Narrative note จากการศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดี


11 ก.พ. 2561

          วันนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ได้ไปศึกษาดูงานนอกสถานที่ ครั้งนี้ได้ไปที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ถามว่าตื่นเต้นไหม ก็ยังมีอาการตื่นเต้นอยู่บ้างแต่ไม่เท่าครั้งแรก สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากครั้งแรก คือ การที่เราแต่ละคนต้องประกบตัวต่อตัวกับพี่OT และระหว่างดูเคสอาจารย์ก็ไม่ให้จดบันทึกข้อมูล แต่เปลี่ยนเป็นให้เราตั้งใจสังเกตุการทำงานของพี่OT รวมถึงสีหน้า ท่าทาง คำพูด ของคนไข้และญาติ เพื่อฝึกให้เราวิเคราะห์และหาสาเหตุจากข้อมูลที่คนไข้ให้ ณ เวลานั้นให้ได้มากที่สุด

          ที่นี่ได้มีการแบ่งฝ่ายOTเป็น 4 ฝ่าย คือ ทั่วไป กระตุ้นกลืน มือ และการฟื้นฟู แต่ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ Stroke และ Swallowing นอกจากนี้ยังมีการขึ้นราวด์วอร์ดไปดูคนไข้บนตึกอีกด้วย ตรงส่วนทั่วไปจะมีการคัดกรองคนไข้ เพื่อจะได้ส่งไปรักษาได้ถูกต้องตามอาการ กระตุ้นกลืนก็จะมีการฝึกให้คนไข้กลืนอาหารเองโดยไม่ใช้ NG Tube มือก็จะมีให้คนไข้ฝึกHand Function ต่างๆ เช่น Motor Control , Fine Motor , Gross Motor เป็นต้น การฟื้นฟูส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยในที่ตัวเขาเองพร้อมที่จะรับการฝึก และญาติให้ความช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ เมื่อเขาสามารถทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ เมื่อนั้นก็จะเป็นการสิ้นสุดกระบวนการรักษา และพร้อมที่จะD/Cคนไข้

          การไปราวด์วอร์ดทำให้เห็นถึงความแตกต่างของคนไข้ระหว่าง 2 ที่ได้เป็นอย่างดี อย่างคนไข้ที่แผนกฟื้นฟูอาการของโรคคงที่แล้ว และสภาพจิตใจของคนไข้ก็พร้อมที่จะรับการฝึก แพทย์จึงส่งมายังแผนกฟื้นฟู แต่คนไข้บนวอร์ดอาการของโรคยังไม่คงที่ สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และสภาพจิตใจของคนไข้ก็ไม่พร้อมที่จะรับการฝึก ถึงแม้ว่าญาติจะให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทำให้การทำกิจกรรมการรักษาดำเนินไปได้ยากกว่าแผนกฟื้นฟู

          นอกจากนี้เรายังได้เห็นการทำงานร่วมกันของวิชาชีพทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด ในการวางแผนการรักษาคนไข้นอกจากจะมีทีมแพทย์แล้ว ก็ยังมีการถามความคิดเห็นของคนไข้และญาติ ว่าเป้าหมายของเขาคืออะไร เพื่อให้เป็นไปตามที่เขาต้องการมากที่สุด

          การมาดูงานครั้งนี้ทำให้เห็นบทบาทของOTมากขึ้น พี่ๆOTที่นี่ทำให้เห็นว่า เราสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้นเยอะ ในการรักษาคนไข้ถ้าเราเจอวิธีที่น่าสนใจ เราสามารถเสนอแนะข้อมูลแก่แพทย์ได้ เพื่อการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้ 

" เราต้องรู้ตัวโรคของคนไข้ เพื่อจะได้จัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับคนไข้ "

" ในการวิเคราะห์กิจกรรม เราต้องรู้ว่าทำไปทำไมและเพื่ออะไร "

" ความถี่ในการทำกิจกรรมใน 1 วัน ไม่มีผลเท่ากับการทำวันละครั้งแต่ทำทุกวัน "

นศ.ก.บ.หทัยชนก์

คำสำคัญ (Tags): #กิจกรรมบำบัด#ot
หมายเลขบันทึก: 644936เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2018 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2018 23:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท