กฎหมายแข่งขันทางการค้า 2560 - แก้ผูกขาด กินรวบทางการค้าได้จริงหรือ!


พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ได้ "เพิ่มความชัดเจน" สำหรับกำกับดูแลป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจนก่อให้เกิดการผูกขาด และการค้าที่ไม่เป็นธรรม แต่จะเป็นเพียงเสือกระดาษเหมือนเดิมหรือไม่!

กฎหมายแข่งขันทางการค้า 2560 - แก้ผูกขาด กินรวบทางการค้าได้จริงหรือ!
กฎหมายแข่งขันทางการค้า 2560 - แก้ผูกขาด กินรวบทางการค้าได้จริงหรือ!

5 ตุลาคม 2560 กฎหมายป้องกันการผูกขาด กินรวบทางการค้าถูกบังคับใช้ สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ แยก “สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า” ออกมาเป็นหน่วยงานอิสระ “เพิ่มความเข้มข้น” ในการกำกับดูแล และตรวจสอบการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมจนก่อให้เกิดกินรวบ และผูกขาดทางการค้าเหมือนที่ผ่านมา

"พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 นั้น “ตอบโจทย์” ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยเฉพาะการแยกสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามาเป็นหน่วยงานอิสระมีฐานะเทียบเท่า “กรม” จากเดิมมีฐานะเป็น “สำนัก” อยู่ภายใต้สังกัดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ขณะที่ตัว “กรรมการ” เดิม มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นรองประธาน และกรรมการมาจากการแต่งตั้ง" สันติชัย สารถวัลย์แพศย์ อดีตรองอธิบดีกรมการค้าภายใน

ว่าด้วยเรื่องกินรวบทางการค้า 

พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ได้ "เพิ่มความชัดเจน" สำหรับกำกับดูแลป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจนก่อให้เกิดการผูกขาด และการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะเรื่อง "การควบรวม หรือกินรวบธุรกิจ" หากอ้างอิง พรบ. ฉบับเดิมนั้นยังไม่สามารถตีความได้อย่างชัดเจนว่าการควบรวมธุกิจลักษณะใดจึงเข้าข่ายกินรวบ ยกตัวอย่างกรณี เทสโก้ฯ ควบรวมแม็คโคร มักมีการตั้งคำถามว่า จำเป็นต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าหรือไม่?

ดังนั้น ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับ 2560 จึงให้ความสำคัญกับการควบรวมอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น โดยแบ่งแยกการควบรวมธุรกิจออกเป็น 2 แบบ 

  • แบบที่ 1 การควบรวมที่ส่งผลให้มีการจำกัด/ลดการแข่งขัน ให้แจ้งภายใน 7 วัน
  • แบบที่ 2 หากควบรวมแล้วทำให้เกิดการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด ต้องได้รับ “อนุญาต” จากคณะกรรมการการแข่งขันฯ

หลักเกณฑ์การพิจารณาชี้ขาด

  • พิจารณาตามความจำเป็นทางธุรกิจ
  • ประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ
  • การไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง
  • การไม่กระทบต่อผู้บริโภคส่วนรวม

คณะกรรมการจะต้องสรุปผลการพิจารณาภายใน 90 วัน ขยายเวลาได้อีก 15 วัน และต้องระบุเหตุในการอนุญาตควบรวมไว้ด้วย หากผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับคำสั่งมีสิทธิฟ้องศาลปกครองภายใน 60 วัน

ค่าธรรมเนียม

พร้อมกันนี้ ได้มีการกำหนดค่าธรรมเนียมการขออนุญาตรวมธุรกิจครั้งละ 250,000 บาท การขอวินิจฉัยตามมาตรา 59 ครั้งละ 50,000 บาท และค่าคัดสำเนาคำสั่งตามมาตรา 52, 59 และ 60 หน้าละ 100 บาท จากเดิมที่ไม่มีค่าใช้จ่าย

กฏหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับ 2560

พ.ร.บ.ฉบับใหม่ได้เพิ่มมาตราพิจารณาทั้งทางอาญา และปกครองไว้ดังนี้ 

  • มาตรา 50 - การใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม
  • มาตรา 51 - ขออนุญาตควบรวมธุรกิจที่ส่งผลให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด
  • มาตรา 51 (ว1) - แจ้งภายหลังควบรวมธุรกิจภายใน 7 วัน
  • มาตรา 53 - ไม่ปฏิบัติตามระยะเวลาที่กำหนด
  • มาตรา 54 - การร่วมกันผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขันที่ส่งผลกระทบร้ายแรง
  • มาตรา 55 - การร่วมกันผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขันที่ส่งผลกระทบไม่ร้ายแรง
  • มาตรา 57 - การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
  • มาตรา 58 - การตกลงร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและผู้บริโภค

การพิจารณาโทษอาญา - ปกครอง

  • ความผิดตามมาตรา 50 และ 54 - โทษอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด
  • ความผิดตามมาตรา 51 - โทษปกครอง ปรับไม่เกินร้อยละ 0.5 ของมูลค่ารวมธุรกิจ
  • ความผิดตามมาตรา 51 (ว1) - โทษปกครอง ปรับ 2 แสนบาท และค่าปรับ 1 หมื่นบาท/วัน
  • ความผิดตามมาตรา 55, 57, 58 - โทษปกครอง ปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความ

ทิ้งท้ายด้วยกรณีของ Alibaba ที่สังคมกำลังให้ความสนใจถึงการมาของแจ็ค หม่า เกรงว่าจะมากินรวบธุรกิจอีคอมเมิร์ชท้องถิ่นของคนไทย ผมจึงขอนำประเด็นนี้มาเสริมไว้สักเล็กน้อยให้คนไทยได้คิดกันเล่น ๆ

ก่อนหน้าที่ Alibaba จะมาเยือนไทย คนไทยส่วนหนึ่งก็กล่าวหาบริษัทยักษ์ใหญ่ของคนไทยว่ากินรวบ มุ่งทำธุรกิจผูกขาดทางการค้ามาตลอด และยังมีอยู่ต่อเนื่อง แทนที่เราจะมัวแต่ไปคิดเรื่องเหล่านี้ คนไทยต้องวิเคราะห์หาโอกาสที่จะเกิดจากการลงทุนในครั้งนี้น่าจะดีกว่านะครับ จึงขอนำคำพูดของแจ็ค หม่า มาแชร์ไว้ดังนี้

“ผมคิดว่าผู้คนอาจจะรู้จักโมเดิลธุรกิจของอาลีบาบาไม่มาก อย่างแรกคือ เราไม่สนใจ (ไปแข่งขัน) ตลาดในประเทศ เราสนใจนำสินค้าท้องถิ่นไปสู่ตลาดโลก สู่ประเทศจีนต่างหากครับ คือสิ่งที่เรามุ่งเน้นตลอดมาครับ” – แจ็ค หม่า บทสัมภาษณ์โดยสุทธิชัย หยุ่น

Cr: วิเคราะห์อาณาจักร ALIBABA – แจ็คหม่า จะกินรวบธุรกิจออนไลน์ไทย…จริงหรือ?

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • สำนักส่งเสรมิการแข่งขันทางการค้า เจาะลึกกฎหมายแข่งขันทางการค้า ฉบับใหม่ Lession 1
  • ประชาชาติธุรกิจ ชำแหละ พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า ลบภาพเสือกระดาษ ปลอดการเมืองแทรก
  • ไทยรัฐ กฎใหม่เวทีการค้า กฎหมายป้องกันผูกขาด
  • กรุงเทพธุรกิจ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า 2560 ก้าวใหม่ของการแข่งขัน?

หมายเลขบันทึก: 647187เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2018 09:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กรกฎาคม 2018 11:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีกฏหมายป้องกันการกินรวบ หรือผูกขาดทางการค้าในโลกเศรษฐกิจเสรีแบบนี้ คงยากที่จะทำได้ในทางปฏิบัติ คงเป็นได้แค่เสือกระดาษเหมือนเดิม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท