นกในนา"นกยางกรอก"


ช่วงหมดหนาวหรือเข้าร้อนเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ นกยางกรอกทั้งสามชนิดจะเปลี่ยนสีเพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม จากสีและลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก จนยากจะบอกว่าเป็นชนิดใด ก็พอจะแยกแยะความแตกต่างของแต่ละชนิดได้บ้าง

ช่วงเที่ยงกว่าแม้จะเป็นใต้ต้นไม้ แต่นอกร่มเงายังเป็นแดดจัดจ้านของฤดูร้อนอยู่ดี ตั้งแต่ขับรถออกไปกินข้าวแล้ว ที่เล็งฝูงนกนานาพันธุ์ในท้องนา ชาวนาเพิ่งไขน้ำเข้าหลังจากไถดะทิ้งไว้ก่อนหน้า เพื่อเตรียมปลูกข้าวอีกรอบ นกต่างๆจึงลงมารุมจับกุ้งปูปลาเล็กๆกินเป็นอาหาร เห็นอาการพวกมันอดทึ่งไม่ได้ ท่ามกลางไอแดดเต้นระยิบ เราเองยังต้องหยีตาหลบ แต่ความแรงของแดดขนาดนี้ไม่สามารถทำอะไรมันได้เลย พวกมันยังคงยืนสงบนิ่งจ้องเล็งเหยื่ออยู่อย่างนั้น อย่างเก่งก็แค่เดินเหินเปลี่ยนที่เปลี่ยนทางหาตำแหน่งใหม่บ้างเท่านั้น

เลนส์ 70-300 mm.ที่ใช้ เป็นเลนส์ที่ตัวเองตั้งใจซื้อมาถ่ายนกด้วยความไม่รู้ เห็นภาพนกสวยๆที่ตากล้องมืออาชีพถ่ายในเว็บไซต์หรือตามนิตยสารต่างๆ ก็หวังจะถ่ายได้อย่างนั้นบ้าง เลนส์ถ่ายภาพระยะไกลหรือเลนส์ซูมทางยาวโฟกัสขนาดนี้คงใช้ได้ นกตามยอดไม้หรือบนสายไฟเสร็จเราแน่(ฮา) ก่อนที่จะซื้อเลนส์นี้มาใช้ คิดและรู้อยู่แค่นี้ พอใช้จริงจึงกระจ่างที่เราว่ามีทางยาวโฟกัสมากแล้วนั้น ก็ยังไม่พอที่จะทำให้ได้อากัปกิริยานกใกล้ๆอย่างที่มุ่งหวัง เคยถ่ายนกได้ขนาดใหญ่ๆสวยๆอยู่ที ก็เป็นนกกระจิบกระจอกที่หน้าระเบียงอาคารเรียน ซึ่งคุ้นเคยกับคนมาก(ฮา)

กลับมาจากกินข้าว จึงทำตัวเหมือนช่างภาพถ่ายสารคดีสัตว์ในทีวี ข้างรั้วลวดหนามข้างบ้านเป็นบริเวณซุ่มแอบถ่ายนก แค่ย่องขยับเข้าไปใกล้รั้วเท่านั้น ฝูงนกก็ส่งสัญญาณบอกกันพร้อมกระพือปีกโผบินขยับหนีไปให้ไกลจากเรา “เราถอยเค้ากล้าขยับเข้ามาใกล้ พอเราขยับเข้าไปใหม่เค้าก็บินหนีอีก” ภาพที่ได้จึงเป็นภาพในระยะไกล ซึ่งเกินความสามารถของเลนส์อีกเช่นเคย “คิดดูฝูงนกนี่ก็แปลก ทีขับรถบนถนนผ่านใกล้ๆ ไม่เห็นจะตกใจตื่นหนีอย่างนี้”

นกส่วนมากที่จับกุ้งปูปลาเล็กๆหรือหอยในนาข้าวกิน มักจะมีคอและขาที่ยาว หลังได้ภาพนก จึงค้นหาชนิดและชื่อในเว็บไซต์ด้วยการนำภาพไปเปรียบเทียบ ที่รู้จักก่อนแล้วเป็นนกปากห่าง ขนาดจะใหญ่สุด ลำตัวมีสีเทาและสีดำ แต่ก่อนอพยพหนีหนาวมาตามฤดูกาล สมัยเป็นเด็กใครอยากเห็นต้องเดินทางไปดูที่วัดไผ่โรงวัว จ.สุพรรณบุรี แต่เดี๋ยวนี้คงติดใจความอุดมสมบูรณ์และสภาพอากาศบ้านเรา จึงไม่ยอมกลับไปอยู่บ้านตัวเอง ทำให้พบเห็นนกชนิดนี้ได้ทั่วไป

นกกระยางสีขาวมีขนาดใหญ่รองลงมา ช่วงนาข้าวสีเขียวมันจะสง่างามมาก จากการตัดกันของลำตัวสีขาวกับความเขียวขจีของท้องนา นกอีกชนิดที่รู้จักมาก่อนเป็นกระแตแต้แว้ด ขนาดตัวจะเล็กสุด ลำตัวมีสีเทา ดำ และขาว ใบหน้าคล้ายคาดด้วยแถบสีแดง เสียงร้องเป็นเอกลักษณ์มาก “แต๊ด แต๊ด แต้ แว้ด ๆ” รู้จักนกชนิดนี้ดี เพราะที่นอนของมันเป็นพื้นดินใต้ร่มพะยูง ซึ่งเจ้าขนุนและมะขามเห็นเป็นไม่ได้ ต้องวิ่งไล่กันสนุกสนาน

ความรู้ใหม่เรื่องชื่อและชนิดจากการถ่ายภาพวันนี้เป็นนกยางกรอก ซึ่งปกติมีอยู่ถึง 3 ชนิด ได้แก่ นกยางกรอกพันธุ์อินเดีย นกยางกรอกพันธุ์ชวา และนกยางกรอกพันธุ์จีน เทียบกับภาพในเว็บไซต์ทีแรกเข้าใจว่าตัวที่ถ่ายมาและสวยที่สุด หัวมีสีน้ำตาล ลำตัวมีสีเทาและสีขาว ขนาดเล็กกว่านกกระยางแต่ใหญ่กว่ากระแตแต้แว้ด คอไม่ยาวนัก เป็นนกยางกรอกพันธุ์ชวา อีกตัวหนึ่งที่ขนาดและลักษณะใกล้เคียงกัน แต่แตกต่างที่สีอย่างชัดเจน ส่วนหัวและคอเป็นลายสีน้ำตาลขาว ตัวหลังน่าจะเป็นนกยางกรอกพันธุ์จีน

แต่พออ่านข้อมูลรายละเอียดมากขึ้น ตัวที่สีสันสวยสุด ซึ่งเข้าใจแต่แรกว่าเป็นนกยางกรอกพันธุ์ชวานั้น น่าจะไม่ถูกต้องเสียแล้ว ผู้เชี่ยวชาญในโลกออนไลน์ให้ความรู้ไว้ว่า ช่วงหมดหนาวหรือเข้าร้อนเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ นกยางกรอกทั้งสามชนิดจะเปลี่ยนสีเพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม จากสีและลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก จนยากจะบอกว่าเป็นชนิดใด ก็พอจะแยกแยะความแตกต่างของแต่ละชนิดได้บ้าง 

ยิ่งเมื่อได้พิจารณาพื้นเพและแหล่งที่พบ นกยางกรอกพันธุ์อินเดียเป็นนกอพยพมาตามฤดูกาล จึงไม่ค่อยพบในประเทศไทย นกยางกรอกพันธุ์ชวาเป็นนกประจำถิ่น พบมากแถบราบลุ่มภาคกลางและชายทะเล นกยางกรอกพันธุ์จีนเดิมเป็นนกอพยพ แต่ระยะหลังอาศัยอยู่ประจำในบ้านเรา จึงพบนกยางกรอกพันธุ์จีนได้ทั่วๆไปในทุกถิ่นที่ บางคนจึงเปรียบเปรยพันธุ์จีนว่าเป็นพันธุ์โหลที่สุดในสามชนิด 

ดังนั้นที่เข้าใจว่าตัวสีสวยเป็นนกยางกรอกพันธุ์ชวา จึงน่าจะเป็นนกยางกรอกพันธุ์จีนเสียมากกว่า ตัวที่หัวคอลายกับตัวที่สีสันสวยงามน่าจะเป็นชนิดเดียวกัน ตัวหนึ่งยังไม่เข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ ตัวหนึ่งเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์แล้ว 

ถูกหรือผิดต้องตรวจสอบสมติฐานก่อน(ฮา) เพลินดีเหมือนกัน ความรู้เรื่องนกในนาข้างๆบ้าน

หมายเลขบันทึก: 646415เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2018 20:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2018 09:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านเพลินเชียวค่ะ  ปกติแถวบ้านมีแต่จิ้งจกเอย  ตุ๊กแกเอย  กิ้งก่าเอยที่เปลี่ยนสี  ที่ทำงานก็มีคนบ้างที่สี ...

ขอบคุณความพยายามของอาจารย์นะคะ   ที่ให้ความรู้ใหม่  นกก็สีเปลี่ยนได้

นึกถึงนกรอบบ้านที่เป็นแรงบันดาลใจให้หนูซื้อกล้องเลยละค่ะ  ถ่ายได้เห็นตัว คือ นกกะปูด  นกเอี้ยง  นกเขาใหญ่  คร้า ๕ ๕ ๕

เคยฟลุ้กถ่ายผ่านกระจกหน้าต่างที่ปิดออกไป  ได้นกกินปลีอกเหลือง  ตัวนิดนึง  ดีใจสุด ๆ แทบนอนไม่หลับค่ะ  ^_,^

  • อาการคล้ายกันเลยในเรื่องถ่ายนก ได้สวยๆมาสักภาพดีใจจนเนื้อเต้นเช่นกันครับ(ฮา)
  • ขอบคุณทพญ.ธิรัมภามากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท