ตอนที่ 1 การวิจารณ์เรื่องความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (GATS) เกี่ยวกับธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย


GATS คือการค้าบริการระหว่างประเทศมีการขยายตัวภายใต้เงื่อนไขของความโปร่งใสและเป็นการเปิดเสรีแบบก้าวหน้าเป็นลำดับ

             ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการคือ กฎเกณฑ์ที่ใช้กำกับดูแลการค้าบริการระหว่างประเทศสมาชิก WTO โดยเริ่มมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2538  และ GATS มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การค้าบริการระหว่างประเทศมีการขยายตัวภายใต้เงื่อนไขของความโปร่งใสและการเปิดเสรีแบบก้าวหน้าเป็นลำดับ โดยขอบเขตของ GATS จะกำหนดหลักการให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกถือปฏิบัติและกำหนดให้มีการเจรจายื่นข้อเสนอการเปิดตลาดระหว่างกัน          

              ในการเจรจาการค้ารอบอุรุกวัยนอกจากมีการสร้างความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ การสร้างคำจำกัดความของการค้าบริการ และขอบเขตของการค้าบริการไว้แล้ว  ยังได้กำหนดบัญชี จำแนกประเภทสินค้าและบริการเป็นสาขาต่างๆ ได้ 12  สาขา ดังนี้ 

               1.     สาขาบริการด้านธุรกิจ/วิชาชีพ

               2.     สาขาบริการด้านสื่อสารคมนาคม

               3.     สาขาบริการด้านการก่อสร้างและวิศวกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

               4.     สาขาบริการด้านการจัดจำหน่าย

               5.     สาขาบริการด้านการศึกษา

               6.     สาขาบริการด้านสิ่งแวดล้อม

               7.     สาขาบริการด้านการเงิน

               8.     สาขาบริการด้านสุขภาพและบริการทางสังคม

               9.     สาขาบริการด้านท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง

              10.  สาขาบริการด้านนันทนาการ วัฒนธรรม และการกีฬา

              11. สาขาบริการด้านการขนส่ง

              12. สาขาบริการอื่นๆ

              จะเห็นได้ว่าสาขาของการค้าบริการทั้ง 12  สาขา แทบจะครอบคลุมชีวิตประจำวันของพวกเราแต่จะครอบคลุมมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนมีภารกิจที่จะต้องเกี่ยวพันกับการค้าบริการด้านไหน ซึ่งการค้าบริการในแต่ละสาขาก็มีความสำคัญแตกต่างกันไป แต่ผู้เขียนขอเลือกวิจารณ์การค้าบริการในสาขาบริการด้านการเงินในส่วนของการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เพราะธนาคารพาณิชย์เป็นสถาบันการเงินที่มีความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทางแนวนโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจให้มีการเจริญเติบโตแบบมั่นคงและมีเสถียรภาพ ผู้เขียนขอวิจารณ์โดยจำแนกเป็นเรื่องๆ ดังนี้ 

 การปรับตัวของธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง 

               จากการที่ประเทศไทยเปิดเสรีการค้าด้านบริการกับต่างประเทศ ประเทศไทยต้องมีการปรับตัวทางธุรกิจการเงินเพื่อรองรับนโยบายเสรีทางการเงินโดยมีการปรับตัวทางด้านประสิทธิภาพของคนและขององค์การให้มีความสากลเพื่อให้แข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ของต่างประเทศได้ ผู้เขียนเห็นว่าการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ในเรื่องนี้เป็นผลดีกับคนไทยที่จะได้รับการบริการที่ดีเพราะทั้งธนาคารพาณิชย์ไทยและธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยต้องมีการแข่งขันกันให้บริการเพื่อรักษาฐานลูกค้าของธนาคาร ผลดีจึงตกเป็นของผู้รับบริการที่ได้รับการบริการที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน

               แต่การเปิดเสรีทางการเงินตามพันธกรณีใน GATS นั้น ประเทศไทยมิได้เปิดเสรีทั้งหมด เพราะเรื่องของธนาคารพาณิชย์เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศเช่นกัน ประเทศไทยจึงได้ขอสงวนในหลักการเรื่อง การเปิดตลาดโดยจำกัดการเข้าสู่ตลาด (Market  Access) และการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ(National Treatment) โดยทำเป็นข้อยกเว้นไว้ในภาคผนวกว่าด้วยการบริการการเงิน เนื่องจากสาขาบริการการเงินมีความเฉพาะในตัวเองทำให้ไม่สามารถนำหลักการทั่วไปใน GATS  มาใช้ได้ทั้งหมดนอกจากนี้ประเทศไทยยังได้อ้างหลักมาตรการกำกับควบคุมเพื่อความมั่นคงต่อประเทศภาคีอื่น(Prodential reasons) เพื่อเป็นการคัดเลือกองค์กรธุรกิจที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยและยังเป็นการพิจารณาอำนาจและฐานะการเงินขององค์กรเหล่านั้นที่จะมาเปิดสถานทำการในประเทศไทยว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายและกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทยมากน้อยเพียงใด 

การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย

               ปัจจุบันหน่วยงานที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังโดยอำนาจในการกำกับดูแลว่าเป็นของหน่วยงานใดขึ้นอยู่กับว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องอะไร ตัวอย่างเช่น การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ เป็นอำนาจของกระทรวงการคลังในการพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบกิจการในประเทศไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้อนุญาตตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 เนื่องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ส่วนการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์จะเป็นอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทยในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินกิจการต่างๆ เช่น การดำรงเงินกองทุนไม่ต่ำกว่าอัตราส่วนกับสินทรัพย์แต่ละประเภทตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เป็นต้น

               สำหรับพระราชบัญญัติที่สำคัญที่ใช้ในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์คือ พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ.2522 พ.ศ.2528 และพ.ศ.2535  นอกจากพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวก็ยังมีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับสถาบันการเงินที่สำคัญอีกหลายฉบับ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าหากมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจทางการเงินเพื่อให้สอดรับกับพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ไปให้สัตยาบันเพื่อรับรองความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ(GATS) เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2537

               ประเทศไทยโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางการเงินต้องศึกษาผลดีและผลเสียในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดรับกับพันธกรณีดังกล่าวโดยประเทศไทยควรจะได้รับประโยชน์สูงสุดในการเปิดเสรีทางการเงิน ผู้เขียนได้ทำการศึกษาและเปรียบเทียบพระราชบัญญัติเกี่ยวกับสถาบันการเงินจนเห็นว่ามีพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา และประกาศที่เกี่ยวกับสถาบันการเงินจำนวนมาก ซึ่งบางฉบับเก่าแก่มากแต่ยังมีผลบังคับใช้ เช่นพระราชบัญญัติควบคุมกิจการธนาคารในภาวะฉุกเฉิน พุทธศักราช 2484 เป็นต้น ดังนั้นการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายจึงต้องใช้บุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องธุรกิจสถาบันการเงินอย่างถ่องแท้จริงๆ 

การจำกัดการถือครองหุ้นของคนต่างชาติ                   

               เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คนต่างด้าวเข้ามาครอบงำในธุรกิจทางการเงิน ประเทศไทยมีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 (พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2521) เป็นตัวควบคุมในปี พ.ศ.2515  แต่ผลของกรอบความตกลง GATS ไม่มีผลกระทบต่อ ปว.281 เนื่องจากธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ไม่จัดอยู่ในธุรกิจท้าย ปว.281 แต่สำหรับธุรกิจการธนาคารพาณิชย์บางประเภทกิจการที่ได้เพิ่มเติมหรือได้รับการขยายขอบเขตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถกระทำได้อาจจัดว่าอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายนี้ แต่ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาใช้บังคับ การจำกัดการถือครองหุ้นของคนต่างชาติผู้เขียนมีความเห็นว่ามีทั้งผลดีและผลเสียต่อประเทศไทยคือ

              ผลดีของการจำกัดการถือครองหุ้นของคนต่างชาติ คือ

              เป็นการป้องกันไม่ให้คนต่างชาติเข้ามาครอบงำกิจการธนาคารพาณิชย์ของไทยเพราะการทำธุรกรรมทางการเงินมีความเกี่ยวพันกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศเช่นกัน เนื่องจากหน้าที่สำคัญของธนาคารส่วนหนึ่งคือ การจัดหาเงินลงทุนโดยการระดมเงินออมจากประชาชนเพื่อมาให้ผู้ประกอบการลงทุนกู้เงินไปเพื่อลงทุนในกิจการต่างๆ ภายในประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 64527เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2006 22:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 13:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากค่ะ ได้ความรู้ แต่อยากให้วิจารณ์

เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการขนส่งต่อหน่อยนะค่ะ

เพราะเกี่ยวกับสาขาที่กำลังศึกษาอยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท