58. ความสมบูรณ์แบบคือจุดหมายปลายทางของทุกสิ่ง


58. ความสมบูรณ์แบบคือจุดหมายปลายทางของทุกสิ่ง


ถาม  เมื่อมีผู้ถามท่านเกี่ยวกับวิธีการที่จะบรรลุถึงตัวตนที่แท้ ท่านมักจะเน้าความสำคัญของการนำความสนใจไปที่ความรู้สึกว่า “ฉันเป็น”

อะไรคือเหตุปัจจัย

ทำไมความคิดนี้จึงส่งผลให้เกิดการบรรลุถึงตัวตนที่แท้

การใคร่ครวญอยู่กับความรู้สึกว่า “ฉันเป็น” ส่งผลต่อผมอย่างไร

ตอบ  การเฝ้าสังเกต จะเปลี่ยนผู้สังเกต และสิ่งที่ถูกสังเกตเห็น

สิ่งปิดกั้นปัญญาญาณที่จะเห็นธรรมชาติที่แท้ของบุคคลคือ ความอ่อนแอ และความทึ่มทื่อของใจ และแนวโน้มของใจที่มักจะมองข้ามสิ่งละเอีอยดอ่อน และโฟกัสในสิ่งหยาบๆเท่านั้น

เมื่อเธอปฏิบัติตามคำแนะนำของฉัน และพยายามรักษาใจให้อยู่กับการสังเกตความรู้สึกว่า “ฉันเป็น” เท่านั้น

เธอจะตระหนักรู้อย่างเต็มที่ถึงใจของเธอเอง และความเปลี่ยนแปลงหลากหลายของมัน

ความตระหนักรู้ เป็นความกลมกลืนที่แจ่มแจ้ง จะละลายความหม่นมัว และทำให้ความไม่อยู่นิ่งของใจสงบลง

และค่อยๆเปลี่ยนสาระของใจอย่างช้าๆแต่มั่นคง

การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่จำเป็นต้องน่าตื่นเต้น มันอาจแทบไม่สามารถสังเกตเห็น

แต่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่ลึกซึ้งจากความมืดไปสู่ความสว่าง จากความไม่สนใจสู่ความตระหนักรู้

 

ถาม  จำเป็นต้องมีสูตรว่า “ฉันเป็น” ด้วยหรือ

ประโยคอื่นๆที่ใช้แล้วให้ผลเหมือนกันมีไหม

ถ้าผมจดจ่อแต่ประโยคว่า “มีโต๊ะ” มันจะได้ผลเหมือนกันหรือเปล่า

ตอบ  ถ้านั่นเป็นแค่แบบฝึกหัดของการจดจ่อ – ได้

แต่มันจะไม่สามารถพาเธอไปเหนือความคิดของโต๊ะ

เธอไม่ได้สนใจในโต๊ะ เธอต้องการรู้จักตัวเอง

ดังนั้น ให้โฟกัสความรู้ตัวไปที่เบาะแสเดียวที่เธอมี นั่นคือ ความมั่นใจในการมีอยู่เป็นอยู่

อยู่กับมัน เล่นกับมัน พินิจพิเคราะห์มัน ขุดค้นลงไปในมันอย่างลึกซึ้ง

จนกระทั่งเปลือกของความโง่เขลาแตกออก และเธอได้เข้าสู่อาณาจักรแห่งความเป็นจริง

 

ถาม  มันมีความเชื่อมโยงแบบเป็นเหตุเป็นผลกันระหว่างการที่ผมโฟกัสกับความรู้สึก “ฉันเป็น” และการแตกออกของเปลือกแห่งความโง่หรือเปล่า

ตอบ  แรงกระตุ้นให้ค้นหาตัวตนที่แท้ของเธอ เป็นสัญญาณว่าเธอกำลังเข้าสู่ความพร้อม

แรงดลใจมักมาจากภายในเสมอ

ถ้ายังไม่ถึงเวลา เธอจะไม่มีความต้องการ และไม่มีความเข้มแข็ง ที่จะลงมือทำการสืบเสาะค้นหาตัวตนอย่างทุ่มเททั้งใจ

 

ถาม  บารมีแห่งคุรุมีส่วนในการตั้งความต้องการและการบรรลุผลด้วยหรือเปล่า

ใบหน้าอันผ่องใสเรืองรองของคุรุ เป็นเหมือนเหยื่อที่ทำให้พวกเราติดเบ็ดและถูกดึงออกมาพ้นจากปลักแห่งความเศร้าโศก มิใช่หรือ

ตอบ  คุรุภายใน (sadguru) ต่างหาก ที่พาเธอไปพบคุรุภายนอก เหมือนแม่ที่พาลูกไปหาครู

จงเชื่อใจและเชื่อฟังคุรุของเธอ เพราะท่านคือผู้นำสารของตัวตนที่แท้ของเธอ

 

ถาม  ผมจะพบคุรุที่ผมสามารถเชื่อใจได้ได้อย่างไร

ตอบ  หัวใจของเธอจะบอกเธอ

การหาคุรุให้พบนั้นไม่ยาก เพราะคุรุก็ค้นหาเธอเช่นกัน

คุรุจะพร้อมเสมอ แต่เธอนั่นแหละที่ไม่พร้อม

เธอต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ มิฉะนั้น เธอาจจะพบคุรุ และเสียโอกาสเปล่าเพราะความไม่สนใจและดื้อรั้นของเธอ

ฉันจะยกตัวอย่างกรณีของฉันเอง ฉันไม่มีคุณสมบัติใดๆเลยที่บ่งบอกว่าฉันจะมีโอกาสได้เข้าใจในธรรม

แต่เมื่อฉันพบคุรุของฉัน ฉันฟังท่านอย่างตั้งใจ ไว้ใจท่าน และเชื่อฟังท่าน

 

ถาม  ผมไม่ต้องตรวจสอบครูก่อนที่ผมจะยอมมอบตัวเองไว้ในมือของท่านหรอกหรือ

ตอบ  ก็ตรวจสอบไปสิ

แต่เธอจะพบอะไรล่ะ

เธอก็แค่เห็นท่านอย่างที่ท่านเป็นในระดับความเข้าใจของเธอ

 

ถาม  ผมก็จะเฝ้ามองว่าท่านสม่ำเสมอหรือเปล่า ชีวิตของท่านสอดคล้องกันกับคำสอนของท่านหรือไม่

ตอบ  เธออาจพบความไม่สอดคล้องมากมาย – แล้วไง

มันไม่ได้พิสูจน์อะไรเลย

เพราะสิ่งสำคัญคือแรงจูงใจ

เธอจะรู้ถึงแรงจูงใจของท่านได้อย่างไร

 

ถาม  อย่างน้อยที่สุด ผมควรคาดหวังว่าท่านเป็นบุคคลที่ควบคุมตัวเองได้ดี มีชีวิตอยู่ในกรอบของศีลธรรม

ตอบ  คนแบบนั้นมีมากมาย – และพวกเขาล้วนไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับเธอ

คุรุสามารถชี้ให้เธอเห็นทางกลับบ้าน กลับสู่ตัวตนที่แท้ของเธอ

สิ่งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับบุคลิก หรืออารมณ์ที่ท่านแสดงออกให้เห็น

ท่านไม่ได้บอกเธออย่างชัดเจนหรอกหรือว่าท่านไม่ใช่บุคคล

วิธีเดียวที่เธอจะตัดสินได้คือดูจากการเปลี่ยนแปลงในตัวเธอเมื่อเธออยู่กับท่าน

ถ้าเธอรู้สึกสงบและมีความสุข

ถ้าเธอเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้งและกระจ่างชัดมากขึ้นกว่าปกติ

นั่นหมายความว่าเธอได้พบคุรุที่ใช่

ไม่ต้องรีบร้อน แต่เมื่อเธอตัดสินใจที่จะไว้วางใจในท่าน

จงไว้ใจท่านอย่างเต็มที่

ทำตามทุกคำสอนของท่านอย่างเต็มความสามารถและซื่อสัตย์

เธอจะยอมรับท่านเป็นคุรุของเธอหรือไม่ เธอจะต้องเชื่อฟังกับท่านเพียงคนเดียวหรือไม่ นั่นไม่สำคัญ

การสนทนาธรรม (Satsang) สามารถนำเธอไปยังเป้าหมายของเธอ แต่มันต้องไม่ผสมปนเป และไม่มีการรบกวน

แต่เมื่อใดที่เธอยอมรับใครสักคนเป็นคุรุของเธอ จงฟัง จดจำ และเชื่อฟัง

การเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เป็นอุปสรรคสำคัญ และเป็นสาเหตุของความโศกเศร้าที่เธอสร้างขึ้นเอง

ความผิดพลาดไม่ได้เกิดที่คุรุ มันเกิดจากความทึ่มทื่อและความเบาปัญญาของหลักการที่ไม่ถูกต้อง

 

ถาม  แล้วคุรุจะขับไล่หรือตัดทิ้งศิษย์ผู้ดื้อรั้นหรือเปล่า

ตอบ  ถ้าทำอย่างนั้น ท่านจะไม่ใช่คุรุ

ท่านจะอดทน รอคอย จนกระทั่งศิษย์หลาบจำและตาสว่าง กลับมาหาท่านด้วยความพร้อมที่จะรับฟังมากขึ้น

 

ถาม  อะไรคือแรงบันดาลใจ ทำไมคุรุจึงต้องยอมลำบากเช่นนั้น

ตอบ  แรงบันดาลใจของท่าน คือความโศกเศร้าและจุดจบของความโศกเศร้า

ท่านเห็นผู้คนต้องทนทุกข์เพราะมายาความฝันของตน และท่านอยากเห็นเขาเหล่านั้นตื่นขึ้น

ความรักจะไม่ครณาต่อความเจ็บปวดและความทุกข์

ความอดทนของคุรุไม่มีขีดจำกัด ดังนั้น มันจึงไม่มีอะไรเอาชนะได้

คุรุไม่เคยล้มเหลว

 

ถาม  คุรุคนแรกของผมจะเป็นคนสุดท้ายหรือเปล่า หรือว่าผมต้องพบคุรุคนแล้วคนเล่าไปเรื่อยๆ

ตอบ  จักรวาลทั้งหมดคือคุรุของเธอ

เธอเรียนรู้จากทุกสิ่ง ถ้าเธอตื่นตัวและมีปัญญา

เมื่อใจของเธอแจ่มใส และหัวใจของเธอสะอาด เธอจะเรียนรู้จากทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามา

แต่ถ้าเธอเกียจคร้านหรือกระวนกระวาย ตัวตนภายในของเธอจะแสดงตนในรูปของคุรุภายนอก และทำให้เธอไว้ใจและเชื่อฟังท่าน

 

ถาม  คุรุเป็นสิ่งจำเป็น ใช่ไหม

ตอบ  มันเหมือนเธอถามว่า “แม่เป็นสิ่งจำเป็น ใช่ไหม”

มันจำเป็นต้องมีคนช่วยเธอในการที่เธอจะผุดโผล่ขึ้นในความรู้ตัว จากมิติหนึ่งไปยังอีกมิติหนึ่ง

ความช่วยเหลือนี้ อาจไม่อยู่ในรูปของบุคคลเสมอไป

มันอาจเป็นการระลึกรู้ที่ละเอียดอ่อนในปัจจุบัน

หรือประกายแสงแห่งปัญญาญาณ

แต่ต้องมีการช่วยเหลือเกิดขึ้น

ตัวตนภายใน เฝ้ามองและรอคอยให้ลูกชายกลับมาหาพ่อ

ในเวลาที่เหมาะสม ตัวตนภายในจะจัดสรรทุกอย่างด้วยความรักและอย่างมีประสิทธิภาพ

ถ้าจำเป็นต้องมีผู้นำสาร หรือผู้นำทาง ตัวตนภายในจะส่งคุรุมาทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ

 

ถาม  มีเรื่องหนึ่งที่ผมไม่เข้าใจ

ท่านพูดถึงตัวตนภายในว่าฉลาด และดี และสวยงาม และสมบูรณ์แบบในทุกด้าน

และท่านพูดถึงบุคคลว่าเป็นแค่ภาพสะท้อนที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง

ท่านยอมลำบากช่วยเหลือบุคคลมากมายให้ตระหนักถึงตัวตนที่แท้

ก็ในเมื่อบุคคลไร้ความสำคัญออกขนาดนี้ ท่านจะสนใจช่วยพวกเขาทำไม

ใครจะแคร์กับสิ่งที่เป็นแค่เงา

ตอบ  เธอได้นำความเป็นของคู่เข้ามาในที่ที่ไม่มีของคู่

ร่างกายมีอยู่ และตัวตนที่แท้ มีอยู่

ระหว่างทั้งสองนี้ คือใจ

ภายในใจ คือที่ซึ่งเกิดภาพสะท้อนของตัวตนที่แท้ในลักษณะของความรู้สึกว่า “ฉันเป็น”

เนื่องจากความไม่สมบูรณ์แบบของใจ ความหยาบและความไม่อยู่นิ่งของใจ การขาดความสุขุมรอบคอบ และญาณปัญญา ใจจึงยึดเอาว่ามันคือร่างกาย ไม่ใช่ตัวตนที่แท้

ดังนั้น สิ่งจำเป็นคือการทำใจให้บริสุทธิ์ เพื่อที่มันจะได้ตระหนักว่ามันคือตัวตนที่แท้

เมื่อใจหลอมรวมเข้าภายในตัวตนที่แท้ ร่างกายจะไม่แสดงปัญหาใดๆ

ร่างกายก็เป็นอย่างที่มันเป็น ซึ่งก็คือการเป็นเครื่องมือของการจำได้และการกระทำ เป็นอุปกรณ์และการแสดงออกของไฟแห่งความสร้างสรรค์ภายใน

คุณค่าสูงสุดของร่างกาย คือมันช่วยในการค้นพบกายละเอียด หรือกายทิพย์ (cosmic body) ซึ่งก็คือจักรวาลทั้งหมด นั่นเอง 

เมื่อเธอตระหนักว่าเธอคือการสรรค์สร้าง เธอก็จะค้นพบต่อไปว่าความเป็นเธอนั้นอยู่เหนือสิ่งใดๆที่เธอจะสามารถจินตนาการไปถึง

 

ถาม  การค้นพบตัวเองนี้จะไม่มีการสิ้นสุดเลยหรือ

ตอบ  ในเมื่อมันไม่มีจุดเริ่มต้น มันจึงไม่มีจุดสิ้นสุด

แต่สิ่งที่ฉันได้ค้นพบ ด้วยความกรุณาแห่งคุรุของฉัน ก็คือ ฉันไม่ใช่อะไรที่ใครจะสามารถชี้บอกได้

ฉันไม่ใช่ทั้ง “นี้” หรือ “นั้น”

นี่คือความเป็นจริงโดยแท้

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้น การค้นพบที่ไม่สิ้นสุดนี้เกิดขึ้นที่ไหน มันเป็นการเลื่อนขึ้นอย่างไม่สิ้นสุดเข้าไปในมิติใหม่ อย่างนั้นหรือ

ตอบ  ทั้งหมดนี้เป็นของอาณาจักรแห่งการสรรค์สร้าง

มันอยู่ในโครงสร้างของจักรวาลว่า ความสูงกว่า จะเข้าถึงได้ด้วยการเป็นอิสระจากความต่ำกว่าเท่านั้น

 

ถาม  อะไรที่สูงกว่า อะไรที่ต่ำกว่า

ตอบ  จงมองดูมันในลักษณะของความตระหนักรู้

ความรู้ตัวที่กว้างขวางขึ้น ลึกซึ้งขึ้น คือความสูงกว่า

ทุกอย่างที่มีชีวิต ล้วนทำงานเพื่อการปกป้อง การขับเคลื่อน และการขยายความรู้ตัว

นี่คือความหมายและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโลก

มันคือแก่นแกนของ โยคะ – การยกระดับความรู้ตัวอย่างไม่มีวันสิ้นสุด การค้นพบมิติใหม่ๆ พร้อมทั้งคุณสมบัติ คุณภาพ และพลังของมัน

ในลักษณะเช่นนั้น จักรวาล กลายเป็นโรงเรียนของ โยคะ (yogakshetra)

 

ถาม  ความสมบูรณ์แบบ คือเป้าหมายสุดท้ายของมนุษย์ทุกคนใช่หรือไม่

ตอบ  ของทุกสรรพสิ่งที่มีชีวิต – ใช่

ความเป็นไปได้ กลายเป็นความแน่นอน เมื่อ notion ของการบรรลุธรรมปรากฏขึ้นในใจ

เมื่อใดที่สิ่งมีชีวิตได้สดับและเข้าใจ การบรรลุธรรมจะอยู่แค่เอื้อม

เขาจะไม่มีวันลืม เพราะมันคือข่าวสารแรกจากภายใน

มันจะหยั่งรากและเติบโต และในเวลาต่อมา มันจะก่อรูปเป็นคุรุของเธอ

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้น เราก็สนใจแค่การกอบกู้ใจคืนมาเท่านั้นใช่ไหม

ตอบ  จะมีอะไรนอกไปจากนี้อีกเล่า

เรื่องของเรื่องมันก็แค่ ใจหลงทาง ใจกลับบ้าน

แม้แต่คำว่า “หลงทาง” ก็ไม่ค่อยจะตรงนัก

ใจต้องรู้ตัวมันเองในทุกอารมณ์

ไม่มีอะไรเป็นเรื่องผิด ถ้าไม่ทำมันซ้ำอีก

 

ศรี นิสาร์กะทัตตะ มหาราช

“I AM THAT”

 

 

หมายเลขบันทึก: 647573เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2018 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2018 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท