โรงเรียนผู้สูงอายุบ้านแม่ผาแหน ยกระดับคุณภาพชีวิต-ขจัดปัญหาผู้สูงวัย


โรงเรียนผู้สูงอายุบ้านแม่ผาแหน

ยกระดับคุณภาพชีวิต-ขจัดปัญหาผู้สูงวัย

สภาผู้นำบ้านแม่ผาแหน จับมือสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม ผุดโรงเรียนผู้สูงอายุ ลดความเครียดให้คนแก่จากภาวะถูกทอดทิ้ง-ครอบครัวมีหนี้สิน เน้นสอน 3 วิชาหลัก สุขภาพ-เกษตร-ภูมิปัญญา ขณะที่เทศบาล รับลูกเตรียมใช้เป็นต้นแบบขยายผลสู่พื้นที่อื่นให้ครอบคลุมทั้งตำบลออนใต้

            จากการที่หมู่บ้านแม่ผาแหน หมู่ 3 ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการดำเนินโครงการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นมาได้ระยะหนึ่ง โดยเน้นไปที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุ และล่าสุดในวันที่ 25 พฤศจิกายนก็ได้เปิดโรงเรียนผู้สูงอายุขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันให้มากขึ้น

            นายศานต์ภิสิทธิ์ ปัญญาทิพย์ ผู้รับผิดชอบโครงการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นหมู่บ้านแม่ผาแหน เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หมู่ 3 บ้านแม่ผาแหน ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ตามแบบประเมินครอบครัวอบอุ่น พบว่าจาก 184 ครัวเรือนของหมู่บ้าน เป็นครอบครัวผู้สูงอายุถึง 136 ครัวเรือน หรือคิดเป็น 73% ของครัวเรือนทั้งหมด แต่เมื่อลงลึกในด้านสัมพันธภาพในครอบครัวกลับอยู่ในระดับตกต่ำ ผู้สูงอายุถูกละเลย ทอดทิ้งให้อยู่บ้านเพียงลำพัง เป็นภาระของสังคม ซ้ำยังเจอปัญหาคนในชุมชนมีพฤติกรรมสุขภาพไม่เหมาะสม ออกกำลังกายน้อย และแทบจะนับหลังคาเรือนได้ที่ปลูกผักปลอดสารเคมีไว้กินเอง ส่งผลให้ความสุขของครอบครัวอยู่แค่ระดับปานกลาง

            ข้อมูลดังกล่าว สภาผู้นำชุมชนบ้านแม่ผาแหนที่มาจากตัวแทนของทุกกลุ่มในชุมชนจำนวน 40 คน นำมาวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นใน 3 ด้าน คือด้านสุขภาพ มีผู้สูงอายุติดเตียง 3 ราย ติดบ้าน 13 ราย ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง 96 ราย เกิดอุบัติเหตุจากการใช้ชีวิตประจำวัน 2 ราย ภาวะสมองเสื่อม 2 ราย ข้อเข่าเสื่อม 24 ราย และภาวะเครียด ซึมเศร้า 5 ราย

            ด้านสังคม ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งให้อยู่บ้านตามลาพังลูกหลานไม่ดูแล เกิดแรงงานผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น มีความเชื่อมั่นในตนเองลดลง รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไร้เกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี และปฏิบัติศาสนกิจน้อยลง ขณะที่ด้านเศรษฐกิจ ภายในชุมชนไม่มีงานให้ลูกหลานทำ ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ผู้สูงอายุไม่มีคนแบ่งเบาภาระ ต้องหางานหาเงินมาเลี้ยงชีพ มีภาระในการเลี้ยงหลาน ภาระค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคม เช่น เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ เงินออมผู้สูงอายุวันละบาท ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล มีสิทธิ์การรักษาแต่ก็มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสถานพยาบาล

            “สภาผู้นำชุมชนบ้านแม่ผาแหนได้จัดเวทีประชาคมเพื่อชี้แจงสถานการณ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นให้คนในชุมชนรับทราบ แล้วลงมติในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งชี้ชัดให้ปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งอยู่บ้านเพียงลำพัง เป็นภาระของสังคม คือเรื่องที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน และการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้โรงเรียนผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ชุมชนเลือก โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” นายศานต์ภิสิทธิ์  กล่าว

            นายอนนท์ มโนวงค์  ผู้อำนวยการโรงเรียนผู้สูงอายุบ้านแม่ผาแหน กล่าวถึงหลักสูตร ว่าเน้น 3 วิชา ได้แก่ 1) วิชาสุขภาพอนามัย เช่น การปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง เหมาะสมกับวัย มีพฤติกรรมการกินอยู่ที่ปลอดภัย รู้จักอาหารเพื่อสุขภาพ สมุนไพร รับมือกับโรคภัยต่างๆ ได้ อาทิ โรคนอนไม่หลับ โรคซึมเศร้า 2) วิชาเกษตร ใช้โมเดลโคกหนองนา อันเป็นการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ (ศาสตร์พระราชา) เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่ ส่งเสริมให้มีการปลูกผักปลอดภัยเพื่อการบริโภคในครัวเรือน 3) วิชาภูมิปัญญา ดึงความรู้เรื่องงานใบตอง จักสาน ปักผ้า ทำขนมพื้นถิ่น ของคนในชุมชนขึ้นมา และเผยแพร่สู่กลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงเยาวชนในท้องถิ่นให้สามารถสืบสานต่อไปได้

            โรงเรียนผู้สูงอายุบ้านแม่ผาแหนจะเปิดเรียนทุกวันเสาร์ ตั้งแต่เวลาประมาณ 09.00-15.00 น. และทุกวันพุธกับวันศุกร์ ทางสภาผู้นำและคณะทำงานจะประชุมร่วมกัน เพื่อวางแผนและเตรียมการสอนให้เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ

            ด้านนายอรุณ โปธิตา ผู้ใหญ่บ้านแม่ผาแหน และหัวหน้าโครงการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นหมู่บ้านแม่ผาแหน กล่าวเสริมว่า แม้จะมีโรงเรียนผู้สูงอายุ แต่การให้ความรู้เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนได้ ต้องสร้างความเข้าใจและตระหนักควบคู่กันไปด้วย เช่น เรื่องการปลูกผักปลอดสาร เริ่มจากการคุยกันว่าแต่ละวัน ครัวเรือนหนึ่งๆ จ่ายเงินซื้อผักเท่าไหร่ อาจจะแค่ 20 -30 บาท หากเมื่อรวมกัน 1 คุ้มบ้าน ตกวันละกี่บาท รวมเป็นเดือน เป็นปีก็สูงขึ้น  ซึ่งหมู่บ้านแม่ผาแหนแยกเป็น 7 คุ้มบ้าน นำรายจ่ายค่าผักจากทั้ง 7 คุ้มมาแจกแจง ก็จะเห็นได้ว่าในภาพรวมทั้งหมู่บ้านเสียเงินซื้อผักเดือนละนับแสนบาท ตกปีละ 1 ล้านบาทเศษ ดังนั้นถ้าปลูกผักกินเอง ก็จะประหยัดค่าใช้จ่าย และมีความปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่าเดิม

            ขณะที่ นายประเวศน์ โปธิตา นายกเทศมนตรีตำบลออนใต้ ย้ำว่าโรงเรียนผู้สูงอายุบ้านแม่ผาแหน คือการนำร่องยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย อาศัยทุนเดิมที่มีในท้องถิ่น คือบุคลากรที่เป็นข้าราชการเกษียณ เช่น อาจารย์ ทหาร ตำรวจ ซึ่งคนกลุ่มนี้ยังเปี่ยมด้วยความรู้ ความสามารถ หากอยู่เฉยๆ อาจเป็นโรคซึมเศร้า ถ้าเข้ามาสอน หรือถ่ายทอดให้แก่บุคคลอื่นได้ ก็เท่ากับสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม ชุมชนท้องถิ่น ย่อมมองเห็นคุณค่า เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

          ทั้งนี้ จะพยายามขยายโรงเรียนผู้สูงอายุไปสู่หมู่บ้านอื่นๆ เนื่องจากทั้งตำบลมี 11 หมู่บ้าน ประชากรรวม 5,000 กว่าคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุมากถึง 1,100 คน และจากการสำรวจเบื้องต้น พบว่าชาวบ้านใน อ.สันกำแพง มีหนี้สินกับธนาคารแห่งหนึ่งถึง 800 กว่าล้านบาท แต่เฉพาะ ต.ออนใต้ เพียงตำบลเดียว ยอดหนี้สูงกว่าตำบลอื่นๆ รวมกันทั้งอำเภอ โรคเครียด และซึมเศร้า จึงเป็นปัญหาที่ติดตามมาอย่างหนีไม่พ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มักจะถูกทอดทิ้งไว้ภายในบ้าน




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท