หลักความสงบเรียบร้อย ตอนที่ 2


หน้าที่ของกลไกลขัดกัน

1.2 กฎเกณฑ์ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย (แบบแห่งหน้าที่)      

เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปว่า หลักเกณฑ์ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายมิใช่เป็นเรื่องกฎหมายสารบัญญัติที่จะกำหนดสิทธิหรือหน้าที่ใด ๆ และมิใช่กฎหมายวิธีสบัญญัติที่จะบังคับคู่กรณี ให้ปฏิบัติตามสิทธิหรือหน้าที่นั้น ๆ แต่เป็นเพียงกฎหมายที่ชี้แนะกำหนดแนวทางแก้ไขการขัดกันแห่งกฎหมายเท่านั้น กล่าวคือเป็นกฎหมายที่เป็นกลไกหรือนิติวิธี เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาการขัดกันแห่งกฎหมาย

 แนวความคิดเห็นนักนิติศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิของไทย      

ท่านอาจารย์ ชุมพร ปัจจุสานนท์ เห็นว่าเป็นมาตรการสำหรับยกเลิกไม่นำเอากฎหมายต่างประเทศมาใช้ทั้ง ๆที่กฎหมายนั้นได้ถูกเลือกหรือได้รับอำนาจในการนำมาบังคับใช้กับนิติสัมพันธ์นั้น ๆ      

ท่านอาจารย์ คนึง ฤาไชย เห็นว่า เป็นข้อจำกัดในการใช้กฎหมายต่างประเทศ ส่วนพฤติการณ์อย่างไร จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย ตามความหมาย มาตรา 5 น่าจะมีความหมายกว้างขวางกว่ากฎหมายแพ่งธรรมดา       ดังนั้นความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในกฎหมายขัดกัน ทำหน้าที่สกัดกั้น ยกเลิก หรือปฏิเสธ กฎหมายต่างประเทศเพราะกฎหมายต่างประเทศนั้นมีความคิดที่ไม่ตรงกับความคิดพื้นฐานของประเทศ กล่าวคือ เป็นข้อยกเว้น ของหลักการใช้กฎหมายต่างประเทศ       

ข้อสังเกต  เมื่อพิจารณาถึงลักษณะ วัตถุประสงค์และวิธีการ ของกฎหมายขัดกัน หลักความสงบเรียบร้อย ย่อมแตกต่างจากกฎหมายพึ่งบังคับใช้ทันที(Lois d’ application immediate) โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ กฎหมายพึงบังคับใช้ทันทีเป็นกฎหมายสารบัญญัติ ซึ่งศาลจะต้องนำมาปรับใช้ในคดี แม้จะเป็นคดีที่มีองค์ประกอบต่างชาติเข้ามาแทรกแซงก็ตาม เพื่อรักษาโครงสร้างหรือระบบงานทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ       ตัวอย่างเช่น  พ.ร.บ ว่าด้วยการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 โดยในมาตรา 4 บัญญัติว่า พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การขนส่งทางทะเลจากที่หนึ่งในราชอาณาจักร หรือจากที่แห่งหนึ่งนอกราชอาณาจักรมายังที่อีกแห่งหนึ่งในราชอาณาจักร เว้นแต่ กรณีที่ได้ระบุในใบตราส่งว่าให้ใช้กฎหมายของประเทศอื่นหรือกฎหมายระหว่างประเทศก็บังคับให้เป็นไปตามนั้น แต่แม้ว่าจะได้ระบุไว้เช่นนั้นก็ตาม ถ้าปรากฏว่าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยก็ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับ หมายความว่า ศาลไทยจะไม่ใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 แต่ศาลไทยจะใช้ พ.ร.บ.รับขนของทางทะเลฯ ทันทีโดยถือว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายพึงบังคับใช้ทันที ถ้าคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลตามกฎหมายไทย        และนอกจากนี้กฎหมายพึงบังคับใช้ทันที อาจมีลักษณะเป็นกฎหมายมหาชน เช่นกฎหมายอาญา กฎหมายภาษี กฎหมายปกครอง เป็นต้น ซึ่งเป็นการบังคับภายในดินแดนตามหลัก territorial jurisdiction โดยไม่ต้องผ่านกฎเกณฑ์ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย       ในอดีตศาลต่างประเทศได้มีความคิดสับสนอยู่เสมอ เช่น ศาลฝรั่งเศส ได้ตัดสินคดีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1963 ศาล ณ กรุงปารีสได้นำเอาหลักเรื่องการให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแด่ความเสียหายด้านจิตใจ ในกรณีละเมิด ซึ่งตามกฎหมายเยอรมันอันเป็นกฎหมายท้องถิ่นที่เกิดละเมิด ไม่ได้ยอมรับค่าเสียหายดังกล่าว ศาลกรุงปารีสได้อ้างหลักความสงบเรียบร้อยโดยศาลถือว่าผู้เสียหาควรได้รับค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่ได้รับ แต่ในการให้เหตุผลในตอนท้ายของคำพิพากษาได้กล่าวว่า กฎหมายต่างประเทศจะไม่สามารถนำมาใช้แทนเรื่องซึ่งถือว่าเป็นหลักสำคัญของกฎหมายฝรั่งเศส              และอีกตัวอย่างหนึ่ง คดี Kaufamu V. Garson 1904 มีข้อเท็จจริงได้ความว่า มีสามีภริยาชาวฝรั่งเศสคู่หนึ่ง ผู้เป็นสามีได้ยักยอกเงินจำนวนหนึ่งของโจทก์ไป แล้วหนีไป จำเลยซึ่งเป็นภริยาจึงทำสัญญากับโจทก์ยอกชดใช้หนี้แทนเป็นงวด ๆ จนกว่าจะครบจำนวน โดยโจทก์สัญญาว่าจะงดเว้นไม่ฟ้องสามีของจำเลยในทางอาญา สัญญานี้ทำในฝรั่งเศส และคู่กรณีที่เกี่ยวข้องก็เป็นฝรั่งเศส สัญญาสมบูรณ์ตามกฎหมายฝรั่งเศส ต่อมาจำเลยบิดพลิ้ว ไม่ชำระเงินงวดหลัง ๆ โจทก์ฟ้องคดีนี้ที่ศาลอังกฤษ (อาจเป็นเพราะในขณะฟ้องจำเลยเข้ามามีภูมิลำเนาในอังกฤษ ทำให้ศาลอังกฤษมีอำนาจเหนือคดีนี้) เมื่อศาลอังกฤษนำกฎหมายขัดกันของอังกฤษขึ้นใช้ ปัญหาเรื่องความสมบูรณ์ของสัญญาต้องวินิจฉัยตามกฎหมายภายในของฝรั่งเศส กระนั้นก็ตาม ศาลอังกฤษวินิจฉัยว่า โดยที่ข้อสัญญาที่โจทก์ยอมละเว้นไม่ฟ้องสามีจำเลยในทางอาญานั้น ขัดกับนโยบายรากฐานของกฎหมายอังกฤษ ศาลอังกฤษจึงไม่บังคับให้       จากคำพิพากษา ศาลได้อ้างทั้งกฎหมายพึงบังคับใช้ทันทีและหลักความสงบเรียบร้อย โดยศาลได้นำวิธีการหากฎหมายตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายมาใช้อย่างสับสน  


 
หมายเลขบันทึก: 64465เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2006 18:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท