ยลมัณฑะเลย์


 บ่ายวันอาทิตย์ที่ 25. กุมภาพันธ์ 2561 วันนี้พวกเราจะไปยลหมู่บ้านมิงกุน กลับขึ้นฝั่งเดินทางไปมัณฑะเลย์ ถึงมัณฑะเลย์รับประทานอาหารมื้อกลางวันเรียบร้อยแล้ว แวะไปซื้อของฝากที่ร้านมีชื่อไทย ๆ ว่า "ศิริมงคล"

ที่นี่เลือกได้สร้อยข้อมือหยกแล้วยังมีของฝากที่มีชื่อ ได้uv ทานาคา. ชาที่แสนอร่อย. ขนมถั่ว. ตุ๊บตับ. และชมการดูการสาธิตวิธีฝนทานาคา สินค้าที่นี่ราคาไม่แพงค่ะ สร้อยข้อมือหยกเกรด(ไม่ใช่เกรด A) ราคา 1,500 จ๊าด   ชาถุงละ  3,000 จ๊าด ขนม 3 ถุง 1,000 จ๊าด และ uv ทานาคา 2,000 จ๊าด (1,000 จ๊าด= 35 บาท)

13.30 น.ออกจากร้านของฝากไปดูร้านทองคำเปลว. ดูการตีทอง ...กว่าจะได้แผ่นบางๆ..เหนื่อย ชมสินค้าที่มีทองคำเปลวเป็นส่วนประกอบ เหมือนกับเครื่องถมทองบ้านเรา  ร้านนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ทรงเคยไปชมการทำทองที่นี  ดูจากภาพพระบรมฉายาลักษณ์บนฝาผนังค่ะ

พระราชวังมัณฑะเลย์ที่งดงามแห่งนี้ ช่างเต็มไปด้วยความน่าเศร้าสะเทือนใจและสะพรึงกลัวจนได้ชื่อว่าเป็นยุคมิคสัญญีของพม่า... มิเพียงแต่พระราชวังจะมอดไหม้ด้วยไฟสงครามจากต่างชาติไปพร้อมๆ กับการสูญสิ้นเอกราชให้แก่อังกฤษ... แต่ไฟแห่งกิเลส ราคะในใจมนุษย์ได้เผาผลาญและคร่าชีวิตผู้คนมากมายให้ฝังร่างจมอยู่ภายใต้ผืนดินภายในรั้วพระราชวังแห่งนี้...  ตามประวัติ..พระเจ้ามินดงทรงสร้างเมืองมัณฑะเลย์ขึ้นในปี ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400 ตรงกับรัชกาลที่ 4 ของไทย) ตามพุทธทำนายที่เล่าสืบต่อกันมาว่า...ครั้งหนึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาได้เสด็จมายังเขามัณฑะเลย์พร้อมกับพระอานนท์ ทรงพยากรณ์ว่า หลังพุทธปรินิพพาน 2,400 ปี จะมีการสร้างราชธานีขึ้นเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาที่เชิงเขาแห่งนี้ พุทธทำนายปรากฏเป็นจริงในปี 1861 เมื่อพระเจ้ามินดงทรงชิงราชบัลลังก์จากพระเชษฐาต่างพระมารดา พระนามว่าพระเจ้าปะกั่นมิน และโปรดให้ย้ายราชธานีพร้อมราษฎรกว่า 150,000 คน จากเมืองอมรปุระ ไปยังมัณฑะเลย์ซึ่งอยู่ห่างออกไป 20 กิโลเมตร ทรงสร้างพระราชวังที่ประทับขึ้นที่เชิงเขามัณฑะเลย์ และสถาปนาให้เป็น เมืองทอง” แห่งการเผยแพร่พระพุทธศาสนาขึ้น

         หลังสิ้นแผ่นดินพระเจ้ามินดงในปี 1878 พระเจ้าตี่ป่อกับพระนางสุภายาลัดทรงขึ้นครองบัลลังก์ต่อ เมืองมัณฑะเลย์ที่เคยรุ่งเรืองในสมัยพระเจ้ามินดงปกครองต้องประสบกับชะตากรรมอันเศร้าสะเทือนขวัญและถือเป็นมิคสัญญียุคของพม่าโดยแท้ เมื่อสองพระองค์ทรงเข่นฆ่าญาติมิตรมากมายเพื่อป้องกันมิให้ก่อการกบฏ ครั้นยังซ้ำร้ายเกิดโรคระบาด ก็โปรดฯ ให้ประหารข้าราชบริพารและชาวต่างชาติเพื่อบรรเทาเหตุร้ายตามคำแนะนำของบรรดาโหราจารย์ ความอำมหิตของทั้งสองพระองค์ รวมทั้งการที่ทรงโปรดฝรั่งเศสเป็นพิเศษ ทำให้อังกฤษไม่พอใจ จึงยึดผนวกพม่าเข้าเป็นอาณานิคมในปี ค.ศ. 1885 พระเจ้าตี่ป่อและพระนางสุภายาลัดถูกเชิญเสด็จออกนอกประเทศ ไปประทับที่อินเดียจนสิ้นพระชนม์ที่นั่น มัณฑะเลย์ถูกลดฐานะลงเป็นแค่เมืองอาณานิคมที่อังกฤษตั้งชื่อให้ใหม่ว่าฟอร์ตดัฟเฟอริน (แต่ไม่มีใครเรียก)

         ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) พระราชวังหลวงซึ่งสร้างด้วยไม้สักเกือบทั้งหลัง ถูกกองทัพอังกฤษได้ระดมยิงพระนครซึ่งมีทหารญี่ปุ่นกับพม่าคอยต้านรับศึกอยู่เพียงหยิบมือเดียว เมื่อการสู้รบยุติลง พระราชวังทองแห่งนี้กลายเป็นเถ้าถ่าน มีเพียงคูน้ำและกำแพงเมืองที่เหลือรอด แต่ทางการได้สร้างพระราชวังขึ้นมาใหม่เป็นบางส่วนแต่ก็มิได้สวยงามเท่าของเดิม

         ปัจจุบัน มัณฑะเลย์ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีนาฏศิลป์และคีตศิลป์ดีที่สุดในประเทศ และถึงแม้จะไม่ได้เป็น เมืองทองศูนย์กลางแห่งการศึกษาพุทธศาสนาดังที่พระเจ้ามินดงทรงหวังเอาไว้ แต่มัณฑะเลย์เป็นเมืองที่มีวัดวาอารามที่สำคัญที่สุดของพม่าอยู่หลายแห่ง ได้แก่ วัดมหามัยมุณี วัดกุโสดอ เป็นต้น และมีวัดที่มีพระสงฆ์พำนักอยู่มากถึงสองในสามของพระสงฆ์ทั้งประเทศ  พระราชวังมัณฑะเลย์ที่บูรณะขึ้นใหม่ ตั้งอยู่ในเขตป้อมมัณฑะเลย์ของทางกองทัพ ภายในมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงประวัติศาสตร์ของเมืองมัณฑะเลย์ มีสุสานที่ฝังพระศพของพระเจ้ามินดงในเขตพระราชวังด้วย การเข้าชมต้องซื้อบัตรผ่านและต้องได้รับอนุญาตจากทหารก่อน

         ขอขอบคุณข้อมูลบางตอนจากหนังสือ “พม่า” หน้าต่างสู่โลกกว้าง แปลโดย พวงนิล คำปังสุ์ และหนังสือ “60 วัด วัง และสถานที่สำคัญในพม่า โดย ภภพพล จันทร์วัฒนกุล)

ออกจากพระราชวังมัณฑะเลย์แวะชมวัดชเวนันดอร์ ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน 

วิหารชเวนันดอว์ ( Shwenandaw )

วิหารชเวนันดอว์ แต่เดิมคือพระราชมณเฑียรทองในพระราชวังมัณฑะเลย์ เป็นที่นั่งทรงธรรมของพระเจ้ามินดง สร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24-25 ยุคกษัตริย์มินดงแห่งราชวงศ์อลองพญา เมื่อพระเจ้ามินดงสวรรคตแล้วพระเจ้าสีป่อเสด็จขึ้นสืบราชสมบัติแทนแล้วโปรดฯให้ย้ายออกไปสร้างใหม่เป็นเขตสังฆาวาส ณ ด้านนอกพระราชวังในปี 1880  ตามพระประสงค์ของพระเจ้ามินดง และให้เรียกว่า “ วัดชเวนันดอว์ ” หรือ “วัดมณเฑียรทอง ”  ทำให้พระที่นั่งองค์นี้เหลือรอดจากการถูกเพลิงไหม้ในสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากในยุคสงครามทหารข้าศึกจะยึดวัดเป็นที่พักใช้เป็นฐานทัพ พระราชมณเฑียรทองจึงเป็นพระราชวังมัณฑะเลย์แท้ๆเพียงแห่งเดียวที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน  ความโดดเด่นของ “ วัดชเวนันดอว์ ” คือลักษณะทางศิลปกรรมที่ถูกบรรจงสร้างสรรค์ด้วยช่างฝีมือชั้นครูของสกุลช่างอมรปุระ-มัณฑะเลย์ พระตำหนักสร้างจากไม้สักทองทั้งหลังแกะสลักลวดลายอย่างวิจิตรงดงามทั้งภายในและภายนอก หลังคาทรงปราสาท 5 ชั้น การมาชมวิหารชเวนันดอว์นั้นนักท่องเที่ยวจะรู้สึกตื่นตาตื่นใจตั้งแต่ยังไม่ก้าวเข้าไปในวิหาร ด้วยลวดลายสลักไม้อันโดดเด่นตระการตาที่จำหลักอยู่ทุกที่ตั้งแต่บานประตู หน้าต่าง ผนัง เพดาน แม้กระทั่งเสา เรียกได้ว่าแทบไม่มีพื้นที่ราบเรียบให้เห็น และเนื่องจากรัชสมัยพระเจ้ามิน ดงเป็นช่วงที่อิทธิพลตะวันตกได้เข้ามามีบทบาทมากในศิลปะพม่า ทำให้เกิดการนำเอาลายอะแคนธัส หรือใบผักกาดฝรั่งมาประยุกต์ใช้ผสมผสานเข้ากับภาพสลักเรื่องเล่าชาดกได้อย่างกลมกลืน

17.00 น.เปลี่ยนรถขึ้นเขาเป็นรถสองแถวเล็กเพื่อไปชมวิวภูเขามัณฑะเลย์ระหว่างทางขึ้นเขามัณฑะเลย์ แวะไหว้พระวัดพุทธชื่อ"วัดกุสินารา" ที่คนจากเมืองไทยมาสร้าง เขาสวดอิติปิโส. เป็นภาษาไทย  ไหว้พระแล้วเดินทางขึ้นเขาต่อ.

วัดกุสินารา

วัดกุสินารา ด้านในมีพระพุทธรูปปางปรินิพพานภายในวัดสวยงาม มีการจำลองผนังเป็นป่าสาละ มีดอกสาระเบ่งบานคล้ายตอนที่พระพุทธเจ้ากำลังจะปรินิพพาน

ออกจากที่นี่กลับขึ้นรถสองแถวเพื่อขึ้นเขามัณฑะเลย์  ไปชมตะวันชิงพลบที่นั่นกันค่ะ.....ตามเรามา.,,,,


      

หมายเลขบันทึก: 645225เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2018 13:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2018 14:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท