื่อฝึกเดินใจเข้ากลางของกลางอันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่ปฏิปทาสายกลางทางภาคปฏิบัติ เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ใจจึงเป็นกลางๆ ไม่ยินดียินร้ายในโลกธรรม ๘ ใจมีความพอดี พอเพียง ความโลภ-โกรธ-หลง ก็บรรเทาเบาบางลง

เมื่อหมั่นเดินวิชชาเข้ากลางของกลางให้ใจและกายในกายเกิดความขาวสว่างใสยิ่งขึ้น ก็เข้าถึงปฏิปทา ๘ ประการ หรือมรรค ๘ หรือมรรคมีองค์ ๘ หรือทางสายกลางที่ละเอียดยิ่งขึ้น ก็เห็นหนทางหมดจรดวิเศษในอริยสัจ เกิดปัญญา รู้ตามสภาวะธรรมที่เป็นจริง ในระดับเบื้องต้น เพื่อพัฒนาสู่ระดับวิปัสสนาญาณต่อไป

กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เมื่อท่านปฏิบัติภาวนาตามแนววิชชาธรรมกายอย่างถูกตรงแล้ว ท่านจะต้องเกิดคุณธรรมเบื้องต้น-เบื้องกลาง-เบื้องสูง ไปในทางกำจัดกิเลส หรือรู้เท่าทันกิเลส รู้ตามสภาวะธรรมที่เป็นจริง ใจไม่หลงในโลกธรรม ๘ มีสติสัมปชัญญะและหิริโอตตัปปะเป็นฐานของใจเพื่อเดินใจตามมัชฌิมาปฏิปทาให้คุณธรรมเจริญยิ่งๆ ขึ้น เกิดเป็นรอยใจเพื่อเข้าถึงปัญญาญาณในการรู้แจ้งเห็นจริงตามสภาวะธรรมที่เป็นจริงของฉากหลังในฉากหลัง ได้แก่วิชชาปกครองของธรรมภาคกิเลสในชั้นละเอียดนั่นเอง

แต่ถ้ายิ่งเรียนแล้วยิ่งหลง หลงในรู้ญาณทัสสนะ หลงในบุญบารมีว่าวิเศษเหนือใคร หลงในโลกธรรม ๘ หลงในวิชชาปนเป็นคาบลูกคาบดอก ทำให้กิเลสอวิชชาเจริญขึ้นในจิตใจ จนกระทั่ง ใจมีฐานของความอยากใหญ่-อยากเด่น-อยากดัง-อยากวิเศษ เพิ่มพูลโมหะอวิชชา แปลว่า การเรียนล้มเหลว ถูกธรรมภาคกิเลสปนเป็น สอดละเอียด พลิกธาตุพลิกธรรม จนถึงขั้นถูกยึกปกครองธาตุธรรมให้จากขาวเป็นดำ ถูกยึดปกครองดวงบารมีจนหมดสิ้น สุดท้ายก็กลายเป็นตัวละครสำคัญที่ภาคปราบของธรรมภาคขาวจะต้องตามไป "ดับ" หรือจับลง "เซฟ" กันต่อไป

?ครูอาจารย์ระดับภาคปราบจึงกล่าวเตือนสติไว้เสมอว่า เรียนวิชชาธรรมกาย เหมือนขี่หลังเสือ ถ้าลงจากหลังเสือแล้วก็ถูกเสือขบกัด การลงจากหลังเสือที่เห็นได้ชัดก็คือ ไม่หมั่นเดินวิชชา หรือเดินวิชชาโลดโผนปนเป็น เดินวิชชาผิดหลักผิดศูนย์ เดินวิชชาข้ามขั้นตอนโดยไม่สามารถสะสางธาตุธรรมตนเองให้ขาวใสแท้จริงก่อน สุดท้ายก็เดินวิชชาต่อตีนโจร ไปในทางชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน เป็นฐานให้ความไม่ขาวใสยึดปกครอง ก็เป็นอันเรียบร้อยโรงเรียนมาร...กันไป

หมายเลขบันทึก: 647707เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2018 19:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2018 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท