จากหมู่บ้านปลูกผักรักษ์สุขภาพ สู่สานประเพณี “ลอยกระทงสีเขียว”



ชุมชนจะมีความเข้มแข็งได้ ต้องประกอบด้วยกลุ่มผู้นำที่มีความสามารถ มีเป้าหมายชัด มีแผนการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ชุมชนก้าวไปในทิศทางที่เหมาะสม และเป็นที่ต้องการของสมาชิกในชุมชนนั้นๆ

ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ มีชุมชนแห่งหนึ่งพบว่าปัญหาสุขภาพของชาวบ้านเกิดจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างไม่บันยะบันยัง สภาผู้นำชุมชนที่นี่จึงพยายามแก้ปัญหา โดยรณรงค์ลดการใช้ลง และส่งเสริมให้ปลูกผักในครัวเรือนไว้กินเอง เมื่อปลูกมากๆ ก็เหลือกิน จึงนำไปขาย สร้างรายได้อีกทาง ขณะเดียวกัน “ผัก” ก็ยังเป็นตัวเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม โดยนำไปเป็นองค์ประกอบหนึ่งของประเพณีลอยกระทงของชุมชนด้วย

ชุมชนที่ว่า คือบ้านหาดสองแคว หมู่ 2 ต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ เป็นชุมชนลาวเวียง มี 112 หลังคาเรือน ประชากร 354 คน พื้นเพประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ประสบปัญหาน้ำท่วม และภัยธรรมชาติ ส่วนหนึ่งจึงหันมาทำไร่ ทำสวน เช่น อ้อย ข้าวโพด พริก ถั่ว ฯลฯ หากสิ่งที่ตามมาคือการใช้สารเคมีในปริมาณมาก  โดยจากการลงพื้นที่ตรวจสารเคมีของ อบต.หาดสองแคว พบว่าเกษตรกรร้อยละ 60-70 มีสารเคมีตกค้างในเลือดระดับสีแดง ประกอบกับแต่ละปีราคาปุ๋ย ยา แพงขึ้น ผกผันกับราคาพืชผลที่ตกต่ำ ทำให้ชาวบ้านมีหนี้สิน ความต้องการทำปุ๋ยชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิตจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ

วิภาพร  ชันยาสูบ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 เล่าว่า ความรุนแรงของปัญหา ถึงขั้นหัวหน้าครอบครัวที่เป็นแรงงานหลักในภาคเกษตรกรรมเสียชีวิตหลายราย ทิ้งภรรยาและลูกไว้เบื้องหลัง อันเป็นที่มาของความพยายามหาทางออก ด้วยการจัดตั้งสภาผู้นำ ซึ่งมาจากตัวแทนของทุกกลุ่มในหมู่บ้าน จำนวน 30คน เพื่อดำเนินโครงการลดสารเคมีทั้งในภาคเกษตรกร และครัวเรือน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 6

            กติกาที่สมาชิกโครงการทุกคนได้ร่วมกันวาง และถือปฏิบัติ คือทุก 3 เดือน สภาผู้นำบ้านหาดสองแคว กับสมาชิกต้องช่วยกันทำน้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง เมื่อหมักจนได้ที่ก็จะเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ซื้อในราคาทุน ซึ่งถูกกว่าท้องตลาดมากกว่าครึ่ง เพื่อให้ใช้แทนปุ๋ยและสารเคมี เป็นการลดต้นทุนการผลิตพืชผัก ควบคู่ไปกับการรักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น

            ขณะเดียวกันในการนำน้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยหมัก ซึ่งเรียกว่าสารชีวภัณฑ์ไปใช้ ทางสภาผู้นำก็จะคอยสอดส่องอย่างใกล้ชิดว่าใช้จริงหรือไม่ ใช้แล้วได้ผลอย่างไร เมื่อได้ผลผลิตชาวบ้านสามารถนำมาจำหน่ายบนถนนสายวัฒนธรรมภายในหมู่บ้าน  ไม่ว่าจะในรูปผักผลไม้สด ผักแปรรูป หรือนำไปทำอาหารพื้นบ้าน  และผลผลิตอีกส่วนหนึ่งแม่ค้าจะนำไปวางขายในตลาดทุกวัน


  นอกจากนี้ สภาผู้นำหมู่บ้านหาดสองแคว ยังมีบทบาทในการหนุนเสริมให้ชาวบ้านจัดเก็บเมล็ดพันธุ์พืชผักเอง และจัดช่วงการปลูกพืชผักแต่ละชนิดให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด โดยทางสภาผู้นำจะศึกษาว่าช่วงไหน ตลาดต้องการผักอะไร ราคาเป็นอย่างไร ทำให้ลดต้นทุนในการปลูก และดูแล ทั้งยังทำให้ผลผลิตได้ราคาดีด้วย

“ผักที่ปลูก และเก็บเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นผักพื้นบ้าน อาทิ กระเจี๊ยบเขียว (มะเขือแจ๊ะ), ผักปลัง, ชะอม, ขนุน, ดอกแค, พริก, มะนาว, มะเขือ, ฝรั่ง, กล้วย, อ้อย, ข้าวโพด, ฟัก, แตงไทย รวมถึงเพาะเห็ดนางฟ้า  ซึ่งมีทั้งที่ปลูกในบ้าน และปลูกในไร่สวน ขณะที่ทีมสภาผู้นำเอง ก็ทำเป็นตัวอย่าง ใช้พื้นที่แปลงรวมประมาณ 5 ไร่เศษ ตรงข้าม อบต.หาดสองแคว ปลูกพืชผักตามฤดูกาล เพาะเห็ดนางฟ้า มีสถานที่ทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ น้ำส้มควันไม้ เมื่อได้ผลผลิตก็จะนำไปรับประทานภายในครัวเรือนและจำหน่าย ให้มีรายได้เข้ากองทุนหมุนเวียนใช้ในครั้งต่อไป” ผู้ใหญ่บ้านหาดสองแคว อธิบาย

ทุกวันนี้ ผักปลอดสารเคมี ได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำรงชีวิตประจำวันของชาวบ้านหาดสองแคว โดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่การบริโภคเพื่อสุขภาพ และจำหน่ายสร้างรายได้เท่านั้น  หากยังผูกพันกับประเพณีวัฒนธรรมของคนลาวเวียงอย่างแน่นแฟ้น ดังเช่นงาน “ย่างเลาะ เซาะเบิ่ง เซาะกิน” ที่จัดขึ้นช่วงงานประเพณีลอยกระทง ทางเยาวชนในหมู่บ้านได้ใช้พืชผักปลอดสารเคมี เช่น หยวกกล้วย ใบตอง มะเขือพวง รวมถึงพืชผักอื่นๆ จัดกระทงสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร เพื่อลอยร่วมกันทั้งหมู่บ้าน ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ และชาวบ้านทั่วไป ก็เก็บผักปลอดสารมาทำอาหารจำหน่าย บนถนนสายวัฒนธรรม หรือบ้างก็จำหน่ายผักสด ให้นักท่องเที่ยวที่มีทั้งคนในตำบลเดียวกัน และคนต่างถิ่นเข้ามาเลือกซื้ออย่างคึกครื้น

จากการขับเคลื่อนภายในชุมชนเล็กๆ ก่อให้เกิดความตระหนักในวงกว้าง ส่งผลให้ผักปลอดสาร กลายเป็นทางเลือกที่ทุกคนยอมรับว่าปลอดภัยต่อการดำรงชีวิตประจำวัน



หมายเลขบันทึก: 646708เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2018 18:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2018 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท