เรียนรู้จากเวทีถอดบทเรียน ศตจ.สมุทรสงคราม


     ในครั้งแรกดิฉันคิดว่า การเข้าร่วมเวทีถอดบทเรียน ๖ เดือน ของโครงการ ศตจ.สมุทรสงคราม (วันที่ ๑๙-๒๐ ก.ย.๔๘ ณ ณ ห้องประชุมศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จ.สมุทรสงคราม) จะทำให้ดิฉันสะสมชั่วโมงบินได้มากขึ้นอีก ซึ่งคิดว่ากระบวนการนั้น น่าจะเหมือนกันกับที่ ศตจ.อุทัยธานี จัดตลาดนัดในครั้งทีผ่านมา แต่เมื่อเข้ามาแล้ว มีความแตกต่างกันมากพอสมควร เริ่มตั้งแต่สถานที่ในการจัด คนที่เข้าร่วม ถึงแม้ว่าในครั้งแรกคิดว่าไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการจัดกระบวนการแบบนี้มากนัก แต่หลังจากเข้าร่วมซักพักหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ทุกองค์ประกอบล้วนมีความสำคัญต่อการทำงานทั้งสิ้น เพราะในการจัดกระบวนการกลุ่มย่อยแบบนี้ หากมีคนที่พูดมากกว่าคนอื่น คิดว่าตัวเองรู้มากกว่าคนอื่น ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นคนอื่น ตัดสินคำพูดของคนอื่นด้วยความรู้และประสบการณ์เดิมของตนเอง โดยไม่มีการรับรู้ถึงความรู้สึกของคนอื่นแล้วนั้น เป็นเหมือนการครอบงำความคิด ความรู้ ความสามารถของคนอื่น ด้วยอำนาจหน้าที่ หรือตำแหน่งที่ตนเองมีอยู่ โดยไม่คำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วม เป้าหมายหรือธงที่ตั้งไว้ รวมไปถึงกระบวนการฝึกอบรม การลดความเป็นตัวตนของตนเอง พลังกลุ่ม หรือแม้แต่การฟังอย่างลึกซึ้ง พอมีสถานการณ์เข้ามาบีบบังคับแล้ว จึงทำให้คนเหล่านี้ แสดงความเป็นตัวตนของตนออกมาอย่างรวดเร็วและโจ่งแจ้ง 

     ถึงแม้ว่าการเข้าร่วมครั้งนี้ ดิฉันจะไม่ได้มีบทบาทหน้าที่มากนัก ซึ่งอาจเป็นเพราะถูกกดทับจากคนบางคน ทั้งที่ในขณะที่เข้าร่วมกับกลุ่มย่อยนั้น ได้ทำหน้าที่เหมือนกับคุณอำนวย แต่ในกลุ่มนั้นไม่มีความเข้าใจต่อบทบาทหน้าที่ของตนเอง และไม่มีความชัดเจนในธงหรือเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน จึงทำให้คำตอบที่ออกมานั้นไม่ตรงกับเป้าหมายที่วางไว้ ในขณะที่การดำเนินกลุ่มย่อยเป็นไปนั้น หากคนในกลุ่มไม่เข้าใจ และไม่ให้ความร่วมมือแล้วก็ไม่สามารถที่จะดำเนินกระบวนการไปได้ตามความต้องการของเป้าหมายที่ว่างไว้

     การตั้งประเด็นคำถามเพื่อที่จะตอบต่อวงใหญ่ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อวงย่อย เพราะวงใหญ่ไม่รู้ในเรื่องที่วงย่อยคุยกัน แต่พอดิฉันได้มีโอกาสถาม ซักเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่น่าจะนำเสนอต่อวงใหญ่หรือคนทั่วไปที่ไม่มีส่วนในการพูดคุยสนทนา ก็จะมีคนที่ถามว่ารู้ไหม เข้าใจหรือไม่ เป็นแบบนี้นะ ซึ่งเป็นคำพูดที่แสดงถึงว่าคนถามนั้นไม่มีความรู้หรือไง รวมไปถึงผู้เข้าร่วมในกลุ่มที่ไม่กล้าที่จะนำเสนอด้วย เพราะกลัวว่าจะไม่ดี จะผิด นำเสนอแล้วต้องถามว่าใช่ไหม ถูกไหม ทั้งๆ ที่ประสบการณ์ที่ร่วมกันถ่ายทอดนั้นไม่มีอะไรผิด แต่ก็กลายเป็นว่าสิ่งที่เขาพูดต้องมีคนคอยตรวจเช็คอยู่ตลอดเวลา

     เวทีถอดความรู้ น่าจะเป็นการนำประสบการณ์ของแต่ละคนมาพูดคุยและสรุปหาข้อดี ข้อด้อยกันให้ได้ ไม่ใช่ว่าเป็นการกุมสภาพโดยคนๆ เดียว

     ความรู้สึกโดยรวม ก็ยังถือว่าดิฉันนั้นได้ทั้งในเรื่องของประสบการณ์ ความรู้ เป็นเสมือนได้พบเจอสิ่งใหม่ๆ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เพื่อนำมาปรับใช้ในพื้นที่ เป็นเหมือนการฝึกฝนตนเองไปในตัว เพราะการทำงานในพื้นที่ของตนเองนั้น ต้องพบเจอกับคนมากหน้าหลายตา แถมยังต้องพบเจอกับคนที่มียศ ตำแหน่ง เป็นผู้นำ เพราะคนเหล่านี้มีความเป็นตัวตนสูงอยู่แล้ว ดังนั้น การที่เราควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก ระหว่างการเข้าร่วมกับคนที่เราไม่คุ้นเคยได้ รับรู้ถึงความรู้สึกตนเองได้นั้น จะทำให้เราสามารถทำงานกับคนที่มีบทบาทหน้าที่มีตัวตนสูง แถมยังมีความคุ้นเคยต้องร่วมงานกันเป็นประจำได้ดี เพราะการที่เรารู้ว่าคนที่เราต้องร่วมงานด้วยนั้น เป็นคนอย่างไร มีนิสัยใจคอเป็นอย่างไร จะทำให้เราสามารถเตรียมสถานการณ์ เตรียมพร้อมความรู้สึกได้ว่า ต้องทำตัวอย่างไรต่อคนที่เราต้องร่วมงานด้วย

     การทำงานกับคนนั้น เราต้องเตรียมพร้อมทั้งความรู้ อารมณ์ ความรู้สึก ต้องบริหารตัวเองให้ดี มิฉะนั้นจะไม่สามารถทำงานได้ เพราะคนมีตวามหลากหลายอยู่ในแต่ละคน

โดย อัฒยา สง่าแสง ; นักจัดการความรู้ท้องถิ่นตำบลหลักแก้ว อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น

หมายเลขบันทึก: 6449เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2005 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท