ชีวิตพอดี@เลย (วันที่สาม:ตอนที่ 1 เชียงคาน)


♡♡เที่ยวเมืองเลย"ชีวิตพอดี@เลย" 

17-21. มีนาคม 2561. ไปเที่ยวเมืองเลยกับเพื่อน สว.ค่ะ นำโดยท่านผอ.จันทร พลสิงห์ โดยฤทัยรัตน์ทัวร์ มีคุณทัยเป็นผู้นำทัวร์ คณะของเรามีสมาชิก สว. จำนวน  9  คน ท่านผอ.จันทร-อาจารย์ชนิดา  พลสิงห์    อาจารย์จิตวัต-อาจารย์กัลยา ธนอัญญาพร   อาจารย์ศิริพร ใยทองคำ  อาจารย์พรรณี  อฆรรยกุล    คุณกมลทิพย์  ทิพย์กรรณ     อาจารย์สุทัศน์-อาจารย์สคราญ  วิเศษสมบัติ(ผู้เขียนบันทึกนี้)

อรุณสวัสดิ์เช้าวันจันทร์ที่ 19. มีนาคม. 2561 ตื่นตั้งแต่ 3 นาฬิกา ทำภารกิจส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว ลงมาพร้อมกันที่ลอบบี้เพื่อออกเดินทางไปภูทอก ประมาณ 04.30 น. ออกเดินทางเพื่อไปชมพระอาทิตย์ขึ้นเมื่อ.ที่ภูทอก   ภูทอก จุดชมวิวทะเลหมอกที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ที่มาเที่ยวเชียงคาน มีลักษณะเป็นภูเขาสูง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง บนยอดภูเป็นที่ตั้งของสถานีโทรคมนาคมเชียงคาน และเป็นจุดชมวิวทิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ของอำเภอเชียงคาน และลำน้ำโขงได้โดยรอบ  ตั้งอยู่บนถนนสายเดียวกันกับแก่งคุดคู้ซึ่งห่างจาก ตัวอำเภอ เชียงคานประมาณ 3 กิโลเมตร ใครที่ได้แวะมาเที่ยวเชียงคาน ไม่ควรพลาดการไปชมทะเลหมอกในยามเช้าที่นี่  นอกจากนี้ภูทอกยังเป็นจุดชมวิวชมความงามของแม่น้ำโขง เมืองสานะคาม และแก่งคุดคู้ได้อย่างชัดเจน ส่วนทะเลหมอกนั้นจะเจอมากน้อยหรืออาจจะไม่เจอเลย ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละวัน  การเดินทางจากตลาดเชียงคานใช้ทางหลวงหมายเลข 211 ไปทาง อ.ปากชม เมื่อผ่านทางแยกเข้าแก่งคุดคู้ไปไม่ไกล จะพบทางแยกขวามือปากทางมีป้ายสถานีโทรคมนาคม เชียงคาน สู่เส้นทางขึ้นยอดภูทอก โดยต้องจอดรถไว้ที่ปากทางขึ้นภูทอก และให้ใช้บริการรถสาธารณะที่ทางอำเภอเชียงคานได้จัดไว้ ค่าโดยสารประมาณคนละ 25 บาท   ประมาณ 06.35 น. ได้ชมพระอาทิตย์ขึ้นสวยงามพร้อมกับบรรยากาศสบาย ๆ สดชื่นในยามเช้า

อิ่มเอมกับได้ชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ ภูทอกแล้ว เดินทางกลับเชียงคานเพื่อทานอาหารเช้า ประมาณ 07.30 น.  มื้อเซ้าที่ริมโขง. บรรยากาศ happy ..happy ♡♡ ชมอาทิตย์ขึ้นที่ริมโขงระหว่างรออาหารเช้าค่ะ

อาหารเช้ามาแล้ว กาแฟ  ไข่กะทะและโจ๊ก กับบรรยากาศยามเช้าที่ริมโขง อาหารแกล้มบรรยากาศ ช่างชื่นมื่นจะหาบรรยากาศที่ไหนที่เป็นอย่างนี้ได้บ้าง

♡♡ หลังอาหารเช้า เก็บบรรยากาศสวยๆใน ~น้ำโขงธารารีสอร์ท เพราะเมื่อคืนเข้าที่พักดึกแล้ว ก่อนเดินทางไป #แก่งคุดคู้  

สายๆ มาถึง #แก่งคุดคู้ .. เมื่อประมาณ 09.00 น.  แก่งคุดคู้เป็นแก่งหินใหญ่ขวางอยู่กลางลำน้ำโขง ห่างจากตัวอำเภอเชียงคานประมาณ 3 กม. ประกอบด้วย หินก้อนใหญ่ ๆ เป็นจำนวนมากจากการที่หินเหล่านี้อยู่ใต้น้ำเป็นเวลานาน....... 

ออกจากแก่งคุดคู้ ประมาณ 10.00 น. แวะเยี่ยมชม #บ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำนาป่าหนาด 
>> ได้เห็นชาวบ้านไทดำ  >> กล้วยแปลกๆ #แม่ฮางตบอึก

บ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ บ้านนาป่าหนาด อำเภอเชียงคาน

            บ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ บ้านนาป่าหนาด ตั้งอยู่ที่ ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ชาวบ้านนาป่าหนาดเป็นคนเชื้อสายไทดำ หรือไทชงดำ หรือไทโซ่ง ชาวไทดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้เข้ามาเพิ่มเติมสีสันให้แก่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย นับแต่อดีตมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 5 ในสมัยที่ไทยทำสงครามปราบฮ่อในดินแดนเชียงขวางและสิบสองจุไท ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และประเทศเวียดนาม ชาวไทดำบ้านนาป่าหนาดถูกอพยพโยกย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยกองทัพสยามตั้งแต่ครั้งนั้น ชาวไทดำมีรากฐานวัฒนธรรมเริ่มต้นที่แคว้นสิบสองจุไท หรือสิบสองเจ้าไท อันหมายถึง เมือง 12 เมืองของชาวไท มีทั้งชาวไทดำ ไทขาว ไทเหลือง และไทแดง แคว้นสิบสองจุไทในอดีตตั้งอยู่ในประเทศลาว บริเวณแขวงหัวพัน พงสาลี และเชียงขวาง อีกทั้งยังมีหลายเมืองที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม เมืองเดียนเบียนฟู และอีกหลายๆ เมืองในย่านนั้น

            แคว้นสิบสองจุไทเป็นแคว้นที่เป็นเมืองสามฝ่ายฟ้า คือรอบด้าน 3 ด้าน ล้วนเป็นเมืองที่กล้าแข็งกว่า ทั้งฝ่ายเวียดนาม ฝ่ายสยาม และฝ่ายล้านช้าง ดังนั้นการดำรงคงอยู่ของเมืองจึงขึ้นอยู่กับการยินยอมส่งส่วยให้กับเมืองใหญ่เหล่านั้น ในสมัยกรุงธนบุรี ฝ่ายสยามกำลังกล้าแข็ง รบกับลาวได้รับชัยชนะ พอดีกับฝ่ายเวียดนามกำลังประสบปัญหาภายใน กองทัพสยามจึงสามารถบุกเข้าไปถึงสิบสองจุไท และได้กวาดต้อนครัวชาวไทดำเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรสยามในพื้นที่หลายๆ แห่ง เช่น เขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี และบ้านนาป่าหนาด อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย แห่งนี้ และในปัจจุบันชาวไทดำบ้านนาป่าหนาดอยู่อาศัยในเมืองไทยมาแล้วนับร้อยปี หนุ่มสาวชาวไทดำในวันนี้กลายเป็นคนรุ่นที่ 4 ที่ได้กลายเป็นคนไทยไปแล้วโดยสมบูรณ์

            ในชุมชนไทดำบ้านนาป่าหนาดยังคงรักษาหลายสิ่งหลายอย่างเอาไว้ได้ เช่น การทอผ้าสวยงามลักษณะต่างๆ ผ้าเปียวหรือผ้าสไบใช้ในการทำภารกิจหลากหลาย ผ้าซิ่น ผ้านุ่งลวดลายของชาวไทดำ ตุ้มนก ตุ้มหนู บ้านอนุรักษ์ทรงไทดำ เครื่องประดับประกอบพิธีกรรมซึ่งสามารถเอาไปทำเป็นโมบายประดับตกแต่งได้หลากหลาย พิธีกรรมต่างๆ ก็ยังคงพยายามรักษาเอาไว้ และสิ่งที่น่าชื่นชมอีกอย่างหนึ่ง ก็คือแซปาง คือการละเล่นสนุกสนานของขาวไทดำที่ในประเทศไทยมีอยู่ในพื้นที่นี้แห่งเดียวเท่านั้น

            หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำบ้านนาป่าหนาด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2539 โดย อาจารย์เพชรตะบอง ร่วมกับชาวบ้าน บ้านนาป่าหนาดในการจัดสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งที่เผยแพร่ข้อมูลด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตรวมทั้งประวัติ ความเป็นมาของชนชาวไทดำ บ้านนาป่าหนาด และเนื่องจากมีผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับบ้านนาป่าหนาดเป็นจำนวนมาก อาทิ ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านประเพณีวัฒรธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่อาจมาเป็นการส่วนตัว หรือหมู่คณะแบบเป็นทางการ ก็มีบางครั้งพักอยู่ในหมู่บ้านเป็นเวลานาน มีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำบ้านนาป่าหนาดเป็นหมู่บ้านที่มีลักษณะเป็นหมู่บ้านสาธิตความเป็นไทดำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม หรือการ ดำเนินชีวิตต่างๆ ของชาวไทดำให้ผู้ที่เข้าเยี่ยมชมได้เห็นภาพจริง

ปฐม หงษ์สุวรรณ. (2560). ประเพณีผีขนน้ำ หนังสือชุดความรู้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนลุ่มน้ำโขง. ขอนแก่น : โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.

ที่นี่มีมหาวิทยาลัยราชภัฎเลย มาร่วมงานวิจัยอนุรักษ์วัฒนธรรมเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของชนเผ่าไทดำ มีการละเล่นและแสดงดนตรีพื้นบ้านร่วมกับผู้มาเยี่ยมชม 

ออกจากที่นี่เมื่อประมาณ 11.30 น. จดหมายไปทานอาหารกลางวันและชมบรรยากาศอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหมานเพื่อรับประทานอาหารบนแพไม้ไผ่.....ตามมาค่ะไปทานข้าวเคล้าบรรยากาศด้วยกัน 


หมายเลขบันทึก: 646066เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2018 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2018 21:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท